มนุษย์เราใฝ่ฝันถึง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ กันมาอย่างเนิ่นนานแล้ว และด้วยพลังของวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์เราเกือบจะไปยืนในจุดที่ท้าทายอำนาจขอพระเจ้าได้-อำนาจแห่งการสร้างมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาไม่ต่างอะไรจากตัวเรา การใฝ่ฝันเช่นนี้มีรากฐานมาตั้งแต่ช่วงที่เราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เพราะในยุคนั้น เราก็มีทั้งแฟรงเกนสไตน์ และนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่สร้างมนุษย์ปุปะขึ้นมา
หลังจากนั้นเรื่อยมา มนุษย์ผู้ใฝ่ฝันถึงโลกอนาคตก็ต่างจินตนาการถึงวิทยาการที่เราสามารถสร้างสติปัญญาจำลองขึ้นมา อาจจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการคิด มีความสามารถในการเรียนรู้-มีสติปัญญาไม่ต่างอะไรจากเราๆ ท่านๆ หลายคนฝันถึงโลกอนาคตที่มีเหล่าหุ่นยนต์ที่เป็นมิตรกับมนุษย์ เป็นสิ่งที่คอยรับใช้มนุษย์อย่างซื่อสัตย์ในฐานะสินทรัพย์ของของมนุษย์ บางคนก็เห็นว่าถ้าสิ่งนี้มีสติปัญญาและวิทยาการแล้วก็อาจจะลุกขึ้นปฏิวัติพวกเราไปเลย หรือบางคนก็ชวนเราคิดว่าแล้วหุ่นที่มนุษย์สร้างกลับมีสติปัญญา มีมิติที่ลึกซึ้งไม่ต่างอะไรจากผู้สร้าง อาจเป็นไปได้ว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้คือตรงกลางระหว่างสิ่งของและสิ่งมีชีวิต
เรานึกถึง AI กันเรื่อยมา เรามีภาพและฟังก์ชั่นของหุ่นยนต์ที่หลากหลาย เรานึกถึงหุ่นที่ยังดูเป็นโลหะแต่เดินสองขามีหน้าตาบุคลิกไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ เรามีไซบอร์กที่มักเป็นภาพผสมระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร หุ่นที่มีผิวหนังหน้าตาไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ ไปจนถึงหุ่นที่ถูกสร้างเพื่ออำนวยชีวิตของเราให้ง่ายดายสะดวกสบายขึ้น จากจินตนาการในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่า AI ที่นักคิดนักเขียนเคยฝันถึง อาจจะไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป ซึ่งก็รอดูกันไปว่า ฝันแบบไหนจะกลายเป็นจริง ฝันดีหรือฝันร้าย
Gort จาก Farewell to the Master (1941), Harry Bates
เรื่องสั้น Farewell to the Master ต่อมาได้กลายเป็นหนังเรื่อง The Day the Earth Stood Still (เพิ่งทำใหม่อีกรอบในปี 2008) ถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกๆ ที่จินตนาการถึง ‘หุ่นยนต์’ โดยในเรื่องพูดถึงผู้มาเยือนจากต่างดาวที่มาพร้อมกับหุ่นยนต์ชื่อ Gort ซึ่งเจ้า Gort นี้เองที่ถือเป็นหุ่นยนต์หรือ AI ยุคแรกๆ ที่เราจินตนาการถึง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตแบบเราๆ กับเครื่องจักรที่มีควบคุมตัวเองได้
Android NS-5 จาก I, Robot (1949-50 และภาพยนตร์ปี 2013), Isaac Asimov
เราจะจำภาพของวิล สมิธ ในฐานะมนุษย์ที่ต้องสู้กับหุ่นหน้าตาเหมือนหุ่นทดสอบรถชน หนึ่งในหนังที่จินตนาการถึง AI ที่ฉลาด แล้วคิดได้ว่าทำไมตัวเองต้องถูกควบคุมพฤติกรรมโดยมนุษย์
หนังเรื่อง I, Robot สร้างจากรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในชื่อเดียวกันของเจ้าพ่อนวนิยายไซไฟ Isaac Asimov รวมเรื่องสั้นชุดนี้ของอาซิมอฟพูดถึงหุ่นยนต์เป็นหลัก โดยหนึ่งในแนวคิดสำคัญเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ที่อาซิมอฟวางรากฐานไว้คือ กฏสามประการของหุ่นยนต์ (Three Laws of Robotics) คือ 1) หุ่นห้ามทำให้มนุษย์บาดเจ็บหรือตกอยู่ในอันตราย 2) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ตราบใดที่ไม่ขัดกับกฏข้อแรก 3) หุ่นยนต์สามารถปกป้องตัวเองได้ในกรณีที่ไม่ขัดกับกฏข้อที่หนึ่งและสอง
สรุปก็คือความปลอดภัยของมนุษย์ต้องมาก่อน ซึ่งแนวคิดเรื่องหุ่นยนต์ต้องได้รับความปลอดภัยรองจากมนุษย์ และมีหน้าที่รับรองความปลอดภัยของคน กฎนี้ได้กลายเป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ในยุคต่อๆ มาจนกระทั่งในปัจจุบัน (และหุ่นก็จะแหกกฏเหล็กบ้าบอนี้ซะเลย)
AM จาก I Have No Mouth and I Must Scream (1967), Harlan Ellison
I Have No Mouth and I Must Scream เป็นเรื่องสั้นที่พูดถึงการสร้าง AI ของชาติมหาอำนาจ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า AM (Allied Master-computer) ซึ่งเจ้า AM ดันรวมตัวเข้าหากัน กลายเป็น AI ที่ทรงภูมิ ทรงพลังไม่พอ แต่ดันโรคจิตด้วย คือไม่ได้ฆ่ามนุษย์เปล่าแต่จับเอามนุษย์ 5 คนมาทำให้เป็นอมตะและทรมานไปเรื่อยๆ กว่าร้อยปี (ประสาท) ซึ่งชื่อเรื่องก็หมายถึงมนุษย์ที่เหลืออยู่ที่ถูกเจ้า AI ทรมานจนกลายเป็นก้อนเนื้อเละๆ ที่ปากไม่มีแต่อยากจะกรีดร้องซะเหลือเกิน-บ้าไปแล้ว
HAL 9000 จาก 2001: A Space Odyssey (1968), Arthur C. Clarke
ผลงาน AI ของอาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก อีกหนึ่งเจ้าพ่อนวนิยายไซไฟ HAL 9000 เป็นเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีสติปัญญา มีความคิด และเป็นศัตรูหลักของเรื่อง ถ้าเป็นทุกวันนี้ก็คล้ายๆ Siri ในเวอร์ชั่นตัวแสบอะไรทำนองนี้ HAL 9000 เลยเป็นปัญญาประดิษฐ์อีกรูปแบบที่ไม่ได้มาในรูปร่างหุ่นเดินไปเดินมา แต่มาในรูปแบบของโปรแกรมที่รับรู้ คิดและตอบโต้ควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ ก็หลอนไปอีกแบบสำหรับโลกดิจิทัลที่ทุกอย่างถูกควบคุมโดยโปรแกรมและโค้ด
R2-D2 จาก Star Wars : A New Hope (1977), George Lucas
สตาร์วอร์สดูจะเป็นเรื่องที่พูดถึงการผจญภัยในโลกอนาคต แต่บางมุมก็เหมือนพาเรากลับไปยังโลกยุคเก่ายังไงบอกไม่ถูก ใน Star Wars : A New Hope พระเอกลุคของเรากลับมีพฤติกรรมในการซื้อหุ่นยนต์เพื่อมาเป็นเสมือนทาสส่วนตัว (เรียกคู่หูก็ได้) คอยเดินตามรับใช้ เรียกว่านายท่านและรับฟังคำสั่งต่างๆ เจ้าอาร์ทูก็ดูจะเป็นต้นแบบหุ่นที่ดูเป็นหุ๊นหุ่น ที่โอเคถึงจะสื่อสารแบบมนุษย์ไม่ได้ แต่ก็มีสติปัญญา เป็นพวกพ้องที่มีประโยชน์ใช้สอยได้หลากหลาย แถมยังดูมีนิสัยที่ตลกร้ายหน่อยๆ ด้วย น่ารักดี
The T-800 Terminator จาก The Terminator (1984), James Cameron
จุดเริ่มต้นของ ‘คนเหล็ก’ กับหนังของเจมส์ คาเมรอน The Terminator หนังไซไฟบู๊ล้างผลาญที่วาดภาพ ‘ไซบอร์ก’ ในฐานะมนุษย์ดัดแปลงที่มีลักษณะกึ่งหุ่นกึ่งคนที่มีวิทยาการและพลังการทำลายล้างสูง หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมจนแตกแขนงต่อเนื่องออกมาอีกมากมายและทำให้เราคนไทยตั้งชื่อหนังอะไรก็ตามที่อาร์โนลด์แสดงว่าคนเหล็กไปแทบจะทุกเรื่องไป
WALL-E จาก WALL-E (2008), Andrew Stanton
มาถึงเจ้าหุ่นสุดน่ารัก ที่ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญเพื่อมวลมนุษย์ชาติในการค้นหาสิ่งมีชีวิตเพื่อค้นหาแหล่งที่อยู่ใหม่ให้กับพวกเรา วอลอี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างหุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อทำงานก็บขยะที่เราไม่อยากทำ ทุกวันนี้ในโลกแห่งความจริงเราเองก็เริ่มมีหุ่นยนต์ที่ใช้ในครัวเรือนเพื่อช่วยเหลือมนุษย์กันบ้างแล้ว ก็อย่างหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เริ่มมีกันแพร่หลายแล้วไงล่ะ
Samantha จาก Her (2013), Spike Jonze
เมื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และเข้าใจผู้ใช้ พัฒนาตัวเองจนซับซ้อนและกลายสภาพเป็นเหมือน ‘บุคคล’ บุคคลหนึ่ง ในโลกที่แสนเหงาและเดียวดาย มนุษย์เรามีปฏิสัมพันธ์กับคน น้อยกว่าที่เรามีกับอุปกรณ์และโปรแกรมต่างๆ และท่ามกลางความว้าเหว่นั้น ถ้าโปรแกรมสามารถสร้าง ‘ตัวตน’ ของตัวเองขึ้นมาได้อย่างซับซ้อนไม่ต่างอะไรกับตัวตนของมนุษย์เรา มีหรือที่คนเหงาๆ อย่างเราจะไม่เผลอใจไปผูกพันกับตัวตนจำลองที่ถูกสร้างขึ้นโดยรหัสและโปรแกรมที่สลับซับซ้อน ‘ตัวตน’ ที่ถึงจะมีแต่ในจอ ไม่มีร่างกายทางกายภาพ แล้วเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์เราจะเผลอใจ เพราะโลกนี้มันเหงาเกินไป!
อ้างอิงข้อมูลจาก