ในแต่ละมื้อคุณทานอาหารหมดไหม? ถ้าเหลือ คุณคิดว่าอาหารเหล่านั้นจะกลายเป็น ‘ขยะ’ ที่ส่งผลกระทบกับโลกยังไงบ้าง?
หลังจาก ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมารณรงค์จนสามารถสร้างการตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ประเทศไทยเองก็มีการขานรับกระแสที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ทั้งจากนโยบายงดแจกถุงพลาสติก single-use ตามห้างสรรพสินค้า มาตรการเปลี่ยนจากการใช้หลอดพลาสติกเป็นหลอดกระดาษ หรือกระทั่งข้อกังวลเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิ ขยะจากการลอยกระทง ที่ในปีนี้ดูจะได้รับการพูดถึงในแง่ผลกระทบมากเป็นพิเศษ
นอกจากขยะพลาสติกแล้ว ‘food waste’ หรือขยะจากเศษอาหารก็ถูกหยิบมาพูดถึง และหาแนวทางในการจัดการด้วยเหมือนกัน ประเด็นที่น่าสนใจของ food waste ก็คือ หลายคนเข้าใจว่าขยะจากอาหารเป็นขยะชนิดย่อยสลายได้ง่าย อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากเท่าพลาสติกหรือโฟมหรือเปล่า
แต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการจัดการขยะประเภทนี้ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และดูเหมือนว่า food waste จะส่งผลกระทบกับโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
food waste คืออะไร? มีคนขาดแคลนแต่ทำไมยังเหลือทิ้ง?
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้คำนิยามของ ‘food waste’ ไว้ว่า food waste หรือขยะอาหาร คือ การสูญเสียอาหารในตอนปลายของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งก็คือขั้นตอนการขายปลีกและการบริโภค เชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และการบริโภค
รายงานของ FAO ยังระบุด้วยว่า แต่ละปีทั่วโลกจะมีขยะจากอาหารที่ถูกทิ้งราวๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นทุกปี
บทความจากสำนักข่าว Al Jazeera รายงานข้อมูลของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ว่า ระหว่างปี ค.ศ.2005-2015 อัตราความหิวโหยของโลกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา มีประชากรราวๆ 820 ล้านคนทั่วโลกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2014 ประมาณ 35 ล้านคน
ถ้ามีคนขาดแคลนอาหาร แล้วทำไมยังเกิด food waste อยู่ล่ะ? พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ อธิบายเรื่องนี้ให้เราฟังว่า ‘over production’ หรือการผลิตอาหารมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงสถานะประชากร คือสิ่งที่ทำให้เกิดขยะอาหารเพิ่มขึ้น
พศิษฐ์บอกว่า เราจะเห็นการผลิตอาหารมากจนเกินจำเป็นได้จากร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือตามภัตตาคารที่ในแต่ละวันจะมีอาหารเหลือทิ้งจากการขาย หรือภาคครัวเรือนบางรายก็มีพฤติกรรมการซื้อของมากเกินจำเป็นเช่นกัน ซึ่งคนที่สามารถเข้าถึงอาหารได้ครอบคลุมแบบนี้ก็คือ กลุ่มคนระดับชนชั้นกลางขึ้นไป
ในทางกลับกัน คนไร้บ้านหรือคนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ครบถ้วนนั้น เกิดจากการเกลี่ยสัดส่วนอาหารที่ยังทำได้ไม่ดี ทำให้มีความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งหมดคือปัจจัยที่ทำให้เกิด food waste เพิ่มขึ้นทุกปีนั่นเอง
“food accessibility ประเทศเราค่อนข้างต่ำ รวมๆ มันคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าให้ชี้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากตรงไหนก็คงยาก มันเป็นปัญหาแบบงูกินหาง เอาแค่ถังขยะหลังบ้านที่ทิ้งรวมๆ กันโดยไม่แยกขยะก่อนทิ้งในภาคครัวเรือนก็ทำให้เกิดก๊าซมีเทนแล้ว
มาตรการจัดการอาหารหมดอายุในไทยก็ยังมีแค่การลดราคา ทั้งที่มันควรจะมีการบริหารให้ไปถึงกลุ่มคนยากไร้ ตรงนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะตอนนี้อย่างมากก็มีแค่ซูเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติเท่านั้นที่ลดราคาสินค้าใกล้หมดอายุ เพื่อไม่ให้เกิด food waste”
ผลกระทบจาก food waste ต่อความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม
บทความจาก Al Jazeera พูดถึงผลกระทบจาก food waste ที่ควรเฝ้าระวังด้วยว่า ขยะจากเศษอาหารทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8% เป้าหมายในการทำให้ขยะอาหารลดลง จึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศพยายามอย่างหนักเพราะเศษอาหารพวกนี้มีผลกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยรวม
นอกจากจำนวนขยะแล้ว การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหารจำนวนมาก โดยที่สุดท้ายแล้วอาหารเหล่านั้นกลับถูกทำให้กลายเป็นขยะเหลือทิ้ง ก็ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นด้วย
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การผลิตอาหารจำนวนมากแปรผันตรงกับการเพิ่มขึ้นของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการขยายตัวทางการเกษตรที่รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ป่ามากขึ้น จนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป
การผลิตแบบ ‘mass production’ จึงเป็นการให้น้ำหนักไปที่ปริมาณการฟีดจำนวนอาหารเข้าระบบ โดยไม่ได้คำนึงถึงการเกลี่ยสัดส่วนอาหาร หรือข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมมากขนาดนั้น
อีกประเด็นที่น่ากังวล คือ ขยะจากการทำการเกษตร และการขุดบ่อเลี้ยงปลาได้กลายเป็นการสร้างพื้นที่ปิดให้กับระบบนิเวศทางน้ำ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสายใยอาหารหรือ food web ซึ่งจะกระทบต่อวงจรอาหารของมนุษย์ในระยะยาวได้
นี่ยังไม่นับรวมถึงวิธีการฝังกลบเศษอาหารในหลายๆ ประเทศที่ต้องมีการหาพื้นที่แหล่งฝังกลบโดยการตัดต้นไม้ และแน่นอนว่าวิธีการแบบนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสภาพอากาศและอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแน่นอน
ว่าด้วยฉลากอาหาร : expired date และ best before date
อาหารหมดอายุยังกินได้อยู่ไหม ต้องกินก่อนเที่ยงคืนหรือเปล่า ฉลาก ‘best before’ ต่างกับ ‘expired date’ หรือวันหมดอายุยังไงนะ?
ความสับสนระหว่างสองคำนี้มีส่วนทำให้เกิด food waste อีกทางหนึ่งด้วย บางคนเลือกที่จะทิ้งอาหารทันที หากเหลือบไปเห็นฉลากว่า เลยกำหนดวัน best before ไปแล้ว
นักกำหนดอาหารอธิบายให้เราฟังว่า สองคำนี้มีความแตกต่างกันที่ ‘ความอันตรายของอาหารในบรรจุหีบห่อ’ หากเป็นอาหารที่ระบุ expired date คือ เลยกำหนดวันหมดอายุไปแล้วเรารับประทานต่อ ก็อาจเกิดอันตรายกับชีวิตได้ ซึ่งแนวโน้มความอันตรายจะสูงขึ้นตามเวลาที่มากขึ้น แต่บางครั้งสินค้าหมดอายุก็ยังสามารถรับประทานได้อยู่
เขาบอกว่า การพิจารณาแต่ละครั้งต้องดูฉลากควบคู่ไปกับการใช้ประสาทสัมผัส ให้สังเกตจากความเปลี่ยนแปลงของอาหารว่า มีราขึ้นไหม กลิ่นหรือรสชาติเปลี่ยนไปหรือเปล่า ซึ่งความสดใหม่ของอาหารยังขึ้นอยู่กับบรรจุภัณฑ์ และอุณหภูมิที่ใช้เก็บรักษา
ส่วน ‘best before’ คือ หากกินภายในวันที่ระบุ ผู้บริโภคจะได้รสชาติอาหารที่มีคุณภาพสูงสุด เช่น โยเกิร์ตพร้อมดื่ม หรือโยเกิร์ตพร้อมทาน เป็นอาหารที่ขึ้นอยู่กับแบคทีเรียที่มีชีวิตอยู่ในนั้น กระบวนการทำโยเกิร์ต คือ หมักบ่มด้วยอุณหภูมิที่อาจจะสูง แล้วช็อกด้วยความเย็นเพื่อให้แบคทีเรียยังมีชีวิตอยู่
ถ้าโยเกิร์ตขนส่งมาถึงผู้บริโภคก่อนวันที่ best before แบคทีเรียจะยังลดไม่มาก กินแล้วมีส่วนดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าเลยวันไปแล้วแบคทีเรียที่มีจำนวนจำกัดในถ้วยนั้นๆ จะเริ่มตายลง
ฉะนั้นผ่านวัน best before ไปแล้ว รสชาติจะยังเหมือนเดิม แต่ประโยชน์ในการดูแลลำไส้อาจจะไม่ดีเท่าที่ควร จุดต่างระหว่างสองคำนี้จึงอยู่ที่ ผลิตภัณฑ์ best before ยังรับประทานได้เรื่อยๆ ในเวลาหลายเดือน ส่วน expired date ให้ตรวจสอบกลิ่น สี รสชาติ เมื่อเลยกำหนดวันแล้ว
พศิษฐ์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องค่านิยมของคนไทยบางกลุ่มที่มักจะเลือกหยิบสินค้าบนชั้นวางของด้านในก่อน เขาบอกว่า นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ food waste เพิ่มขึ้น
ตามหลักการแล้ว การจัดวางสินค้าบนชั้นวางของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าทุกแห่งจะยึดระบบ ‘first in first out’ คือ สินค้าไหนมาก่อนวางไว้ด้านหน้า ชิ้นไหนมีอายุอยู่ได้นานกว่าจะถูกจัดวางไว้ด้านหลังตามลำดับ การหยิบซื้อของตามที่ห้างจัดวางไว้จะช่วยลดปริมาณขยะอาหารลงได้อีกทาง
แยกขยะในครัวเรือน และคำนวนวัตถุดิบก่อนซื้อ – จุดเริ่มต้นของการลด food waste
พศิษฐ์ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหา food waste แบบครอบคลุมเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่หากจะให้เริ่มพูดตั้งแต่ต้นสิ่งสำคัญที่สุดต้องเริ่มจากภาคครัวเรือนก่อน อย่างการแยกประเภทขยะ บรรจุภัณฑ์ไหนที่รีไซเคิลได้ ก่อนทิ้งขยะให้ล้างด้วยน้ำสะอาดก่อน เพราะขวดน้ำที่เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำหวานจะไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้
อีกอย่างคือ การคำนวนจำนวนวัตถุดิบก่อนซื้อทุกครั้ง พวกของสด ผัก-ผลไม้ ให้ซื้อเท่าที่คนในครอบครัวกิน หรืออาจจะเลือกซื้อผลไม้ที่เก็บรักษาไว้ได้นานก็จะช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง
“เริ่มตั้งแต่การจัดสรรในระดับครัวเรือน คำนวนการซื้อ ซื้อแบบพอดี อย่าเห็นแก่คำว่าของลดราคา เรารู้อยู่แล้วว่า คนในครอบครัวกินอะไรบ้าง บางคนก็ซื้อเก็บจนลืมไปแล้วว่ามีอะไรในตู้เย็น ควรซื้อของสดพอประมาณ เนื้อสัตว์อาจจะฟรีซได้นานหน่อย แต่ผักผลไม้สองสามวันก็แย่แล้ว อาจจะเลี่ยงด้วยการซื้อผลไม้ไม่ปลอกเปลือกก็จะเก็บรักษาได้ดีกว่า อย่างแอปเปิลหรือฝรั่งเก็บได้นาน กล้วยสุกทีทั้งหวีแบบนี้กินไม่ทัน”
ส่วนการกระจายอาหารให้คนยากไร้ พศิษฐ์ให้ข้อมูลว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า วิธีการนี้ช่วยลดปริมาณ food waste ได้จริง ยกตัวอย่างประเทศฝั่งยุโรปที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วยจัดการกระจายอาหารให้เข้าถึงคนยากไร้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการโดยภาครัฐอย่างเอาจริงเอาจัง
“บางร้านก็มีการทิ้งเศษอาหารแบบที่ไม่สามารถนำมารับประทานต่อได้แล้ว อาจจะยังมีความคิดกลัวคนยากไร้นำไปรับประทานต่อ หรือบางแห่งก็จะมีคนยากไร้ที่เป็น ‘เจ้าถิ่น’ ร้านจึงเลือกตัดปัญหาด้วยการทำลายเป็น food waste ซะ ด้วยลักษณะแบบนี้จึงต้องมีมาตรการของภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ในเชิงโครงสร้าง”
แม้จะมีหลายประเทศใช้วิธีการเกลี่ยอาหารเหลือทิ้งให้กลุ่มคนอื่นๆ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังว่า ผู้ผลิตควรตรวจสอบความสดใหม่ของอาหารให้ดีก่อน เพราะหากบริจาคอาหารไปแล้วทำให้เกิดปัญหาด้านสุขลักษณะที่ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภคในภายหลัง ร้านค้า ผู้ผลิต หรือเจ้าของอาหารก็อาจถูกฟ้องร้องได้
การแก้ปัญหาขยะอาหารแบบยั่งยืนจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับเล็กสุดอย่างครัวเรือน ไปจนถึงการกำหนดเชิงนโยบายโดยภาครัฐ ที่จะช่วยลดจำนวนขยะซึ่งมีส่วนในการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของเราทุกคนได้