ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ – เรื่องอดีตของพวกเรากำลังมาแรง บ้านเรามีมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้และตำราวิชาการสู่สาธารณชน ในยุคดิจิทัลทางโครงการก็มีการเผยแพร่ตำราต่างๆ ให้อ่านกันได้ฟรี
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นโครงการเก่าแก่คู่วงการอุดมศึกษาไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2509 ดูเหมือนว่าทางโครงการก็ทำตามเจตนารมณ์ได้อย่างดี ตำราสำคัญๆ จำนวนมากที่เราใช้เรียนและใช้อ้างอิงล้วนมาจากโครงการนี้ หลายเล่มกลายเป็นตำราระดับขึ้นหิ้ง เป็นผลของนักวิชาการชั้นแนวหน้า
หนังสือเช่นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ชาญวิทย์, การปฏิวัติสยามของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความเป็นมาของคำสยามไทยฯ, ชุมชนจินตกรรมของเบน แอนเดอร์สัน ไปจนถึงชุดงานหายากอันเป็นชุดความรู้จากนักคิดสำคัญอย่าง วรรณไวทยากร ทั้งหมดนี้สามารถโหลดมาอ่านกันได้ทันที
อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
แค่ชื่ออาจารย์ชาญวิทย์ก็ถือว่าการันตีคุณภาพ และเมื่อพูดถึงสมัยอยุธยา อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวว่าเรากลับมีงานเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับอยุธยาน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ แนวคิดและวัฒนธรรมสำคัญของอยุธยา เช่น ระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวไพร่และมูลนาย การเกณฑ์แรงงานและการเก็บส่วย หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นการร้อยเรียงรัชสมัยสำคัญของอยุธยา ภาคสองเป็นงานเชิงวิเคราะห์ทำความเข้าใจเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นรวมบทความว่าด้วยอยุธยาที่อาจารย์เขียนไว้ในที่ต่างๆ
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj165.pdf
ขุนนางอยุธยา, มานพ ถาวรวัฒน์สกุล
ละคร บุพเพสันนิวาส พาเราไปดูขุนนางและระบบการปกครองโบราณ ด้วยความอิน เราก็อยากรู้รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ต่างๆ อีกว่า เอ๊ะ ขุนนางในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ระบบขุนนางมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญกับอาณาจักรอย่างไร ใน ‘ขุนนางอยุธยา’ เป็นงานศึกษาที่ชี้ให้พาเรากลับไปดูวัฒนธรรมและกลุ่มขุนนาง ในฐานะกลุ่มบุคลลที่มีอิทธิพลในทุกๆ ด้านต่อรัฐและพัฒนาการของอาณาจักร สถาบันขุนนางจึงเป็นสถาบันสำคัญที่เป็นรากฐาน ซึ่งอาจเป็นแกนสำคัญของความคิดความเชื่อของสังคมไทย
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj022.pdf
การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 – พ.ศ. 2475, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์เป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่มองไปถึงประวัติศาสตร์ความคิดความเชื่อ โดยเฉพาะการเข้ามาของโลกสมัยใหม่ ความทันสมัย ‘การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 – พ.ศ. 2475‘ เป็นหนังสือที่กลับไปดูห้วงเวลาแห่งความเปลี่ยนผ่าน จากความคิดความเชื่อแบบเดิม สู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดและในทางการเมือง ซึ่งห้วงเวลาช่วงรัชกาลที่ 4-5 ถึงช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ต่างเป็นช่วงที่สังคมไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไป ความคิดเช่นความเป็นวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุผล เสรีนิยมประชาธิปไตย ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก ชนชั้นนำไทยปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างไร
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj016.pdf
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
การเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตยถือเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยพลวัตซับซ้อน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เสนอว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเป็นแค่ความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจของเพียงเจ้านายและข้าราชการระดับกลาง แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รัฐไทยและกลุ่มคนจำนวนมากมีส่วนเกี่ยวข้อง – รัฐไทยต้องปรับเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj006.pdf
ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, จิตร ภูมิศักดิ์
เล่มนี้ ถือเป็นอีกเล่มสำคัญที่ใครๆ ก็ต้องอ่าน ‘ที่มาของคำสยามฯ’ เป็นงานเขียนเชิงวิชาการที่สำคัญของจิตร ภูมิศักดิ์ งานชิ้นนี้ของจิตรเป็นงานที่ใช้เวลากว่า 7 ปีในการเขียน โดยจิตรพูดถึงที่มาของคำต่างๆ และชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของเชื้อชาติ สังคม และชาติพันธุ์ต่างๆ ในแถบสุวรรณภูมิ งานชิ้นนี้ถือเป็นงานทางนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์สังคมที่สำคัญเล่มหนึ่งของไทย
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj027.pdf
ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, เบน แอนเดอร์สัน
คำว่า ‘ชาติ’ – รักชาติ ดูจะเป็นคำที่เราพูดและยึดถือกันมาอย่างยาวนาน หนังสือเล่มนี้ของเบน แอนเดอร์สัน กลับไปหาความหมาย นิยาม และทบทวบกำเนิดว่าจริงๆ แล้ว ‘ชาติ’ เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้น ลุงเบนพาเรากลับไปทบทวนคำใหญ่ๆ เช่น สัญชาติ ความเป็นชาติ ไปจนถึงการก่อตัวและปัญหาของลัทธิชาตินิยม ดังนั้น ในยุคที่ชาติจะเป็นที่ถูกนำมาใช้ว่ารักหรือไม่รักชาติ ความเข้าใจ ‘ชาตินิยม’ จึงดูเป็นสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจ
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj042.pdf
วรรณไวทยากร
พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นนักปราชญ์สำคัญของไทย ‘วรรณไวทยากร‘ เป็นชุมนุมบทความในหลากแขนงของนักวิชาการต่างๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้กับพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร โดยตัวรวมบทความนี้จะรวบรวมและแบ่งตามความสนพระทัย ดังนั้นชุมนุมบทความชุดวรรณไวทยากร ถือเป็นรวมบทความชุดใหญ่ในแขนงวิชาที่หลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์ การศึกษา ปรัชญา นิติศาสตร์และการต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นคลังความรู้ที่กว้างขวางและใหญ่โตชุดสำคัญ
ไปโหลดอ่านกันได้ที่ : http://www.openbase.in.th/files/tbpj067.pdf