โควิดก็ผ่านมาแล้ว ทำงานที่บ้านก็ผ่านมาได้ ก่อนหน้านี้ก็มี AI เข้ามาแทรกแซงอีก แต่เหมือนความท้าทายในโลกการทำงานจะยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะก็ยังมีด่านใหม่ๆ เข้ามาให้ชาวออฟฟิศต้องฝ่าฟันไปให้ได้ในทุกปี
แต่หากถอยออกมามองในภาพกว้าง ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าหรือตามความฉาบฉวยเพียงอย่างเดียว แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบ ความเชื่อ หรือแม้แต่วัยของเหล่าแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดไปด้วย
ทำงานที่เดียวไปตลอดชีวิต กลายเป็นแค่ค่านิยมเก่าๆ ในมุมมองเหล่าคนทำงานยุคนี้ และอีกไม่นานการทำงานแบบ 9 to 5 อาจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าว่าเราเคยต้องทำงานเป็นเวลาด้วยเช่นกัน ในวันที่เหล่าคนทำงานเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่นไปเป็น Gen Z ที่เราเคยมีภาพจำว่าพวกเขาเป็นเพียงน้องใหม่ ในวันนี้พวกเขาก้าวเข้ามาเป็นแรงสำคัญในตลาดแรงงาน ย่อมทำให้ธรรมชาติของการทำงานเปลี่ยนตามไปด้วย
The MATTER เลยขอชวนมาส่องเทรนด์การทำงานในปี 2024 จาก Forbes กันดูว่าในปีนี้ โลกการทำงานกำลังต้องการให้เราเดินไปในทิศทางไหน?
Generative AI
อย่าเพิ่งเบื่อกับคำว่า AI แล้วคิดว่ามันเป็นเพียง Buzzword ที่คนเอามาใช้กันพร่ำเพรื่อ เพราะไม่ว่าเราจะเบื่อหรือไม่เชื่อใน AI แค่ไหน แต่ตอนนี้ Goldman Sachs บริษัทด้านการเงิน ได้คาดการณ์ไว้ว่า งานกว่าหลายล้านตำแหน่ง ถูกขับเคลื่อนด้วย AI
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า AI จะเข้ามาแย่งงานเราอย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ ตั้งแต่การมาถึงของคำนี้ เพราะจริงๆ แล้ว Generative AI เป็นเหมือนเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราเอามาใช้ในการทำงาน หากจะมีใครแทนที่ใคร คงจะเป็น คนที่ใช้ AI ได้จะเข้ามาแทนที่คนที่ใช้เครื่องมือนี้ไม่เป็นต่างหาก เพราะสิ่งสำคัญคือความเข้าใจในเครื่องมือ (AI) ว่าจะใช้งานร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างไร และมีข้อจำกัดแค่ไหนบ้าง
โลกยั่งยืน เรายั่งยืน
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเรื่องหลักที่องค์กรควรให้ความสนใจ ตราบใดที่เรายังต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เราจำเป็นต้องสร้างความยั่งยืน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
เรียนรู้ ปรับตัว เข้าใจ ให้ทันโลก
เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่การทำงานและธุรกิจมากขึ้น เราจึงต้องพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อให้มีความพร้อมที่จะปรับตัวสู่อนาคต
อะไรเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความเก่งกาจด้านเทคโนโลยี แต่ต้องเข้าใจเครื่องมือและแพลตฟอร์ม เข้าใจโอกาสการใช้งาน เข้าใจในหลักการ ว่าทำไมเราถึงต้องใช้สิ่งนี้ในการทำงาน รู้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือแม้แต่การปรับตัวเมื่อการทำงานเป็นองค์กร อาจเป็นองค์กรที่มีส่วนเล็กส่วนน้อยกระจายอยู่ทั่วโลก
ระบบอาวุโสอาจหมดไป แทนที่ด้วยความหลากหลาย
เมื่อโลกของการทำงานได้เปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของคนรุ่นใหม่ มุมมองต่อการทำงานย่อมเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของคนรุ่นนั้น อะไรที่เราเคยเห็นในรุ่นก่อน อย่างเรื่องของความอาวุโส ลำดับชั้นจะถูกสั่นคลอนด้วยคนรุ่นใหม่ ความหลากหลาย ไม่แบ่งแยก จะถูกให้คุณค่ามากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นภายในวันสองวัน จาก Future of Recruiting Report ของ LinkedIn ในปี 2023 รายงานว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลกว่า 50% เลือกคนทำงานจากทักษะมากกว่าประสบการณ์ในการทำงาน หมายความว่าขวบปีในการทำงานไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่องค์กรมองหา แต่ทักษะการทำงานที่ใช้ได้จริงต่างหากที่จะเข้ามาแทนที่
ค่าตอบแทนอาจยังไม่พอ คุณภาพชีวิตก็สำคัญ
คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจความพึงพอใจ สิทธิประโยชน์ ที่ส่งผลกับคุณภาพชีวิตจากการทำงานมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจจาก LinkedIn กล่าวว่า Gen Z ให้ความสนใจกับ ความก้าวหน้าทางอาชีพ ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิต และการได้รับทักษะใหม่ๆ มากกว่า Gen X ถึง 50%
หากองค์กรอยากจะดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่ในตอนนี้ การมอบค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ อาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่าคนทำงาน ทั้งด้านชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานให้ดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการดูแลพนักงานที่มีอยู่ในมือด้วยเช่นกัน
เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้กลัวการลาออกหรือการเปลี่ยนงานอีกต่อไปแล้ว หากพวกเขารู้สึกว่าการทำงานทำให้ชีวิตของพวกเขาแย่ลง ยิ่งทำให้พวกเขาตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะอยู่ต่อหรือมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยให้ชีวิตดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
Lifelong Learning
องค์กรอยากให้ภาพรวมเดินไปในทิศทางไหน ก็ต้องให้พนักงานมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน หากอยากให้พนักงานมีทักษะแบบไหน ก็ต้องมีส่วนช่วยพัฒนาเหล่าคนทำงาน ให้เรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อก้าวทันโลก ด้วยการสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น
เมื่อทุกคนได้รับการฝึกฝนทักษะแล้ว องค์กรควรจัดลำดับความสำคัญ ตามความเชี่ยวชาญของพนักงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และปรับตัวได้ เพราะถ้าไม่คิดเรียนรู้ ปรับตัว ต่อให้อยู่มานาน อาจจะต้องย่ำอยู่กับที่ต่อไป
Hybrid ไม่ใช่แค่ตัวเลือก
ก่อนหน้านี้การทำงานแบบ Remote เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นที่เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ต่อมาเริ่มกลายมาเป็นระบบที่ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำงาน แต่เมื่อเราสามารถกลับมาเจอหน้ากันได้ การทั้งงานทั้งสองแบบจึงกลายมาเป็นข้อถกเถียงว่า เราจะกลับเข้ามาออฟฟิศแบบเต็มตัวหรือไม่ ในเมื่อเราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้
ระบบ Hybrid จะเข้ามาเป็นจุดกึ่งกลางที่รวมเอาข้อดีของการทำงานทั้งสองแบบไว้ด้วยกัน จนกลายมาเป็นระบบการทำงานขั้นพื้นฐานของหลายองค์กร และในอนาคต สิ่งนี้อาจทำให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถกลายเป็น The Decentralized Workplace ที่มีเหล่าคนทำงานจากทั่วทุกมุมโลกได้
เมื่อโลกของเราก้าวไปข้างหน้าทุกวัน คนที่มีความยืดหยุ่นมากพอ ที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง จะสามารถปรับตัวและมีพื้นที่ให้ตัวเองในโลกการทำงานเสมอ
อ้างอิงจาก