“all ships at sea, all ports of call, to my family, to all friends and strangers”
[ถึงเรือทุกลำในมหาสมุทร ท่าทุกท่าที่ชายฝั่ง ถึงครอบครัวและเพื่อน และถึงคนแปลกหน้า]
– ส่วนนำของจดหมายถึงลูกชายที่จากไป
ในปี 2002 ขวดปริศนาทรงหยดน้ำตาถูกซัดขึ้นที่ชายหาดแห่งหนึ่งในเมืองเคนต์ (Kent) ตอนเหนือของอังกฤษ ภายในมีจดหมายหนึ่งฉบับม้วนและผูกริบบิ้น ช่อดอกลิลีและปอยผมสองช่อ ปอยหนึ่งสีน้ำตาลเข้ม อีกปอยสีน้ำตาลอ่อน จดหมายในขวดเป็นจดหมายที่แม่เขียนถึงลูกชายที่ตายไปเมื่ออายุได้เพียง 13 ปี เนื้อความในจดหมายเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ร้าวราน สละสลวย และสะเทือนอารมณ์
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล่าเรื่อง เราเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อชุบชูและพยุงตัวตนของเราเอาไว้
ท่ามกลางความเจ็บปวดและความสูญเสีย ความเหงาและความร้าวราน คงไม่แปลกที่ใครคนหนึ่งจะเขียนเล่าสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองเขียน ก่อนจะพับม้วนใส่ขวดแล้วโยนทิ้งลงทะเลไป จดหมายปริศนานั้นไม่จำเป็นต้องส่งถึงใคร หรือถ้าถึง ก็อาจเป็นใครก็ได้ที่บังเอิญได้รับรู้เรื่องราวที่ถูกเขียนลงไป
‘จดหมายในขวด’ ดูจะเป็นวัตถุที่เป็นปริศนาและน่าหลงใหลอย่างหนึ่ง การที่เราเจอจดหมาย – อันหมายถึงเรื่องราวและลายมือของใครที่เราไม่รู้จักโดยบังเอิญ – ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในยุคหนึ่งที่เราติดต่อกันด้วยการเขียน เจ้าจดหมายในขวดนี้ดูจะเป็นวัตถุสำคัญที่เรามักจินตนาการถึง บางครั้งก็เป็นข้อความลึกลับที่นักเดินเรือหรือชายติดเกาะส่งมา พัดพามาด้วยคลื่นลมและโชคชะตาอันไม่รู้จบของท้องทะเล
ประวัติศาสตร์ย่อๆ ของจดหมายจากท้องทะเล
จุดหมายแรกๆ ของการเขียนและโยนข้อความบางอย่างออกนอกชายฝั่งคือการทดลอง
ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานการพบจดหมายในขวดที่อายุเก่าแก่ที่สุดอายุ 132 ปี นับจากที่มันถูกโยนลงทะเลไป จากมหาสมุทรอินเดียถึงชายฝั่งในประเทศออสเตรเลีย จดหมายชุดนั้นเป็นฝีมือของนักเดินเรือชาวเยอรมันที่ต้องการศึกษากระแสน้ำด้วยการโยนขวดลงทะเลกว่าพันขวดในปี 1886 ส่วนข้อความในจดหมายก็เป็นข้อมูลของการทดลองที่เจ้าขวดนั้นถูกโยนออกไป บันทึกเป็นภาษาเยอรมัน
ยุคกรีก ถือเป็นยุคแรกที่มนุษย์เราโยนข้อความออกนอกทะเล การโยนขวดออกนอกทะเลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีบันทึกไว้คือ 310 ปีก่อนคริสตกาล โยนโดยนักปรัชญากรีกโบราณชื่อ Theophrastus นักปรัชญาผู้นี้ไม่ได้เขียนแล้วโยนเพราะความอัดอั้นตันใจ แต่แกต้องการจะทดลองว่ากระแสน้ำของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไหลมาจากมหาสมุทรฝั่งแอตแลนติก – ไม่มีรายงานต่อว่าการทดลองของเฮียแกประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือขวดของพี่แกลอยไปติดถึงที่ไหน
นักสมุทรศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์ของออสเตรเลียบอกว่า เราอาจจะคิดว่าจดหมายในขวดเป็นเรื่องการเล่นสนุก หรือเป็นเรื่องความรู้สึกของมนุษย์ แต่อีกด้านของการโยนขวดลงทะเลนี้ดูจะเป็นการทำเพื่อจุดมุ่งหมายทางวิทยาศาสตร์ด้วย
ในปี 1490 ในขณะที่โคลัมบัสเดินทางกลับจากโลกใหม่ไปสู่ยุโรป มีบันทึกว่าขากลับเรือของโคลัมบัสไปเจอเข้ากับพายุใหญ่ ด้วยความกลัวว่าถ้าเกิดตัวเองและกองเรือตายกันหมด เรื่องราวการค้นพบจะต้องสูญหายไปแน่ๆ ดังนั้นโคลัมบัสจึงเขียนรายงานการค้นพบของตัวเองแบบสั้นๆ จับยัดใส่ถังไม้พร้อมบันทึกให้ส่งต่อไปยังพระราชาเฟอร์ดินานด์และพระราชินี แต่สุดท้ายข้อความและถังไม้นั้นก็หายสาบสูญไป (ในขณะที่โคลัมบัสเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย)
จากผู้รับกลับสู่ผู้ส่ง เมื่อขวดปริศนาตามหาเจ้าของ
ย้อนกลับไปที่จดหมายจากแม่ถึงลูกชายในปี 2002 เรื่องราวของจดหมายเริ่มต้นที่ชายหาดทางตอนเหนือของอังกฤษ ในวันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิ เพื่อนของ Karen Liebreich เดินเล่นที่ริมหาดและพบขวดและจดหมายปริศนา ด้วยความที่คาเรนเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส – แน่ล่ะว่าถ้าเราเจอขวดทรงหยดน้ำ ปอยผม จดหมาย และดอกไม้ มีหรือเราจะไม่อยากรู้ – เพื่อนของเธอจึงส่งต้นฉบับจดหมายนั้นมาให้เธอแปล
ผลกลายเป็นทรงพลังกว่าที่คิด เนื้อความในจดหมายคือข้อความของผู้เป็นแม่ที่เขียนจดหมายถึง ‘Maurice’ ลูกชายที่จากไปก่อนวัยอันควร เรื่องราวในขวดที่ “ไม่มีสายลมไหน ไม่มีพายุใด หรือแม้แต่ความตายที่จะทำลายได้” ผู้เป็นแม่เขียน เธอเขียนถึงลูกชายว่า “ขอโทษด้วยที่แม่แสนโกรธเกรี้ยวเมื่อลูกหายไป” “ชีวิตของแม่เริ่มต้นเมื่อตอนที่ลูกเกิด และแม่ก็คิดว่ามันคงจบลงเมื่อลูกจากไป”
หลังจากแปลและอ่านข้อเขียนทั้งหมด คาเรนรู้สึกคันยิ่งในหัวใจ จดหมายนี้เป็นจดหมายลาตายรึเปล่า ลูกชายของเธอตายได้อย่างไร ใครเป็นเจ้าของจดหมายกันแน่ ข้อความบางส่วนชวนให้ตีความว่าลูกชายเธอตายจากการจมน้ำ เช่นมีข้อความพูดว่า “เนิ่นนานมาแล้วที่เขา (ลูกชาย) เดินทางไปมาระหว่างน่านน้ำสองฝ่าย ระหว่างแสงสองด้าน หนุ่มน้อยพยายามอย่างไม่ลดละที่จะใช้กำลังแขนของเขาอย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งเขา ถูกส่งกลับไปยังความเงียบ ความน่าสยดสยอง และความเย็นยะเยียบ”
หลังจากนั้นคาเรนจึงออกเสาะแสวงหาผู้หญิงเจ้าของจดหมายปริศนานั้น เธอเขียนเป็นหนังสือและตีพิมพ์ขายในอังกฤษ และต่อมาในฝรั่งเศส จนกระทั่งในปี 2009 – 7 ปีอันยาวนาน – ในที่สุด หญิงสาวปริศนาเจ้าของเรื่องก็ติดต่อกลับมา เธอทั้งสองพบกันเป็นการลับทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เรื่องราวเพียงบางส่วนได้รับการเปิดเผย เด็กชายไม่ได้เพิ่งเสียชีวิต แต่เขาตายจากตั้งแต่ปี 1981 เป็นเวลากว่า 21 ปี ที่ผู้เป็นแม่ตัดสินใจเขียนความทุกข์ทนและโยนมันลงจากเรือเฟอร์รี่ ขณะที่เธอกำลังข้ามฟากจากเมืองกาแล (Calais) ไปยังโดเวอร์ ประเทศอังกฤษ
จากการพบกันนั้น ลูกชายของเธอไม่ได้จมน้ำ แต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อุปมาเรื่องห้วงน้ำและแสงจากสองฟากเป็นเพียงวาทศิลป์ในห้วงที่เธอเขียนขึ้นเท่านั้น และสำหรับผู้เป็นแม่ แม้จะทนทุกข์ แต่เธอก็เข้มแข็งพอที่จะลุกขึ้นจากความสูญเสียและเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป
สสารไม่หายไปจากโลก ดูเหมือนว่าเรื่องเล่าและเรื่องราวก็เช่นกัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกันด้วยเรื่องเล่า เป็นความรู้สึกและเรื่องราวอันล้ำลึกที่เราถ่ายทอดถึงกัน เรื่องเล่าในขวดแก้วดูจะเป็นอีกวิธีที่แปลกประหลาดที่เราทำ ที่เราต้องการสื่อสารกับใครสักคนที่ไม่ต้องมีตัวตน จดหมายที่เขียนขึ้นอย่างลึกซึ้งที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถูกอ่าน หรือถูกอ่านโดยใคร
จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ถึงความร้าวรานที่เราใส่ขวดแล้วโยนลงทะเล เจ้าข้อความในขวดถือเป็นเรื่องที่แสดงถึงความซับซ้อนและการจัดการกับความรู้สึกของเรา จากความฉงนสงสัย ไปจนถึงการปล่อยความรู้สึก การโยนข้อความลงน้ำ ลึกๆ แล้ว คนที่เขียนสิ่งต่างๆ ลงกระดาษ ก็หวังใจว่าจะมีใครอีกคนที่ได้รับรู้และเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวของเรา โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือกลับมามีปฏิสัมพันธ์กัน แต่สุดท้าย ผู้ส่งและผู้รับที่ไม่ควรจะได้มาเจอกัน ก็อาจได้กลับมาพบเจอกันในท้ายที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก