โลกนี้ไม่มีอะไรถูกใจเราไปเสียทั้งหมด เพราะเราอาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ เมื่อต่างคนต่างความคิด เรื่องราวที่ขัดแย้งจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน
เราต่างเคยเผชิญกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากคนที่มีความคิดและความเชื่อไม่ตรงกัน แม้ว่าความแตกต่างและความหลากหลายเหล่านี้ จะถูกมองว่าเป็นความสวยงามของมนุษย์ และนำไปสู่หนทางแห่งประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งจะมีปลายทางที่สันติเสมอไป เพราะมันขึ้นอยู่กับ ‘การรับมือ’ ของแต่ละคนด้วย
ในช่วงปี ค.ศ.1970 เคนเนธ โธมัส (Kenneth Thomas) และ ราล์ฟ คิลแมนน์ (Ralph Kilmann) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือกับความขัดแย้งในองค์กร ได้เสนอแนวคิดว่า มนุษย์เราจะมีวิธีการรับมือกับความขัดแย้งทั้งหมด 5 รูปแบบ โดยแต่ละแบบให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ ได้แก่
Collaborating การให้ความร่วมมือ : เป็นวิธีรับมือกับความขัดแย้งที่นำไปสู่ win-win situation เกิดขึ้นโดยคนทั้งสองฝ่ายพูดคุยและสื่อสารกันอย่างจริงใจ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นทางออกที่ทำให้เกิดความสบายใจทั้งคู่ เพราะไม่มีใครเสียผลประโยชน์ของตัวเอง แต่อาจจะต้องอาศัยเวลาและความใจเย็นในการหาทางออกที่ดีที่สุด
Compromising การประนีประนอม : เป็นวิธีรับมือแบบพบกันคนละครึ่งทาง โดยทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องลดความต้องการหรือความเป็นตัวเองบางส่วน เพื่อให้ความขัดแย้งนั้นยุติลง แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในระยะยาว เนื่องจากการยอมเสียตัวตนบางส่วนไป อาจไม่ได้เกิดจากความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย
Accommodating การปรองดอง : เป็นวิธียุติความขัดแย้งที่รวดเร็ว เนื่องจากมีฝ่ายหนึ่งยอมเสียสละหรือลดความต้องการของตัวเอง เพื่อให้อีกฝ่ายบรรลุความต้องการและเกิดความปรองดอง แม้จะเป็นวิธีที่รวดเร็ว แต่คนที่ต้องเสียสละอาจรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจอยู่ลึกๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ดีในระยะยาวเช่นกัน
Competing การแข่งขัน : เป็นวิธีรับมือเพื่อให้ตัวเองบรรลุความต้องการ ซึ่งอาจจะต้องใช้อำนาจหรือการแสดงท่าทีก้าวร้าวรุนแรง เพื่อให้ตัวเองอยู่เหนือฝ่ายตรงข้าม วิธีนี้อาจทำให้เราได้ยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ของตัวเอง แต่ความขัดแย้งอาจไม่จบลงง่ายๆ หากผู้แพ้ไม่ยอมรับผลลัพธ์ดังกล่าว เก็บความขุ่นเคืองใจไว้ และรอการเอาคืนในภายหลัง
Avoiding การหลีกเลี่ยง : เป็นวิธีรับมือแบบไม่รับมือกับอะไรเลย โดยเลือกที่จะไม่ตอบโต้และไม่ตอบสนองใดๆ เพราะบางความขัดแย้งก็อาจจะไร้สาระเกินกว่าจะเสียเวลาด้วย แม้วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดูง่ายและไม่เสียแรง แต่ก็เป็นวิธีมีประสิทธิภาพน้อยสุด เนื่องจากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง และอาจจะกลับมาเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ไม่จบสิ้น
ฝ่ายบุคคลในหลายองค์กรจึงนิยมประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ หรือที่เรียกว่า TKI (มาจาก The Thomas-Kilmann Conflict Mode Instrument) ให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ เพราะแต่ละวิธีการรับมือก็มีประโยชน์และความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป แต่ปลายทางทั้งหมดก็เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนหลายฝ่ายที่ต้องมาเจอกัน ไม่ให้นำไปสู่ความบาดหมางและการปะทะกันทางอารมณ์
ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเสมอไป หากเรารู้วิธีรับมือกับมันอย่างเหมาะสม และจาก 5 วิธีที่เราได้กล่าวไปนั้น เมื่อเห็นแล้วว่าแต่ละวิธีนำเราไปสู่อะไรบ้าง ก็ลองชั่งใจดีๆ ก่อนจะเลือกใช้วิธีนั้นๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ‘การรับฟัง’ และ ‘การเห็นอกเห็นใจกันและกัน’ ก็ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการลดความขัดแย้งที่ดีที่สุดอยู่ดีนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก