เรื่องนางงามไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม ด้วยความที่เป็นการประกวดระดับโลก จึงมีประเด็น (agenda) ที่ถูกส่งออกมาจากคำถามนางงาม คำถามที่มักจะโยงกับประเด็นร้อนๆ ที่ทั่วโลกกำลังสนใจและเป็นกระแส มารีญาจึงเจอคำถามยากๆ และกว้างพอสมควรเกี่ยวกับ ‘Social Movement’ หรือการเคลื่อนไหวทางสังคม ว่าเออ กระบวนเคลื่อนไหวไหนที่ส่งผลกระทบหรือสำคัญต่อคนรุ่นเรามากที่สุด
ยากอยู่ เพราะแค่คำว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ถือว่าเป็น ‘ศัพท์เทคนิค’ คำหนึ่ง โดยรวมแล้วหมายถึงกลุ่มคนหรือกลุ่มการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเป้าหมายความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ส่วนใหญ่อาจเป็นกลุ่มการเมืองหรือเป็นชุดการรณรงค์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี หรือการเดินขบวนของคนผิวสี ซึ่งการต่อสู้ที่ว่าก็ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งองค์กรหรือเป็นกลุ่มม็อบ แต่เป็นกระแสที่พูดและเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เป็นการต่อสู้เชิงความคิด เช่น กระแสเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของเพศทางเลือก กระแสการรณรงค์เรื่องการคุกคามทางเพศ ซึ่งสุดท้ายความเคลื่อนไหวพวกนี้ก็มักจะกลับมาเกี่ยวข้องกับพวกเราโดยตรง ไม่ว่าจะในระดับความคิด ความเชื่อ ไปจนถึงระดับนโยบาย เช่น การแต่งงานของเพศเดียวกัน การรับผู้อพยพ
คำถามเรื่องความเคลื่อนไหวทางสังคมจึงเป็นเรื่อง ‘ทางการเมือง’ ที่สัมพันธ์กับกระแสและความเคลื่อนไหวในระดับโลก ว่าตอนนี้โลกเราเกิดอะไรขึ้นบ้าง ช่วงนี้มีการเรียกร้องอะไรที่ส่งผลกระทบกับตัวเราในแง่ไหน มากน้อยเพียงใด ซึ่งตอนนี้ในระดับโลกก็ถือว่ามีกระแสต่อสู้เรียกร้องอยู่หลายเรื่อง ทั้งกระแส Me Too ที่เรียกร้องรณรงค์เรื่องการคุกคามทางเพศ กระแสเรื่อง Black Lives Matter ต่อสู้เรื่องการปฏิบัติต่อคนผิวสี กระแสต่อต้านอคติต่อคนอิสลาม หรือกระแสที่การเมืองทั่วโลกเริ่มหันไปสู่การเป็นอนุรักษ์นิยม
Me Too : Sexual harassment movement
การคุกคามทางเพศที่กำลังเป็นประเด็นร้อนตอนนี้ ‘Me Too’ เป็นอีกกระแสการรณรงค์ที่เรียกว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมที่แม้ว่าจะไม่ได้มีการออกมารวมตัวก่อตั้งองค์กรกันอย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นการสร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย กระแสเรื่องการคุกคามทางเพศเริ่มมาเฟื่องฟูจากกรณี Harvey Weinstein ว่าในโลกของการทำงานแม้ในทุกวันนี้ ก็ยังมีการใช้อำนาจและผลประโยชน์ในการฉวยโอกาสทำการล่วงละเมิดทางเพศ … กระแสการติดแฮชแท็ก #MeToo เป็นการออกมารณรงค์และเปิดเผยเรื่องราวประสบการณ์ของเหยื่อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การออกมาพูดของผู้ถูกกระทำถือเป็นการแบ่งปันเรื่องราวและเป็นการให้พลังกับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลคือเราพบว่าในโลกของการทำงาน มีผู้หญิงที่ถูกฉวยโอกาสจากผู้บังคับบัญชามากมาย และเราอาจหวังผลได้ว่ากระแสนี้อาจช่วยสร้างความตระหนักและลดการคุกคามทางเพศไม่ว่าจะต่อเพศใดก็ตาม
Black Lives Matter
กระแสการต่อสู้สิทธิและความเท่าเทียมของคนผิวดำเป็นประเด็นต่อสู้เคลื่อนไหวกันมาอย่างยาวนาน และแน่ล่ะว่าอคติทางชาติพันธุ์ก็ยังไม่สิ้นสุดลงแม้ในทุกวันนี้ จากการเดินขบวนใหญ่ของ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ที่แม้ว่าทุกวันนี้ในสหรัฐจะมีการให้สิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันแล้ว แต่อคติต่างๆ ต่อคนดำก็ยังไม่หายไป กรณี Black Lives Matter เกิดจากอคติที่เชื่อมโยงคนดำเข้ากับความรุนแรงจนกระทั่งเกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อคนผิวสีด้วยความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต กระแส Black Lives Matter นำไปสู่การแสดงออกเพื่อรณรงค์ต่างๆ ตั้งแต่เหล่าดาราคนดังที่ออกมาเรียกร้องทั้งในผลงานและการออกวิพากษ์โดยตรง เช่น Alicia Keys, Beyonce, และ Rihanna ไปจนถึงเกิดการเดินขบวนต่อต้านในหลายๆ รัฐ รวมถึงในวอชิงตัน พื้นที่เดิมที่เคยมีการเดินขบวนใหญ่ในสมัยลูเทอร์ คิง
Women’s Rights movement
ประเด็นเรื่องเฟมินิสต์ ความเท่าเทียมของผู้หญิงดูจะเป็นการต่อสู้ที่แสนยาวนานและยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป หนึ่งในกระแสสำคัญก็คือการหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ที่จุดประเด็นเรื่อง The glass ceiling หรือเพดานที่มากั้นผู้หญิงจากความก้าวหน้าและการไต่เต้าทางอาชีพ สุดท้ายเราก็ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องความเสมอภาคและการยอมรับความสามารถของผู้หญิง เช่นในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีการพูดถึงข้อจำกัดที่ผู้หญิงไม่สามารถก้าวหน้าทางอาชีพได้ดีเท่าผู้ชาย หรือในวงการฮอลลีวูดเอง คำว่าเฟมินิสต์ก็ดูจะเป็นคำที่ผู้หญิงแกร่งๆ หลายคนพูดถึงและพยายามผลักดันกันอยู่เสมอ
Right Wing movement
การแบ่งขั้วทางการเมืองซ้าย-ขวา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศสและกลายมาเป็นการแบ่งขั้วทางการเมืองที่สำคัญ เรามีการแบ่งฝ่ายซ้ายว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายขวาว่าเป็นอนุรักษ์นิยม ระยะหลังจากความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น เช่น กรณี Brexit ไปจนถึงชัยชนะของทรัมป์ทำให้เราเห็นว่าโลกค่อนข้างหันไปหาความคิดอนุรักษ์นิยมแบบขวาจัดมากขึ้น คือเริ่มกลับมาสู่ความคิดแบบชาตินิยม ต่อต้านและลอยตัวเองออกจากเชื้อชาติอื่น ความคิดแบบขวาจัดนี้ในสหรัฐฯ เริ่มนำไปสู่การกีดกันคนต่างชาติ ไปจนถึงการกลับมาของกลุ่มหัวรุนแรง เช่นกลุ่ม KKK ที่ต่อต้านความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ
LGBTQ Rights movement
การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่สิ้นสุดลง แถมยังมีกรณีร้ายๆ ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะ ‘ความรัก’ … มีการกราดยิงแหล่งท่องเที่ยว และมีรายงานการใช้ความรุนแรงเพียงเพราะรสนิยม กระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมในความหลากหลายทางเพศจึงเป็นกระแสที่ยังต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระดับความคิดที่พยายามคัดง้างว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่โรคไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไปจนถึงการจัดขบวนพาเหรดและการรณรงค์เรื่องสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม เช่นสิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศนี้เป็นการต่อสู้กันอย่างยาวนานและยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป กับอคติและการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องความปกติและความผิดปกติของความรัก
Climate Change : The ‘Defend Science’ movement
ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผลกระทบที่มนุษย์ทำจะส่งผลโลกอย่างเป็นรูปธรรมและรุนแรงจนเกิด ‘ความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ’ หรือภาวะโลกร้อน เป็นกระแสที่กลับมาสนใจและสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ หลังจากรัฐบาลทรัมป์ที่ปฏิเสธประเด็นสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมของนักวิทยาศาสตร์ มีการออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องปกป้องข้อมูลองค์ความรู้จากการวิจัย มีการส่งจดหมายคัดค้านและเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายและเห็นความสำคัญว่าโลกนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเข้าใจและเตรียมตัวรับมือ
Anti-Islamophobia movement
การเฟื่องฟูของฝ่ายขวา แกนสำคัญหนึ่งคือแนวคิดแบบชาตินิยม และพอนิยมชาติตัวเองแล้ว ก็มีการผลักความเป็นอื่น เป็นศัตรูให้กับชาติอื่นๆ … ประเทศและคนที่นับถืออิสลามเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ถูกกีดกันและมอบอคติให้โดยเฉพาะการมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อันตราย เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นการกีดกันแบ่งแยกจากการนับถือศาสนาและเชื้อชาติ กระแสการต่อต้านนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ที่มีการออกมาแสดงให้เห็นว่าคนมุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เป็นคนๆ หนึ่งที่อยู่ร่วมกันได้ การพยายามทำลายอคตินี้ถูกทำในหลายระดับ ทั้งการนำเสนอภาพของคนมุสลิมในแง่มุมที่หลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การออกมารณรงค์ เช่นการเดินขบวนเพื่อต่อต้านนโยบายกีดกันขับไล่คนอิสลามหรือคนจากโลกอาหรับของทรัมป์ ไปจนถึงในระดับแนวนโยบาย อย่างที่แคนาดาก็มีการออกแนวทางนโยบายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อความกลัวและอคติต่อคนมุสลิมให้เป็นวาระระดับชาติ
อ้างอิงข้อมูลจาก