ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้ว เดือนตุลาคมเป็นเดือนสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรามีประชาธิปไตยได้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการต่อสู้และการเสียสละ เป็นช่วงเวลาที่เราควรได้รำลึกและเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร
บางครั้ง เราก็อาจจะสับสนด้วยความที่เหตุการสำคัญทั้งสองเกิดขึ้นในเดือนตุลาทั้งคู่ ทั้ง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์ทั้งสองต่างมีความเกี่ยวเนื่องกันและมีรายละเอียดปลีกย่อย มีสาเหตุ มีผลลัพธ์ มีการสูญเสียที่แตกต่างกัน ในวันที่เหตุการณ์เดือนตุลายังไม่ได้รับความเป็นธรรม และเราก็ยังคงอยู่ในร่มเงาของรัฐบาลทหาร The MATTER อยากชวนไปอ่านหนังสือ 6 เล่มที่ว่าด้วยเหตุการณ์เดือนตุลาคม จากมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โครงการที่เผยแพร่เอกสารวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือและเข้าถึงง่าย โหลดอ่านได้ฟรีทันที
หนังสือจากโครงการตำราฯ ทั้ง 6 เล่มเป็นผลงานจากนักวิชาการชั้นแนวหน้าของไทย งานเขียนทั้ง 6 เล่มนี้จะพาเราไปเข้าใจเหตุการณ์สำคัญของเดือนตุลาคมในหลายแง่มุม ตั้งแต่ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ งานเขียนที่พาเราไปดูลำดับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองร่วมสมัยของไทยตั้งแต่ 2475 เรื่อยมาจนถึงพฤษภาทมิฬ ไปจนถึงงานเขียนทางวิชาการที่พูดประเด็นรายล้อมเหตุการณ์เดือนตุลาคม หนึ่งในนั้นมีงานเขียนสำคัญเช่น บ้านเมืองของเราลงแดง งานเขียนที่พูดถึงมิติทางสังคมและวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของเบน แอนเดอร์สัน
บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา เป็นผลงานของอาจารย์ชาญวิทย์ งานเขียนเล่มนี้ก็ตามชื่อเรื่องเลยคือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ประกอบลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในการต่อสู้ของนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา อาจารย์ชาญวิทย์ทั้งพูดถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันนำมาสู่เหตุการณ์การลุกฮือของนักศึกษา และบันทึกลำดับเหตุการณ์ 14 ตุลาไว้โดยละเอียดพร้อมทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ ตั้งแต่ประกาศเชิญชวนไปจนถึงกวีนิพนธ์ที่ใช้ในการรณรงค์ต่างๆ งานเขียนชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทยและบทบาทของนักศึกษาในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย
เข้าไปอ่านและดาวน์โหลดได้ที่ : www.openbase.in.th
จาก 14 ถึง 6 ตุลา
อีกหนึ่งเล่มสำคัญที่รวมนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ หนังสือ จาก 14 ถึง 6 ตุลา เป็นรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งสองในเดือนตุลาคมที่ครอบคลุมทั้งตัวเหตุการณ์นั้นๆ ความเชื่อมโยงกันระหว่างเหตุการณ์ทั้งสอง ไปจนถึงมุมมองเชิงวิเคราะห์และผลกระทบของหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่มีต่อสังคมไทย ในเล่มประกอบด้วยบทความทั้งจากอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์เสน่ห์ จามริก และมี บ้านเมืองของเราลงแดง งานเขียนสำคัญของอาจารย์เบน แอนเดอร์สันด้วย
เข้าไปอ่านและดาวน์โหลดได้ที่ : www.openbase.in.th
ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองการปกครองไทย 2475-2535
เหตุการณ์ทางการเมืองช่วงเดือนตุลาคมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองร่วมสมัยของไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย หนังสือ ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองการปกครองไทย 2475-2535 ช่วยให้เราปะติดปะต่อเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดเข้าสู่ภาพรวมประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย ลำดับเหตุการณ์เล่มนี้เป็นการให้ ‘ลำดับเหตุการณ์’ โดยละเอียด ลงเป็นรายวันว่าแต่ละวันเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอะไรบ้างในช่วงปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของไทยนี้
เข้าไปอ่านและดาวน์โหลดได้ที่ : www.openbase.in.th
3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับประชาธิปไตยไทย
3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับประชาธิปไตยไทย เป็นหนังสือที่รวมบทความในโครงการบรรยายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา จัดบรรยายในระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม – 28 กันยายน 2546 ในวาระสำคัญดังกล่าวนักวิชาการชั้นนำของไทยในหลายแขนงมีการบรรยายครอบคลุมเนื้อหายุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยอย่างคึกคัก เรียกได้ว่าใครที่สนใจมิติทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม รัฐศาสตร์ ไปจนถึงผลกระทบทางศิลปะวัฒนธรรมในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย ลองไปไล่นิ้วดูสารบัญเล่มนี้ได้ มีงานสนุกๆ ของนักวิชาการแนวหน้าของบ้านครบครัน
เข้าไปอ่านและดาวน์โหลดได้ที่ : www.openbase.in.th
ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่
เวลาเราพูดถึงทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไปจนถึงการเป็นประเด็นเรื่องพลังของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ‘ธรรมศาสตร์’ เป็นพื้นที่สำคัญที่เรามักนึกถึงในฐานะพื้นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่กับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงและการเมืองการปกครองไทยร่วมสมัยอยู่เสมอ หนังสือ ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่ จะพาเราไปสำรวจ ตั้งคำถาม และเข้าใจกับพื้นที่สำคัญของการเมืองไทยนี้ นับตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นมาจนถึงอิทธิพลและความสำคัญร่วมสมัย
เข้าไปอ่านและดาวน์โหลดได้ที่ : www.openbase.in.th
14 ตุลา : เงาอดีตของการเมืองบนแผ่นฟิลม์, กำจร หลุยยะพงศ์
14 ตุลา : เงาอดีตของการเมืองบนแผ่นฟิลม์ เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายสาธารณะในปี 2546 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แน่ล่ะว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือเป็นความทรงจำร่วมที่เรามีต่อกัน ต่อมาความทรงจำนี้จึงมักถูกนำมาเล่าใหม่โดยเฉพาะในหนัง คำบรรยายของกำจร หลุยยะพงศ์ นี้พาเราไปสำรวจการพูดถึงความทรงจำดังกล่าวผ่านหนังร่วมสมัยของไทยว่ามีการนำเสนอถึงเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างไร ความทรงจำหรือเหตุการณ์ดังกล่าวถูกจดจำและส่งผลกระทบกับผู้คนในมิติไหนบ้าง
เข้าไปอ่านและดาวน์โหลดได้ที่ : drive.google.com