จะดีแค่ไหนถ้าบ้านเราจะมีสะพานข้ามแม่น้ำสวยๆ เหมือนกับประเทศอื่นเขาบ้าง ลองนึกถึงความเรียบหรูของสะพานมิลเลนเนียมที่ลอนดอน หรือไม่ก็ความเกลียวๆ สวยๆ ของสะพานเฮลิกซ์ที่สิงค์โปร์ หากเราจะมีสิ่งก่อสร้างที่ทั้งความสวยงามและให้ประโยชน์ที่คุ้มค่าแบบนั้นบ้าง มันก็คงน่าตื่นเต้นไม่น้อย
ตัดภาพกลับมาที่ความเป็นจริง ภาพสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาวังหลัง-ท่าพระจันทร์กำลังเป็นประเด็นอยู่ในหลายวันที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่รูปร่างหน้าตาที่หลายคนดูแล้วต้องขยี้เบ้าดูกันหลายหน เพราะแทบไม่เชื่อว่านี่คือแบบที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วจริงๆ นอกจากนี้ยังมีคำถามคาใจว่า กทม.ได้ศึกษาวิจัยกันอย่างรอบคอบแล้วรึยัง งบประมาณกว่า 1,700 ล้านเลยนะ จะใช้กันก็อยากรู้ว่าคุ้มค่าแค่ไหน
ถ้า กทม. จะสร้างสะพานที่ว่าขึ้นมาจริงๆ มันมีอะไรที่ควรระแวดระวังกันบ้าง The MATTER ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญมาให้ดูกัน ด้วยความหวังอยู่ลึกๆ ว่าถ้าเสียงเหล่านี้ดังไปถึงผู้มีอำนาจบ้างก็คงดีเนอะ
โครงสร้างอันแปลกปลอมบนผืนน้ำเจ้าพระยา
ถึงแม้วัตถุประสงค์ของโครงการจะอ้างถึงการสะท้อนเอกลักษณ์ตัวตนความเป็นไทย แต่ในมุมมองของผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of the river ยศพล บุญสม กลับเห็นว่า การสร้างสะพานขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงบริบทรอบข้าง รวมถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ย่อมจะทำให้สะพานกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างอันแปลกปลอมของแม่น้ำได้
ยศพล บอกกับเราว่า “ในแง่รูปลักษณ์มันไม่เหมาะสม ที่ผ่านมากรมศิลป์พยายามออกกฎไม่ให้สร้างสิ่งที่มันแปลกปลอมต่อภูมิทัศน์โดยรอบ แต่รูปแบบที่มันออกมาเห็นได้เลยว่าสะพานมันเบียดกับชุมชมและเนื้อเมืองข้างๆ ตัวโครงสร้างมีขนาดใหญ่มาก นี่จะเป็นสิ่งที่คนจะเห็นก่อนเข้ามาถึงพระบรมมหาราชวัง แต่รูปแบบสะพานมันไม่สอดคล้องและอธิบายไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อย่างไร มันจะกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่จำเป็น การใช้ประโยชน์ของมันไม่คุ้มค่ากับงบประมาณพันล้านที่ต้องสูญเสียไป อยู่ดีๆ เราก็จะเห็นสิ่งปลูกสร้างรูปร่างแปลกประหลาด แล้วต้องอยู่กับมันไปอีกห้าสิบปีหรือร้อยปีอย่างนั้นเหรอ”
ภาพลักษณ์ย่ำแย่ หาใช่แลนด์มาร์กแต่เป็นทัศนอุจาด
ไม่ใช่แค่โครงสร้างเท่านั้นที่เป็นปัญหา เพราะในมุมมองของ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เห็นว่า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามแบบฉบับที่ออกมานี้จะส่งผลเสียและเป็นทัศนอุจาดต่อภาพลักษณ์เมืองเก่า มากกว่าที่จะช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์ด้านดีๆ ของเมืองให้ออกมาในสายตาคนไทยและนักท่องเที่ยว
อาจารย์ ชาตรี บอกกับมติชนว่า “จากรูปที่เผยแพร่ออกมา โดยส่วนตัวเห็นว่ามิได้มีความสวยงามเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ หน้าตาแบบนี้เป็นได้แค่โครงสร้างทางวิศวกรรมมากกว่าจะเรียกว่าเป็นงานสถาปัตยกรรม และไม่คิดว่านี่จะเป็นความน่าภูมิใจของกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน ที่สำคัญยิ่งกว่าหน้าตาความสวยงามก็คือ การประกวดแบบจะเป็นกระบวนการที่นำมาซึ่งการสร้างความมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงมากกว่าที่เป็นอยู่”
ตอกตอม่อลงแม่น้ำ ความเสี่ยงทำร้ายระบบนิเวศ
เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนจำนวนมาก แต่ความจริงอันแสนเศร้าในวันนี้คือ แม่น้ำเจ้าพระยากำลังมีสุขภาพที่ย่ำแย่ โครงการก่อสร้างต่างๆ ได้ตอกตอม่อลงไปในแม่น้ำโดยไม่ยั้งคิดว่ามันจะส่งผลอะไรตามมาบ้าง ระบบนิเวศของสัตว์น้ำเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันตลิ่งริมน้ำต่างๆ ก็ถูกกัดเซาะหนักขึ้น
ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ บอกกับเราว่า โดยหลักการแล้วการก่อสร้างใดๆ ต้องทดไว้ในใจว่า ต้องมีตอม่อให้น้อยและเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้
เวลาจะก่อสร้างอะไรก็ตาม ตอม่อต้องน้อยที่สุด
“การก่อสร้างต้องกระทบต่อโครงสร้างของระบบนิเวศให้น้อยที่สุด โครงสร้างของสิ่งต่างๆ ต้องลื่นไหลไปกับระบบนิเวศ หรือเรื่องพวกตลิ่งน้ำบริเวณชายฝั่งมันไปบีบกั้นแม่น้ำเพิ่มรึเปล่า หรือจริงๆ แล้วมันควรจะมีพื้นที่ชายตลิ่งแบบที่ยืดหดได้ มันถึงจำเป็นต้องมีการศึกษา ตั้งคำถามกันหลายอย่าง มันต้องศึกษากันอย่างละเอียดว่า ควรจะวางตอม่อกันตรงไหน หรือจะทำให้มันไม่ต้องมีอะไรยื่นลงไปในแม่น้ำได้หรือไม่”
ดร.สรณรัชฎ์ บอกด้วยว่า เราต้องอ่านระบบนิเวศแม่น้ำให้ออก หาทางพัฒนาให้ไม่ถอยหลังเข้าคลอง ออกแบบธรรมชาติให้ช่วยเหลือเกื้อกูลเรา ไม่ใช่ไปกีดขวางกั้นมันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่การตอกตอม่อขนาดใหญ่ลงแม่น้ำ ยังอาจจะส่งผลต่อสภาพการไหลของน้ำให้เชี่ยวและแรงมากขึ้น เป็นอันตรายต่อทั้งการเดินเรือและวิถีชีวิตของคนริมน้ำอีกด้วย
สร้างสะพานตามใจฉัน แต่ไม่เชื่อมโยงระบบขนส่งเมือง
ถ้าหากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถูกสร้างขึ้นจริง ตำแหน่งที่ตั้ง รวมทั้งการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ก็ควรเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักกันด้วยเช่นกัน การพัฒนาระบบขนส่งในบ้านเรามักเกิดปัญหาแค่สร้างขึ้นมาโดดๆ กลายเป็นปัญหาที่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป ดีไม่ดี อาจจะสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2559 อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนะให้กับบริษัทที่ปรึกษาและผู้บริหารของ กทม. โดยมีใจความว่า
“เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการในความรับผิดชอบของสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร จึงขอให้สำนักการโยธาแจ้งต่อทางบริษัทที่ปรึกษาฯ ทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของการกำหนดตำแหน่งสะพานคนเดินและศึกษาให้รอบด้าน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนระบบรางในบริเวณโดยรอบพื้นที่ ตามแผนงานของสำนักจราจรและขนส่งให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุดเสียก่อนการดำเนินการออกแบบและเขียนแบบก่อสร้าง เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการไม่เร่งด่วนตามความเห็นในรายงานของผู้แทนสมาคมฯ”
ตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังเคยมีความเห็นด้วยว่า โครงการนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ อาจจะส่งผลต่อสถานะในการขอขึ้นทะเบียนแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นมรดกโลกในอนาคต
ไปกันใหญ่แล้วทีนี้ เมื่อการสร้างสะพานไม่ได้หมายความแค่ทำทางให้คนเดิน ราคาที่ต้องจ่ายยังมีมากกว่าค่าก่อสร้างนับพันล้านบาท หากยังรวมไปถึงผลกระทบทั้งในแง่สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศของแม่น้ำ ตลอดจนทิวทัศน์อันสวยงามของเมือง โครงการนี้จึงต้องคิดหน้าคิดหลังกันดีๆ ไม่ใช่แค่สรุปกันตามอำเภอใจ
เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ‘สายน้ำไม่เคยไหลย้อนกลับ’ หากการก่อสร้าง (ที่ไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ) ได้สร้างผลกระทบขึ้นมาแล้ว มันก็คงจะยากที่จะแก้ไขให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม
อ้างอิงจาก
www.matichon.co.th/news/603151