หนังสือที่เราอ่านมักพาเราไปผจญภัยในดินแดนอื่นเสมอ เพื่อสร้างจินตนาการหรือให้เราเดินทางเข้าสู่พื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งได้ นักเขียนจึงมักสร้างมี ‘แผนที่’ เพื่อแสดงพื้นที่ให้กับผู้อ่านอย่างเราๆ
แผนที่โลกสมมติเป็นตัวช่วยให้เรานึกภาพออกว่าอะไรอยู่ตรงไหน สามารถนึกถึงภูมิศาสตร์ ความใกล้ไกล แผนที่ทำให้เราเข้าใจถึงระบบโลกอีกโลกหนึ่งที่นักเขียนสร้างขึ้น เข้าถึงความยิ่งใหญ่ ความซับซ้อน ไปจนถึงความสัมพันธ์และความสลักสำคัญของพื้นที่ในแต่ละส่วน
แผนที่ โดยเฉพาะในงานเขียนสำหรับเด็กจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยพาเด็กๆ ไปสู่โลกอีกใบ ให้เด็กๆ ได้จินตนาการในเชิงพื้นที่และภูมิศาสตร์ใหม่ๆ สร้างโลกอีกใบขึ้นในความคิด ตัวแผนที่ในวรรณกรรมจึงไม่ได้มีไว้เฉยๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องและเล่าเรื่องราวบางอย่างด้วย เช่น แผนที่ป่าร้อยเอเคอร์ที่ตัวละครหนึ่งวาดขึ้น มีการสะกดคำผิดๆ ถูกๆ และลงชื่อผู้วาด
แผนที่ในโลกวรรณกรรมย่อมเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้เรื่องแผนที่ในโลกจริง ในช่วงศตวรรษ 1800s เด็กๆ ในยุโรปเรียนและสามารถอ่านแผนที่กันได้ ประกอบกับความสนใจของโลกตะวันตกในการเดินทางสำรวจโลกใบนี้ ปี 1883 นวนิยายว่าด้วยการเดินทางค้นหาสมบัติเรื่อง Treasure Island ของ Robert Louis Stevenson จึงถือเป็นวรรกรรมเล่มแรกๆ ที่มีการใช้แผนที่เพิ่อช่วยส่งเสริมเรื่องราวด้วย
Treasure Island- Treasure Island, Robert Louis Stevenson
ศตวรรษที่ 19 ด้วยวิทยาการต่างๆ ตั้งแต่การเดินเรือ อาวุธยุทโธปกรณ์ และการค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกใบนี้ทางวิทยาศาสตร์ โลกตะวันตกจึงค่อนข้างฮิตเดินทางเพื่อไปสำรวจและพิชิตดินแดนต่างๆ ศาสตร์แห่งการเขียนและการอ่านแผนที่จึงเป็นอีกศาสตร์ที่ผู้คนและเด็กนักเรียนต้องได้รับการศึกษา ดังนั้นนวนิยายที่ว่าด้วยการเดินทางค้นหาสมบัติ จึงต้องมีแผนที่ประกอบ นวนิยาย Treasure Island ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบแผนที่ที่ว่าด้วยขุมทรัพย์ที่เรามักนึกถึงในหนังและหนังสือล่าขุมทรัพย์ คือเป็นแผนที่วาดมือ มีรายละเอียดภูเขาแม่น้ำ เมืองไปจนถึงจุดสำคัญๆ พร้อมด้วยเครื่องหมาย x เพื่อบอกว่าสมบัติอยู่ตรงนี้นะ สำหรับแผนที่ที่วางแทรกในเรื่องถือว่าเป็นแผนที่ที่ดูจริงจัง เป็นเรื่องของการเดินเรือและภูมิศาสตร์ ดูเข้าใจยากต่างจากแผนที่ในวรรณกรรมเด็กยุคต่อๆ มา
Hundred Acre Woods- Winnie the Pooh, A. A. Milne
ต้อนรับการมาของวินนี่ เดอะ พูห์ ด้วยแผนที่ป่าหนึ่งร้อยเอเคอร์ จะว่าไปแค่คำว่าป่าร้อยเอเคอร์ก็ฟังดูเป็นพื้นที่น่ารักมหัศจรรย์แล้วเนอะ ในหนังสือแผนที่ป่านี้มีการลงชื่อว่าเด็กน้อยในเรื่องเป็นเจ้าของ และวาดร่วมกับ E.H. Shepard นักวาดภาพประกอบตัวจริง ในแผนที่จึงมีการใส่กิมมิกเล็กๆ เช่นการสะกดผิดๆ ถูกๆ ไว้ ซึ่งแผนที่ป่าร้อยเอเคอร์ถือเป็นอีกหนึ่งดินแดนในจินตนาการที่แสนสำคัญ A. A. Milne ได้แรงบันดาลใจในการสร้างป่านี้หลังจากไปใช้ชีวิตในไร่ติดกับป่า Ashdown Forest ป่าจริงๆ ในเมือง Sussex ของอังกฤษที่มีขนาด 500 เอเคอร์
Map of Nothing – The Hunting of the Snark, Lewis Carroll
จากแผนที่ที่นำพาเราไปสู่ดินแดนอื่น ช่วยหาตำแหน่งสมบัติและบอกว่าเราจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร มาสู่แผนที่กวนประสาทจาก Lewis Carroll จริงๆ เฮีย Lewis ก็เขียนหนังสือสนุกๆ ว่าด้วยการผจญภัย เรื่องราวมหัศจรรย์ไว้เยอะแยะโดยเฉพาะ Alice’s Adventures in Wonderland ซึ่งนอกจากดินแดนแฟนตาซีสำคัญๆ อย่าง wonderland แล้ว ลูวอิสยังมีงานเขียนอีกเรื่องชื่อ The Hunting of the Snark แต่งเป็นกลอน เล่าเรื่องราวบ้าๆ บอๆ ในการตามล่าเจ้าตัว Snark ด้วยการเดินทางไปในทะเล และดูสภาพแผนที่ทะเลที่ตัวละครในเรื่องมี ก็คือไม่มีอะไรเลย ทะเลคือทะเล อ้างว้างเว่อ ตัวหนังสือตีพิมพ์ในปี 1876 วาดภาพประกอบโดย Henry Holiday ซึ่งก็คาดว่าเป็นคนวาดเจ้าแผนที่มากประโยชน์นี้
Moominvalley- Finn Family Moomintroll, Tove Jansson
ดินแดนมูมินเป็นดินแดนแห่งความสงบสุข เป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นเพื่อพาเราหนีออกจากโลกที่วุ่นวายกลับสู่ดินแนแห่งธรรมชาติ โลกหรือพื้นที่ที่มูมินอาศัยอยู่เป็นป่าเขาสีเขียว อุดมไปด้วยเนินหญ้าและทุ่งดอกไม้ รายล้อมไปด้วยภูเขา แต่ธรรมชาติก็ใช่ว่าจะเงียบสงบอย่างเดียว มูมินเองยังต้องเผชิญกับภัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมภูเขาไฟ แผนที่หมู่บ้านมูมินปรากฏใน Finn Family Moomintroll หนังสือเล่มที่สามในชุดมูมินของ Tove Jansson ซึ่งตัวผู้เขียนเป็นคนวาดแผนที่นี้ด้วยตัวเอง
Middle Earth- the Lord of the Rings, J.R.R. Tolkien
มัชฌิมโลกเป็นอีกหนึ่งดินแดนแฟนตาซีที่มโหฬารของ J.R.R. Tolkien โลกที่โทลคีนสร้างแน่นอนว่ามีพื้นที่เป็นของตัวเอง มีประวัติศาสตร์ ยาวไปจนกระทั่งมีภาษาที่เขาสร้างขึ้น แผนที่ Middle Earth จึงเป็นอีกหนึ่งดินแดนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวและประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องได้ อย่างน้อยๆ คือทำให้เราเข้าใจว่าโฟรโด้ต้องเดินทางแสนไกลแค่ไหนในการเอาแหวนไปลงปล่องไฟ และใคร เผ่าไหนอาศัยอยู่ตรงไหนกันบ้าง
Marauder’s Map- Harry Potter, J.K. Rowling
น้อยคนจะรู้ว่าฮอกวอร์ตกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยพื้นที่ซับซ้อนแค่ไหน ตัว Marauder นอกจากจะทำให้ตัวละคร (และผู้อ่าน) มองเห็นพื้นที่ต่างๆ ในฮอกวอร์ตแล้ว ในสมัยที่ยังไม่มีระบบ gps และ กูเกิลแมพ เจเค ดูจะใช้พลังของเวทมนตร์สร้างแผนที่อินเตอร์แอคทีฟขึ้นมา แผนที่ตัวกวนนี้เป็นเสมือนความรู้ในเชิงพื้นที่ เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นพ่อแม่ที่ตามมาช่วยชีวิตแฮรี่ให้รอดชีวิตจากเรื่องราวต่างๆ เสมอ
Illustration by Waragorn Keeranan