สุขภาพจิตเป็นเรื่องของเราทุกคน แต่หลายๆ ครั้งความเข้าใจของเราต่อสุขภาพจิตนั้นแตกต่างกันออกไป
และบางครั้งความเข้าใจนั้นอาจคลาดเคลื่อน ไม่ว่าจะจากการนำเสนอโดยสื่อ หรือจากความเชื่อแหล่งใดแหล่งหนึ่ง อย่างศาสนา ความเชื่อในครอบครัว ประสบการณ์ส่วนตัว ไลฟ์โค้ช ฯลฯ โดยมันอาจนำไปสู่การเผยแพร่ความเข้าใจผิดมากขึ้น ซึ่งและในโลกที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างแพร่หลายมันอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ฉะนั้นมารู้จักกับความเข้าใจผิดยอดฮิตในเรื่องสุขภาพจิตกัน
“รวยขนาดนี้ทำไมยังเป็นซึมเศร้า?”
ความรวยและโรคซึมเศร้ามักเป็นสองสิ่งที่ถูกตั้งคำถามเมื่อมันอยู่ในคนคนเดียวกัน อาจเป็นคำถามว่าทำไมคนรวยจึงเป็นซึมเศร้าเยอะ? คนรวยจะไปเศร้าเรื่องอะไร? อะไรทำให้คนที่ไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องยังเป็นซึมเศร้า?
ในความเป็นจริงแล้วโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เฉพาะจากสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่อาจมาจากความโดดเดี่ยว ความกดดัน ความคาดหวัง สัมพันธ์ครอบครัว ฯลฯ
และแม้ว่าในงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Ruhr-Universität Bochum ประเทศเยอรมนี พบว่ายิ่งทรัพย์สินมากยิ่งสามารถนำไปสู่ค่าความสุขที่มากขึ้นได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันสามารถป้องกันสาเหตุที่มาของโรคซึมเศร้าเหล่านั้นได้อย่างเด็ดขาด
อะไรบ้างที่อาจทำให้คนรวยเป็นโรคซึมเศร้า? นักจิตวิทยาและนักจิตวิเคราะห์ท็อด เอสสิก (Todd Essig) กล่าวกับ Forbes ว่า เมื่อคนคนหนึ่งเปลี่ยนฐานะ นอกจากตัวตนของเขาจะเริ่มแตกต่างจากคนรอบตัวแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปตามคือตัวตนของเขา และในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจก่อให้เกิดการตัดขาดจากตัวตนเก่าได้ ส่งผลให้เขาคนนั้นไม่อาจนิยามตัวตนของตัวเองได้
นอกจากนั้นความคาดหวังและสัมพันธ์ครอบครัวก็มีส่วน ทุกคนย่อมถูกคาดหวังไม่ว่าจะในฐานะใด รวมถึงคนที่เกิดมาอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะสูง เช่น การสืบต่อกิจการที่อาจไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง หรือการต้องคงภาพลักษณ์ของตัวเองที่มักมีผลไปถึงครอบครัว
“เมื่อกี้ยังดีๆ อยู่เลย ตอนนี้โมโหอีกแล้ว เป็นไบโพลาร์ปะเนี่ย?”
บ่อยครั้งเมื่อมีข่าวเกี่ยวข้องกับคนดังหรือผู้มีอำนาจที่เปลี่ยนอารมณ์ การวางตัว แม้แต่การเปลี่ยนความคิดเห็นหรือคุณค่าที่พวกเขายึดถือจากในอดีต มักมีคำถามตามมาว่า ‘เป็นไบโพลาร์ปะเนี่ย?’ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคดังกล่าว
ไบโพลาร์มีอาการแบ่งเป็น Depressive episode และ Manic episode ซึ่งทำให้เราสลับระหว่างอาการซึมเศร้าและหมดพลังงานการใช้ชีวิต กับอาการตื่นตัว ไม่โฟกัส นอนหลับยาก โดยแต่ละ episode จะเวียนผ่านกันราวๆ 1-2 สัปดาห์ ไม่ใช่ผันเปลี่ยนโดยฉับพลัน
นอกจากนั้นโรคดังกล่าวยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือไบโพลาร์ 1 และไบโพลาร์ 2 ที่มีความแตกต่างกันที่ความหนักหนา episode ทั้ง 2 ซึ่งไบโพลาร์ 1 จะพบกับ Manic episode ที่หนักหนากว่า และไบโพลาร์ 2 มี Depressive episode ที่หนักกว่า แต่ไม่ขึ้นลงสูงเท่าไบโพลาร์ 1
“แค่นี้เอง ไม่ต้องหาหมอหรอก”
สุขภาพจิตไม่แตกต่างไปจากสุขภาพร่างกายอื่นๆ ที่เราไม่จำเป็นว่าต้องรอให้เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตก่อนจึงสามารถไปพบผู้เชี่ยวชาญได้ แต่หากมีความสงสัยในความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นในตัวเองก็สามารถเข้าพบเพื่อขอคำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของเรา หรือเพื่อให้เราสามารถรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง
บางครั้งจุดที่ดูเหมือนเรื่องเล็กที่เรามองข้ามสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าได้ เช่น ประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็กที่เราคิดว่า ทำใจได้แล้ว ความไม่ลงรอยในความสัมพันธ์ที่มองในมุมตัวเองอาจเป็นเรื่องเล็ก หรือสิ่งที่พ่อแม่เคยพูดกับเราเมื่อนานมาแล้วที่เราไม่เคยลืมแต่ก็ไม่เคยตั้งคำถามกับมันตรงๆ
และในหลายกรณีเราไม่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจหรือพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมาของเราหรือคนที่เรารักนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเข้ารับการรักษา โดยอาจนึกว่ามันเป็นนิสัย หรือแม้แต่เป็นตัวตน เช่น ความฉุนเฉียว ความขี้เกียจ การพูดน้อย การหลบสายตา ความไม่มั่นใจในตัวเอง ฯลฯ ซึ่งการเข้าไปตรวจสอบภายในใจสามารถนำไปสู่แหล่งที่มาของพฤติกรรมเหล่านั้นได้ และหยุดมันในการวิวัฒนาการไปเป็นอย่างอื่นได้
“แค่สังคมดีก็หายได้แล้ว”
ถ้าการระบายให้คนใกล้ตัวฟังสามารถทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ แล้วเรายังต้องการผู้เชี่ยวชาญอยู่หรือเปล่า? อย่างที่กล่าวไป โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายที่มา เช่นเดียวกัน การรักษาของมันเองก็ต้องหลากหลายด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงการเล่าให้ฟัง
การคุยกับคนใกล้ตัวแตกต่างจากการเข้าไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญตรงที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้คำแนะนำที่อาจนำไปสู่การแก้ไขได้มากกว่า ในขณะที่คนใกล้ตัวรู้จักตัวตนและประสบการณ์ในอดีตของเรา ผู้เชี่ยวชาญมีทฤษฎีและหลักการตีความข้อมูลเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการวินิจฉัย จ่ายยา และหาวิธีการรักษาได้ ซึ่งในการวิจัยโดย APA (American Psychological Associations) พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่เข้าร่วมการรักษากับผู้เชี่ยวชาญรายงานว่ามีการพัฒนาในการใช้ชีวิต
นอกจากนั้นระยะห่างในความสัมพันธ์สามารถทำให้เราเปิดใจกับเขาในแบบที่ไม่อาจบอกคนใกล้ตัวได้ บ่อยครั้งความรู้สึกไม่ดีภายในใจของเราไม่ได้มาจากคนอื่นไกล แต่เป็นคนใกล้ตัวหรือการกระทำของพวกเขา และความใกล้ชิดหรือความอายอาจทำให้เราไม่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลหรือความรู้สึกทั้งหมดให้พวกเขารับรู้ได้
“ใครๆ ก็เศร้าทั้งนั้นแหละ แค่ทำอะไรที่ชอบก็หายมั้ง”
จริงอยู่ที่ใครๆ ก็เศร้าทั้งนั้น แต่โรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่ความเศร้า แต่มีหลายอาการปะปนอยู่ด้วย เช่น ไม่มีแรง รู้สึกไม่มีหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่สนใจในเรื่องที่เคยสนใจ วิตกกังวล ฯลฯ ซึ่งกีดขวางไม่ให้คนที่ตกอยู่ใต้โรคซึมเศร้า ‘ก็แค่เลิกทำตัวเศร้า’ แล้วพยายามลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และถึงทำอย่างนั้นได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถหายได้เหมือนดีดนิ้ว
ในการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการหายเป็นโรคทางสุขภาพจิตกับความพยายาม (Strong will) โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Macquarie, Maastricht และ Oxford พบว่าการขาดความพยายามไม่ได้นำไปสู่การตกอยู่ในโรคทางสุขภาพจิต แต่หนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้หายได้คือการควบคุมสภาพแวดล้อมให้ความพยายามที่มีคงอยู่อย่างสม่ำเสมอมากกว่า
ความเข้าใจที่ถูกต้องคือขั้นแรกของการเริ่มรักษา และหากเข้าใจคลาดเคลื่อนไปแล้ว ก้าวถัดไปที่ถูกต้องก็สามารถนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก