อะไรคือหน้าที่ของกวี อะไรคืออำนาจของบทกวี วานนี้ ในบรรยากาศที่อเมริกาก้าวเข้าสู่การนำของผู้คนใหม่ เราเองก็ได้เห็นกวีหญิงขึ้นอ่านบทกวีของเธอ อแมดา กอร์แมน (Amanda Gorman) ขึ้นเวที สบสายตากับคนทั้งโลก พร้อมด้วยถ้อยคำที่ในที่สุดนั้น เธอได้ทั้งกล่าวแทนเสียงของผู้คน พร้อมกับมอบความหวัง ทำให้เราต่างสัมผัสได้ว่า นี่แหละคืออำนาจของถ้อยทำและท่วงทำนอง และนี่แหละคือพลังของบทกวี ที่ใช้อ่าน ใช้รวมเสียงของผู้คน และใช้สะท้อนเข้าสู่ความรู้สึกอันลึกซึ้งของคนนับล้าน
ในการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ แน่นอนว่าคือการขึ้นรับตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก และในพิธีนั้นแน่นอนว่ามีธรรมเนียมที่จะเชิญกวีขึ้นอ่านบทกวีของตนในพิธีอันสำคัญยิ่งของประเทศนี้ด้วย จริงๆ โจ ไบเดน (Joseph Biden) ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ที่มีกวีขึ้นร่วมอ่านบทกวีเบิกทางในการสาบานตน ก่อนหน้านี้ประเพณีนี้ล้วนทำโดยประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งผู้นำทั้งสี่คนนั้นก็ล้วนเป็นที่รักของอเมริกันชน
โดยกวีและบทกวีที่อ่านก็ล้วนมีนัยอันลึกซึ้ง สะท้อนเรื่องราวและมุมมองของยุคสมัยนั้นๆ นอกจากไบเดนแล้วประธานาธิบดีที่มีกวีขึ้นร่ายบทกวีนั้นเริ่มต้นในสมัยจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) สืบทอดต่อในสมัยบิล คลินตัน (Bill Clinton) สองสมัย และส่งท้ายก่อนมาถึงปัจจุบันคือสมัยบารัค โอบามา (Barack Obama) ทั้งสองสมัย สิริรวมกวีและบทกวีทั้งสิ้นหกบทและหกคน
แน่นอนว่าอเมริกาเอง ในฐานะประเทศเกิดใหม่ (เมื่อเทียบกับยุโรป) อเมริกาก็มีการก่อร่างวัฒนธรรมของตนเอง และวรรณคดีอเมริกันเองก็มีการค่อยๆ ก่อร่างจนกลายเป็นตัวตนใหม่ หนึ่งในนั้นก็คืองานกวีนิพนธ์ ที่ถ้าเรามองว่าการเชิญบทกวีและกวีขึ้นส่งเสียงนั้น ถือเป็นการแสดงตัวตนของความเป็นอเมริกัน และยิ่งไปกว่านั้นกวีเหหล่านี้ก็เป็นเหมือนผู้นำทางภูมิปัญญาและจิตวิญญาณ ที่เป็นถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชี้นำและนำพาประเทศและผู้คนในทางความรู้สึกสืบไป
ในโอกาสที่เราได้รับฟังบทกวียอดเขาที่ป่ายปีนของอแมนดา รัตนกวีรุ่นเยาว์ (poet laureate) The MATTER จึงขอชวนกลับไปร่วมอ่านบทกวีและเรื่องราวของกวีทั้ง 5 คนที่เคยลุกขึ้นกล่าวต่อหน้าอเมริกันชนและอ่านถ้อยคำ การอ่านบทกวีที่ล้วนมีนัยทางการเมือง มีเรื่องราวและสุนทรียรสที่น่าประหลาดใจ และล้วนมีกวีคนสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง
จากบทกวีที่โรเบิร์ต ฟรอส (Robert Frost) เปลี่ยนบทกะทันหันบนเวที หรือการที่คลินตันเลือกมายา แองเจอลู (Maya Angelou) กวีหญิงผิวดำขึ้นแสดงตนในพิธีกรรมที่สำคัญที่สุด การอ่านบทกวีของเธอทรงพลังจนได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี ค.ศ.1993 เรื่อยมาจนถึงอแมนดาในฐานะผู้หญิงผิวดำคนที่สองที่ปีน capital hill ขึ้นต่อมายา และเธอได้สวมแหวนกรงนกเพื่อแสดงการสืบทอดต่อกวี และต่อสายเลือดของหญิงผิวดำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
‘The Hill We Climb.’, Amanda Gorman- Inaugurations of Joe Biden (ค.ศ.2021)
‘Not because we will never again know defeat,
but because we will never again sow division.
Scripture tells us to envision
that everyone shall sit under their own vine and fig tree
and no one shall make them afraid.
If we’re to live up to our own time,
then victory won’t lie in the blade,
but in all the bridges we’ve made.’
The Hill We Climb. ถือเป็นบทกวีที่กล้าหาญ และแน่นอนว่าตอกย้ำว่านี่แหละคือพลังและหน้าที่ของบทกวี ที่ไม่ใช่แค่การเป็นตัวอักษร แต่คือการถูกเปล่งเสียงออกมา เป็นการสื่อสารที่เชื่อมโยงกวีที่กล่าวซ้ำบทกวีนั้นต่อผู้ฟัง ในกรณีของอแมนดาคือการกล่าวต่อคนทั้งโลก
คงด้วยความที่เธอเองยังเป็นกวีที่มีอายุน้อย และกระแสบทกวีร่วมสมัย The Hill We Climb จึงถือเป็นกวีที่เรียบง่ายในแง่เทคนิค เป็นงานที่สื่อสารด้วยถ้อยคำที่งดงามอย่างตรงไปตรงมา ส่วนหนึ่งนั้นคล้ายกับว่าบทกวีนี้คือเสียงของผู้คนที่อดทนต่อเหตุการณ์ย่ำแย่ที่ผ่านมาจำนวนมาก
เป็นทั้งการระบายความรู้สึกร่วมบางอย่าง พร้อมทั้งส่งเสียงสู่ความหวังของยุคต่อไปที่จะดีขึ้น ในแง่นี้คำว่าเรียบง่าย จึงไม่ได้หมายถึงง่ายดายและไร้ค่า บทกวีอันชาญฉลาดนี้คมคายตั้งแต่ชื่อที่เธอใช้คำว่า Hill ที่มีความทั้งโดยตรงและในเชิงอุปมา หมายถึงเนินของอำนาจในวอชิงตันที่เธอยืนและอีกหลายคนป่ายปีนขึ้น และหมายถึงอุปสรรคที่อเมริกันชนและโลกกำลังเผชิญ
นัยเบื้องต้นของกวีว่าด้วยปัญหาและจิตวิญญาณความเป็นอเมริกัน การก้าวข้าวผ่านการแบ่งแยก สวมกอดความแตกต่างหลากหลาย นอกจากการสรรคำที่เรียบง่ายแต่งดงาม การเล่นเสียงแล้วนั้น บทกวีของเธอยังสะท้อนการทำงานอย่างหนัก ด้วยการรวมเสียงอันสำคัญต่อสภาวะร่วมสมัยของอเมริกัน คำสำคัญๆ เช่น การแบ่งแยก การลากเส้นระหว่างกันค่อยๆ ถูกรื้อผ่านถ้อยคำ วลี เช่น เราต้องสร้างสะพานไม่ใช่กำแพงที่พระสันปาปาฟรานซิสเคยกล่าวไว้ หรือถ้อยคำโบราณในพระคัมภีร์ถูกนำกลับมาใช้ในบริบทร่วมสมัยอีกครั้ง
ในระดับปัจเจกอแมนดาเป็นเหมือนผู้สืบทอด จากการเป็นหญิงผิวสีที่ฝ่าประวัติศาสตร์การเป็นทาสและการกดขี่ เธอจึงเป็นเหมือนทายาทของมายา เป็นผู้หญิงผิวดำอีกคนที่ป่ายปีนเนินเขาแห่งประวัติศาสตร์ เธอเป็นผู้หญิงอีกคนยืดหยัด นำพาและส่งต่อถ้อยคำและร่วมขยับความรู้สึกของผู้ฟัง ดังนั้นในวันพิธีอแมนดาจึงสวมแหวนรูปกรงนก แหวนที่โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) มอบให้ กรงนกที่เธอสวมนั้นสื่อถึงผลงานสำคัญของมายา ‘I Know Why the Caged Bird Sings’ และการเป็นนกที่แม้จะอยู่ในกรงขัง แต่ก็ยังส่งเสียงสู่ผู้คน
‘One Today’, Richard Blanco- Inaugurations of Barack Obama (ค.ศ.2013)
My face, your face, millions of faces in morning’s mirrors,
each one yawning to life, crescendoing into our day:
pencil-yellow school buses, the rhythm of traffic lights,
fruit stands: apples, limes, and oranges arrayed like rainbows
การเลือกกวีขึ้นกล่าวในพิธีสาบานตน แน่นอนว่ามีนัยสำคัญในการเลือก ในระยะหลังหลายครั้งเป็นการประกาศจุดยืนและความก้าวหน้าบางประการ ประจวบกับการคัดเลือกกวีที่มีความสามารถโดดเด่นในยุคสมัยนั้นๆ ดังที่เราเห็นจากอแมนดา กวีหญิงอายุเพียง 22 ปี
ริชาร์ด บลังโก (Richard Blanco) เองก็เป็นอีกหนึ่งกวีหนุ่มที่ได้รับการรับเลือกขึ้นอ่านบทกวีในพิธีสาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของบารัค โอบามา ในตอนนั้นริชาร์ดถือเป็นกวีที่อายุน้อยที่สุดที่ขึ้นกล่าว และโดยตัวเองมีเชื้อสายละตินอเมริกา และเป็นกวี นักคิด นักเขียนคนแรกๆ ที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์
บทกวี One Today ของริชาร์ด ถือเป็นบทกวีค่อนข้างสืบทอดขนบกวีนิพนธ์อเมริกันร่วมสมัย ด้วยประเด็นและตัวเองที่เป็นครอบครัวผู้อพยพ บทกวี One Today ให้ภาพของใบหน้าจำนวนมหาศาลที่ในที่สุดหลอมรวมกันอันหนึ่งอันเดียวในนามการเป็นอเมริกันชน เป็นผู้ร่วมไล่ตามความฝันแบบอเมริกันร่วมกัน
ช่วงต้นของบทกวีใช้เทคนิคแบบกวีนิพนธ์สมัยใหม่ (modern poetry) คือการให้ภาพของสิ่งต่างๆ อย่างกระจัดกระจาย จากใบหน้า สิ่งของที่เราคุ้นเคย แล้วค่อยๆ ถักทอสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ในแง่ของเทคนิกทางประพันธ์กวีก็ค่อนข้างใช้เทคนิกทางการประพันธ์อย่างครบถ้วน ท่วงทำนองที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้แบบแบบ iambic pentameter คือวรรคหนึ่งประกอบด้วยสิบคำ แบ่งจังหวะออกเป็น 5 คู่ อันเป็นรูปแบบวรรคยอดนิยมในกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษ
‘Praise Song for the Day.’, Elizabeth Alexander – Inaugurations of Barack Obama (ค.ศ.2009)
‘Each day we go about our business,
walking past each other, catching each other’s
eyes or not, about to speak or speaking.’
Praise Song for the Day เป็นกวีนิพนธ์ของเอลิซาเบธ อเล็กซานเดอร์ (Elizabeth Alexander) ตัวเอลิซาเบธเองเป็นนักวิชาการหญิงผิวดำ เป็นอาจารย์แอฟริกันศึกษาและสอนบทกวีที่เยลมากว่า 20 ปี เธอเติบโตในย่านฮาเร็ม และมีผลงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองที่เป็นที่รู้จัก ความยากของเธอคือเธอเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการกล่าวบทกวีในพิธีของโอบามา และเธอเองก็ตอบรับ
งานชิ้นนี้ของเธอค่อนข้างเป็นไปตามขนบกวีนิพนธ์สมัยใหม่ ใช้ลักษณะคำประพันธ์แบบกลอนเปล่า แต่งโดยไม่เน้นสัมผัส มีจังหวะหยุด สะดุด และโดดไปมาของเสียง เนื้อหาเป็นบทสรรเสริญตามชื่อเรื่อง และเธอเองเน้นสรรเสริญคนธรรมดา เหล่าที่ถูกกดขี่ และทำงานหนัก เทคนิกสำคัญคือการให้ภาพที่แตกต่างกันเป็นห้วงๆ แล้วค่อยๆ ปะติดปะต่อเข้าหากัน
งานเขียนของเธอในจังหวะที่ทำการอ่านแล้วทำให้เธอได้รับความสนใจจากมวลชน ในขณะเดียวกันตัวบทกวีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่นว่าไม่สละสลวย แต่ความไม่สละสลายนี้เธออาจสื่อไปถึงกลุ่มคนที่ทำงานหนักที่ไม่ได้มีสำนวนภาษางดงามเว้น แต่มือที่หยาบกร้าน อีกด้านเธอเองถูกวิจารณ์ว่าด้วยภาระของการเป็นเสียงให้กับรัฐ บทกลอนของเธอจึงเป็นเหมือน bureaucratic verse คือขาดซึ่งตัวตนและพลัง เป็นงานที่ไม่เป็นเสียงของใครเลย และไม่มีใครเป็นผู้ฟัง
‘Of History and Hope.’, Miller Williams- Inaugurations of Bill Clinton (ค.ศ.1997)
‘In ceremonies and silence we say the words,
telling the stories, singing the old songs.
We like the places they take us. Mostly we do.
The great and all the anonymous dead are there.’
มิลเลอร์ วิลเลียมส์ (Miller Williams) เป็นกวี เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นนักแปล โดยพอจะกล่าวได้ว่าในฐานะกวีตัวเขาเองก็เป็นกวีร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับต้นๆ มีผลงานเขียนงานแปลร่วม30 เล่มที่เกือบทั้งหมดเป็นกวีนิพนธ์ โดยภูมิหลังตัวมิลเลอร์ก็มีครอบครัวที่น่ารักและมีลูกสาวที่เป็นนักแต่งเพลง อยู่เบื้องหลังดนตรีแจ๊สระดับตำนานมากมาย ภาพของมิลเลอร์จึงเป็นเหมือนชายชราผู้อารี มีความลุ่มลึกและรุ่มรวยด้วยถ้วยคำและท่วงทำนองราวเสียงดนตรี และทั้งหมดนั้นก็ดูจะสอดคล้องกับบทกวีในพิธีสาบานตนที่แต่งขึ้นใหม่ในปีนั้น
ถ้าเรานับย้อนกลับไป มิลเลอร์เป็นกวีคนที่สามที่ขึ้นอ่านกวีนิพนธ์ในพิธีสาบานตน แน่นอนว่าการอ่านในครั้งก่อนหน้าคือตำนานตั้งแต่โรเบิร์ต ฟรอสเรื่อยมาจนถึงมายา ในกวีนิพนธ์ Of History and Hope มิลเลอร์จึงเลือกที่จะส่งต่ออุดมคติและประเด็นที่ตัวเขาเองคิดว่าโลกควรฟัง คือเด็กๆ ในฐานะอนาคตของชาติต่อไป
แต่บทกวีชิ้นนี้ไม่ได้เริ่มต้นด้วยแค่ความงดงามหรือความหวัง แต่คือดึงความรู้สึกของผู้คนผ่านการให้ภาพปัจจุบัน แล้วจึงค่อยๆ คลี่คลายให้เห็นความเป็นไป และความคิดคำนึงที่ผู้ใหญ่ในปัจจุบันควรคำนึง คำนึงถึงการวาดอนาคตนั่นคือการชุบชูดูแลเหล่าเด็กน้อยให้แข็งแรง ความหวังและอนาคตของประเทศล้วนขึ้นอยู่กับมือน้อยๆ ของเด็กๆ เหล่านั้น
‘On the Pulse of Morning’, Maya Angelou- Inaugurations of Bill Clinton (ค.ศ.1993)
A Rock, A River, A Tree
Hosts to species long since departed,
Marked the mastodon,
The dinosaur, who left dried tokens
Of their sojourn here
On our planet floor,
Any broad alarm of their hastening doom
Is lost in the gloom of dust and ages.
เรารักมายา แองเจลู เธอคือกวี คือเจ้าของถ้อยคำแปลกประหลาดที่ทรงพลังต่อความรู้สึก และแน่นอนนึกภาพว่าปี ค.ศ.1993 ปีที่บิล คลินตันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ในครั้งนั้นถือเป็นการเลือกกวีขึ้นอ่านบทกวีเป็นคนที่ 2 ต่อโรเบิร์ต ฟรอสต์ กวีระดับตำนานที่เป็นเหมือนบิดาของวงวรรณศิลป์อเมริกัน และคลินตันเลือกผู้หญิง ผิวดำ ขึ้นอ่านบทกวีรับศักราชใหม่ของเขา
และแน่นอนว่ามายาไม่เคยทำให้ผิดหวัง เธอขึ้นเวทีและร่ายบทกวี On the Pulse of Morning ว่าด้วยห้วงเวลาหนึ่งๆ ในยามเช้า บทกวีของมายาคือการกล่าวต่อคนผิวขาว กล่าวต่ออเมริกันชน ยิงตรงเข้าสู่การแบ่งแยกและอคติต่างๆ ที่ทำผ่านเชื้อชาติและเขตแดน บทกวีของมายาไม่เคยกล่าวร้ายโดยตรง
เธอเริ่มบทกวีของเธอด้วยบรรยากาศอันแปลกประหลาด ย้อนความกลับไปถึงธรรมชาติและสรรพชีวิตอันเก่าแก่ เธอใช้เสียงของก้อนหินและลำธารในฐานะบรรพชนกล่าวถ้อยคำเพื่อสะกิดหัวใจของเหล่าผู้ฟัง เธอกล่าวถึงประเด็นสำคัญๆ ของยุคสมัย การค้าทาส การกดขี่ การทำลายระบบนิเวศที่ในที่สุด เธอก็ชวนทุกคนลืมตาขึ้นสู่อนาคตและความฝันใหม่ เป็นการรวมกันไม่เพียงแค่ผู้คน แต่คือการผสานมนุษย์กับโลกใบนี้
บันทึกการอ่านบทกวีของมายาได้รับรางวัลแกรมมี่สาขา Best Spoken Word ในปีเดียวกัน
‘The Gift Outright’, Robert Frost- Inauguration of John F. Kennedy (ค.ศ.1961)
The land was ours before we were the land’s
She was our land more than a hundred years
Before we were her people. She was ours
In Massachusetts, in Virginia,
But we were England’s, still colonials,
การขึ้นอ่านบทกวีของโรเบิร์ต ฟรอส ในพิธีสาบานตนของเคนเนอดี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียม ในปีนี้ทางห้องสมุดแห่งสภาคองเกรซซึ่งกลายเป็นเจ้าภาพของธรรมเนียมดังกล่าวร่วมกับทางเคนเนอดี้ ในตอนนั้นต้องการสง่เสริมภาพว่าทางเคเนอดี้เป็นผู้นำที่สนใจและเป็น man of culture คนหนึ่ง ในการคัดเลือกแน่นอนว่าทางสภาเองต้องการเลือกตัวแทนซึ่งจริงๆ ในการเลือกก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง บางส่วนสัมพันธ์กับภูมิหลังเรื่องพิวริตัน และการมองว่าตัวฟรอสเองเหมาะสมในฐานะกวีและนักปรัชญาที่ยังมีชีวิต
จริงๆ ในการอ่านบทกวีนั้นเคนเนอดี้ได้เสนอกับโรเบิร์ตว่า ให้อ่านบทกวี The Gift Outright ที่เขาอ่านในงานอันเป็นบทกวีเก่าของฟรอสเองที่แต่งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1941 แต่ในตอนนั้นโรเบิร์ตเลือกที่จะแต่งบทกวีขึ้นใหม่ในชื่อ ‘Dedication’ ซึ่งก็เป็นบทกวีที่แต่งแสดงความยินดี
มีท่วงทำนอง Rhyme scheme ค่อนข้างคลาสสิกคือจบท้ายวรรคด้วยเสียงเดียวกันเป็นคู่ๆ (คำท้ายสุดของวรรคที่ 1 และ 2 / 3 และ 4 เล่นสัมผัสเสียงเดียวกัน) แต่กลายเป็นว่าในวันงานนี้โรเบิร์ตที่ก็ออกจะอายุมากแล้ว ด้วยแสง ด้วยลมทำให้โรเบิร์ตไม่สามารถอ่านโพยกวีบทที่แต่งขึ้นใหม่นี้ได้ โรเบิร์ตจึงหยุด และท่องบทกวี The Gift Outright ขึ้นจากความทรงจำ บทกวีนี้ย้อนกลับไปให้ภาพของเหล่านักบุกเบิกในยุคตั้งรกรากของอเมริกา การประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคม
อ้างอิงข้อมูลจาก