“He who is deaf, blind and silent will live 100 years in peace”
(ใครที่หูหนวก ตาบอด และอยู่เงียบงัน จะใช้ชีวิตเงียบสงบได้นับร้อยปี)
กระแสมาเฟียกำลังมาแรง แล้วเราเองก็ดูจะมีภาพมาเฟียที่เฉพาะเจาะจง เรามักนึกภาพกลุ่มที่ประกอบธุรกิจนอกกฎหมาย เกี่ยวข้องกับการฆ่าและความรุนแรง แต่เราก็แอบชื่นชมไปกับวัฒนธรรมแบบมาเฟีย กับกฎเกณฑ์ที่มาเฟียยึดถือ แน่นอนว่าภาพจำของวัฒนธรรมมาเฟียส่วนใหญ่มาจากหนังและวรรณกรรมระดับไอคอนอย่าง The Godfather
ความเท่ในความนอกกฏหมายของวัฒนธรรม คือการมี ‘อารยธรรม’ มีระบบกฏเกณฑ์ ไม่ได้เป็นโจร เป็นกุ๊ยซกมก แถมบางครั้งลักษณะนอกกฏหมายนี้ยังเป็นการย้อนกลับไปถามเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ และความถูกต้องของตัวกฎหมายเองซะอีก กฎเกณฑ์ของมาเฟียหลักๆ พูดถึงการเป็นครอบครัว การปกป้องคุ้มครองกันของคนในแฟมิลี่ การรักษาจรรยามารยาทบางอย่าง ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นพี่น้อง และความถูกต้อง(ในแบบของตัวเอง) เรารู้จักกฎสำคัญเช่น Omertà กฏแห่งความเงียบ คนในองค์กรจะไม่แพร่งพรายความลับใดๆ แม้จะแลกด้วยชีวิต
มาเฟียเป็นกลุ่มอาชญกรรมที่โด่งดังและเริ่มต้นทางตอนใต้ของอิตาลี The Godfather ถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่ทำให้วัฒนธรรมมาเฟียแพร่หลาย หลังจากนั้นก็มีงานเขียน หนัง และซีรีส์แนวมาเฟียตามมาอีกมากมาย ในวันที่มาเฟียกลับมาอยู่ในความสนใจ The MATTER อยากชวนอ่านหนังสือว่าด้วยมาเฟีย ไปเรียนรู้โลกผิดกฎหมายที่มีจริยธรรมเป็นของตัวเอง ทั้งจากเรื่องแต่งและงานเขียนเชิงสารคดีกัน
Primitive Rebels, Eric Hobsbawm (1959)
หรือว่ากฏหมาย หรือระบบที่ควบคุมดูแลเราจะมีปัญหา Primitive Rebels เป็นงานเชิงวิชาการที่พูดเรื่องกลุ่มนอกกฎหมายที่โด่งดังและกลายเป็นว่าได้รับความชื่นชมจากคนในสังคม เรามีตำนานโรบินฮูด มาจนถึงกลุ่มมาเฟียในซิซิลี เป็นกลุ่มคนนอกกฏหมายที่ปล้นคนรวยไปช่วยคนจน – กฏหมายกำลังคุ้มครองใคร และกลุ่มติดอาวุธนอกกฏหมายนี้กำลังคุ้มครองใคร งานศึกษานี้ให้ความสนใจจากต่อต้านทางสังคม (social rebel) ว่าในที่สุดแล้วรูปแบบแบบที่เป็นตำนานในการต่อต้านของยุคสมัยใหม่ เราก็ยังใช้รูปแบบแบบเดียวกับเมื่อหลายร้อยหรือหลายพันปีก่อน
The Day of the Owl, Leonardo Sciascia (1961)
ในยุคที่มาเฟียยังคงล่องหนไร้ตัวตน และก่อนที่จะมี The Godfather นวนิยายเรื่อง The Day of the Owl ถือเป็นนวนิยายอิตาเลียนเล่มแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องราวการมีอยู่ของมาเฟีย ตัวเรื่องไม่ได้พูดถึงองค์กรมาเฟียโดยตรง แต่เป็นแนวสืบสวนจากการสังหารบุคคลสำคัญที่สุดท้ายการสืบสาวไปพัวพันกับองค์กรมาเฟีย จากฉบับหนังสือในปี 1961 เรื่องนี้ก็ได้รับการนำไปทำเป็นฉบับหนังในปี 1968
The Godfather, Mario Puzo (1969)
ไม่มีอะไรเป็นไอคอนแห่งวัฒนธรรมมาเฟียได้เท่า The Godfather กลุ่มมาเฟียในอเมริกา นวนิยายเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ถล่มทลาย ติดอันดับ The New York Times Best Seller กว่า 67 สัปดาห์ และมีรายงานว่าขายออกไปกว่าเก้าล้านเล่มภายในสองปีหลังจากวางจำหน่าย เรื่องนี้ยิ่งดังและเป็นหมุดหมายทั้งของภาพมาเฟีย ไปจนถึงงานประเภทมาเฟียในยุคต่อๆ มาเมื่อ Francis Ford Coppola นำไปทำเป็นหนังขึ้นหิ้งในปี 1972
Mafia and Mafiosi, Henner Hess (1970)
Mafia and Mafiosi ถือเป็นงานเชิงวิชาการระดับคลาสสิกที่ว่าด้วยเรื่องมาเฟีย ตีพิมพ์ครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อปี 1970 งานศึกษาเชิงสังคมนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับพวกความเชื่อ (myth) ต่างๆ ที่สังคมมีต่อมาเฟีย Henner Hess ผู้เขียนพยายามไปแย้งความเชื่อ ที่มา ความเป็นองค์กร และพิธีกรรม สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่างานเขียนนี้อาจจะนำความจริงไปทำลายความเชื่อที่เราจินตนาการถึงมาเฟีย กลายเป็นว่าชาวซิซิลี – ดินแดนแห่งมาเฟีย – ก็ไม่ค่อยจะชอบหนังสือเล่มนี้เท่าไหร่
Casino: Love and Honor in Las Vegas, Nicholas Pileggi (1995)
ร่วมสมัยเข้ามาหน่อย จะมีที่ไหนดูเกี่ยวข้องกับมาเฟียมากไปกว่าดินแดนแห่งธุรกิจการพนันเช่นลาสเวกัส Casino: Love and Honor in Las Vegas เป็นผลงานของ Nicholas Pileggi นักข่าวสายอาชญากรรม พูดถึงยุค 70s-80s ที่ลาสเวกัสยังคงมีมาเฟียเป็นองค์กรดูแลอยู่เบื้องหลัง เรื่องราวหลักๆ พูดถึงคนที่ทำงานให้องค์กรเช่น Frank Rosenthal และ Tony Spilotro ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับมาเฟียก็มักจะเตะตาผู้กำกับและต้องใจคนดู ที่ต่อมาเรื่องนี้ Martin Scorsese ก็นำไปสร้างฉบับหนังและได้เข้าชิง Academy Award
Mafia Brotherhoods, John Dickie (2014)
งานเชิงประวัติศาสตร์ที่ได้จากมาเฟียเก่า (ปัจจุบันทำงานกับตำรวจแล้ว) Mafia Brotherhoods เป็นงานเขียนที่เกี่ยวข้องทั้งหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมวิทยา พูดถึงองค์กรมาเฟียที่เคยเป็นปริศนา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเป็นพี่น้อง พิธีกรรม งานเขียนนี้ไม่ได้พูดถึงมาเฟียอย่างเดียว แต่เป็นองค์กรนอกกฎหมายถึงสามกลุ่ม คือ ’Ndrangheta, Camorra และ Mafia
อ้างอิงข้อมูลจาก