แนวคิดสำคัญๆ ที่เรายึดถือกัน เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค เพศสถานะ ไปจนถึงความหมายของการใช้ชีวิต ล้วนมีที่มาจากความคิดทางปรัชญา ความคิดที่ค่อยๆ พัฒนามาจากอดีต ผ่านกาลเวลานับพันปี
คำถามสำคัญคือ ในหนังสือปรัชญาจำนวนมหาศาล เราจะอ่านเล่มไหนบ้างดี อย่ากระนั้นเลย ทางสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University Press) คัดเลือกหนังสือปรัชญาสำคัญ—key text—ที่แนะนำให้คนสนใจปรัชญาอ่าน เป็นหนังสือที่เป็นรากฐานความคิดทางปรัชญาตะวันตกนับตั้งแต่ยุคกรีกจนถึงปรัชญาร่วมสมัย 12 เล่ม
สำหรับตัวบทที่ทางสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแนะนำค่อนข้างเป็นตัวบททางปรัชญาที่ใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อที่เราพูดถึงและสัมผัสได้ เช่น เรื่องความยุติธรรม สัญญาประชาคม รัฐบาล ทุนนิยม ไปจนถึงเรื่องเพศสถานะ ถือว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นที่สนใจมิติทางปรัชญาจากเรื่องรอบตัว
The Republic by Plato
อีกหนึ่งตำราสำคัญที่หลายคนต้องอ่านสมัยเรียน ทั้งวิชาทางปรัชญาไปจนถึงวิชาแขนงรัฐศาสตร์ The Republic เป็นงานเขียนสำคัญของเพลโต พูดประเด็นเรื่องความยุติธรรม อะไรคือคนที่เที่ยงธรรมและอะไรคือรัฐที่เที่ยงธรรม งานเขียนสำคัญนี้ทำให้เราเห็นเค้าลางว่าเพลโตมองภาพรัฐและผู้ปกครองในอุดมคติไว้ว่าอะไร อะไรที่จะทำให้เกิดความสุขจากการปกครองที่ดี
Leviathan by Thomas Hobbes
อีกหนึ่งตัวพ่อผู้วางรากฐานให้กับทฤษฎีทางการเมือง Leviathan ถือเป็นงานเขียนสำคัญว่าด้วยรัฐและการปกครอง การมีผู้ปกครองที่ชอบธรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างอิสรภาพกับการคุ้มครองของผู้ปกครอง งานเขียนนี้จึงเป็นเป็นตัวอย่างสำคัญของสัญญาประชาคม สัญญาที่ผู้ปกครองแลกเปลี่ยนกับผู้ใต้ปกครอง
Two Treatise of Government by John Locke
มีฮอบส์แล้ว จอห์น ล็อกก็ต้องมา Two Treatise of Government พูดถึงการก่อตัวขึ้นของสังคมมนุษย์ และการก่อตัวขึ้นของรัฐเพื่อจัดการความขัดแย้งของผู้คน ข้อเสนอของล็อกจึงพูดถึงรากฐานของรัฐสมัยใหม่ ข้อตกลงที่ทำให้การปกครองเป็นที่ยอมรับระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง
A Treatise of Human Nature by David Hume
A Treatise of Human Nature คืออีกผลงานสำคัญของ เดวิด ฮูม เป็นผลงานที่เป็นรากฐานวิธีการทางปรัชญาแบบ empiricism ฮูมสนใจและพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์เพื่อเข้าใจและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น จากการสังเกตของฮูมบอกว่า สังคมมนุษย์จะเจริญได้ถ้าปกครองโดยความยุติธรรมและเหตุผล
The Social Contract by Jean-Jacques Rousseau
“มนุษย์เกิดมาโดยเสรี แต่ทุกหนแห่งกลับถูกตรวน” (Man is born free, and everywhere he is in chains) ในงานเขียน The Social Contract—สัญญาประชาคม แหม่ เป็นคำที่เราได้ยินนายกพูดถึงบ่อยๆ ในงานเขียนของรูโซบอกว่า อำนาจปกครองจะชอบธรรมได้ต้องมาจากการรับรองของประชาชน งานเขียนชิ้นนี้ถือกันว่าส่งผลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นรากฐานของแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่แน่ใจว่าสัญญาประชาคมของลุงตู่จะมาจากตำราเดียวกันไหม
The Wealth of Nations by Adam Smith
“ทุนนิยมมันแย่จริงๆ” ทุนนิยมคืออะไร มาจากไหน ต้องอ่านงานของ อาดัม สมิธ เจ้าพ่อและผู้วางรากฐานของเศรษฐกิจสมัยใหม่ และทุนนิยมในโลกตะวันตก แนวคิดสำคัญของสมิธคือแนวคิดเรื่องตลาดเสรี และแนวคิดเรื่องแบ่งงานกันทำ สมิธเชื่อว่ารัฐไม่ควรจะเข้าแทรกแซงตลาดเสรีและการสะสมทุน
The Rights of Man by Thomas Paine
โทมัส เพน เป็นนักคิดสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิวัติในฝรั่งเศสและอเมริกา ในหนังสือ The Rights of Man พูดถึงว่ารัฐบาลในอุดมคติคือรัฐบาลที่สนับสนุนสิทธิโดยธรรมชาติ เช่น การใช้ชีวิต เสรีภาพ สิทธิในการพูด การปฏิวัติต่างๆ มักเกิดขึ้นเมื่อประชาชนไม่ได้รับสิทธิที่ตัวเองพึงมีนั้น
A Vindication of the Rights of Woman by Mary Wollstonecraft
แมรี โวลสโตนคราฟต์ เป็นอีกหนึ่งตัวแม่แนวคิดสตรีนิยม A Vindication of the Rights of Woman เผยแพร่ในปี 1792 ถือเป็นงานที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีที่สร้างแรงสะเทือนให้กับสังคมตะวันตก ข้อเรียกร้องของเธอคือเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษาของผู้หญิง และให้เพิ่มบทบาทของผู้หญิงในสังคม เธอบอกว่าผู้หญิงเองก็ควรจะป็นเพศที่มีเหตุผล และพึ่งพาตัวเองได้ ให้ความสำคัญกับความคิดจิตใจมากกว่ารูปลักษณ์
On Liberty by John Stuart Mill
เสรีภาพมีขอบเขตแค่ไหน จอห์น สจ๊วต มิลล์ เป็นอีกหนึ่งนักปรัชญาคนสำคัญที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความคิดหลักของมิลล์บอกว่ามนุษย์เรามีสิทธิจะใช้ชีวิตตามที่ต้องการตราบใดที่ไม่ได้ไปคุกคามหรือทำร้ายคนอื่น มิลล์เองเชื่อเรื่องความสุขที่มีที่มาจากศีลธรรม และเชื่อว่าเราควรทำอะไรโดยคำนึงถึงความสุขของคนหมู่มาก นอกจากนี้ มิลล์เองยังเชื่อและร่วมต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและสิทธิของสตรีด้วย
La Nausée by Jean-Paul Sartre
ฌ็อง-ปอล ซาตร์ เป็นอีกหนึ่งปรัชญาสำคัญของศตวรรษที่ 21 ซาตร์เป็นนักคิดยุคหลังสงครามที่อยู่ๆ มนุษย์เกิดความผิดหวังกับความคิดความเชื่อในโลกสมัยใหม่ ซาตร์จึงนำเสนอแนวคิดว่าด้วย existentialism ใน La Nausée นวนิยายเล่มแรกของซาตร์ พูดถึงตัวละครเอกที่เสียความเชื่อมั่นในค่านิยมแบบเก่า และค้นพบว่าตัวเองมีเสรีภาพในการเลือกและต้องค้นหาความหมายในชีวิตของตัวเองต่อไป
The Second Sex by Simone de Beauvoir
พูดถึงปรัชญาสมัยใหม่ จะไม่มีประเด็นเรื่องเพศสถานะไปไม่ได้ The Second Sex ของ ซีมอน เดอ โบวัวร์ ถือเป็นงานเขียนที่เป็นรากฐานของกระแสเฟมินิสต์ กระแสวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่จากระบบชายเป็นใหญ่ที่ถูกทำอย่างซับซ้อน งานเขียนของเดอโบวัวร์ พยายามแยกแยะเพศโดยสภาพออกจากเพศที่ถูกกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในสังคม
The History of Sexuality by Michel Foucault
เล่มสุดท้ายเป็นผลงานของฟูโกต์ เล่มที่ทางออกซฟอร์ดเลือกมาไม่ได้เลือกงานที่พูดเรื่องวาทกรรมและการควบคุม แต่เลือกงานเขียนเล่มสุดท้ายของฟูโกต์ The History of Sexuality พูดถึงประเด็นเรื่องเพศในมุมมองว่า ทั้งๆ ที่เรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในที่สุดแล้วเราต่างกำลังถูกรัฐและสังคมเข้ามาควบคุมด้วยวิธีอันซับซ้อน งานของฟูโกต์มักขุดคุ้ยและตั้งคำถามระหว่างการนิยามระหว่างความปกติและความผิดปกติ