‘นักปรัชญา’ ฟังดูแล้วเป็นคำที่ยิ่งใหญ่แต่ในขณะเดียวกันก็แสนจะไกลตัว เอาง่ายๆ ว่าถ้าพูดถึงคนที่เป็นนักปรัชญาเราคงไม่คิดว่าจะเป็นคนที่เราเจอได้ในชีวิตประจำวัน เป็นอาชีพที่ดูเหมือนจะมีอยู่จริงแค่ในอดีตหรือในจินตนาการของเราเท่านั้น เป็นภาพของชายชรา หรือบุคคลที่เฉลียวฉลาด ทำงานอยู่กับหนังสือ เป็นนักขบคิดและเสนอความรู้ความเข้าใจต่อความเป็นไปของโลก แล้วทุกวันนี้จะมีคนแบบที่ว่านี้ด้วยหรอ แล้วเขาทำมาหากินอะไร
ในความหมายทั่วไปที่สุด รากภาษาอังกฤษของคำว่าปรัชญา หมายถึงความรักในความรู้ นักปรัชญาในความหมายทั่วๆ ไปก็หมายถึงคนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับความคิดความรู้ เป็นคนที่สร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้ เป็นคนที่พยายามอธิบายและตั้งคำถามขบคิดต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ จริงๆ ถ้าด้วยความหมายพื้นฐานอย่างที่ว่า ใครๆ ที่สนอกสนใจไขเรื่องราวชีวิตและความเป็นไปของโลกก็น่าจะพอถือว่าเป็นนักปรัชญาได้
ถ้าไม่นับนักปรัชญาในชีวิตประจำวันแบบเราๆ ท่านๆ แล้ว โลกเราก็ยังมีนักปรัชญาคนสำคัญๆ ที่เป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีพ ทำมาหากินด้วยการผลิตและเผยแพร่ความรู้จนกลายเป็น ‘ผู้มีอิทธิพลทางความคิด’ ในระดับโลกในยุคร่วมสมัย เพราะความรู้และความคิดเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเคียงข้างมนุษย์มาโดยตลอด ปรัชญาหรือความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ตายไปแล้ว และนักปรัชญาคนสำคัญจำนวนหนึ่งก็ยังคงหายใจและชวนให้พวกเราขบคิดถกเถียงถึงความเป็นไปของโลกใบนี้อยู่
The MATTER จึงชวนคุณมารู้จักเหล่าผู้ทรงภูมิคนสำคัญทั้ง 7 คนที่ยังมีชีวิตมีลมหายใจอยู่
Noam Chomsky
ปู่โนม ชอมสกีถือเป็นหนึ่งในนักปรัชญาคนสำคัญโดยเฉพาะในแขนงวิชาภาษาศาสตร์ มีการยกย่องให้แกเป็น ‘บิดาแห่งสาขาวิชาภาษาศาสตร์สมัยใหม่’ เรียกได้ว่าใครที่ศึกษาทางภาษา ทางมนุษยศาสตร์ ไปจนถึงจิตวิทยาและประสาทวิทยาที่เกี่ยวโยงกับการรับรู้ภาษาต้องเคยรู้จักความคิดที่คุณปู่ได้เสนอไว้แน่นอน ปัจจุบันโนม ชอมสกีดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณที่ MIT
นอกจากจะเป็นตัวพ่อในสาขาวิชาภาษาศาสตร์แล้ว ในฐานะนักปราชญ์ประจำยุคสมัย ปู่โนมเองก็มีการขบคิดถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์สังคมในแง่มุมต่างๆ เช่น ข้อเสนอเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับระบบทุนนิยม เรื่องการครอบงำของสื่อ แถมยังเคยเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านช่วงสงครามเย็น ปัจจุบันแม้ปู่โนมจะอายุ 88 ปีแล้ว แต่เขายังเป็นนักวิชาการที่ได้รับการอ้างอิงกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย และยังคงผลิตผลงานชวนคิดไหวอยู่
Peter Singer
ทุกวันนี้มนุษย์เรากินสิ่งต่างๆ เราเลี้ยงสัตว์ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากมายปีเตอร์ ซิงเกอร์เปนนักปรัชญาและนักจริยศาสตร์ชาวออสเตรเลียนคนสำคัญที่ชวนเรามาขบคิดประเด็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ งานชิ้นสำคัญของซิงเกอร์คือ ‘Animal Liberation (1975)’ เป็นงานวิชาการชิ้นสำคัญในแขนงวิชาสัตวศึกษา (animal studies) เป็นงานที่ชวนมาทบทวนประเด็นเรื่องการกิน การแยกแยะระหว่างมนุษย์และสัตว์
เขาเป็นผู้ทำหน้าที่นักปรัชญาที่ชวนให้เราสำรวจและขบคิดประเด็นร่วมสมัยใกล้ตัว ไปจนถึงชวนคิดในมิติทางจริยธรรมถึงประเด็นซับซ้อนที่มนุษย์เรากำลังก้าวไปเช่น เรื่องการแพทย์ การอุ้มบุญ สิทธิการทำแท้ง เทคโนโลยีชีวภาพ เรื่อยไปจนถึงเรื่องประธานาธิบดี ปัจจุบันซิงเกอร์มีอายุ 71 ปี ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในหลายสถาบันและยังคงออกสื่อแสดงความคิดให้กับสังคมอยู่เรื่อยๆ
Alain Badiou
ในโลกของนักคิด นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสถือเป็นกลุ่มนักคิดนักปรัชญาชาติสำคัญของโลกสมัยใหม่ อาแล็ง บาดียูเป็นส่วนหนึ่งของนักปรัชญาฝรั่งเศสที่ยังคงมีชีวิตอยู่ บาดียูเป็นผู้ก่อตั้งคณะปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปารีส 8 (University of Paris VIII) ร่วมกับนักปรัชญาฝรั่งเศสสมัยใหม่คนสำคัญๆ อย่างเดอเลิซ (Gilles Deleuze), ฟูโกต์ (Michel Foucault), และเลียวตาร (Jean-François Lyotard)
ประเด็นที่บาดียูมักพูดถึงก็คือแนวคิดหลักๆ ที่เกี่ยวกับภาววิทยา (Ontology) และสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) โดยถกเถียงไปที่ประเด็นคลาสสิกในวงวิชาการปรัชญายากๆ อย่างการดำรงอยู่ (being) ความจริง (truth) อะไรพวกนั้น – ยากอ่ะ
Judith Butler
นักปรัชญาสุดเท่ระดับตัวแม่ผู้เสนอแนวคิดเรื่องเควียร์และความลื่นไหลทางเพศสถานะ จูดิธ บัตเลอร์เป็นนักคิดนักวิชาการทางด้านเพศสถานะศึกษา (gender studies) คนสำคัญของยุคสมัย แนวคิดเรื่องเควียร์ของบัตเลอร์เสนอมุมมองที่ตั้งคำถาม และต่อต้านขนบ (norm) ของสังคม ว่าสำหรับมุมมองแบบใหม่แล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เลื่อนไหล และไม่ถูกจำกัดโดยร่างกายหรือการนิยามจากสังคม
งานเขียนสำคัญของบัตเลอร์คือ Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity และ Bodies That Matter: On the Discursive Limits of Sex เป็นงานที่เขาได้พัฒนากรอบคิดอันสำคัญ ที่เรียกว่า gender performativity ซึ่งถ้าให้พูดโดยสรุปก็คือ การเป็นเพศชายของเราไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องแสดงหรือทำตามกรอบที่สังคมวางไว้
Gayatri Chakravorty Spivak
นักปรัชญาหญิงจากโลกตะวันออกที่ตั้งคำถามกลับไปสู่การครอบงำของโลกตะวันตก กายาตรี ชาคราฟอร์ตี้ สปิวาค นักคิดชาวอินเดียวัย 75 ปี ผู้เชี่ยวชาญทางทฤษฎีวรรณคดี ทฤษฎีหลังอาณานิคมและแนวคิดสายสตรีนิยม
สปิวาคเป็นนักทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ตกเป็นรอง (subaltern) กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ และถูกครอบงำจากการล่าอาณานิคมและโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายจากโลกตะวันตก งานเขียนสำคัญของสปิวาคคือ Can the Subaltern Speak? อันเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญในแขนงวิชาหลังอาณานิคมศึกษา ที่ให้ความสนใจกับกลุ่มคนชายขอบ และผลกระทบจากการล่าอาณานิคมของคนขาวที่มีต่อผู้คนในโลกอื่น
Martha Nussbaum
มาร์ธา นุสบาม เป็นนักปรัชญาชาวอเมริกันหญิงที่มีผลงานพูดถึงเรื่องราวร่วมสมัย และมีความสนใจที่หลากหลาย ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ University of Chicago แขนงวิชาที่นุสบามเชี่ยวชาญคือปรัชญากรีกและโรมันโบราณ ปรัชญาการเมือง แนวคิดสตรีนิยมและจริยศาสตร์ (ethics)
งานเขียนของเธอครอบคลุมการทบทวนแง่มุมต่างๆ ในชีวิต ทั้งคุณลักษณะเช่นความดี ไปจนถึงกฏหมาย และปรัชญาโบราณต่างๆ เช่น The Fragility of Goodness, Sex and Social Justice และ Hiding From Humanity: Disgust, Shame, and the Law ปัจจุบันในวัย 70 ปี เธอยังคงทำหน้าที่ขบคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคมต่อไป เช่น ข้อขบคิดจากท่าทีที่อเมริกันชนตอบสนองต่อการชนะเลือกตั้งของทรัมป์ด้วยความเกรี้ยวกราด
Slavoj Žižek
ส่งท้ายด้วยผู้ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นนักปรัชญาเปลี่ยนไปกับภาพลักษณ์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเหมือน ‘rock star’ ของวงการปรัชญาสมัยใหม่ กับตาลุงที่ชื่อพูดแล้วฟังแสนยากเย็น สลาวอย ชิเชค เป็นนักปรัชญาชาวสโลวีเนีย เป็นนักคิดฝ่ายซ้ายที่ได้รับอิทธิพลต่อเนื่องมาจากแนวคิดแบบมาร์กซ ตัวชิเชคเองค่อนข้างใช้กรอบคิดและวิธีการสำคัญๆ ของนักคิดในยุคก่อนหน้า ทั้งแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ จิตวิเคราะห์และการรื้อสร้างในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมสมัยใหม่
ความเก๋ของชิเชคคือพี่แกจับวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่เกือบทั้งหมดมาอธิบายปัญหาจากระบบทุนนิยมต่างๆ เช่น เอาภาพยนตร์มาเป็นเครื่องมือในการอธิบายเรื่องยากๆ ไปจนถึงแสดงหนังมันซะเองเลยในชื่อ The Pervert’s Guide to Cinema และอีกหลายเรื่องที่พี่แกลงทุนเขียนบทและแสดงเป็นตัวแกเอง แล้วออกมาอธิบายเรื่องนู้นเรื่องนี้ว่าเนี่ย สิ่งที่เธอเห็น เธอเชื่อ จริงๆ แล้วมันคือกลของระบบทุนนิยมนะ ดูสิๆ