[หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้ไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความแตกแยกในสังคม เพียงแต่ต้องการนำเสนอแง่มุมของคนที่ต้องคดีเท่านั้น]
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง สนใจและศึกษาศาสตร์ละครมาตั้งแต่ ม.4 (ในวิชาภาษาไทย) ควบคู่ไปกับความสนใจทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้น การได้สัมผัสอย่างจริงจัง ทำให้เธอเห็นถึงพลังของ ‘ละคร’ กระทั่งกลายเป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิต เธอใช้ละครเป็นเครื่องมือสื่อสารความเชื่อของตัวเองเรื่อยมา แม้จะเรียนจบแล้ว แต่เธอยังจัดสรรเวลาเพื่อให้ได้ทำละครอย่างสม่ำเสมอ-ด้วยฝันอยากเห็นโลกรอบตัวเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
หนึ่งในนั้น คือการเป็นผู้กำกับและนักแสดงให้กับละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงาน 40 ปี 14 ตุลา ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 13 ตุลาคม 2556
สิ้นสุดการแสดง นอกจากผู้ชมในงาน คลิปถูกเผยแพร่ในวงจำกัด และทีมงานต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตัวเอง
หลังการรัฐประหารครั้งที่ 13 ตัวเลขผู้ถูกจับกุมด้วย ‘คดี 112’ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 – ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยไม่คาดคิด 15 สิงหาคม 2557 ภรณ์ทิพย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมที่สนามบินหาดใหญ่ ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักแสดงอีกคนถูกจับกุมไปแล้วก่อนหน้านั้น จากการแจ้งความโดยเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
“เจ้าหน้าที่บอกว่า ‘ไปไม่ได้น้อง มีแบล็คลิสต์’ เขาไปค้นข้อมูล แล้วมาบอกว่าเป็นคดีมาตรานี้ โอเค นั่งเลย คงไปไหนไม่ได้แล้ว” เป็นวินาทีพลิกชีวิต และทำให้เธอมีภาพจำว่า ‘กอล์ฟ-เจ้าสาวหมาป่า’ — คนทำละครเวทีที่โดน ‘คดี 112’
“เราคิดเรื่องกฎหมายกันก่อนแสดง และพูดกันหลังเวทีก่อนขึ้นแสดงด้วยซ้ำ เราคิดว่ามันเหมือนกับละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ฉายกันตอนเช้าทางโทรทัศน์ ซึ่งมีเรื่องเจ้าอยู่ด้วย แล้วเราก็คิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมาดำเนินคดีกับละคร ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระมาก” เป็นคำพูดของหนึ่งในทีมงานละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ จากเว็บไซต์ iLaw
เมื่อยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทั้งสองคนให้การรับสารภาพในชั้นสอบคำให้การ ก่อนที่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่จากการรับสารภาพ โทษถูกลดเหลือ ‘2 ปี 6 เดือน’
สิ้นสุดคำตัดสิน เสียงไม่พอใจนอกเรือนจำดังขึ้น…แล้วค่อยๆ เงียบลง
โลกในเรือนจำดำเนินไปทีละวัน จนกระทั่ง 8 สิงหาคม 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ทั้งภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ต่างเข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ส่วนภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 สิงหาคม 2559
ในฐานะผู้กำกับและนักแสดงละครเวที ภรณ์ทิพย์ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 743 วัน
ณ วันที่ประตูกรงขังเปิดออก เราสนทนากับเจ้าสาวหมาป่าถึงโลกในนั้น
สังคมคุกก็คือสังคมไทยนี่แหละ มีชั้นอิทธิพล ลูกน้องใครลูกน้องมัน มีสิทธิพิเศษมากมาย นักโทษที่มีหน้ามีตาก็บริจาคเงินเข้าเรือนจำเพื่อให้ตัวเองได้อยู่สบาย
วินาทีที่รู้ว่าตัวเองโดนคดี 112 ในหัวคิดอะไร
เราเป็นห่วงแม่ เป็นห่วงน้อง ที่ผ่านมาแม่รู้ว่าเราทำกิจกรรม แต่เขาไม่รู้ว่าเรื่องมันจะแรงขนาดนี้
ตอนแม่มาเยี่ยมที่เรือนจำ ประโยคแรกๆ คุยอะไรกัน
“ขอโทษ… แม่เข้าใจใช่ไหมว่ากอล์ฟทำเพื่อพวกเรา” แม่เข้าใจ แต่เขารับไม่ได้ที่ต้องมาโดนจับ เรากับน้องอยู่ในสถานะเรียนดีที่สุดในหมู่บ้าน (จังหวัดพิษณุโลก) เป็นที่เชิดหน้าชูตา พอเป็นข่าว แม่เล่าให้ฟังว่าโดนชาวบ้านด่า เยาะเย้ย ถากถาง แต่แม่เป็นคนแกร่ง เลยไม่สนใจ เพราะไม่ได้ขอใครกิน แต่มีชาวบ้านที่ไม่เชื่อว่าเราทำนะ คอยปกป้อง เพราะโดยการแสดงออก เราเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ใช่คนก้าวร้าว แต่จริงๆ เป็นคนก้าวร้าว (หัวเราะ)
พอแม่กลับไป คืนนั้นรู้สึกยังไง
เรารู้สึกอะไรไม่ได้หรอก ต้องเอาชีวิตรอด เราร้องไห้ช่วงออกจากห้องเยี่ยมกลับมาที่แดน หลังจากนั้นต้องตื่นตัว แล้วพร้อมที่จะต่อสู้ โดยนิสัยเราไม่ใช่คนเศร้านานอยู่แล้ว
สองปีกว่าในเรือนจำลำบากแค่ไหน
ไม่ได้ยาก ยกเว้นเวลาเขียนอะไรแล้วเอาออกไม่ได้ ตอนเขียนจดหมายก็ถูกจับตา เขาไม่อยากให้โลกข้างนอกรู้ว่าข้างในเป็นยังไง มันคือหลุมดำที่ซ่อนอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเวลาเขียนจดหมาย เราไม่ได้เล่าเรื่องข้างในเลย เราแค่อยากเล่านิทาน อยากคุยกับเพื่อน นู่นนี่นั่น แต่พวกเขาระแวงเกินไป จนทำให้เรารู้สึกว่า ที่คุณระแวง แสดงว่ามันต้องมีอะไร เราค่อยๆ เจาะไป อ๋อ…มันมีการคอร์รัปชั่น แต่เราไม่มีหลักฐานหรอก แล้วทำไมถึงรู้ เพราะเราเป็นลูกค้าไง ซื้อทุกอย่างที่มีขาย ดินสอเขียนคิ้ว ใบมีดโกน ปากกาเจล ขายโดยนักโทษนั่นแหละ แต่ประเด็นคือ ของมันเดินเข้าประตูมาเองไม่ได้หรอก
สังคมคุกก็คือสังคมไทยนี่แหละ มีชั้นอิทธิพล ลูกน้องใครลูกน้องมัน มีสิทธิพิเศษมากมาย นักโทษที่มีหน้ามีตาก็บริจาคเงินเข้าเรือนจำเพื่อให้ตัวเองได้อยู่สบาย เช่น อยู่ในสถานพยาบาล อยากทำอะไรก็ได้ทำ โดยมีคนดูแลเป็นพิเศษ ถูกเรียกว่าวีไอพี แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่าเป็นยังไงแล้วนะ เพื่อนข้างในเคยเขียนจดหมายมาคุยว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
คนข้างนอกมักเข้าใจว่า คุกจะเปลี่ยนคนไม่ดีให้กลายเป็นคนดี เป็นช่วงเวลาของการสำนึกผิดเพื่อเป็นคนใหม่ คุกมีกระบวนการแบบนั้นบ้างไหม
เหอะ (ส่ายหัว) ไม่มีหรอก (ถอนหายใจ) โอเค บางคดีอาจมีการให้ข้อมูล เช่น ยาเสพติดมีโทษยังไงบ้าง โน่นนั่นนี่ แล้วยังไง ทุกคนรู้ว่ามีโทษ แต่ยักไหล่ แล้วก็ทำอยู่ดี ชีวิตในคุกลำบากขึ้นนิดหน่อย เอาเราไปใช้แรงงาน ทำโน่นทำนี่ จำกัดเราด้วยกฎต่างๆ กดขี่ผู้ต้องขังไว้ให้ไกลจากความเป็นมนุษย์ โดยไม่มีอะไรรองรับหลังจากออกมา
เราว่าพวกเขาไม่กลัวคุกแล้ว ติดก็ได้ พอได้เครือข่ายจากในคุก ออกไปแล้วทำสิ่งเดิมให้ใหญ่ขึ้น ได้เงินเยอะขึ้น หรือกับบางคน ชีวิตนอกคุกไม่มีอะไรเลย ต้องนอนในเข่ง กลับเข้าคุกอีกก็ไม่ต่างกัน
กดขี่ยังไงบ้าง
เช่น การเข้าห้องน้ำเหมือนในโรงงานเลย เราจะเข้าได้เมื่อได้รับอนุญาต ต้องเข้าเป็นเวลา ไปจนถึงการกิน การอยู่ การนอน เวลาเข้าหาเจ้าหน้าที่ต้องนั่งพับเพียบที่พื้น ข้างในไม่มีความเท่าเทียมเลย เราเป็นนักโทษนะ แต่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นทาส โอเค หลายคนมองว่าคือการลงโทษให้สำนึก มันอาจได้ผลกับบางคน แต่ไม่ใช่ทุกคนหรอก คุณเช็กเปอร์เซ็นต์ได้เลย คนออกจากคุกแล้วกลับมาอีก มีมากกว่าคนที่ออกแล้วออกเลยนะ
คนแบบนั้นไม่ใช่คนเลวโดยสันดานเหรอ
คนเลวโดยสันดานก็คงมี แต่ชีวิตในคุกไม่มีการกล่อมเกลาสันดานเขาใหม่ไง แต่เป็นการเพิ่มวิทยายุทธ์ เพิ่มความสามารถ เพิ่มเครือข่าย บางคนเข้าไปรอบแรกยังไม่มีอะไร พอเข้ารอบสอง เขารู้จักเจ้าหน้าที่แล้ว เลยได้ไปช่วยงานใกล้เจ้าหน้าที่ มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น สร้างแก๊ง โน่นนี่นั่น
ตอนคุณอยู่ เคยมีคนที่ออกแล้วกลับมาทันเจอบ้างไหม
หลายคนเลย คดีเดิมๆ ลักทรัพย์ เสพยา ค้ายา ที่เราเคยคุย บางคนเริ่มจากคดียาน้อยๆ ออกไป กลับเข้ามาใหม่ ยาเป็นแสนเม็ด บางคนบอกว่าอยู่ข้างในสบายกว่า เขามีพาวเวอร์ เรื่องนึงที่เราไม่เข้าใจเลย ทำไมคุกต้องให้เครดิต ยกย่อง เชิดชู ‘เด็กรอบ’ คือคนที่เข้าคุก 2 รอบขึ้นไป เจ้าหน้าที่เอามาช่วยงาน คุมผู้ต้องขังคนอื่น ให้ผู้ต้องขังปกครองกันเอง เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะอยู่เหนือความขัดแย้ง มันหนีไม่พ้นเรื่องมาเฟีย เราอยู่แดนสาม คนทำงานมีแต่เด็กรอบ มาสร้างแก๊ง มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่ค่อนข้างผ่อนปรน มันมีเจ้าหน้าที่ที่ดี เข้าใจพวกเขา ให้โอกาสพวกเขาในการทำงาน แต่มันต้องมีขอบเขตสิ แต่การให้โอกาสช่วยงานหลวง กลายเป็นส่งเสริมอุ้มชูให้พวกเขามีอิทธิพลมากขึ้นในคุก กดขี่ข่มเหงคนอื่นมากขึ้น
คุณว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงกลับมาอีก
เราว่าพวกเขาไม่กลัวคุกแล้ว ติดก็ได้ พอได้เครือข่ายจากในคุก ออกไปแล้วทำสิ่งเดิมให้ใหญ่ขึ้น ได้เงินเยอะขึ้น หรือกับบางคน ชีวิตนอกคุกไม่มีอะไรเลย ต้องนอนในเข่ง กลับเข้าคุกอีกก็ไม่ต่างกัน
เท่าที่คุณเห็น เจ้าหน้าที่เรือนจำมองนักโทษคดี 112 ยังไง
เราไม่สามารถตอบแทนได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีหลายคน หลายแบบ หลายทัศนคติ ตอบจากสิ่งที่เจอ ครั้งแรกที่เราเข้าไป พอเจ้าหน้าที่สอบประวัติรู้ว่าคดีนี้ เขามีท่าทีฉุนเฉียว แต่พอรู้ข้อเท็จจริงไปเรื่อยๆ ท่าทีก็เปลี่ยนไป สำหรับข้าราชการ เรื่องสถาบันเป็นเรื่องแตะไม่ได้ ซึ่งปฏิกิริยาแรกที่แสดงออกมา เราไม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินเขา โกรธเขา เพราะเขายังไม่รู้ข้อเท็จจริงจากเราเลย เคยมีเคสนึงที่เข้ามาสั้นๆ แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ เจ้าหน้าที่ก็เรียกมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ เคส 112 ที่เข้าไปในแดนแรกรับเยอะมาก เจ้าหน้าที่ต้องทำความเข้าใจแต่ละเคส เป็นช่วงเวลาที่ต่างคนต่างได้เรียนรู้กัน (หัวเราะ)
พอต้องย้ายแดน เจ้าหน้าที่ก็ส่งต่อเคสโดยให้ข้อมูลว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ สภาพจิตใจเป็นยังไง เราเองมีนักจิตวิทยามาคุยประมาณปีละ 2 ครั้ง ซึ่งก็คุยดีมาก มีความเครียดไหม ทำอะไรบ้าง มีเพื่อนหรือยัง ใครรังแกไหม รู้สึกอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า นักโทษการเมืองจะได้รับการดูแลแบบนี้ น่าจะเป็นนโยบายที่ให้ความใส่ใจเรื่องนี้ มีเคสคดีความมั่นคงอันนึง เขาเครียดจนอยู่ไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะถามว่ากินยาไหม เพื่อให้หลับได้ หรือว่าอยากคุยกับใคร ติดต่อญาติไหม เขาพยายามที่จะจัดการปัญหาไม่ให้เกิดความเสียหายถึงชีวิต อาจเป็นการป้องกันตัวเองของรัฐนั่นแหละ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา แต่ก็เป็นผลดีกับเจ้าหน้าที่และนักโทษ
นักโทษด้วยกันเองล่ะ
ไม่มีอะไรนะ พอเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ๆ คนนี้คดีฆ่า คนนี้คดียาเสพติด คนนี้คดีลักทรัพย์ เป็นเรื่องปกติที่คนเข้ามาใหม่จะถูกตัดสินไปล่วงหน้า แต่เวลาผ่านไป คนในคุกอยู่ด้วยกันตลอด แต่ละคนจะเรียนรู้กันไปเองว่าใครเป็นยังไง เรื่องใครโดนคดีอะไรไม่ค่อยเกี่ยวหรอก
เรียนรู้นิสัยกันมากกว่าประเมินความเลวผ่านคดีความ
ใช่ ถ้าคดี 112 เป็นประมาณว่า “โห มาคดีหมิ่นเหรอ” เขาตื่นเต้น อยากรู้ เราไม่ค่อยรู้สึกว่าคนอคตินะ แต่เป็นการสอดรู้สอดเห็นมากกว่า (หัวเราะ) เขาอยากรู้ว่าหมิ่นยังไง ทำอะไรมา
นอกจากเพื่อนในคุก สิ่งที่สวยงามอีกอย่างคือ ความหวัง ยิ่งในที่แคบที่มืด ความหวังยิ่งสว่าง เราอิ่มกับการฟังความหวังของทุกคน
ในฐานะผู้ต้องขัง ‘คดี 112’ คุณเจออะไรบ้าง
ตอนอยู่ในนั้น มีคนถามเราว่า “เข้ามาด้วยคดีนี้ (มาตรา 112) ไม่รักชาติเหรอ ไม่รักในหลวงเหรอ” เราเลยถามกลับว่า “พี่รักในหลวงไหม” เขาบอกว่า “รัก” เราถามต่อว่า “ถ้ารักในหลวง แล้วพี่ค้ายาทำไม” เขาตอบไม่ได้ พยายามเถียงข้างๆ คูๆ ว่าไม่เกี่ยวกัน เราเลยพูดว่า “ถ้าพี่รักในหลวง พี่ต้องไม่ทำลายชาติด้วยการค้ายา” สิ่งนี้ในเรือนจำไม่เคยพูด กลายเป็นว่ารักชาติคือการประนามคนอื่น มึงไม่รักชาติ มึงเป็นพวกหัวการเมือง เราโอเคนะ ถ้าเขาจะใช้ ‘ชาตินิยม’ มาทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าต้องปกป้องประเทศ แต่คุณเอาไปใช้กับอะไร เอาไปทำลายฝั่งตรงข้ามใช่ไหม
ทั้งที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ‘รักชาติ รักในหลวง’ แต่กลับลงเอยที่ความแตกแยก
ในเรือนจำก็เหมือนในโรงเรียน เหมือนในสื่อต่างๆ นั่นแหละ ท่อง ร้องเพลงชาติ ดูพระราชกรณียกิจ รักชาติ รักในหลวง เป็นคนดี แต่แบบนั้นมันผิวเผิน เมื่อกำแพงความดีที่ก่อร่างสร้างไว้สั่นคลอน คุณเลยฉุนเฉียว ควบคุมตัวเองไม่อยู่ ทั้งที่การเป็นคนดี คือการรับฟังกัน คือการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โดยทั่วไป นักโทษมีความรู้สึกผิดในใจอยู่แล้ว ตัวเองเป็นคนที่ถูกตัดสินแล้ว ตัวเองเป็นคนไม่ดีแล้ว อะไรที่ทำให้เขาเหยียบคนอื่นได้ เขาทำ การบอกว่าตัวเองรักชาติ รักพระมหากษัตริย์ ก็เพื่อปกป้องหัวใจตัวเอง เราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องผิดนะ แต่ถ้ามันถูกใช้อย่างถูกต้อง มันจะดีกว่า
เราว่ากระบวนการในเรือนจำยังไม่เพียงพอให้คนรู้สึกว่าต้องกลับตัว ไม่มีการคุยว่า รักชาติยังไงถึงจะเป็นคนดีแล้วมีประโยชน์ แค่พูดว่ารัก ทุกอย่างดี ไม่มีวิธีปฏิบัติ ไม่มีการเชื่อมโยงว่าเป็นคนดีแล้วยังไง รักชาติแล้วยังไง รักในหลวงแล้วยังไง ถ้าเราเป็นรัฐนะ เราจะใช้ช่วงเวลาที่คนรู้สึกผิดกับตัวเองในการทำให้เขาเป็นคนใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการพัฒนาชาติ ทำได้เว้ย! เราเชื่อ โคตรเชื่อศักยภาพของคนในคุก
คนที่คำพิพากษาติดคุกนานที่สุดคือกี่ปี
ตลอดชีวิต แต่นั่นคือคำตัดสิน คำตัดสินของคนนึง คือประหาร 2 ครั้ง ประหารหนึ่งครั้ง แล้วก็ประหารอีกครั้ง บ้านเรามีโทษประหาร แต่พออภัยโทษ ก็ลดครึ่งหนึ่ง เหลือติดคุกตลอดชีวิต เหลือ 40 ปี ตอนนี้น่าจะเหลือ 25 ปี เขาอยู่มาแล้ว 19 ปี
คนติดคุกนานๆ เขายังมีความหวังกับชีวิตไหม
มีความหวังทุกวัน นอกจากเพื่อนในคุก สิ่งที่สวยงามอีกอย่างคือ ความหวัง ยิ่งในที่แคบที่มืด ความหวังยิ่งสว่าง เราอิ่มกับการฟังความหวังของทุกคน มันไม่หดหู่เหมือนโลกข้างนอก คนข้างนอกเหมือนมีความหวังกับชีวิตน้อยกว่าคนในคุกด้วยซ้ำ พอมีจดหมายมา “เนี่ย ที่บ้านเขียนจดหมายมา ถ้าได้กลับบ้าน จะมีเตียงนอนใหม่ ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่” แต่คนที่ไม่มีความหวังก็ไม่มีเลยนะ รู้สึกว่าอยู่ในคุกดีที่สุด
มีคนอยากฆ่าตัวตายบ้างไหม
มี แต่ทำไม่ได้ ผู้หญิงไม่ใช่เพศที่จะกล้าพอ เราไม่เคยเห็นใครฆ่าตัวตายสำเร็จในคุก มีพยายาม แต่เป็นการเรียกร้องความสนใจมากกว่า เคยมีคนตายอยู่ไกลๆ นั่งอยู่เฉยๆ ก็ตาย แก่แล้ว
สิ่งที่ดีที่สุดในการเข้าคุกคืออะไร
เพื่อน และวัตถุดิบในการเขียน เรากำลังเขียนหนังสือ เป็นเรื่องเล่าของตัวเองในคุก สักครั้งหนึ่งในชีวิตนักเขียน ถ้าเป็นไปได้ คุณเข้าคุกเถอะ แล้วจะรู้ว่าความลึกซึ้งของชีวิตมนุษย์ไม่ใช่แค่มนุษย์ทั่วๆ ไป มันคือมนุษย์ที่พ่ายแพ้ คือมนุษย์ที่เคยหยิ่งผยองกับชีวิต เราตื่นตาตื่นใจกับวัตถุดิบในนั้นมากๆ มันคืออีกโลกของประเทศไทยเลย
มีหลายเรื่องที่เซอร์ไพรส์นะ เช่น ผู้หญิงคนนึงมีลูก 7 คน กับผู้ชาย 7 คน ผู้ชายทุกคนซ้อมเขา เรามักเข้าใจว่า ผู้หญิงอ่อนแอ ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ต้องพึ่งพาการหาเลี้ยงดูจากผู้ชาย ถึงได้ยอมให้ผู้ชายกระทำความรุนแรงกับตัวเอง
แต่ผู้หญิงคนนี้ค้ายาหาเลี้ยงผู้ชาย เราถามเขาว่า “เพราะอะไรถึงต้องเลี้ยงผู้ชาย” คำตอบที่ได้คือ “พี่ก็ไม่รู้ แต่พี่รู้ว่าเขารักพี่” พอถามว่าทนทำไม คำตอบคือ “มันรักพี่นะ” คำถามต่อไปคือ ทำไมถึงมองว่าเป็นความรักวะ เขามองว่าตอนที่ดีๆ มันทำนั่นนี่ให้ เขาสรรเสริญเยินยอผู้ชายคนเดียวกันกับที่เพิ่งด่าไปตะกี้นี้ (เน้นเสียง)
ถามไปเรื่อยๆ เราถึงรู้ว่า ตอนเด็กๆ เขาอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยง ซึ่งพ่อเลี้ยงตีแม่ แล้วแม่บอกกับเขาว่า พ่อเลี้ยงรักแม่นะ เขาเลยฝังใจเรื่องนี้ มองว่าการทำร้ายคือการหึงหวง การทำร้ายคือการแสดงความรัก จากผัวคนที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด คืออะไร ถ้าผัวคนแรกซ้อมแล้วรักพี่ พี่เลิกกับเขาทำไม เขาก็บอกว่า คนที่สองรักเขามากกว่า พี่คะ รักมากกว่าคืออะไร เขาบอกว่า ตอนมาจีบน่ะดี เริ่มหึงหวง ทำร้ายร่างกาย จนทนการทำร้ายไม่ได้ ผัวคนต่อๆ มาก็เป็นแบบเดียวกัน ขณะเดียวกัน เขาคิดว่าการมีลูกจะผูกพันผู้ชายไว้ได้ ก็มีลูกกับผู้ชายทุกคน แล้วเอาไปให้แม่เลี้ยงทั้ง 7 คน ถามว่ามีผู้ชายดีๆ ไม่ทำร้ายร่างกาย เข้ามาในชีวิตบ้างไหม มีคนนึง เป็นทหารนายสิบ ดีเลย ดูแล แต่เขารู้สึกว่าไม่ใช่ มันดีเกินไป พี่รู้สึกว่าเขาไม่ได้รักพี่ เขาแค่สงสาร
ตอนฟังเรื่องเขา เราชาและปั่นป่วนไปหมด ผู้ชายเสพยา เพื่อให้คุยกันรู้เรื่อง ผู้หญิงเลยเสพยา เสพไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีเงิน ผู้ชายเลยตี พอไม่มีเงิน ก็ต้องขายยา ตอนแรกคิดว่าเขาโง่ ทนให้ตีอยู่ได้ พอถามไปเรื่อยๆ เราเข้าใจว่าทำไมเป็นแบบนี้ แต่เป็นความเข้าใจที่เรารับไม่ได้ รับไม่ได้กับความอ่อนแอทางใจ ซึ่งไม่ใช่ความอ่อนแอทางใจของเขานะ แต่เป็นความอ่อนแอของระบบที่บิดเบี้ยว ทุกคนมีด้านอ่อนแอแหละ แต่ความอ่อนแอของเขาถูกทำให้เข้าใจผิด ว่าสิ่งเหล่านั้นคือความรัก
ตอนนั้นคุยกับเขาแค่ไหน
เราไม่คิดจะเปลี่ยนใคร หลายครั้งที่พยายามคุยกับคนแบบนี้ คนที่มองว่า เขาซ้อมเพราะเขารัก คุยไปเรื่อยๆ เราจะยักไหล่ เพราะเขาต้องการแค่คนรับฟัง แต่เขาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร
คุกไม่ได้นิยามว่า คุณคือคนไม่ดี คนเคยติดคุกก็ไม่ควรอายด้วย จำนวนคนในคุกสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่เละเทะ เราไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีในโลกนี้ เราไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีในประเทศนี้ แล้วทุกๆ คนที่มีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ มีโอกาสติดคุกด้วยกันทั้งนั้น
ตอนออกจากคุกมา วันแรกๆ รู้สึกยังไง
คิดถึงเพื่อน หดหู่ ไม่ชอบข้างนอก มันวุ่นวาย ข้างนอกไม่เห็นต่างจากตอนก่อนเข้าไป เรานอนไม่หลับ เพื่อนๆ ในคุกจะเป็นยังไง ชีวิตในคุกทำให้เราเจอเพื่อนแท้ เจอคนที่ลำบากไปด้วยกัน สู้ไปด้วยกัน เพื่อนที่ไม่ได้แคร์ว่าเราเป็นใคร เราทำเรื่องเหี้ยอะไรมา เพราะเขาก็เหี้ยเหมือนกัน เรารู้สึกว่า ข้างในคำว่า ‘เพื่อน’ มันเรียล อาจเป็นเพราะอยู่ด้วยกันเกือบ 24 ชั่วโมง คุยกันทุกเรื่อง บางคนรุ่นพี่ บางคนรุ่นแม่ บางคนรุ่นเกินแม่แล้ว (เสียงมีความสุข)
เจอกันทุกวัน คุยอะไรกัน
คุยเรื่องภารกิจ “วันนี้กอล์ฟมีภารกิจพิเศษให้ทุกคน มีคนเข้ามาใหม่ชื่อนี้ อยากรู้ว่าคนไหน ไปสืบกัน”
ชีวิตในนั้นเหมือนเป็นสวนสนุกเลย
ใช่ๆๆ (ยิ้ม) เฮ้ย เจ้าหน้าที่คนนี้มาใหม่ หน้าตาดี ไปส่อง เฮ้ย ของที่ร้านค้าเข้ามาใหม่ ทำยังไงถึงจะได้ของ เยอะแยะ เราจะมีภารกิจให้ตัวเองทุกวัน เพื่อนๆ ก็สนุกไปกับการทำภารกิจบ้าบอคอแตก
คนก่อนเข้าคุก กับคนปัจจุบัน แตกต่างกันยังไง
เราเข้มแข็งขึ้น และรู้กระบวนการทุกอย่างตามที่เรียนมา คุก ศาล ทหาร ตำรวจ รู้จักหมดแล้ว อีกอย่างคือ เรามีเพื่อนแท้ หลายคนทั้งชีวิตอาจไม่ได้เจอเพื่อนแท้เลยก็ได้ เราโชคดีที่เจอเพื่อนแท้ทั้งโลกข้างนอกและโลกข้างใน ทุกวันนี้เราก็เขียนจดหมายหาเพื่อนข้างใน พยายามให้ความหวังทุกๆ คน ให้ชีวิตเขาอยู่ได้ด้วยความหวัง พยายามทำทุกอย่างเพื่อซัพพอร์ททุกคนที่อยากมีชีวิตใหม่ ตอนอยู่ในคุก เราเห็นผู้หญิงหลายคนที่พลังเยอะมาก (เน้นเสียง) มึงแกร่งมาก (เน้นเสียง) แต่พลังนั้นถูกใช้ผิดที่ผิดเวลา ประเด็นคือ ศักยภาพนั้นดี และควรถูกใช้ในการสร้างสรรค์อย่างอื่น เราเชื่อในมนุษย์
หลังออกจากคุกมา ‘ป้าย 112’ ที่ติดตัว ส่งผลต่อคุณยังไงบ้าง
เราว่าดีกว่าคนอื่นๆ อาจเพราะเรามีพื้นฐานดี ทำกิจกรรมมาก่อน พื้นที่การทำงานเปิด มีคนคอยดูแลเรา ครอบครัวเข้าใจ แต่นักโทษ 112 บางคนไม่มีนะ หลายคนออกมาก็แย่ คดีเราเป็นเรื่องละคร สายฮาร์ดคอร์หลายคนกลัวที่จะเปิดเผยตัวตน แต่เราไม่กลัวที่จะบอกกับคนอื่น ถึงความผิดพลาดของตัวเอง ไม่กลัวที่จะบอกในสิ่งที่ตัวเองเป็น
เคยเจอคนพูดจาไม่ดีใส่บ้างไหม
ไม่เคยเลย ความคิดทางการเมืองคนละฝั่งก็ไม่เคย เราไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์เป็นยังไง เขาเสพข่าวแบบไหน แต่คนที่เราเจอในชีวิตจริง ไม่มีปัญหาเลย อาจเพราะเรากำลังเข้าใจอะไรกันมากขึ้นก็ได้นะ ถามว่ามีเรื่องที่เจ็บปวดไหม มี ทำไมคนนี้ไม่คุยกับเราแล้ว เช่น เพื่อนหรือผู้ใหญ่บางคนในวงการ ที่ตอนเรามีประโยชน์เขาเอ็นดูมาก พอเจอตัวแล้วก็ไม่คุย อันเฟรนด์ แต่มันคือกำไร คุณตัดคนจังไรออกไปจากชีวิตได้นะเว้ย! เชิญคุณออกไปจากชีวิต แล้วเราจะอยู่ในที่ที่เราโอเค
พอพูดถึงการเข้าคุก เสมือนการถูกลดทอนคุณค่าบางอย่าง คุณรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองที่เปลี่ยนไปไหม
ไม่เลย ดีกว่าเดิมในแง่ของการรู้จักคนอื่นด้วย เรารู้จักโลกอีกใบ รู้จักคนอีกกลุ่ม เข้าใจคนมากขึ้น เวลาเราเป็นคนเคลื่อนไหว เป็นเด็กกิจกรรม ทุกคนจะแตะ ปัง! โครงสร้าง ปัง! รัฐบาล ปัง! อะไรก็ไม่รู้ ต้องออกมาแสดงพลัง เคลื่อนไหว ตอนนี้เราถอยไปคุยกับคน พี่คนนึงเตือนเราเสมอว่า ทำอะไรอย่าพุ่งไปข้างหน้ามากเกินไป ทุกครั้งให้ถอยกลับมาดูสักสองก้าว ตอนนี้เราสามารถถอยหลังมาดูได้สามก้าวแล้ว เรานิ่งขึ้น รู้จักจังหวะของการทำอะไร เราไม่ใช่คนที่เข้าไปเดินในพื้นที่ความขัดแย้งแล้ว เรากลายเป็นคนที่มองดูความขัดแย้ง เห็นมัน แล้วไม่รู้สึกว่าอยากเป็นคนเล่น เราขอดู
การติดคุกถือเป็นฝันร้ายของคุณไหม
ไม่ เป็นอีกโลกนึงเฉยๆ เราไม่รู้สึกว่าการเข้าคุกเป็นเรื่องเลวร้าย เราไม่อายที่จะบอกว่าเคยติดคุก เราเจอผู้ดีในคุกเยอะแยะ คุกไม่ได้นิยามว่า คุณคือคนไม่ดี คนเคยติดคุกก็ไม่ควรอายด้วย จำนวนคนในคุกสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่เละเทะ เราไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีในโลกนี้ เราไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีในประเทศนี้ แล้วทุกๆ คนที่มีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ มีโอกาสติดคุกด้วยกันทั้งนั้น คุกเล็กหรือคุกใหญ่ คุกข้างในหรือคุกข้างนอก มันก็คุกเหมือนกัน คุกข้างในเรารู้ว่ากำลังติดคุก แต่คุกข้างนอกแยบยลกว่า บอกว่าคุณมีเสรีภาพนะเว้ย คุณแสดงออกได้นะเว้ย แต่ทุกสิ่งที่คุณแสดงออกต้องไม่ขัดกับนโยบายของรัฐนะ คุกข้างในก็เหมือนกัน ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดกับกฎเรือนจำ นี่ไง เสรีภาพ ยิ่งตอนนี้เราอยู่กับรัฐที่มีกฎบ้าบอคอแตกมากมาย เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรทำได้-ทำไม่ได้ จู่ๆ อาจรู้สึกว่า ‘อ้าว ทำแบบนี้ก็ไม่ได้เหรอ (หัวเราะ)’
สิ่งที่อยากทำหลังจากนี้คืออะไร
เรายังอยากทำละครอยู่ แต่ไม่รู้จะมีใครเล่นด้วยหรือเปล่า (หัวเราะ) เราอยากทำเรื่องคนในคุกนี่แหละ เราโชคดีนะ ที่ได้สัมผัสทั้งคุกข้างในและข้างนอก คงไม่มีอะไรเล่าเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับละครแล้ว (หัวเราะ) เราคงใส่เรื่องความฝันของคนในคุก ที่พวกเขามีมากกว่าคนข้างนอกอีก แต่ยังเป็นนามธรรม เรายังไม่สามารถสร้างฉากอะไรขึ้นมาได้