เวลาเราคิดถึงภาพของ ‘นักสืบ’ เรามักจะนึกถึงบุคคลมืออาชีพที่ชาญฉลาด เป็นคนที่เรารู้สึกสบายใจว่า โอเค โลกนี้มันมีคนร้ายๆ ที่สามารถก่อคดีแล้วอำพรางได้แค่ไหน แต่เราก็ยังมีฮีโร่ฝ่ายดีที่ใช้สติปัญญาในการคลี่คลายคดีและนำความสงบสุขกลับสู่สังคมนี้ได้
นักสืบจริงๆ ทำงานยังไงไม่แน่ใจแต่ภาพนักสืบในจินตนาการแบบนี้เกิดจาก ‘นวนิยายประเภทสืบสวน’ แบบโฮล์มอันเป็นประเภทวรรณกรรมที่เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
ประเภทนวนิยายสืบสวนแบบที่เรารู้จักเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุคนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตและความสัมพันธ์ นึกภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากสังคมเกษตรกรรม จากหมู่บ้านที่มีคนไม่มากกลายเปนสังคมที่คนแปลกหน้าจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ด้วยกัน การเข้าสู่สังคมเมืองคือสังคมแห่งคนแปลกหน้า เราเริ่มกังวลว่าคนที่เดินผ่านไปผ่านมาหรือบ้านหลังถัดไปมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีการฆ่ากันเกิดขึ้นบ้างไหม งานแนวสืบสวนและตัวละครนักสืบจึงเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งจากการเกิดขึ้นของเมืองและการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลจากองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์
ลอนดอนเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เกิดพื้นที่เมือง ดังนั้นนวนิยายแนวสืบสวนยุคแรกจึงก่อตัวและเริ่มเฟื่องฟูจากอังกฤษก่อน เรื่อยมาจนถึงยุคทองของนวนิยายแนวสอบสวนที่สร้างภาพนักสืบนั่งไขคดีด้วยเหตุผลอย่างโฮล์ม จนอิทธิพลของงานแนวสืบสวนส่งผลข้ามน้ำข้ามทะเลมาจนถึงเอเชียเช่น โคนัน ของประเทศญี่ปุ่น The MATTER ชวนมาทบทวนย้อนอดีตถึงเหล่านักสืบในโลกนวนิยาย เหล่าตัวละครที่ถูกจินตนาการขึ้นแต่อาจจะส่งผลกับความคิดที่เรามีต่อโลกของการผดุงความยุติธรรมมากกว่าที่เราคาด
C. Auguste Dupin ของ Edgar Allan Poe
เอ็ดการ์ อาแลง โป บิดาแห่งเรื่องลึกลับสยองขวัญเป็นผู้ที่วางรากฐานตัวละครนักสืบและเรื่องแนวสืบสวน องค์ประกอบสำคัญๆ คือการมีคดีฆาตกรรมและมีตัวละครนักสืบ วิธีการสืบสวนที่นั่งสบายๆ แล้วใช้เหตุผลในการไขคดี วรรณกรรมที่ถือว่าเป็นงานแนวสืบสวนชิ้นแรกคือ The Murders in the Rue Morgue ในเรื่องพูดถึง ‘การฆาตกรรมปริศนาที่ถนนรูมอค’ กระบวนการสำคัญในการสืบคือการใช้เหตุผล ต้นเรื่องโปพูดถึงกระบวนการใช้ความที่สืบสาวผ่านเหตุผลและความสมเหตุสมผล C. Auguste Dupin จึงถือว่าเป็นตัวละครนักสืบต้นแบบ คือเป็นตัวละครที่มีความรู้แต่ก็มีความแปลกประหลาดในตัวเอง และในที่สุดแล้วใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างการสังเกตการณ์ การใช้เหตุผล ไปจนถึงความรู้ต่างๆ สืบสาวไปจนถึงต้นตอของปัญหาได้ในที่สุด ลองสังเกตดูว่าตัวละครนักสืบทั้งหลายมักจะต้องมีความประหลาดหรือลักษณะเด่นบางอย่างที่บอกว่าคนนี้ไม่ธรรมดานะ
Sherlock Holmes ของ Arthur Conan Doyle
สุดยอดตัวละครนักสืบที่ดังที่สุดและเป็นตัวตั้งต้นให้วรรณกรรมแนวนักสืบเฟื่องฟู สมัยของโฮล์ม (และตามมาด้วยงานของคริสตี้) ถือกันว่าเป็นยุคทอง (The Golden Ages) ของงานนวนิยายแนวสืบสวนในอังกฤษ เชอร์ล็อค โฮล์ม ถือเป็นงานสืบสวนแนว soft-boil คือนักสืบไปเจอคดีแล้วก็ค่อยๆ คลี่คลายคดีด้วยเหตุผล ดอยด์เขียนเรื่องราวของโฮล์มไว้เป็นนวนิยายยาว 4 เรื่องและเรื่องสั้นทั้งหมด 56 เรื่อง ความโดดเด่นของโฮล์มคือการใช้พลังความรู้ทั้งการสังเกต การใช้ความคิดแบบ deductive ไปจนถึงการใช้ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์ในการสืบหาคนร้าย โฮล์มเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดตัวหนึ่งของโลก คือดังจนคนแทบจะรู้สึกว่าโฮล์มมีตัวตนเป็นคนจริงๆ คดีที่น่าสนใจก็เช่น ตอน The Hound of the Baskervilles ที่เป็นนวนิยายเรื่องราวที่พูดถึงการฆาตกรรมปริศนาของหมาป่าที่ดูเกี่ยวข้องกับตำนานปีศาจ โฮล์มมีข้อสังเกตจำนวนหนึ่ง เช่น ความสัมพันธ์ที่ดูใกล้ชิดกับวัตสันคู่หู ไปจนถึงการใช้โคเคนในกระบวนการคิดสืบหาคนร้าย
Hercule Poirot และ Miss Marple ของ Agatha Christie
อกาธา คริสตี้ ถือเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญของวงการวรรณกรรมแนวสืบสวน ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘ราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม’ แอร์คูล ปัวโรต์เป็นตัวละครนักสืบที่ก็มีความประหลาดในตัวเอง คือเป็นคนเบลเยียม ตัวอ้วน เตี้ยๆ ดวงตาสีเขียว จุดเด่นอยู่ที่หนวดที่ทาน้ำมันจนแข็งและปลายจมูกที่เป็นสีชมพูเรื่อๆ คงด้วยความที่คริสตี้เป็นนักเขียนหญิง ในกระบวนการสืบสวนจึงมีความหญิงๆ (จากการสืบแบบคดี๊คดีของรัฐ ของทางการ) เธอได้สร้างมิสมาร์เปิลเป็นเหมือนนักสืบหญิงชาวบ้านขึ้นมาด้วย มิสมาร์เปิล (Miss Marple) เป็นนักสืบสาวแก่ เป็นเหมือนคุณยายที่สืบและไขคดีต่างๆ ให้กระจ่างขึ้นด้วยสไตล์ผู้หญิงๆ ในงานเขียนของอกาธาจะมีประเด็นจากมุมมองผู้หญิงด้วยเช่นใน The Murder of Roger Ackroyd พูดถึงธรรมชาติของผู้คนที่ชอบซุบซิบและสังเกตสังกาเรื่องชาวบ้าน
Sam Spade ของ Samuel Dashiell Hammett
ถ้าแบ่งนวนิยายแนวสืบสวนเป็นยุคอย่างคร่าวๆ ยุคที่เรารู้จักอย่างโฮล์มหรือปัวโรต์ถือว่าเป็นยุคทอง ซึ่งนักเขียนในยุคนี้ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษ ในตอนนั้นเองอเมริกาก็เริ่มเห็นว่าเอ๊ะ ไอ้คำว่านักสืบหรือ detective ที่คอยไขคดีหรืออาชญากรรมไม่ได้มานั่งสวยๆ ใช้สมองแบบนั้น ลองนึกภาพเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมสิ พวกนักเขียนอเมริกันที่มักเคยเป็นตำรวจบอกว่าพวกนักเขียนผู้ดีไม่ได้รู้เรื่องการสืบจริงๆ เล้ย เลยเขียนแนวสืบสวนแนว Hard-boil ขึ้นมา งานแนวนี้คล้ายๆ หนังฟิล์มนัวร์ คือจะเป็นภาพเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยซอกหลืบและอาชญากรรม Sam Spade จากนวนิยายเรื่อง The Maltese Falcon ของฮามเม็ตต์เป็นตัวละครนักสืบที่ต่างไปจากนักสืบแบบโฮล์มที่นั่งไขคดีสบายๆ นักสืบจากงานฮาร์ดบอยด์จะเป็นแนวถึกๆ และลงไปพัวพันเสี่ยงภัยกับอาชญากรรมจริงๆ โดนกระทืบ โดนข่มขู่ ถูกทรยศหักหลัง คล้ายๆ หนังแอคชั่นในปัจจุบัน
Kogoro Akechi ของ Edogawa Rampo
โคนัน เป็นอีกหนึ่งไอคอนของนักสืบที่โด่งดังจากการ์ตูน สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว อีกหนึ่งในนักเขียนดังที่ทำให้งานแนวสืบสวนเป็นที่นิยมคือ Kogoro Akechi จากผลงานของ Edogawa Rampo นอกจากตัวละครโคนันจะได้อิทธิพลมาจากอาร์เธอร์ โคนัน ดอยด์ แล้ว อีกอิทธิพลสำคัญที่เราเห็นก็คือชื่อของโคโกโร่ก็มาจากตัวละครนักสืบตัวนี้ของรัมโปด้วย นักสืบโคโกโร่ของรัมโปมีบทบาทแบบเดียวกับโฮล์มคือเป็นนักสืบที่ให้คำปรึกษาในการไขคดีกับตำรวจ โดยรวมเป็นตัวละครที่หน้าตาดี สูง มีเสน่ห์ เวลาที่คิดคดีชอบสูบบุหรี่คล้ายๆ กับโฮล์มที่สูบไปป์ เคสแรกที่โคโกโร่เปิดตัวคือ The Case of the Murder on D. Hill เป็นเรื่องการไขคดีปริศนาในห้องปิดตาย
Kosuke Kindaichi ของ Seishi Yokomizo
“ขอเอาชื่อคุณปู่เป็นเดิมพัน” คุณปู่ที่คินดะอิจิฉบับการ์ตูนอ้างอิงมาจาก Kosuke Kindaichi ตัวละครนักสืบของ Seishi Yokomizo อีกหนึ่งนักเขียนแนวสืบสวนคนสำคัญของญี่ปุ่น ความโดดเด่นของคดีฆาตกรรมในคินดะอิจิก็คล้ายๆ กันคือเป็นฆาตกรรมในห้องปิดตาย คดีแรกของคินดะอิจิคือ The Honjin Murder Case ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 เป็นคดีที่มาพร้อมกับประเด็นที่มักปรากฏในงานของโยโคมิโซคือดราม่าและปมปัญหาในตระกูลเก่าแก่