ภาพการชุมนุม รวมตัว เรียกร้องรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่เราเห็นเกิดขึ้นในทั่วโลก ปีนี้ แต่ถ้าพูดถึงการชุมนุมที่ใหญ่ และยืดเยื้อ รวมไปถึงการใช้ความรุนแรง เราคงนึกถึง การชุมนุมในฮ่องกง ที่ตอนนี้ เข้าสู่เดือนที่ 6 หรือเรียกได้ว่า ลากยาวมาถึงครึ่งปีแล้ว
แต่การชุมนุมที่ลากยาวนี้ จากการเดินประท้วงด้วยความสงบ กลายมาเป็นความรุนแรงอย่างไร เกิดความเสียหายอะไรขึ้นแล้วบ้าง และเส้นทางข้างหน้าของผู้ประท้วง และฮ่องกงจะเป็นอย่างไรกันต่อไป
การเรียกร้องของผู้ชุมนุม ผลลัพธ์ที่ไม่ได้อย่างที่ขอ
‘กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน’ คือจุดเริ่มต้นของการชุมนุมในฮ่องกง ซึ่งจากในตอนแรกที่ประชาชน และผู้ชุมนุมออกมาต่อต้านตัวกฎหมาย และเรียกร้องให้ถอดถอนกฎหมายนี้เพียงอย่างเดียว แต่พอสถานการณ์การชุมนุมเริ่มเปลี่ยนไป ก็ได้มีการเรียกร้องมากขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักทั้งหมด 5 ข้อ
- ถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนร่างนี้ออกไป
- ไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม
- หยุดเรียกผู้ชุมนุมว่าการก่อจลาจล
- ตั้งกรรมการอิสระมาตรวจสอบการกระทำที่เกินกว่าเหตุของตำรวจต่อกลุ่มผู้ชุมนุม
- ปฏิรูประบบเลือกตั้ง
และมีบางกลุ่มที่เรียกร้องให้แครี่ หลำ ผู้ว่าเกาะฯ ลาออกไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ในตอนนี้ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็บรรลุเพียงข้อเดียวคือ การถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่หลำออกมาประกาศในช่วงปลายเดือนกันยายน หลังการชุมนุมผ่านไปเกือบ 4 เดือนว่าจะยอมถอนกฎหมายนี้ ก่อนจะมีการถอนอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม
แม้รัฐบาลฮ่องกง จะยอมถอยให้ผู้ชุมนุม แต่นักวิชาการ หรือแม้แต่ผู้ชุมนุมเองก็มองว่า การเคลื่อนไหวของรัฐบาลนั้นน้อยเกินไป และสายเกินไปแล้ว หม่า นงอก (Ma Ngok) รองศาสตราจารย์ในภาคการเมือง และการบริหารภาครัฐของ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงกล่าวว่า “รัฐบาลไม่ตอบสนองจริงๆ ดังนั้นผู้คนจำนวนมากจึงคิดว่า พวกเขาไม่สามารถละทิ้งการประท้วงได้”
ซึ่งแม้กระทั่งตอนนี้ การชุมนุมก็ยังคงเรียกร้อง 5 ข้อจากรัฐบาล และใช้สโลแกนว่า “5 ข้อเรียกร้อง ไม่ขาดซักข้อเดียว” ด้วย รวมไปถึงบางกลุ่มที่เรียกร้องไปไกลกว่า 5 ข้อนี้ จากการชุมนุมที่ยืดเยื้อ และเกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาล และการปกครองจากจีนแผ่นดินใหญ่ จนต้องการไปถึงการแยกตัว ให้ฮ่องกงได้ปกครองตนเองอย่างอิสระเลยด้วย
จากการชุมนุมอย่างสันติ สู่การใช้ความรุนแรง
การชุมนุมในฮ่องกง เป็นหนึ่งในการชุมนุมที่เราเห็นภาพการปะทะ รุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ กับผู้ประท้วงเป็นประจำตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจากจุดเริ่มต้นของการเดินขบวนอย่างสันติ ในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ประชาชนออกมาโดยไร้อาวุธ ช่วยกันเก็บขยะหลังเลิกประท้วง หลีกเลี่ยงการทำลายทรัพย์สิน มีเพียงป้ายเรียกร้องต่อต้านกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน ได้ค่อยๆ กลายเป็นภาพการบุกรัฐสภา ตั้งป้อมเพลิง หรือการแต่งกายของผู้ชุมนุมเองที่เปลี่ยนไป มีเครื่องป้องกัน หมวกกันน็อค หน้ากากกันแก๊ส และอาวุธทำมือที่มากขึ้นเรื่อยๆ
“เราอยากให้ระบบ รัฐบาลฟังเสียงชาวฮ่องกง เราได้ลองมาทุกวิธีทางแล้ว” นี่คือข้อความจากทวิตเตอร์ของ โจชัว หว่อง หนึ่งในแกนนำการชุมนุมร่มในปี 2014
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ มาจากข้อเรียกร้องที่รัฐบาลเมินเฉยมายาวนานหลายเดือน แต่กลับตอบโต้ด้วยการใช้กำลัง และความรุนแรง จากการยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งในตอนนั้นประชาชนไม่มีอาวุธ และเครื่องป้องกันใดๆ ทั้งหลังจากนั้น ยังมีสถานการณ์ที่ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและตำรวจ เพราะเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากจีน
เหตุการณ์นี้ ทำให้พวกเขาเริ่มเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่กลับ อย่างเหตุการณ์ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปยังรัฐสภา และถือเป็นการใช้กำลังครั้งแรกๆ ระหว่างกัน มีผู้ชุมนุมได้พ่นข้อความบนกำแพงของอาคารไว้ว่า ‘พวกคุณเป็นคนสอนบทเรียนให้เราว่า การชุมนุมอย่างสันติ ไม่มีความหมาย และไม่ได้ผล’
ซึ่งสถานการณ์ก็ได้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากแค่การปะทะกันด้วยแก๊สน้ำตา ไปถึงการใช้กระสุนยาง ที่ทำให้ผู้ชุมนุมตาบอด การยิงด้วยกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุม จนได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงการเสียชีวิตของนักศึกษาผู้ชุมนุม จากการประสบอุบัติเหตุตกตึกในการประท้วงด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของคนหนุ่มสาวที่พร้อมสู้อย่างไม่คิดถึงชีวิตในการชุมนุมที่ยืดเยื้อครั้งนี้ ทำให้การชุมนุมทวีความไม่ยอมแพ้ระหว่างทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้ประท้วงด้วย อย่างสถานการณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่นักศึกษาปักหลักยึดมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคเป็นที่ชุมนุม ซึ่งทางตำรวจเองก็ได้ปิดล้อมมหาวิทยาลัย จึงเกิดการประทะกันจากภายใน และภายนอก ที่ทำให้นักศึกษาติดอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายร้อยคนในช่วงนั้น
ความเสียหายที่เกิดขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับการประท้วงในปี 2014 การชุมนุมในปีนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้ผู้นำ และยังถือเป็นการชุมนุมที่รุงแรง ที่มีการโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่ที่มากกว่าครั้งก่อน โดยมีการระบุว่า ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาไปแล้วกว่า 16,000 รอบ และกระสุนยางอีกกว่า 10,000 นัด
ในขณะที่มีตัวเลขที่ระบุว่า มีการจับกุมผู้ประท้วงแล้ว 5-6 พันคน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกจับกุมในข้อหาตั้งแต่สร้างความเสียหายทางอาญา จนถึงการเข้าร่วมการจลาจล ทั้งยังมีผู้ประท้วงที่ถูกยิง 3 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 480 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ถูกเฉือนด้วยมีดคัตเตอร์ และถูกลูกธนูยิง
ด้านธุรกิจ และเศรษฐกิจ จากการชุมนุมที่เคยบุกไปปิดสนามบินฮ่องกง ทำให้กระทบด้านการคมนาคมที่มีการยกเลิกเที่ยวบินถึง 200 เที่ยว และการปะทะ ทำลายอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ทางบริษัท MTR (บริษัทรถไฟฟ้าใต้ดิน) เองก็ได้ตีค่าความเสียหายออกมาว่าอยู่ที่ราวๆ 204 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6 พันล้านบาท)
ทั้งรายงานของรัฐบาลฮ่องกง ยังระบุว่า ช่วงระหว่างเดือน กรกฎาคม – กันยายน เศรษฐกิจเกิดการหดตัว 3.2%ทั้งจากการชุมนุม และสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจฮ่องกงยังได้หดตัว 2.9% จากปีก่อนด้วย
6 เดือนแล้ว ยังไงต่อไป?
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมฮ่องกงจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมไปถึงการเลือกตั้งสภาเขตฮ่องกงครั้งล่าสุด พรรคฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตย ชนะเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในสภา คว้าที่นั่งไปมากกว่า 390 ที่นั่ง จากทั้งหมด 452 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ใหญ่ของพรรคแครี่ หลำ
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการวิเคราะห์ว่าการชุมนุม และการแตกแยกทางการเมืองของฮ่องกงจะไม่จบลงในเร็วๆ นี้ แต่จะลากยาวต่อไปอีก
เบอร์นาร์ด ชาน ที่ปรึกษาขั้นสูงของหลำ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “จริง ๆ แล้ว ผมคิดว่าสถานการณ์ที่น่าเลวร้ายที่สุดน่าจะจบลงแล้ว แต่ผมไม่คิดว่าเราจะกำจัดการประท้วงทุกประเภท และผมไม่คิดว่ามันจะจบลงเร็วๆ นี้ อาจใช้เวลาอีกซักพัก แต่ผมคิดว่าเราคงไม่เห็นการประท้วงขนาดใหญ่กว่านี้ และหวังว่าเราอาจไม่เห็น – แต่ใครจะรู้”
ในขณะเดียวกันชานเอง ก็กล่าวว่าฝ่ายบริหารของหลำ ยังคงไม่เต็มใจที่จะรับฟังความต้องการเพิ่มเติมของผู้ประท้วง รวมถึงการเรียกร้องให้มีการสอบสวนโดยคณะกรรมการอิสระจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
ขณะที่ด้านผู้ชุมนุมเองก็มองเช่นเดียวกันว่า ความแตกแยกจะไม่จบเร็วๆ นี้ และแม้จะเป็นช่วงใกล้คริสต์มาส และปีใหม่ของการเฉลิมฉลอง แต่บรรยากาศก็ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกอยากเฉลิมฉลองเลย
ชุง วิศวกรหนึ่งในผู้ชุมนุมมองว่า “สภาพแวดล้อมทางการเมืองจะไม่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ การแยกตัวระหว่างกัน และต่อต้านรัฐบาลนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” ในขณะที่ โซ คุณครูเกษียณอายุกล่าวว่า “เราเห็นได้ว่าความเกลียดชังในวันนี้สูงขึ้น ผู้คนในทั้งสองฝั่งต่างก็ไร้เหตุผล … ความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุด คือระหว่างผู้ประท้วง กับตำรวจ และความเกลียดชังนั้นรุนแรงเกินกว่าที่ตำรวจจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้”
รวมถึงมีความเห็นว่า รัฐบาลต้องปฏิรูปตำรวจด้วย ไม่เช่นนั้นฮ่องกงจะไม่สามารถกลับมาเป็นแบบเดิมได้ ทั้งยังมองว่า การจะรวมชาวฮ่องกงให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว และนำประเทศฟื้นฟูกลับมาได้ อยู่ที่ตัวผู้นำด้วย
อ้างอิงจาก