ปรัชญากับภาพยนตร์เป็นสองประเด็นที่อยู่ใกล้ชิดกัน นักปรัชญาและนักวิชาการเองก็มักจะขบคิดถึงพลังและผลกระทบของหนังในฐานะพื้นที่ของความรื่นรมย์ ในฐานะศิลปะและนวัตกรรมของโลกยุคใหม่ แถมบางครั้งตัวหนังเองเช่น The Matrix ก็มีการใส่ประเด็นทางปรัชญาไว้เป็นแกนกลางของเรื่อง—ใช้ศิลปะภาพยนตร์ในการตั้งคำถามร่วมสมัยกับโลก
ภาพยนตร์จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ถูกนำมาใช้เพื่อพูดเรื่องปรัชญา นอกจากจะมีการนำเอานักปรัชญาที่น่าสนใจมาทำเป็นสารคดีแล้ว นักปรัชญาร่วมสมัยหลายคนก็เลือกใช้หนังเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ในการทำความคิดและความเป็นปรัชญาให้ป๊อป และนำความคิดไปสู่สาธารณชนได้กว้างขึ้น
The MATTER จึงชวนไปดูหนังว่าด้วยนักปรัชญา หนังที่มีนักคิดเป็นแกนหลักของเรื่อง ตั้งแต่สารคดีที่พูดถึงนักคิดสำคัญๆ ทั้งที่ถ่ายทำหรือรวบรวมภาพและเสียงของนักคิดคนนั้นจริงๆ กับหนังที่สร้างจากชีวิตนักคิดร่วมสมัย เช่น Badiou, Derrida และ Hannah Arendt ไปจนถึงสารคดีที่ใช้นักปรัชญาเป็นแกนสำคัญของเรื่อง เช่น The Pervert’s Guide to Cinema หนังของ Slavoj Žižek ที่วิเคราะห์หนังด้วยการสร้างหนังขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง The Examined Life สารคดีที่ดึงเอานักคิดคนดังๆ ที่เราเคยเห็นแค่ชื่อในหนังสือเรียน เช่น Judith Butler และ Peter Singer ออกมายืนพูดเรื่องชีวิตในบรรยากาศท้องถนนจริงๆ กันไปเลย
Badiou
เรื่องนี้ยังเป็นตัวอย่างหนัง และค่อนข้างเป็นหนังจากค่ายเล็กๆ ดังนั้นเลยยังมีข้อมูลไม่มากนัก แต่ว่าการเลือก อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) นักปรัชญาฝรั่งเศสมาทำเป็นหนังสารคดีก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ทั้งในแง่ที่ว่าเราจะเห็นและได้รู้จักบาดียูแบบตัวเป็นๆ มากขึ้น และเราเองก็จะได้เห็นความคิดที่ซับซ้อนของบาดียูที่จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านหนัง บาดียูถือเป็นนักคิดร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลและยังคงมีชีวิตอยู่ การจะมีสารคดีก็เลยถือว่าน่าจับตา…แต่ อาจจะหาดูยากหน่อยมั้ง
ดูตัวอย่างได้ที่ : vimeo.com
Manufacturing Consent: Noam Chomsky and the Media (1992)
ปู่โนม Noam Chomsky เป็นนักวิชาการระดับซูเปอร์สตาร์ ตัวปู่เองมีอิทธิพลทางความคิดต่อหลายสาขาวิชา ทั้งภาษาศาสตร์ ไปจนถึงความคิดเรื่องสื่อ แถมตัวเองก็เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นคนที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะที่สื่อและสาธารณะชนสนใจความคิดของแกเสมอ Manufacturing Consent: Noam Chomsky and the Media เป็นสารคดีที่ว่าด้วยความคิดของโนม ชอมสกีในแง่ของสื่อ อิทธิพลที่สื่อมีต่อสังคม โดยเฉพาะประเด็นจากหนังสือชื่อเดียวกันว่า Manufacturing Consent
Derrida (2002)
Derrida ก็ตามชื่อเป็นหนังสารคดีอเมริกันว่าด้วยชีวิตและความคิดของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) นักปรัชญาฝรั่งเศส ตัวหนังเองประกอบขึ้นจากฟุตเทจและการสัมภาษณ์แดร์ริดาโดยผู้กำกับหนัง กอปรกับการอ่านตัวบทงานเขียนทางวิชาการของแดร์ริดาเอง แกนหลักของสารคดีพูดถึงแนวคิดเรื่องการรื้อสร้าง (deconstruction) และชีวิตการเป็นนักปรัชญา โดยรวมเป็นสารคดีที่เท่ดี การได้ฟังเสียงแดร์ริดา เห็นแดร์ริดาในเสื้อโค้ต สูบไปป์ พูดเรื่องความคิดและชีวิตก็ตื่นเต้นสุดๆ
Hannah Arendt (2012)
เรื่องนี้เป็นหนังที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งของ ฮันนาห์ อเร็นดท์ (Hannah Arendt) มาเล่าใหม่เป็นภาพยนตร์แนวชีวประวัติ ตัวหนังพูดถึงช่วงชีวิตหนึ่งของฮันนาห์ อเร็นดท์ ช่วงที่เธอเขียนงานจากการไต่สวนนาซี อดอล์ฟ ไอชมันน์ (Adolf Eichmann) โดยที่อเร็นดท์เขียนรายงานและพูดถึงการไต่สวนนั้นลง The New Yorker งานเขียนนั้นของเธอกลายเป็นประเด็นถกเถียงด้วยความที่อเร็นดท์พูดถึงตัวไอชมันน์ว่า สุดท้ายแล้ว—โดยส่วนตัวการเป็นนาซี—คนที่ลงมือหรือสั่งการฆ่าคนอื่นได้อาจจะไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจส่วนตัวที่มีความเป็นโรคจิต ไอชมันน์อาจจะเป็นคนธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อ แต่ด้วยแรงจูงใจของหน้าที่ ของตำแหน่งแห่งที่ทางการอาชีพทำให้เขา—รวมไปถึงเรา—ทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้ โดยที่คนๆ นั้นอาจจะไม่ได้เป็นปีศาจแต่อย่างใด แนวคิดดังกล่าวของฮันนาห์ อเร็นดท์ เรียกว่า ‘the banality of evil’ ซึ่งก็นำมาด้วยการถกเถียงอีกมากมาย
The Pervert’s Guide to Cinema (2006)
สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) นักปรัชญาป๊อปสตาร์ หนึ่งในงานสำคัญของชิเชคคือการใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์และการวิพากษ์โลกทุนนิยมสมัยใหม่จากตัวบทภาพยนตร์ The Pervert’s Guide to Cinema เป็นงานกำกับของ โซฟี เฟนเนส (Sophie Fiennes) ที่มีชิเชคเองเขียนบทและออกมาแสดงหน้ากล้อง The Pervert’s Guide to Cinema เป็นงานวิชาการในฉบับหนังที่สนุกดี คือแกเอาหนังมาตัด แล้วอยู่ๆ เฮียชิเชคก็ออกมาพูดๆๆๆ อธิบายรับส่งว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ๆ หนังที่แกวิพากษ์ก็มีตั้งแต่หนังเก่า ถึงหนังร่วมสมัย เช่น The Matrix, Fight Club ไปจนถึง Star Wars
The Examined Life (2009)
The Examined Life เป็นสารคดีแคนาดาว่าด้วยชีวิตร่วมสมัยที่เอานักปรัชญาร่วมสมัยออกมาเดินๆ พูดๆ ในเมืองนิวยอร์กและเมืองใหญ่อื่นๆ พร้อมทั้งชวนนักคิดสำคัญเหล่านั้นขุดคุ้ยประเด็นต่างๆ ในการใช้ชีวิต สารคดีชิ้นนี้เรียกได้ว่ารวมเอานักปรัชญาที่ยังมีชีวิตมาขยับดุ๊กดิ๊กให้เราได้ชื่นชมกันไว้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่ Cornel West, Peter Singer, Martha Nussbaum, Michael Hardt, Slavoj Žižek, รวมถึง Judith Butler และอีกมากมาย