“ก่อนคุณจะไปหาหมอเพื่อตรวจว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้คุณตรวจก่อนว่ารอบๆ ตัว เต็มไปด้วยคนเหี้ยๆ หรือเปล่า” – นิรนาม
อูย เจ็บ พอได้อ่านผ่านโควตนี้ (ที่ผมจำได้ว่ามาจากทวิตเตอร์ แต่เดิมเป็นภาษาอังกฤษนะครับ) ก็รู้สึกว่า เออ ก็จริงนะ บางทีคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบโดนกด โดนเหยียบตลอดเวลา อาจจะรู้สึกแย่กับตัวเอง จนทำให้คิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของความเศร้านั้นๆ ก็ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ จริงๆ แล้ว เป็นคนข้างๆ ตัวต่างหากที่ทำให้รู้สึกเศร้า – ถ้าเดินออกมาก็อาจจะค่อยๆ เยียวยาตัวเองได้
ใน ‘ทฤษฎีแห่งความเหี้ย’ ตอนที่แล้ว เราได้สำรวจนิยามของความเหี้ย, ตอบคำถามว่าคนเหี้ยได้ดีจริงไหม และแถมท้ายด้วยการตรวจสอบว่าคุณเป็นคนเหี้ยหรือเปล่า แต่ในครั้งนี้ เราจะพยายามมาสำรวจกันว่า เมื่อเรารู้แล้วว่า เรากำลังอยู่ร่วมกับคนเหี้ยๆ เราจะมีวิธีจัดการ หรืออย่างน้อย ก็ทำใจในการอยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างไร
ไม่น่าแปลกใจนักที่เรื่องคนเหี้ยจะมีการศึกษาอย่างจริงจังในแวดวงวิชาการ เพราะนี่เป็นปัญหาต้นๆ ของความสัมพันธ์ในทุกระดับ ตั้งแต่ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก ไปจนถึงความสัมพันธ์ในที่ทำงาน บางงานศึกษาอาจใช้คำที่อ่อนลงบ้าง เช่น อาจใช้คำว่า Toxic Personality (คนที่เป็นพิษ) หรือ Jerk (คนเชี่ย ซึ่งก็คล้ายๆ Asshole คือคนเหี้ยนั่นแหละครับ) แต่มีนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่ยอมประนีประนอมไปใช้คำที่อ่อนลงเลย เพราะเขาคิดว่า ‘คนเหี้ยก็ต้องใช้คำว่าเหี้ยสิ’ นักวิชาการคนนั้นคือ Robert Sutton จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (สอนด้านวิทยาการการจัดการ – Management Science) ผู้เขียนหนังสือ No Asshole Rule (กฎไร้คนเหี้ย) ในปี 2007 และในปีนี้เขาก็เขียนหนังสือใหม่อีกเล่ม ซึ่งก็ยังวนเวียนอยู่กับคนเหี้ยเช่นเดิม ชื่อว่า Asshole Survival Guide (ไกด์แนะนำการเอาตัวรอดเมื่อต้องอยู่กับคนเหี้ย)
นิยามความเหี้ยของ Robert Sutton
คุณอาจคิดว่าคนเหี้ยต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนเหี้ยสำหรับคุณอาจเป็นคนที่ชอบพูดจาถากถางคนอื่นโดยที่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเองเลย คนเหี้ยอาจจะเป็นคนที่ชอบขโมยเครดิต คนเหี้ยอาจจะเป็นคนชอบเอาเปรียบหรือเหยียบหัวชาวบ้านโดยไม่รู้สึกผิด แต่มาดูกันว่านิยามความเหี้ยของ Robert Sutton ผู้ที่วิจัยเรื่องความเหี้ยมาอย่างเข้มข้นจะเป็นอย่างไร:
ทำไม Robert Sutton ถึงคิดว่าคนเหี้ยต้องใช้คำว่าเหี้ยเท่านั้นถึงจะสาสม? เขาบอกว่าถึงแม้เขารู้ว่าคำว่าเหี้ย (Asshole) จะทำให้บางคนรู้สึกแย่ (เพราะมันเป็นคำหยาบ) ก็ตาม แต่เขาคิดว่ามีเพียงคำนี้เท่านี้ที่จะจับเอาอารมณ์หรือความแย่ของคนประเภทนี้ (หรือพฤติกรรมประเภทนี้ – อย่างที่ Sutton ก็บอกเองว่า “คนเราก็มีเวลาที่ทำตัวเหี้ยกันทั้งนั้น”) ได้อย่างเต็มความหมาย
Sutton ให้สัมภาษณ์ว่า “จริงๆ แล้ว ความเหี้ยในทางวิชาการก็มีนิยามหลากหลายนะครับ แต่ที่ผมนิยามก็คือ : คนเหี้ยคือคนที่ทิ้งให้เรารู้สึกไร้ค่า (demeaned) ไร้พลัง (de-energized) ไร้ความเคารพนับถือในตัวเอง (disrespected) และรู้สึกถูกกดขี่ตลอดเวลา (oppressed) หรือกล่าวอีกอย่างคือคนเหี้ย มักจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นธุลีดินนั่นเอง (make you feel like dirt).”
Sutton แยกคนเหี้ยเป็นสองแบบใหญ่ๆ (โอ้โห จริงจัง) คือ
- คนเหี้ยแบบชั่วคราว เขาบอกว่า “ถ้าอยู่ในบางสถานการณ์ พวกเราทุกคนก็เหี้ยได้ทั้งนั้น” (ซึ่งก็จริง อย่างเช่นถ้าหงุดหงิดมา ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้แล้วในทฤษฎีแห่งความเหี้ยตอนแรก)
- คนเหี้ยแบบควรมอบโล่ (certified asshole) คือคนที่เหี้ยอย่างสม่ำเสมอ ทำตัวเหี้ยๆ กับคนอื่นๆ อย่างคงเส้นคงวา ซึ่ง Sutton อธิบายไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “ผมไม่คิดว่าความเชื่อที่ว่าคนเหี้ยจะเป็นคนที่ไม่สนใจคนอื่นจะเป็นจริงนะ จริงๆ แล้ว คนเหี้ยสนใจคนอื่นมากเลยแหละ แต่ว่าเป็นการสนใจแบบที่ อยากทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บปวดหรือหงุดหงิด แล้วก็มีความสุขกับความเจ็บปวดนั้นๆ” โอ้โห
แต่เขาก็เตือนให้เราอย่ารีบด่วนสรุปว่า “คนเหี้ยมันเยอะ” ไปหมด คนบางคนอาจจะรู้สึก ‘ถูกหยามง่าย’ ไปหน่อย รู้สึกว่าอะไรๆ ก็มาลงที่ตัวเองหมด ทั้งที่ความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่หนังสือ Asshole Survival Guide เขียนไว้ก็คือ มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่คิดว่าตัวเองเป็นคนเหี้ย (ซึ่งก็ไม่แปลก!) แต่ก็มีคนจำนวนมาก จนไม่ได้สัดส่วนที่คิดว่าตัวเองถูกรายล้อมด้วยคนเหี้ยๆ
นั่นคือ คนเรามักคิดว่าคนอื่นเหี้ย แต่ตัวเอง ‘มีเหตุผล’ พอที่จะไม่เหี้ยนั่นเอง (หรือถ้าทำอะไรเหี้ยๆ ก็อาจใช้เหตุผลมารองรับว่ามันสาสมดีแล้ว หรือมันก็ควรเป็นเช่นนั้นเอง)
Sutton จึงแนะนำไว้ว่า: คนเหี้ย นั้นมักจะไม่รู้สึกความเหี้ยของตัวเอง ต้องให้คนรอบๆ ตัวบอกว่าเขาเหี้ย
และเช่นเดียวกัน เราควรคิดว่าคนอื่นเหี้ยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และประเมินว่าตัวเองเหี้ยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (คืออย่าด่วนสรุปว่าคนอื่นเหี้ย และอย่าเข้าข้างว่าตัวเองไม่เหี้ย) ถึงจะดี
วิธีทดสอบคนเหี้ย และแทคติกที่คนเหี้ยใช้
ในหนังสือ No Asshole Rule (เล่มแรก) เขาให้วิธีทดสอบ (หรือผมว่าจริงๆ แล้วเป็น ‘วิธีสังเกต’ มากกว่า) ว่าคนคนหนึ่งเหี้ยไหม ดังนี้
ขั้นตอนแรก: ก็ตามนิยามของ Sutton, คือ ดูว่าหลังจากที่ใครคุยกับคน (ที่ถูกสงสัยว่า) เหี้ย แล้วเขารู้สึกแย่ไหม รู้สึกถูกกดขี่ข่มเหงไหม รู้สึกกลายเป็นเถ้าธุลีไหม ถ้าใช่ ก็ถือว่าผ่านด่านแรก เป็นคนเหี้ยไปครึ่งตัวละ
ขั้นตอนที่สอง: ให้สังเกตว่าคน (ที่ถูกสงสัยว่า) เหี้ย นั้นชอบพุ่งเป้าไปที่คนที่มีอำนาจน้อยกว่าตัวเอง มากกว่าคนที่มีอำนาจมากกว่าตัวเองใช่หรือไม่ (เช่น หัวหน้าทีมอาจจะชอบเหี้ยใส่ลูกน้อง แต่ไม่เหี้ยใส่เจ้านายตัวเอง แบบนี้ก็อาจจะแปลว่าหัวหน้าทีมเหี้ยมาก เพราะกดขี่คนที่ตัวเองรังแกได้เป็นหลัก)
ถ้าตอบว่าใช่ทั้งสองข้อ เปอร์เซนต์ที่คนคนนั้นจะเป็น ‘คนเหี้ย’ ตามนิยามของ Sutton ก็มากขึ้น – นอกจากขั้นตอนต่างๆ แล้ว Sutton ยังให้แทคติกที่คนเหี้ยชอบใช้ต่อเหยื่อด้วย ลองเอาไปสังเกตกันดูว่าคนรอบตัวคุณ (หรือตัวคุณเอง) มีอาการแบบนี้บ้างไหม:
ดูถูกเหยียดหยามเรื่องส่วนตัว / ก้าวล้ำเข้ามาใน “พื้นที่ส่วนบุคคล” / ชอบแตะเนื้อต้องตัวแบบที่อีกฝ่ายไม่ได้ยินยอมด้วย / ชอบขู่หรือคุกคาม ทั้งทางวาจาและทางอื่น / ใช้คำตลกเสียดสีและยั่วล้อเหยื่อเพื่อดูถูก / พูดจาหมาๆ ในอีเมล / ใช้สเตตัสเพื่อ “แซะ” ทำให้คนอื่นอับอาย / ชอบเอาเรื่องคนอื่นมาประจานในที่สาธารณะ / ชอบขัดคอเวลาคนอื่นพูด / ตีสองหน้า / มองคนอื่นเหยียดๆ / ทำเหมือนคนอื่นไม่มีตัวตน
ถ้ามั่นใจว่าคนรอบกายเหี้ย แล้วควรดีลอย่างไรดี?
Sutton แนะนำว่าก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร ให้ถามตัวเองก่อนว่า 1) เรามีอำนาจมากแค่ไหน และ 2) เรามีเวลา (ที่จะดีลกับคนเหี้ย) มากแค่ไหน ถ้าเรามีอำนาจมากๆ เรื่องราวก็อาจจะง่ายลง เช่น หากเราเป็นหัวหน้าและพบว่าลูกน้องเหี้ยไม่ไหวแล้ว ก็อาจจะไล่ออกได้ แต่ถ้าไม่มี เขาก็แนะนำว่า ก่อนอื่นอาจจะต้องลองคุยกับคน (ที่สงสัยว่าเป็นคน) เหี้ยดูก่อน ว่าเขารู้ตัวไหม ถ้าปรับปรุงตัวได้หลังจากคุยกันก็ถือว่าดีไป
แต่ถ้าไม่ได้ เขาก็ให้เราตัดสินใจว่า จะสู้ หรือจะช่างแม่ง (ผมเคยเขียนถึงเรื่องการช่างแม่งไว้ในคอลัมน์นี้ก่อนหน้า) ถ้าจะสู้ เราก็ต้องรวบรวมหลักฐาน และพยายามตัดการติดต่อกับคนเหี้ย เพื่อไม่ให้มารบกวนเราให้ได้มากที่สุด ถ้าเรามีแนวร่วมที่เห็นพ้องต้องกันว่าคนคนนี้เหี้ย เราก็อาจจะใช้วิธีการแบนทางสังคมเพื่อลงโทษพวกเขาได้
นอกจากนั้น Sutton ยังมีทิปเทคนิคในการดีลกับคนเหี้ยไว้ด้วยเป็นข้อๆ ดังนี้:
- ให้รู้ตัวให้เร็ว และถ้าออกจากสถานการณ์นั้นได้ ก็ให้หนีออกมา แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องดีลด้วยวิธีอื่น
- ให้รักษาระยะห่างกับคนเหี้ย (ตามตัวอักษร) เขาแนะนำมาเป็นหลักเป็นฐานมากว่าให้รักษาระยะห่างที่ 25 ฟุต (7.6 เมตร) เพราะมีงานวิจัยว่าอารมณ์สามารถติดต่อกันได้ และ Sutton ก็เชื่อว่าความเหี้ยนั้นอาจจะส่งผ่านกันได้เช่นกัน (เช่น เราเจอคนเหี้ยๆ แล้วเราอาจจะหงุดหงิดจนทำตัวเหี้ยกับคนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่)
- ให้ลดการติดต่อกับคนเหี้ย เพราะพวกเขาจะชอบเวลาได้เห็นคนเป็นเดือดเป็นร้อน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ ‘ตอบช้า’ เช่น ตอบอีเมลช้าๆ หรือไม่ต้องตอบข้อความในทันที
- ถ้าเป็นไปได้ อย่าทำตัวโดดเด่น เพราะคนเด่นๆ มักจะเป็นเป้าหมายของคนเหี้ย
- หากอยากทำใจ ให้คิดถึงอนาคตเข้าไว้ ว่าอีกปีหนึ่งหรืออีกไม่นาน เรื่องของคนคนนี้ก็จะไม่มากวนใจเราแล้ว
- Sutton แนะนำด้วยว่า ถ้าอยากลอง ก็ลอง “เลีย” คนเหี้ยก็ได้ เพราะคนเหี้ยอาจจะชอบให้คนมาชื่นชมตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าใครเป็นพวกตัวเองแล้วก็จะเลิกเหี้ยกับคนคนนั้น อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
- ต่อสู้กลับด้วยวิธีต่างๆ เช่น รวมกลุ่มกันแบน หรือถ้าเหี้ยแบบเป็นกิจลักษณะก็อาจจะต้องร้องเรียนต่อคนที่มีอำนาจ
- อย่าวู่วาม Sutton บอกให้เราใช้เวลาค่อยๆ เก็บหลักฐาน เก็บพรรคพวกให้ดี ก่อนที่คิดจะทำอะไรลงไป เพราะถ้าเราไม่พร้อมในการต่อสู้ เราอาจจะแพ้ก็ได้
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของการต่อสู้ รวมไปถึงการอยู่ร่วมกับคนเหี้ย แต่สุดท้ายสิ่งที่ต้องไฮไลท์ไว้ ก็คือคำที่ Sutton บอกไว้นั่นแหละครับ ว่า “อย่าเรียกคนอื่นว่าเหี้ยให้เร็วเกินไปนัก แต่ให้สงสัยว่าตัวเองเหี้ยไหมไว้ก่อน” ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ ความเหี้ยของเรา (ที่คนอื่นอาจมองเห็น) ก็จะลดลง และเราก็น่าจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขขึ้น
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
ข้อความบางส่วนของบทความนี้ มาจากหนังสือของ Robert Sutton ดังนี้:
The No Asshole Rule: Building a Civilized Workplace and Surviving One That Isn’t
https://www.amazon.com/Asshole-Rule-Civilized-Workplace-Surviving/dp/1600245854
The Asshole Survival Guide: How to Deal with People Who Treat You Like Dirt
Sutton ให้สัมภาษณ์กับรายการ Today
https://www.today.com/health/asshole-survival-guide-dealing-jerks-work-beyond-t116051