“เราอยากให้ระบบ รัฐบาลฟังเสียงชาวฮ่องกง เราได้ลองมาทุกวิธีทางแล้ว” นี่คือข้อความจากทวิตเตอร์ของ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวประชาธิไตยในฮ่องกง และอดีตแกนนำการปฏิวัติร่มในปี 2014
การชุมนุมในฮ่องกง ได้ยืดเยื้อเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 2 แล้ว แต่การประท้วงของประชาชน ที่เป็นไปอย่างสันติ เป็นระบบ และขั้นตอนการรวมตัว กลับดูจะเหมือนเริ่มเข้าสู่ทางตัน เมื่อการชุมนุมกลายเป็นการปะทะที่รุนแรงขึ้น มีภาพการทำลายข้าวของ สถานที่ มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากเหตุการณ์ ไปจนถึงการจับกุมผู้ชุมนุมกลุ่มแรก ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กอายุ 14 ปีด้วย
ทำไมประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างสันติ จึงเริ่มใช้วิธีที่รุนแรง ทำไมจากการเตรียมตัวตั้งรับเหล่าเจ้าหน้าที่ ถึงเริ่มมีแผนการเชิงรุก และทำไมถึงมีการฆ่าตัวตาย พร้อมจดหมายลาปลุกระดม วิธีการเหล่านี้จะทำให้ข้อเสนอ และความต้องการของเหล่าผู้ประท้วงบรรลุผลได้จริงหรือไม่
จากผู้ร้าย กลายเป็นเหยื่อ จากสันติภาพ กลายเป็นความรุนแรง
อาจมองได้ว่า การหันมาใช้ความรุนแรงของผู้ประท้วง บุกเข้าอาคารรัฐสภา ในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือวันครบรอบ 22 ปีที่อังกฤษส่งคืนฮ่องกงให้กับจีนเป็นการเดินหมากที่พลาดที่ทำให้ตกหลุมรัฐบาลก็ว่าได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว วันที่ 1 กรกฎาคม กลายวันแห่งสัญลักษณ์ของการประท้วง ที่ทั่วไปแล้ว กองกำลังตำรวจมักจะจับตา และเฝ้าระวังเหตุการณ์ในวันนี้
แต่ท่าที และการรับมือกับผู้ประท้วงของเจ้าหน้าที่ในวันนั้น ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า แท้จริงแล้ว เป็นการเปิดทางของตำรวจ เพื่อให้ผู้ประท้วงได้ก่อเหตุรุนแรง ก่อนเข้าจัดการกับสถานการณ์ภายหลัง โดย Antony Dapiranนักกฎหมายในฮ่องกง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘เมืองแห่งการประท้วง: ประวัติศาสตร์ล่าสุดของความไม่เห็นด้วยในฮ่องกง’ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
“ตำรวจได้แจ้งเตือนว่าจะจับกุมทันที หากมีการบุกเข้าไปในอาคาร แต่หลังจากนั้นก็ถอนตัวออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขามีเวลาเหลือเฟือในการแทรกแซง และผลักดันผู้ประท้วงกลับไป แต่ก็ไม่ทำทำไมล่ะ?” ซึ่งตำรวจได้มาเริ่มใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายฝูงชน แปดชั่วโมงให้หลังของการประท้วงนอกสภา โดยที่หัวหน้าตำรวจ แถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ปิดล้อมพื้นที่ได้ และชาวฮ่องกงเองยังคาดว่า วิดีโอแถลงของตำรวจ ได้ ถ่ายไว้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ประท้วงจะบุกเข้าไปยังสภาด้วย
Denise Ho นักร้องชาวฮ่องกง ผู้ร่วมการชุมนุมประชาธิปไตยด้วย มองว่า เป็นความจงใจของรัฐบาล เช่นเดียวกับ ส.ส. Fernando Cheung ที่มีความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลต้องการทำให้ตัวเองกลายเป็นเหยื่อ เพื่อปลุกระดมความหวาดกลังต่อสาธารณชน และให้ผู้ประท้วงอื่นๆ แสดงความเห็นอกเห็นใจในตัวเธอ
การประท้วงที่เปลี่ยนไป เพราะความสิ้นหวัง?
ก่อนหน้านี้ การชุมนุมของในฮ่องกง เป็นไปในภาพของการรวมตัวอย่างสันติ โดยมีภาพของเหล่าผู้ประท้วงคอยเก็บขยะหลังเลิกชุมนุม เปิดเส้นทางให้รถพยาบาล หลีกเลี่ยงการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ หรือแม้แต่ในตอนที่บุกรัฐสภา ก็ยังมีภาพผู้ชุมนุมบางส่วน ที่วางเงินไว้ หลังหยิบเครื่องดื่มออกไปจากตู้ ซึ่ง Jimmy Lai เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ในฮ่องกงยังมองว่า นี่คือสงครามเย็นครั้งใหม่ ระหว่างจีน และฮ่องกง ซึ่งฮ่องกงได้ใช้อาวุธที่ทรงพลังที่สุด คือ ‘ศีลธรรมในการต่อสู้’
แต่ดูเหมือนว่าผู้ประท้วงชาวฮ่องกงบางกลุ่มก็มีขีดจำกัดของความอดทน กับการต่อสู้โดยใช้ ‘ศีลธรรม’เมื่อพวกเขาเริ่มเห็นว่า เสียงที่ส่งออกไปไร้ความหมาย และไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ ซึ่งหนึ่งในข้อความของผู้ชุมนุมที่ได้พ่นในรัฐสภาแสดงให้เห็นว่า พวกเขามองว่า รัฐบาลเป็นคนทำให้เขาเลือกวิธีชุมนุมเช่นนี้ คือ ‘พวกคุณเป็นคนสอนบทเรียนให้เราว่า การชุมนุมอย่างสันติ ไม่มีความหมาย และไม่ได้ผล’
หลังการบุกเข้ารัฐสภาของผู้ชุมนุม นำไปสู่การจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มแรก ซึ่งมีทั้งหมดอย่างน้อย 12 คน โดยเป็นผู้ชาย 11 คน และผู้หญิงอีก 1 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชายวัย 31 ปี ที่ถูกข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบในสถานที่สาธารณะ จากการชุมนุมในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย นอกจากชายผู้นี้แล้ว ยังมีเด็กที่อายุน้อยสุดคือ 14 ปี ที่ถูกจับกุมด้วย
ทั้งประเด็นสุขภาพจิตของผู้ชุมนุมที่ร่วมการประท้วงมาเป็นเวลานาน ก็มีผลกระทบด้วย ทั้งจากความสิ้นหวังกับเหตุการณ์บ้านเมือง และกรณีการฆ่าตัวตายของผู้ประท้วงวัยรุ่น 3 คน ที่ได้ทิ้งจดหมายไว้ให้ผู้ชุมนุมว่า อย่ายอมแพ้ และให้สู้ต่อไป และยังหวังว่าความปรารถนาของชาวฮ่องกง 2 ล้านคนจะได้รับเกียรติ นอกจากนี้ ยังมีผู้พยายามฆ่าตัวตายอีก 2 คน รวมถึงสายด่วนของกลุ่มการป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่กล่าวว่ามีผู้ติดต่อสายด่วนเพิ่มขึ้น 5 เท่า หลังเริ่มมีคนฆ่าตัวตายด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตยังระบุว่า นี่กลายเป็นสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตสาธารณะ ซึ่ง Paul Yip Siu-fai หัวหน้าศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของมหาวิทยาลัยฮ่องกงยังกล่าวว่า “ทั้งสังคมตกอยู่ในอาการฮิสทีเรียเนื่องจากเหตุการณ์การผลักดันร่างกฎหมายที่เป็นแรงกระตุ้น ผู้คนวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย รู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตของตนเอง และฉันไม่เคยเห็นคนฮ่องกงรู้สึกวุ่นวายใจ และรู้สึกว่าไม่มีอะไรสามารถควบคุมได้ขนาดนี้”
นอกจากนี้ การชุมนุมในตอนนี้ ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ และความไม่ลงรอยกันของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะเป็นตัวแทนอนาคตของฮ่องกง ซึ่งตอนนี้พวกเขารู้สึกว่าไม่มีอะไรจะได้ หรือจะเสีย ความเห็นจาก Geremie Barmé นักวิชาการด้านจีน ชาวออสเตรเลียกล่าวว่า ‘นี่คือสิ่งที่น่ากลัวและน่าสังเวชที่สุด คนแก่เฒ่าไม่ได้เพียงแค่กัดกินหัวใจ แต่รวมถึงจิตวิญญาณของลูกหลาน ที่ตอนนี้กำลังเลือดไหล’
เขายังคาดการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่ต่อเนื่องในฮ่องกงนี้ ว่าจะทำให้เกิดความขมขื่นในระยะยาว ในวัฎจักรการเมืองจีน ที่สังคมไม่เคยอนุญาตให้คนหนุ่มสาวได้เติบโต ในขณะที่คนรุ่นเก่าที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ก็ผลิตซ้ำความล้มเหลวแบบเดียวกับเดิมด้วย
อ้างอิงจาก