และแล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่เพื่อนชื่อ ‘ลิโด’ หนึ่งในโรงหนังสแตนด์อโลนจะอยู่ฉายหนังให้เราได้ดูกันเป็นวันสุดท้าย นึกแล้วก็ใจหาย เมื่อโรงหนังลิโดที่ฉายหนังเฉพาะกลุ่มให้เราได้ดูกันตลอดได้หมดสัญญาและกำลังจะปิดตัวลงในวันนี้ (31 พฤษภาคม 2561) ส่วนโรงหนังสกาลาจะยังไม่ไปไหน เพราะมีการต่อสัญญาเพิ่มอีก 2 ปี
แม้ว่าวันนี้ลิโดจะปิดตัวลงแล้ว แต่ The MATTER ก็ขอพาย้อนไปฟังคำพูดของผู้คนและเหล่าร้านค้าต่างๆ ที่อยู่คู่โรงหนังกันอีกครั้ง ว่าพวกเขามีความทรงจำอะไรบ้างต่อสถานที่ทั้งสองแห่งนี้
ชาญชัย เหล่าฤทธิไกร
อาชีพ : เจ้าของร้านหนังสือการ์ตูน
“มีลูกค้ามาถามเยอะเหมือนกันเรื่องร้านจะย้ายไปที่ไหน เขาก็เป็นห่วง ซึ่งผมก็บอกว่ายังไม่ทราบเหมือนกัน เพราะว่าผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้เขาก็ยังไม่ได้ให้คำตอบอะไร”
ร้านหนังสือการ์ตูนขนาดครึ่งคูหาที่อัดแน่นไปด้วยชั้นหนังสือ เมื่อเดินผ่านคงสะดุดตาใครหลายๆ คนไม่น้อย หรืออาจคุ้นหน้าคุ้นตาคนขาย เพราะจริงๆ แล้วร้านนี้ตั้งอยู่ในละแวกสยามมาหลายปีและย้ายมาอยู่ที่โรงหนังลิโดสามปี
“ถ้าเกิดไม่มีลิโด ก็จะไม่มีบรรยากาศแบบนี้แล้ว แถวนี้จะกลายเป็นคล้ายๆ พวกสยามสแควร์วันกับสยามพารากอน แล้วลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำงานแล้ว ก็คือวัยรุ่นสมัยก่อนที่ยังเดินแถวนี้อยู่ ผมว่าถ้าไม่มีที่นี่เขาคงคิดถึงกันนะ”
เมื่อเราถามถึงกระแสข่าวลือว่าลิโดจะถูกทุบทิ้งหรือปิดตัวลง เขาบอกว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังมีการต่อสัญญาปกติ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร แต่ถ้าต้องย้ายจริงๆ เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นละแวกนี้เช่นเดิม เพราะมีลูกค้าประจำและอยู่ย่านนี้มาสิบกว่าปี
สรัลกอาน
อาชีพ : พนักงานร้านน้ำผลไม้ปั่นด้านหลังลิโด
“ถ้าที่นี่ไม่มีโรงหนัง ก็เหมือนสยามขาดอะไรบางอย่างไป ที่นี่จะกลายเป็นเหมือนห้างทั่วๆ ไป”
พนักงานร้านน้ำปั่นที่เปิดมานานนับสิบปี เธอยอมรับว่า รู้สึกเสียใจกับข่าวลือที่ได้ยินบ่อยครั้งว่าที่นี่จะปิดตัวลงเพราะด้วยความผูกพันที่ทำงานร้านนี้มาสามปี มีลูกค้าหลายคนที่กลายเป็นเพื่อนกันหรือลูกค้าขาประจำ รวมถึงผู้คนในละแวกนี้ที่รู้จักกันทั้งหมด
“เราอยู่ที่นี่เหมือนบ้านหลังที่ 2 เราอยู่แบบสบายใจมีอะไรก็บอกพี่เจ้าของร้าน ทีนี่ไม่เหมือนที่อื่น ถ้าเกิดต้องปิดตัวลงก็เสียใจเหมือนกัน และสยามคงขาดจุดเด่นไป อย่างน้อยมีโรงหนัง นักเรียนหรือคนทั่วไปก็ยังมาดูหนัง ไม่เงียบเหงา”
ส่วนเรื่องการตัดสินใจปิดตัวหรือทุบโรงหนังลิโดนั้น เธอบอกว่ายังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรจากผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ ณ ขณะนี้ยังมีการต่อสัญญาปกติแต่ถ้าในอนาคตมีการปิดตัวลงจริงๆ อาจจะต้องย้ายร้านไปละแวกอื่น เพราะบริเวณสยามมีค่าเช่าสูง แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากให้ที่นี่ปรับปรุงมากกว่าปิดตัวลง
กิตติ พิพัฒน์ธาราสกุล
อาชีพ : เจ้าของร้าน Lido DVD
“เมื่อก่อนก็ไม่ได้มีชื่อร้านหรอก จริงๆ ลูกค้าเป็นคนตั้งชื่อให้กับร้านเรา เพราะว่าลูกค้ามักจะพูดถึงเราในแง่ของร้านดีวีดีที่ลิโด้ สุดท้ายมันก็กลายเป็น Lido DVD”
แม้ว่าสภาพตลาดดีวีดีในปัจจุบันจะเริ่มซบเซาลงไปมาก แต่ร้าน Lido DVD ก็ยังคงอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่งภายใต้ความตั้งใจที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ร้านแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวมดีวีดีหายากและหนังนอกกระแสที่โด่งดังในกลุ่มผู้คนรักหนัง และผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณด้านล่างของลิโดมากว่า 10 ปี
“ผมเสียดายนะ ถ้าไม่มีโรงหนังแล้ว มันก็จะกลายเป็นช้อปปิ้งมอลล์ และในสยามมันมีช้อปปิ้งมอลล์อย่างเยอะเลย ตัวผมเองก็พยายามเปิดโอกาสให้คนทำหนังนอกกระแสหรือซื้อหนังนอกกระแสให้มีที่ซื้อขายเพิ่มเติมนอกจาก House RCA ด้วย เพราะตรงนี้มันสบายกว่าในแง่ของที่จอดรถ และหลังจากที่ซื้อแล้วมันก็มีอะไรให้ทำต่ออีก”
และเมื่อเราถามถึงอนาคตของโรงหนังลิโด เขายอมรับว่า คนในพื้นที่เองก็รับรู้ข่าวสารเท่ากับคนข้างนอก สิ่งที่พวกคาดหวังในตอนนี้คือข้อเท็จจริงจากทางผู้ใหญ่ทั้งสองฝั่ง เพื่อจะได้เตรียมตัวต่อรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
นันท์ เลิศศิริ
อาชีพ : เจ้าของร้านกล้วยกล้วย
“อยากให้ลิโดรีโนเวตให้ได้ ทำหลังคาใหม่ก็ได้ แต่ก็ขอว่าอยากให้โรงหนังยังอยู่ เพราะว่าย่านนี้เหมือนเป็นย่านธุรกิจก็จริงอยู่ แต่ว่าสำหรับที่ลิโดเหมือนเป็นที่ให้คนขึ้นมาหายใจ นึกออกมั้ย เหมือนแบบย่านนี้ยังมีที่ไว้หายใจได้สักแห่งก็ยังดี มองไปทางไหนย่านนี้อะไรก็ตึก อะไรก็ห้างติดแอร์”
นอกจากโรงหนังที่เป็นจุดเด่นและเสน่ห์ของลิโดแล้ว ร้านขนมและเครื่องดื่มบริเวณหัวมุมทางขึ้นบันไดก็เช่นกัน ไม่ว่าใครที่เคยมาลิโดต้องรู้จักร้านนี้ หรือเคยเห็นผ่านตาบ้าง นันท์ หรือเจ้าของร้านกล้วยกล้วยเล่าว่า เธอเปิดร้านมานานถึง 18 ปีแล้ว ลูกค้าประจำหลายๆ คนจากที่เคยจูงมือกันมาสองคนในวัยหนุ่มสาวตอนนี้ก็ต่างพาลูกหลานมากินด้วย เธอรู้สึกเหมือนร้านกล้วยกล้วยเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำใครหลายๆ คน ไม่อยากให้ที่นี่หายไป เพราะรอบๆ ย่านนี้กลายเป็นห้างไปหมดแล้ว อย่างน้อยลิโดก็เป็นที่ให้ผู้คนแถวนี้และลูกค้าไว้เดินพักผ่อน หายใจบ้าง
“สำหรับที่นี่เป็นเหมือนบ้านเรา รู้สึกผูกพัน เพราะว่า เจ้าของเขาดูแลดีไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่แต่รวมถึงเรื่องจิตใจด้วย”
กรณีเรื่องการทุบลิโดหรือปิดตัวนั้น เธอบอกว่า ทราบข่าวจากภายนอกแล้ว แต่ส่วนของผู้รับชอบหรือทางการนั้นยังไม่ได้แจ้งอะไร และสัญญาสิ้นสุดลงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นรอบที่สองแล้วที่เธอได้ยินข่าวลักษณะนี้แต่ครั้งนี้รู้สึกสะเทือนใจ เพราะมีการออกข่าวครึกโครม แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันอะไรจากเจ้าของ
อัครพร สุขสมจิต
อาชีพ : พนักงานร้าน UNFOUND PROJECT
“จุดเด่นของสกาลาแน่นอนว่าเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม ซึ่งมันก็ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว รวมถึงเป็นสแตนด์อโลนโรงภาพยนตร์ที่มันไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย ส่วนใหญ่มันก็เจ๊งไปหมด บางที่ก็ปล่อยร้างไปเลย หรืออยู่ไกลไป แต่ถ้าเป็นสกาลา มันอยู่กลางกรุงเทพ มีความคลาสสิก”
ร้านขวัญใจเด็กสายสตรีทอย่าง UNFOUND PROJECT ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของสกาลายอมรับว่า พวกเขาได้ยินถึงกระแสข่าวคราวการรื้อถอนตัวโรงหนังมาตั้งแต่เขาตัดสินใจมาอยู่ที่นี้แล้ว โดยพวกเขาเชื่อว่ากระแสที่รุนแรงในโซเชียลมีเดียในปีนี้ มาจากความกลัวว่าเสน่ห์ของยุคสมัยคลาสสิกของย่านสยามจะเลือนหายจากไปนั้นเอง
“คือแถวนี้เป็นห้างไปหมดแล้ว ถ้าให้เลือกไม่ทุบทั้งสองแห่ง ผมคิดว่าน่าจะเป็นสกาลามากกว่า เพราะชอบบรรยากาศข้างหน้า ตรงป้าย ตรงนี้มันมีที่ให้รอ สามารถทำอะไรได้เยอะ”
ส่วนความเป็นไปของของสกาลาต่อไปในอนาคต ทางร้านได้มองว่า ถ้าจะปิดบริการจริงๆ ก็อยากจะเปลี่ยนให้เป็นโรงละครหรือฉายหนังอินดี้ก็คงจะดีไม่น้อย เพื่อรักษากลิ่นอายของความเป็นโรงหนังแบบดั้งเดิม แต่เพิ่มเติมความทันสมัยเพื่อให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ชาญชัย ฤทธิยา
อาชีพ : พนักงานตรวจตั๋วในเสื้อสูทสีเหลือง
“จริงๆ 14 มกราคมนี้ก็ครบรอบ 14 ปีที่ทำงานที่นี้แล้วนะ”
ลุงชาญชัย ฤทธิยา พนักงานตรวจตั๋วในเสื้อสูทสีเหลืองที่พวกเราคุ้นเคย ได้กล่าวกับเราอย่างยิ้มแย้ม พลางหวนรำลึกถึงช่วงเวลาดีๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่โรงหนังสกาลาแห่งนี้ แม้ว่าในปัจจุบัน บางรอบฉายจะมีคนดูเพียง 3-4 คนเท่านั้น แต่คุณลุงก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างขยันขันแข็งในทุกๆ วัน
“เวลาเจอลูกค้าประจำนะ ก็จะทักกันตลอด พอเห็นก็จะตกใจว่า เอ๊ย มายังไงเนี้ย พอตอนนี้ที่มันมีข่าวเยอะๆ ก็มีเข้ามาถ่ายรูปคู่เยอะมาก”
แม้ว่ากระแสของข่าวในครั้งนี้จะรุนแรงแค่ไหน คุณลุงก็ได้แต่ยิ้มแล้วบอกกับเราว่า คุณลุงเองก็ไม่ทราบว่าอนาคตของสกาลาจะเป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวคุณลุงเอง แต่ส่วนตัวแล้ว ระยะเวลาถึง 14 ปีที่ผ่านมา มันจะเป็นความผูกพันและความทรงจำที่ดีตลอดไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
asaconservationaward.com/index.php/2016-06-13-15-23-31/commercial2555/373-scala-theater