โปรดอ่าน! ข้อค้นพบนี้อาจเปลี่ยนชีวิตคุณ (หรือเปล่า?)
คุณคิดว่าอนาคตของเด็กอายุสิบสี่คนหนึ่งจะเป็นอย่างไร หากเขาเลือกออกจากโรงเรียนเพื่อมาปล้นธนาคาร ทั้งยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อที่เดินเข้าออกคุกตลอดเวลาและย้ำเตือนว่าเขาไร้ค่าอยู่เสมอ ส่วนแม่ก็ต้องทำงานหาเงินจนไม่เคยอยู่บ้าน เพื่อนที่มีก็ติดยาและฆ่ากันเองป็นประจำ และดูเหมือนว่าการฆ่ากันในพื้นที่แห่งนี้จะเป็นเรื่องปกติ เพราะนี่คือเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นนครหลวงแห่งอาชญากรรม
สิ่งที่พ่อของเด็กชายคนนั้นทำนายไว้ คือเขาจะต้องกลายเป็น ‘ไอ้ระยำในคุก’ หรือ ‘ตาย’
แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ Robbie Dillon เดินเข้าห้องสมุด แล้วเลือกหนังสือของนักปรัชญาอย่าง Immanuel Kant มาเป็นตำราประจำชีวิต สามสิบปีถัดมา เขาก็ผันตัวเองเป็นนักเขียนและบรรณาธิการนิตยสารข่าว ศิลปะ วัฒนธรรมเนื้อหาสุดโต่งอย่าง Vice ล่าสุด นิตยสารอเมริกาสัญชาติแคนาดาฉบับนี้ขยายสาขาไปทั่วโลกและมีรายรับต่อปีกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท
เส้นทางนั้นดูไกลและไม่ธรรมเอาเสียเลย หรือเราควรแต่งตั้งให้ Kant เป็นไลฟ์โค้ชคนแรกของโลก?
จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องมาดูกันก่อนว่านักปรัชญาระดับโลกกับโจรหนุ่มคนนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร Dillon เล่าว่า ย้อนไปเมื่อสาบสิบกว่าปีก่อน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันทารุณ เขาตัดสินใจสร้างเส้นทางชีวิตด้วยการปล้นธนาคารไปเรื่อยๆ
หลังจากปล้นและหลบตำรวจจนไม่มีที่จะไป วันหนึ่งแกก็เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่ามีที่หนึ่งที่สะอาดและเป็นที่สุดท้ายในโลกที่ตำรวจจะมาตามหาโจร นั่นคือห้องสมุด!
ณ ที่นั้น เขาฆ่าเวลาไปกับการอ่านหนังสือที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งก็มาเจอขุมทองเข้า
เขาหยิบหนังสือหนาเตอะอย่าง Critique of pure reason ของนักปรัชญาชาวเยอรมันที่บางคนว่ากันว่าสำคัญที่สุดในโลกอย่าง Immanuel Kant มานั่งอ่าน แล้ว Dillon หนุ่มก็พบว่าเนื้อหาในหนังสือนั้นช่างเข้าอกเข้าใจและสร้างผลสะเทือนให้ชีวิตเขาไปตลอดกาล
การเข้าอกเข้าใจ Kant นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะครับ ปกติคนเรียนวิชาปรัชญาจะรู้กันดีว่าตำราอัฉริยะของ Kant นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรเข้าใกล้หากไม่จำเป็น
แล้วคุณ Dillon ไปเข้าอกเข้าใจอะไรกับ Kant?
ผมคิดถึงสายตาของเด็กหนุ่มไร้หนทางคนนั้น ที่จับประเด็นความเป็นปรัชญาได้ง่ายและตรงไปตรงมาอย่างไม่น่าเชื่อ
Dillon เล่าว่าสิ่งที่จับใจอย่างแรกก็คือข้อเสนอของ Kant ที่บอกว่ามนุษย์รับรู้โลกได้จำกัด คือรับรู้ผ่านตา หู จมูก และสัมผัสเท่านั้น ความสามารถของมนุษยชาตินี้อาจบิดเบือน อคติ หรือไม่สามารถรับรู้ความจริงทั้งหมดก็ได้ เราไม่มีทางรู้ เพราะวิธีพิสูจน์ก็ต้องอาศัยความสามารถอันจำกัดที่ว่านี้อยู่ดี สิ่งที่มนุษย์เรารู้ได้ทั้งหมดจึงเป็นเพียง ‘ความจริงเท่าที่มนุษย์รับรู้ได้’ เท่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว มันอาจเป็นเพียงอคติหรือความรับรู้รวมหมู่อันจำกัดจำเขี่ยก็ได้ Kant เริ่มจากการยอมรับปัญหาตรงนี้ ความพยายามที่เหลือทั้งหมดของเขาคือการหาวิธีสร้างความรู้และความหมายท่ามกลางข้อจำกัดดังกล่าว
แกบอกว่าวิธีคิดของ Kant นั้นเหมือนกันกับสิ่งที่พ่อเขาพร่ำบอกตลอดมาไม่มีผิด นั่นคือแกมันเป็นไอ้โง่ ไอ้โง่ และไอ้โง่! ต่างกันตรงที่พ่อด่าแค่เขาคนเดียว แต่ก็คล้ายกับที่ Kant บอกว่ามนุษย์ทุกคนมีข้อจำกัดเหมือนกัน เหมือนกับว่า Kant นั้นทุ่มเทชีวิตให้กับการสร้างเหตุผลเพื่อเจาะรหัสโลก ส่วนเขาก็ขวนขวายสร้างทางไปให้กับชีวิตด้วยการฝึกเจาะตู้เซฟ
สรุปแล้วโจรวัยรุ่นกับนักปรัชญาจึงคล้ายกัน ตรงที่ต่างเป็น ‘คนนอก’ ของสังคมที่เป็นอยู่ และต่างพยายาม ‘หาความหมาย’ ท่ามกลางความไม่รู้และโง่เง่าของตัวเอง Kant หาให้กับมนุษยชาติ ส่วน Dillon หาให้กับชีวิต
หลังจากนั้นแกก็เลิกปล้นธนาคาร แล้วหันมาเอาดีด้วยการลงเรียนมหาวิทยาลัยในวิชาปรัชญา ก่อนจะมาลงเอยแบบทุกวันนี้ สรุปก็คือการศึกษาปรัชญาสามารถแทนการปล้นได้!
บทเรียนชีวิตชี้เข็มทิศอะไรให้กับชีวิตเราบ้าง?
แน่นอนว่าคงมักง่ายไม่น้อยหากจะสรุปว่าโจรทุกคนควรพยายามหันมาเอาดีเหมือน Dillon ถ้าเป็นกรณีที่คนเป็นโจรเพราะสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย การสรุปแบบนี้ก็เหมือนไปเรียกร้องกับเหยื่อ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ต้นตอปัญหาทางสังคม
ส่วนที่ผมว่าน่าสนใจ คือข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนล้วนมีแง่มุมแบบคุณ Dillon ซ่อนอยู่ อาจมากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งแง่มุมที่ว่านี้คือความรู้สึกไร้ที่พึ่ง ไร้จุดหมาย ไร้ค่า เก็บกด เกลียดตัวเองอยู่ลึกๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือรู้สึกไร้ความสุข เราจึงหาอะไรมาปลอบประโลมแง่มุมนี้ในใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา บางคนหันหาเพื่อน บางคนหาธรรมะ บางคนหาเหล้า บางคนก็หาไลฟ์โค้ช
Dillon มองเห็นแล้วว่าปรัชญาเป็นการปลอบประโลมรูปแบบหนึ่ง อาจต่างจากเส้นอื่นก็ตรงที่ไม่ได้สัญญาจะมอบคำตอบเรื่องความสุขหรือความสำเร็จ แต่เริ่มจากการชี้ว่าความรู้สึกเป็น ‘คนนอก’ การตั้ง ‘คำถาม’ ต่อสิ่งที่เป็นอยู่ และการยอมรับใน ‘ความไม่รู้’ เป็นสิ่งปกติและสนุกกว่าที่คิด
เป้าหมายของเส้นทางนี้อยู่ที่การไต่สวนข้อจำกัด ความเหลวไหล หรือความคลุมเครือของความรู้ความเชื่อต่างๆ และพยายามหาทางจัดระเบียบ สร้างความรู้ หรืออย่างน้อยก็สร้างความเป็นระบบห ความกระจ่างให้กับความรู้เท่าที่ทำได้ ซึ่งคำตอบที่ได้มาส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงคำตอบที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในอนาคตคำตอบนี้อาจผิดก็ได้
จากทั้งหมดที่ว่ามา หากย้อนกลับไปคำถามเมื่อตอนต้น ว่า Kant ควรเป็นไลฟ์โค้ชหรือไม่ ผมเดาว่าคุณ Dillon ไม่คิดแบบนั้นหรอกครับ เรื่องที่แกเล่าไม่มีแตะสักนิดว่าแกถอดบทเรียน หรือชอบคำสอนตรงไหนของ Kant เน้นก็แต่เรื่องความเป็นคนนอกที่มีคล้ายๆ กัน น่าจะเป็นตรงนี้ต่างหาก ที่แกอ่านแล้วเกิดค้นพบเส้นทางปลอบประโลมใจที่เหมาะกับเขา
เราอาจเลือกอ่าน Kant เพื่อถอดหาบทเรียนความสุขความสำเร็จบางอย่าง แต่นั่นไม่ใช่การอ่านปรัชญาแบบปรัชญาเหมือนที่คุณ Dillon ทำ (อย่าว่าแต่คำตอบสำเร็จรูปเลยครับ ตอนเขียนบทความนี้ ผมพยายามเขียนย่อหน้าเกี่ยวกับปรัชญาแบบสั้นๆ ด้วยจังหวะเคาะแบบไลฟ์โค้ชเหมือนตอนต้นบทความยังพบว่ายากมาก)
ถึงตรงนี้หลายคนอาจร้องอ้าว ว่าตั้งชื่อซะเล่นใหญ่แล้วเล่าเรื่องอย่างกับจะขายคอร์สวิธีหาความสุข แต่กลับไม่มีบทเรียนเท่ๆ หรือคำคมๆ อะไรซักอย่าง
แต่หากถามถึงบทเรียนแบบสั้นๆ จากปรัชญา ผมเชื่อว่าที่พอหามาประยุกต์ได้นั้นมีอยู่เยอะครับ แต่ถ้าจะเอาแบบสำเร็จรูป ผมก็ตอบง่ายๆ เลยครับ… ว่าไลฟ์โค้ชน่าจะเหมาะกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก