เคยรู้สึกไหม ช่วงที่เหนื่อยล้า ท้อแท้ กำลังหมดแรงในการทำงาน เวลาแบบนี้ก็อยากได้ใช้เวลาอยู่กับใครสักคนเนอะ อย่างน้อยก็ขอได้พึ่งพิง พูดคุย ระบายความรู้สึกในใจออกมา บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างกันก็น่าจะช่วยเยียวยาบาดแผลได้บ้าง
ยิ่งในยุคสมัยที่เราอยู่กลางสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างกดดัน รวมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเปราะบาง บ้างก็มองกันว่า ถึงแม้เราจะเชื่อมต่อกันได้กับผู้คนทั่วโลกผ่านโซเชียลมีเดีย แต่เพราะอะไรก็ไม่รู้ มันกลับยิ่งทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว และเปลี่ยวเหงากันมากกว่าเดิม
ที่ผ่านมา จึงมีธุรกิจชนิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเติมเต็มความสัมพันธ์ที่ขาดหายของผู้คน ขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธได้ยากว่า ธุรกิจในทำนองนี้มันก็อยู่ในพื้นที่สีเทาๆ (กึ่งๆ ไปทางดำมืด) เพราะยังมีข้อถกเถียงอยู่เสมอถึงเรื่องความเหมาะสม รวมถึงความเสี่ยงในอันตรายที่ผู้ใช้บริการอาจถูกหลอกลวง
The MATTER ชวนกันไปสำรวจธุรกิจแนวที่ว่านี้ที่เกิดขึ้น มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และมันสะท้อนสภาพสังคมในยุคปัจจุบันกันได้อย่างไร
Uncle for rent : คุณลุงให้เช่า เพื่อนผู้คอยรับฟัง
ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ามีธุรกิจเรื่องเติมเต็มความโดดเดี่ยวของผู้คนค่อนข้างมากมาย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจให้เช่า ‘คุณลุง’ (อายุระหว่าง 45 ถึง 55 ปี) เพื่อมาเป็นเพื่อนคลายเหงาและช่วยรับฟังเรื่องราวต่างๆ โดยในหน้าเว็บไซต์จะมีประวัติส่วนตัวและรสนิยมของคุณลุงต่างๆ ปรากฎเพื่อให้ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า อยากเลือกคุณลุงคนไหนเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มเปิดตัวธุรกิจใหม่ๆ หลายแห่งคิดราคา 1,000 เยนต่อชั่วโมง
South China Morning Post เคยไปตามติดชีวิตคุณลุงที่มาทำงานนี้ หนึ่งในนั้นบอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว คนที่จ่ายเงินจ้างพวกเขามา ต้องการสิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวคือ ‘เพื่อนผู้คอยรับฟัง’ มีตั้งแต่ปัญหาชีวิต ความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน
นักวิชาการมองว่า หลายปีที่ผ่านมาสังคมญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหา ความโดดเดี่ยว (social isolation) ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องการที่พึ่งทางใจให้ได้ระบายความรู้สึก และเนื่องจากบางเรื่องไม่สามารถบอกเล่ากับแม้แต่เพื่อนสนิทได้ การระบายออกมากับคนแปลกหน้าจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง
Girlfriend For Rent : ขอเป็นแฟนกันชั่วคราว
ย้อนกลับไปเมื่อสัก 4-5 ปีที่แล้ว เคยมีข่าวที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง กับธุรกิจ ‘Girl friend for rent’ หรือการเช่าแฟน ในขณะที่คนญี่ปุ่นเรียกกันแบบง่ายๆ น่ารักๆ ว่า ‘โมเอะเดต’
รูปแบบการให้บริการคือ สามารถคัดเลือกโปรไฟล์ของหญิงสาวที่อยากออกไปเดตด้วย โดยคิดราคา 4,500 เยนต่อ 1 ชั่วโมง หรือถ้าเป็นแพ็คเกจ 3 ชั่วโมงก็จะคิดรวมเป็นราคา 13,550 เยน เงื่อนไขของโมเอะเดตคือ สามารถพาไปกินข้าว ไปเที่ยว ร้องคาราโอเกะ ด้วยได้ (หรือถ้าใครคิดไม่ออก ทางบริษัทก็จะมีไกด์ไลน์เป็นตัวอย่างให้ดูคร่าวๆ)
อย่างไรก็ดี เคยมีสื่อของญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจนี้อาจดูเหมือนจะมีสีดำๆ มือๆ หน่อยๆ เพราะมันก็เปิดช่องให้ลูกค้าและหญิงสาวที่อายุเกิน 18 ปีสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อได้ด้วย
Cuddle Cafe : คาเฟ่นอนกอด ที่พึ่งสำหรับคนโดดเดี่ยว
สารคดี ‘The Japanese Love Industry’ ของ VICE เคยเข้าไปสำรวจธุรกิจเกี่ยวกับกับความสัมพันธ์ในสังคมญี่ปุ่น หนึ่งตัวอย่างที่ถูกนำเสนอคือ คาเฟ่นอนกอด (cuddle cafe)
ฟังก์ชั่นการให้บริการหลักๆ ของคาเฟ่แนวนี้คือให้นอนจริงๆ ในความหมายตรงตัวคือ ลูกค้าได้ ‘นอนหลับ’ กับหญิงสาวในร้าน เว็บไซต์ JapanToday รายงานว่า คาเฟ่แนวนี้แห่งแรกถูกเปิดขึ้นเมื่อราวๆ ปี 2012 โดยมีรูปแบบการให้บริการและการเก็บเงินที่หลากหลาย
เช่น ถ้าหากเลือกเป็นคอร์สนอนหลับ 20 นาทีก็จะคิดราคาเริ่มต้นที่ 3,000 เยน (ณ เวลานั้นที่เปิดในช่วงแรกๆ) และถ้าใช้เวลามากขึ้นก็จะต้องจ่ายเยอะขึ้นตามไป นอกจากนี้ยังเลือกได้ด้วยว่า ถ้าให้เปลี่ยนเป็นชุดคอสเพลย์ก็ได้ (แต่ก็ต้องเพิ่มเงินขึ้นไปอีก) ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้จัดการร้านยืนยันว่า คาเฟ่แห่งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเรื่องเซ็กส์ หากแต่เป็นสถานที่สำหรับผู้ชายที่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือต้องการใครเป็นที่พึ่งสักคน
Shareable boyfriends : ธุรกิจแชร์หนุ่มควงเดินห้าง
หลายคนอาจเคยได้ยินธุรกิจแนว ‘Sharing Economy’ กันมาเยอะ แต่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองไหหลำ ประเทศจีน ก็ได้ดึงเอาคำๆ นี้มาอธิบายธุรกิจแบบใหม่ของตัวเองเหมือนกัน
Shanghaiist รายงานว่า ห้างสรรพสินค้าที่ว่านี้ ได้นำพนักงานชายที่หน้าตาดีมายืนอยู่ในกล่องตุ๊กตาขนาดใหญ่ซึ่งจะมี QR code ติดไว้เพื่อให้ลูกค้าสแกนเพื่อเลือกและชำระเงิน ทั้งนี้ เงื่อนไขคือลูกค้าจะมีเวลาพาหนุ่มหน้าตาดีคนนั้นไปควงเดินหน้าได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ก็เป็นเพียงแคมเปญการตลาดเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ก็สร้างความสนใจและเป็นกระแสได้พอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้น แคมเปญนี้ก็ถูกวิจารณ์ด้วยว่า เป็นการตลาดที่เล่นกับความเหงาของคนมากเกินไป
Fake boyfriends-girlfriends : รับจ้างเป็นแฟน เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ
ประเทศจีนมีค่านิยมว่า หากผู้หญิงคนไหนอายุเกิน 25 แล้วยังไม่แต่งงานจะถูกเรียกว่า ‘Sheng Nu’ หรือที่แปลว่า ‘ผู้หญิงที่ไม่มีใครต้องการ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่กดดันให้คนรุ่นใหม่ในจีนต้องทำตามกรอบที่ครอบครัวกำหนดเอาไว้ให้ได้ ยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ต้องเดินทางกลับบ้านด้วยแล้ว ยิ่งทำให้พวกเธอต้องกดดันมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เพราะต้องเตรียมหาคำตอบให้ได้ว่า เพราะอะไรถึงยังไม่มีแฟน?
หลายคนจึงหันไปหาบริการรับจ้างเป็นแฟน ที่ให้บริการอย่างแพร่หลายในจีน โดยส่วนใหญ่จะให้บริการผ่านเว็บไซต์ โดยคิดค่าบริการตั้งแต่ 500 – 2,000 หยวน ซึ่งก็มีข้อมูลด้วยว่า ยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน เว็บไซต์เหล่านี้ก็จะเพิ่มอัตราค่าบริการแพงขึ้นมากไปกว่าเดิม เนื่องจากมี Demand ค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน ธุรกิจรับจ้างเป็นแฟนในจีน ก็ยังมีในรูปแบบผ่านแอพ ‘Hire Me Plz’ ที่ให้วัยรุ่นผู้ชายได้พาแฟนสาวตัวปลอมกลับบ้านในช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน โดยผู้ก่อตั้งแอพได้มีตัวเลือกว่า นอกจากให้บริการพาแฟนตัวปลอมกล้บบ้านแล้ว ยังมีบริการเพื่อกินข้าว หรือเป็นเพื่อนเล่นไพ่นกกระจอกอีกด้วย
หากมองกันลึกลงไป ปรากฎการณ์นี้ก็ช่วยให้เราเห็นภาพว่า ค่านิยมบางอย่างก็กำลังกดดัน และทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยต้องแบกรักความคาดหวังจากครอบครัวกันอย่างหนักหน่วง ยิ่งธุรกิจนี้เติบโตยิ่งขึ้น ก็อาจสะท้อนได้ว่า ค่านิยมที่ว่ายังไม่หายไปจากสังคมจีนได้ง่ายๆ
อ้างอิงจาก