‘อย่าลืมกินโยเกิร์ตในตู้เย็น’
ข้อความที่เราเคยเขียนเตือนตัวเองบนโพสต์อิทเมื่อนานมาแล้ว ด้วยความที่ตอนนั้นเรามักจะซื้ออาหารตุนไว้เพราะไม่มีเวลาไปซื้อที่ร้านได้บ่อยๆ แต่สุดท้ายกลายเป็นลืมวันหมดอายุ จนต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
แม้การกระทำเล็กๆ นี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของคนคนๆ เดียว ทว่าในความเป็นจริง การทิ้งอาหารให้กลายเป็นขยะกลับส่งผลกระทบต่อโลกทั้งใบ แน่นอนว่ารวมคนตัวเล็กอย่างเราๆ ด้วยเหมือนกัน
ในเว็บไซต์ karma.life เทียบให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ขยะจากการทิ้งอาหาร 3 มื้อ เทียบเท่ากับมลพิษจากการขับรถ 1 คันตลอดทั้งวัน = การผลิตเสื้อผ้าฝ้าย 1 ตัว = มลพิษจากเครื่องบินที่บินในระยะทาง 48 กิโลเมตร ซึ่งโลกของเรามีอาหารเหลือทิ้งราวๆ 1 หมื่นล้านตันต่อปี ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าในปี 2017 มีขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณทั้งหมด แถมขยะเหล่านี้ยังถูกใช้ประโยชน์น้อยมาก อย่างพื้นที่กรุงเทพฯ เองก็สามารถนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิลได้แค่ 2% เท่านั้น
เรื่องน่าเศร้าอันแสนย้อนแย้ง คือเราอยู่บนโลกที่มีอาหารเหลือมากมาย ด้วยเหตุผลอย่างความขี้ลืม หรือรูปร่างหน้าตาอาหารไม่ได้สมบูรณ์แบบเลยต้องทิ้งไปทั้งที่ยังกินได้ตามปกติ ขณะที่มีคนนับล้านกำลังเผชิญกับปัญหาความอดอยากและหิวโหย
แม้จะมีบางองค์กรที่มีโครงการลดอาหารเหลือทิ้ง บ้างก็รับบริจาคให้กับคนยากไร้ แต่ใช่ว่าจะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด และถ้าเป็นไปได้ ร้านอาหารก็คงไม่อยากขาดทุนจากปัญหาดังกล่าว ดังนั้นการนำโมเดลธุรกิจเข้ามาปรับใช้เลยเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้เราได้ลดขยะจากอาหาร ไปพร้อมกับการเพิ่มรายได้ให้ร้านรวงต่างๆ และลดรายจ่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้มีหลายแอปฯ ที่เข้ามาแก้ปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป เราเลยรวบรวมแอปพลิเคชั่นที่น่าสนใจทั้งในไทยและต่างประเทศมาฝากทุกคนกัน
แอปฯ ที่เปิดให้บริการในประเทศไทย
Olio
- พื้นที่ให้บริการ: ประเทศไทยและอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
- ปีที่ก่อตั้ง: 2015
- รูปแบบบริการ: เคยเก็บของค้างตู้เย็นไว้จนหมดอายุ หรือมีของที่ไม่ได้ใช้แต่ไม่รู้จะส่งต่อที่ไหนกันหรือเปล่า? ยิ่งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ การจะเคาะประตูบ้านแบ่งอาหาร แบ่งขนมให้คนใกล้บ้านคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แอปฯ olio จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยผู้ใช้งานสามารถโพสต์อาหารที่ยังสามารถกินได้แต่กินไม่หมด กินไม่ทัน ไปจนถึงโพสต์ของที่อยากส่งต่อ/ยืม-คืนกับคนใกล้บ้านได้ ถ้าใครสนใจชิ้นไหนก็สามารถนัดรับของชิ้นนั้นได้เลย โดย Olio จะไม่มีค่าบริการ เพราะรายได้ของ Olio มาจากค่าบริการจัดโครงการด้าน food waste ให้กับธุรกิจใหญ่ๆ และค่าธรรมเนียมจากการสมัครสมาชิกแบบพรีเมี่ยม เรียกว่าเป็นแอปฯ ที่ช่วยลดขยะ ประหยัดงบ แถมเพิ่มมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้านให้เราไปในตัวเลยล่ะ
- เว็บไซต์ : https://olioex.com/
Yindii
- พื้นที่ให้บริการ: ไทยและฮ่องกง
- ปีที่ก่อตั้ง: 2020
- รูปแบบบริการ: ในช่วง Covid-19 ระบาดหนักทำให้ธุรกิจร้านอาหารซบเซาจนไม่สามารถรู้ได้ว่าวันไหนจะขายได้เท่าไร ทำให้มีอาหารเหลือเยอะมาก บวกกับการมองเห็นผลกระทบจากอาหารส่วนเกิน (food surplus) ทำให้ Louis-Alban Batard-Dupre (หลุยส์) ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในไทยมมาสักพัก รวมทั้งเป็นอาสาสมัครให้กับ SOS Thailand (มูลนิธิด้านการจัดการขยะอาหารเหลือทิ้ง) ตัดสินใจก่อตั้ง Yindii ขึ้นมา โดยเป็นเหมือน ‘คนกลาง’ จำหน่ายอาหารที่ขายไม่หมด (แต่ยังกินได้) ออกมาเป็นรูปแบบ ‘กล่องสุ่ม’ ให้เรารอลุ้นว่าอาหารที่ได้วันนั้นจะเป็นเมนูไหน โดยลูกค้าสามารถกดจองล่วงหน้าหรือเข้าไปซื้อในเวลาที่กำหนดได้ในราคาที่ลดสูงสุดถึง 80% เลยทีเดียว โดยแอปฯ Yindii จะมีทั้งแบบเดลิเวอร์รี่และไปรับที่ร้านด้วยตัวเอง
- เว็บไซต์ : https://www.yindii.co/
Oho!
- พื้นที่ให้บริการ: ไทย
- ปีที่ก่อตั้ง: 2022
- รูปแบบบริการ: เมื่อปีที่ผ่านมา เพิ่งมีแอปฯ น้องใหม่อย่าง Oho! ที่ตั้งใจจะเป็น Food surplus delivery โดยร้านที่สามารถคำนวณอาหารส่วนเกินล่วงหน้าได้ หรือบางร้านขายดีในช่วงเช้า เช่น โจ๊ก ในแอปฯ จะมีชื่อเมนูและราคาที่ลดลงมา 20-70% จากราคาเต็ม ส่วนร้านที่ขายแบบรายวันและไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีอาหารอะไรเหลือบ้าง ก็จะเป็นรูปแบบ ‘กล่องสุ่ม’ ให้ลุ้นเมนูในราคาสบายกระเป๋า นอกจากนี้ Oho! ยังเป็นพื้นที่ให้ร้านที่อยากทดลองตลาดทำเมนูใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ยังไม่พร้อมวางขาย โดยร้านสามารถนำเมนูเหล่านั้นมาวางขายในแอปฯ ในราคาที่ถูกลงได้ แทนที่จะทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหาร โดยเราสามารถใช้บริการ Oho! ได้ทั้งแบบไปรับที่ร้าน ทานที่ร้าน และแบบเดลิเวอร์รี่ ซึ่งรายได้ของ Oho! ก็จะมาจากค่าคอมมิชชั่นเหมือนกับโมเดลของแอปฯ เดลิเวอร์รี่อื่นๆ นั่นเอง
- เว็บไซต์ : https://www.ohothailand.com/
แอปฯ ที่เปิดให้บริการเฉพาะต่างประเทศ
Too good to go
- พื้นที่ให้บริการ: 17 ประเทศในยุโรปและอเมริกา
- ปีที่ก่อตั้ง: 2016
- รูปแบบบริการ: Too good to go ตั้งครั้งแรกในประเทศเดนมาร์ก ก่อนจะขยับขยายมาเรื่อยๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยแอปฯ จะให้ร้านนำอาหารที่เหลือในแต่ละวัน (แต่ยังสามารถกินได้) มาทำเป็นแบบกล่องสุ่มเซอร์ไพรส์คนกิน พร้อมราคาที่ลดลงมาราวๆ 50-70% โพสต์ลงในแอปฯ โดยลูกค้าสามารถเข้าไปกดจองแล้วมารับที่ร้านในช่วงเวลาที่กำหนด ส่วนรายได้ของ Too good too go จะมาจากค่าคอมมิชชั่นของแต่ละออเดอร์ และค่าสมัครสมาชิกรายปีของร้านค้า เรียกว่าเป็นแอปฯ แรกๆ ที่ทำด้านการลดขยะอาหาร และยังคงยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้เลยล่ะ
- เว็บไซต์ : https://www.toogoodtogo.com/
Treatsure
- พื้นที่ให้บริการ: สิงคโปร์
- ปีที่ก่อตั้ง: 2017
- รูปแบบบริการ: นอกจากฝั่งยุโรป-อเมริกาแล้ว ทางฝั่งเอเชียเองก็มีแอปฯ ของสิงคโปร์อย่าง Treatsure ที่เหมาะกับสายบุฟเฟ่ต์และคนรักการทำอาหารเองที่บ้าน เพราะแอปฯ นี้มี 2 รูปแบบคือ Buffet-in-a-box ที่เราสามารถกดจองร้านบุฟเฟ่ต์ตามโรงแรมต่างๆ แล้วเข้าไปตักอาหารในช่วง 30-60 นาทีสุดท้าย ในราคาที่ถูกลง และแบบ surplus groceries ที่สามารถชอปปิ้งวัตถุดิบที่ยังกินได้ แต่วางขายไม่ได้แล้วจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง โดยจะกำหนดรอบสำหรับเดลิเวอร์รี่หรือเข้ามารับอาหารตามเวลาที่กำหนด
- เว็บไซต์ : https://www.treatsure.co/index.html
TABETE
- พื้นที่ให้บริการ : ญี่ปุ่น
- ปีที่ก่อตั้ง : 2018
- รูปแบบบริการ : แอปฯ TABETE ที่มีพาร์ทเนอร์ตั้งแต่ร้านเบเกอรี่ ร้านเค้ก โรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าอื่นๆ ซึ่งจะร้านเหล่านี้จะต้องถ่ายภาพของเมนูที่เหลือลงในแอปฯ อาจเป็นอาหารสดที่ใกล้วันหมดอายุ ขนมปังที่ยังกินได้อีกนานแต่รูปร่างหน้าตาอาจจะไม่สมบูรณ์พอให้วางขายหน้าร้าน ไปจนถึงวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร แต่ร้านไม่จำเป็นต้องลงขายทุกวัน ส่วนผู้ใช้งานก็ไม่ต้องเข้าไปเช็คบ่อยๆ ว่ามีอาหารอะไรเหลือบ้าง เพราะถ้าร้านโปรดขอเราหรือร้านใกล้ๆ มีอาหารเหลือ แอปฯ TABETE ก็จะแจ้งเตือนให้อัตโนมัติ เพื่อให้เรากดสั่งแล้วเข้าไปรับอาหารที่ร้านได้เลย
- เว็บไซต์ : https://tabete.me/
อ้างอิงจาก