ในช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น แล้ววิชาประวัติศาสตร์ควรถูกสอนอย่างไร?
คำถามที่ชวนให้ทุกคนขบคิด เมื่อเยาวชนในยุคปัจจุบัน เริ่มเบือนหน้าหนีประวัติศาสตร์ตามตำราเรียน และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ แทน แต่การเรียนการสอนในห้องเรียนก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่
เพื่อช่วยกันหาคำตอบนี้ ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิงส์) จึงจัดงานเสวนา ‘สอนประวัติศาสตร์อย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ตื่นตัว’ โดยมีตัวแทนจาก 4 ด้านมาเป็นวิทยากร ได้แก่ ตัวแทนนักเรียนที่เคยศึกษามาทั้งห้องเรียนไทยและต่างประเทศ นักการศึกษาทางเลือก นักประวัติศาสตร์การเมือง และผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ
เราควรเรียนประวัติศาสตร์กันแบบไหน แล้วต้องทำอย่างไร ถึงจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ ขอชวนทุกคนมาร่วมหาคำตอบไปด้วยกัน
วิชาประวัติศาสตร์วนเวียนอยู่ที่เดิม
วิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนสอนอะไรเราบ้าง? พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย สงครามยุทธหัตถีโดยพระนเรศวร หรือการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5
แล้วถ้าคุณเรียนจบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี คิดว่าการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?
“การศึกษาไทยล้าหลังไปประมาณ 20-30 ปี” คำกล่าวจาก รศ.ประภาภัทร นิยม นักการศึกษาทางเลือก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่อธิบายถึงสถานการณ์การเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยเธอมองว่า การเรียนการสอนของไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชาไหนๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในชุดความรู้เดิมๆ เธอจึงมองว่า สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือการตอบคำถามถึงจุดประสงค์การเรียนรู้
“เราจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า ชุดความรู้ต่างๆ สร้างคนได้จริงหรือเปล่า และมันเป็นความรับผิดชอบของอะไร สาระการเรียนรู้หรือเปล่า นี่คือประเด็นสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้ ไม่อย่างนั้นทุกวิชาจะเป็นจำเลยเหมือนกัน”
นอกจากนี้ ประภาภัทรยังเล่าถึงการสอนในประเทศอื่นๆ ที่มองว่า สิ่งที่เรียนต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียนด้วย โดยต่างประเทศพยายามให้ชุดความรู้ใหม่ๆ กับวิชานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาไหน ก็ต้องตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไม ซึ่งถ้าไม่มีการถามคำถามนี้ เด็กก็จะต้องเรียนไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นการวัดแค่ว่า นักเรียนรู้เท่าครูหรือยัง
สำหรับประเด็นนี้ ปิยาพัชร สินทรัพย์ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงรุ่นเล็ก ที่เคยผ่านระบบการเรียนมาทั้งห้องเรียนไทยและต่างประเทศ เปรียบเทียบการเรียนประวัติศาสตร์ของชาติว่า ตอนที่เธอเรียนอยู่ที่สหรัฐฯ นั้น เธอได้เรียนเรื่องของประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ได้เรื่องราวที่ยึดโยงกับประชาชนด้วย
พอได้เห็นการเรียนการสอนของประเทศอื่นแล้ว ก็ทำให้เธอมองเห็นว่า เราไม่ค่อยได้เรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกันเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ทุกพื้นที่ของประเทศไทยก็มีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าของตัวเอง
แต่ว่าในฐานะนักเรียน ปิยาพัชรก็มองว่า หลายครั้งเราไม่กล้าที่จะตั้งคำถาม การเรียนประวัติศาสตร์ในห้องเรียนไทย ยังไม่ได้สนับสนุนการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์อีกด้วย ด้วยความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปตั้งคำถาม โดยเฉพาะตัวละครที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อย่างสำคัญ
“ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่อยู่ที่การตีความว่าสิ่งๆ นั้นเกิดอะไรขึ้น แล้วการตีความมันสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด ขึ้นอยู่กับการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ”
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์การเมือง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’ กล่าวถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของห้องเรียนไทย ว่ามีเนื้อหาที่อยู่บนทุ่งลาเวนเดอร์ เพราะเวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยเราจะเห็นภูมิทัศน์ที่สวยงามและรุ่งเรืองจากเหล่าชนชั้นนำ โดยที่ไม่มีประชาชน คนชั้นล่างอยู่ในนั้นด้วย
การเรียนแบบนี้ฝังรากอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน โดย อ.ณัฐพลเล่าถึงข้อความที่ถูกเขียนในการชุมนุมของเยาวชนว่า ‘ประวัติศาสตร์ไทยสอนแค่เรื่องแต่ง เหยียบย่ำความจริง เขียนให้ประชาชนต่ำต้อย วีรชนสามัญชน พวกเขามีประโยชน์กว่าพวกคุณอีก’ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลใส่ไว้อย่างยาวนาน แต่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถามได้ ทั้งที่เขาเรียนแบบที่เราเรียน
“เวลาไปรบ กษัตริย์ไปรบคนเดียวเหรอ? ไพร่พลไปไหน? ประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องมหาบุรุษ ปกหนังสือเรียนก็ไม่มีประชาชน ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ถึงถามว่าชาติคืออะไร”
สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว นิยามคำว่า ‘ชาติ’ มีความหมายถึงประชาชน ดังนั้น เยาวชนในยุคนี้จึงขวนขวายศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่มีประชาชนเป็นตัวละครหลัก
นอกจากนี้ อ.ณัฐพล ยังชวนตั้งคำถามถึงสภาวะกึ่งอาณานิคมของรัฐไทย กับคำว่าเอกราชที่เราได้ยินกันมายาวนาน โดยถามว่า เราเป็นเอกราชจริงเหรอ โดยยกตัวอย่างกรณีที่อังกฤษรุกรานเข้ามา ญี่ปุ่นมาทำสงคราม หรือช่วงสงครามเย็นที่มีกองทัพสหรัฐฯ การชุมนุมทุกวันนี้ ร้องเพลงชาติ เพราะชาติของเขาคือประชาชน
“เด็กรุ่นใหม่ร้องเพลงชาติเพื่อต่อต้านรัฐบาล แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะพวกเขามองว่า ชาติคือประชาชน”
ขณะที่ ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา กล่าวว่า เด็กๆ เองก็ได้เรียนเรื่องราวอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของกษัตริย์อยู่เช่นกัน พร้อมยืนยันว่า การจัดการเรียนการสอนมีความหลากหลายขึ้นแล้ว
แต่ปัญหาที่พบเจอจากการเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องของการที่ครูระดับประถมส่วนมากจบไม่ตรงกับเอก เช่น เอาครูที่จบด้านอื่นมาสอนวิชาประวัติศาสตร์ ทำให้ครูไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในวิชานั้นอย่างถ่องแท้
ประเด็นที่สองคือ การพัฒนาครูยังไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะติดข้อจำกัดทางงบประมาณ ส่วนประเด็นสุดท้าย หนังสือเรียนที่เขียนออกมา เป็นลักษณะของตำรา พอครูไม่ได้จบตรงสาขาก็เลยสอนไปตามหนังสือ เพราะกลัวเด็กเรียนไม่ครบ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่น่าสนใจ
แต่ในงานเสวนาก็มีคนยื่นคำถามไปถึงกระทรวงศึกษาว่า ทางกระทรวงจะสามารถเพิ่มเนื้อหาการเรียนประวัติศาสตร์ให้รอบด้านมากขึ้นได้หรือไม่ รวมถึงเป็นไปได้ไหมที่จะสอนเรื่องที่เคยเป็นประเด็นต้องห้ามในสังคมไทยมาตลอด เช่น การสังหารหมู่ธรรมศาสตร์ หรือการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่ง อ.รัตนาก็ตอบว่า มีโอกาสที่จะสอนเรื่องต่างๆ เหล่านั้น เพราะตอนนี้ทางกระทรวงก็กำลังปรับหลักสูตรและหาแนวทางอยู่เช่นกัน
เราจะสอนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่อย่างไรดี
ประวัติศาสตร์แบบไหนที่เราควรได้เรียนกันในห้องเรียน?
คำถามที่ผุดขึ้นมา หลังจากที่แต่ละคนได้ถกเถียงและบอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน โดย อ.ประภาภัทรเล่าว่า การสอนไม่ควรถูกแยกออกเป็นวิชา แต่ควรเป็นการสอนในความรู้แบบองค์รวมว่าตัวคนของผู้เรียนมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไร ก่อนจะค่อยๆ ขยับออกไปในภาพใหญ่ขึ้น ในช่วงชั้นที่โตขึ้น
ประภาภัทรอธิบายว่า การสอนแบบนี้จะทำให้เด็กรู้ถึงคุณค่าของอะไรก็ตามที่อยู่เบื้องหลัง และทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่า สิ่งที่พวกเขาได้เรียนนั้นมีประโยชน์อะไร ไม่ได้มุ่งเรียนเพื่อเอาวิชา แต่เป็นไปเพื่อจะยกระดับชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้น
“การเรียนอะไรก็ตาม ต้องเรียนให้รู้ถึงคุณค่าของอะไรก็ตามที่อยู่เบื้องหลัง จะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เรียนมีประโยชน์อะไร เราไม่ได้มุ่งเรียนเพื่อเอาวิชา แต่เราเรียนเพื่อยกระดับชีวิตของเราให้ดีขึ้น ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันมีที่มาที่ไป”
ขณะที่ ปิยาพัชรเล่าว่า เราเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อจะสอนคนว่าตัวของพวกเราเองเป็นใคร เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นมาของโลกและสังคมรอบตัว ทั้งยังชวนทุกคนขบคิดว่า ในตอนนี้ความหมายของคำว่าชาติมันแบ่งออกเป็นสองส่วน บางคนมองว่าชาติคือพระมหากษัตริย์ ขณะที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ชาติคือประชาชน ดังนั้น ครูต้องหาพื้นที่ให้ได้พูดคุยถึงประเด็นนี้ด้วย
ประเด็นต่อมาคือเรื่องของศาสนา โดยปิยาพัชรมองว่า การเรียนการสอนของไทย นำเรื่องศาสนามาเกี่ยวโยงกับความเป็นชาติอย่างมาก ดังนั้น ถ้าเราจะภูมิใจในความเป็นไทย จำเป็นต้องเป็นคนพุทธหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีศาสนา จะยังถือว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ กษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของไทยมาตลอด แต่ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้น ถ้าเขามีมุมมองต่างออกไป จะยังถือว่าเป็นคนไทยอยู่หรือเปล่า? โดยปิยาพัชรทิ้งท้ายคำถามไว้ว่า
“เราจะสอนประวัติศาสตร์อย่างไร ให้คนรักและหวงแหนประเทศ แต่ไม่กลายเป็นคนคลั่งชาติ”
ขณะเดียวกัน อ.ณัฐพล ก็เล่าถึงชื่อของคู่มือในยุคต่างๆ อย่างยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีคู่มือชื่อพลเมืองดี ยุคประชาธิปไตยสมัยคณะราษฎร มีคู่มือพลเมือง สมัยเผด็จการสงครามเย็น มีคู่มือราษฎร ยุคเผด็จการทหารอนุรักษ์นิยม มีคู่มือชื่อสมบัติผู้ดี และในยุคหลังการรัฐประหารเมื่อครั้งที่ผ่านมา ก็มีหนังสือชื่อประวัติศาสตร์ชาติไทย
คู่มือเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปลูกฝังวัฒนธรรมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่ง อ.ณัฐพลมองว่า วัฒนธรรมคือเครื่องมือที่ใช้ในการกล่อมเกลาคนในจำยอมต่ออำนาจได้ดีที่สุดแล้ว โดยวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา และการศึกษา คือสิ่งที่ชนชั้นปกครองต้องควบคุมให้ได้ เพราะเป็นอาวุธที่ใช้ในการกำหนดทิศทางสังคมได้ดีที่สุด
อ.ณัฐพลยังชวนทุกคนไปย้อนดูหลักสูตรการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งเขาได้สรุปไว้ว่า นับตั้งแต่ยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปี 2475 ซึ่งมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเรียนประวัติศาสตร์เน้นไปที่ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ขณะที่ในปี พ.ศ. 2475-2500 นั้น เป็นช่วงที่เราผ่านการปฏิวัติมาแล้ว และอยู่ภายใต้ยุคของคณะราษฎร เนื้อหาการเรียนประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากเดิม โดยจะเน้นว่า ชาติคือประชาชน รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม สิทธิทางการเมืองและการปกครองตนเองเป็นสิ่งสำคัญ
แต่แล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2544 ซึ่งเป็นยุคของเผด็จการทหาร สาระของการเรียนประวัติศาสตร์ก็ไปเน้นเรื่องหน้าที่พลเมือง ความสามัคคีแทน ขณะที่ยุค พ.ศ. 2544 ที่แม้จะได้ประชาธิปไตยมา แต่ก็มาพร้อมกับความอนุรักษ์นิยม การเรียนการสอนจึงเน้นเรื่องอุดมการณ์หลักของชาติ และก็เริ่มมีการใส่เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยอย่าง 14 ตุลาฯ เข้าไปด้วย รวมถึง ยังมาพร้อมกับการสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย แล้วในช่วงปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาก็ยังคงการสอนเหมือนยุคก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือค่านิยม 12 ประการ
แต่ด้วยยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตำราเรียนของกระทรวงศึกษาฯ จนสามารถมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย และตั้งคำถามกับเนื้อหาประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ ได้
“จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนรุ่นใหม่มีความขัดแย้งทางความคิดกับคนรุ่นเก่า เพราะว่าในโครงสร้างหลักสูตรแบบเก่ามันดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างน้อย 60 ปี คนที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป ก็เติมโตอยู่ในโครงสร้างความรู้แบบเดิม หรือถ้าดูในรอบ 100 ปี ก็พูดง่ายๆ ว่า เราอยู่ในความรู้แบบประชาธิปไตยแค่ 25 ปี เท่านั้น” อ.ณัฐพลกล่าว
ขณะที่ อ.รัตนา ผู้เป็นตัวแทนจากกระทรวงศึกษา เล่าว่า ตอนนี้กระทรวงกำลังพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนการสอนให้ไม่มีปัญหาแบบเดิมๆ โดยจะมีการเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาในหนังสือเรียนใหม่ ด้วยการฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย
แต่จากคำอธิบายของ อ.ณัฐพล ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า การเมืองมีส่วนสำคัญอย่างมากกับการกำหนดทิศทางการศึกษา ซึ่งเขาก็ตั้งคำถามว่า แล้วเราจะไว้ใจได้อย่างไร กับการปฏิรูปการศึกษาหรือการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรในยุคสมัยนี้
อ.ณัฐพลยังเล่าต่อว่า จากการชุมนุมที่ผ่านมา มีนักเรียนมาถือป้ายที่เขียนข้อความว่า ‘หนังสือประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการมีไว้ให้อ่านสอบ แต่ไม่เชื่อ’ ซึ่งสะท้อนว่า เด็กๆ ไม่เชื่อแล้วว่าการศึกษาในกระแสหลักจะตอบในสิ่งที่เขาควรรู้อย่างแท้จริง
“เด็กรุ่นนี้เติบโตมากับค่านิยม 12 ประการ แต่พวกเขายังสามารถตั้งคำถามที่แหกกรอบการศึกษาประวัติศาสตร์เดิมๆ ได้ ฉะนั้น มันไม่มีทางปฏิรูปการศึกษาได้ถ้าระบบสังคมมันยังเหมือนเดิม”
จึงนำมาสู่คำถามว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะเรียนประวัติศาสตร์กันแบบไหนดีในอนาคต อ.ณัฐพลก็เสนอความเห็นไว้ว่า หากเรายังอยู่ในระบอบสังคมแบบเดิม ก็ต้องส่งเสริมให้เด็กรับรู้สื่อทางเลือกอื่นๆ แต่หากวันไหนประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปสู้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว เราก็สามารถปฏิรูปการศึกษากระแสหลักได้
เขากล่าวปิดท้ายถึงคำกล่าวที่ว่า ‘ผู้ใดคุมอดีตได้ ผู้นั้นคุมอนาคตได้ ผู้ใดที่คุมปัจจุบันได้ ผู้นั้นคุมอดีตได้’ ซึ่งข้อความนี้ก็ตรงกับการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาในยุคปัจจุบัน ทั้งยังบอกด้วยว่า