6 สิงหาคม เมื่อ 72 ปีทีแล้ว หนึ่งในอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยคิดค้นถูกทิ้งลงเหนือเมืองฮิโรชิมา อำนาจของระเบิดนิวเคลียร์คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 80,000 คนและทำลายเมืองๆ หนึ่งได้ในชั่วพริบตา ผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสะพรึงของมนุษย์ไม่ได้ทำแค่เพียงสร้างรอยแผลไว้บนร่างกายของพื้นที่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ระเบิดนิวเคลียร์ยังสร้างแรงกระเพื่อมต่อความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของเราด้วย เราเริ่มกลัวในพลังของความรู้และวิทยาศาสตร์ ทั้งยังกลัวหัวใจที่เย็นชาในการใช้ความรู้เพื่อทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกันเอง
‘ก็อดซิลล่า’-สัตว์ประหลาดยักษ์ที่ผุดขึ้นมาทำลายเมืองและกลายเป็นไอคอนของหนังแนวสัตว์ประหลาดก็เป็นหนึ่งในผลกระทบและความวิตกกังวลของมนุษย์จากกรณีระเบิดนิวเคลียร์ วิทยาการและเทคโนโลยีที่เคยให้คำสัญญาว่าจะทำให้ชีวิต ญี่ปุ่นในวันนั้น ยังคงสั่นคลอนหัวใจของเรามาจนถึงทุกวันนี้
เพื่อเป็นการรำลึกและเรียนรู้จากบทเรียนจากสงครามและการใช้วิทยาการความก้าวหน้าของเรา The MATTER ชวนมาอ่านหนังสือ 7 เล่ม จากหลากหลายประเภทวรรณกรรม ทั้งสารคดี การ์ตูน ไปจนถึงนวนิยายที่เล่าแบบละครคาบูกิ เพื่อเข้าใจ เรียนรู้ และรำลึกผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์
Hiroshima, John Hersey (1946)
Hiroshima เขียนโดย John Hersey นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรางวัล Pulitzer ฮิโรชิมาตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน The New Yorker ในปี 1946 หลังระเบิดที่ฮิโรชิมา 1 ปี งานเขียนชิ้นนี้มีความโดดเด่นคือผู้เขียนลงไปเก็บข้อมูลจริงเพื่อรายงานผลกระทบและเรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดที่ฮิโรชิมา แต่ผู้เขียนเลือกที่จะใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบนวนิยาย ดังนั้นวิธีการเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดจึงผสมทั้งข้อมูลและอารมณ์ความรู้สึกจากผู้ที่เผชิญเหตุการณ์จริง ทั้งนี้ Hersey ถือเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตกคนแรกๆ ที่เข้าถึงพื้นที่หลังการระเบิด
Brighter than a Thousand Suns : A Personal History of the Atomic Scientists, Robert Jungk (1956)
‘สว่างจ้ายิ่งกว่าพระอาทิตย์พันดวง’ เป็นหนังสือแนวสารคดีที่ Robert Jungk นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรียลงไปศึกษาสืบสวนทำความเข้าใจ ‘เบื้องหลัง’ และเรื่องราวของระเบิดนิวเคลียร์จากมุมของ ‘ผู้สร้าง’ พูดถึงเหล่านักวิทยาศาสตร์ในสมัยสงครามผู้ที่ค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน บรรยากาศของการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ท่ามกลางความกดดันทั้งจากความกลัวที่ว่านาซีจะค้นพบอาวุธทรงอำนาจได้ก่อน ไปจนถึงความรู้สึกจากผลกระทบที่เลวร้ายจากวิทยาการที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้
Black Rain, Masuji Ibuse (1965)
Black Rain-ฝนสีดำ คือเหตุการณ์และผลกระทบจากความร้อน เขม่า และสารพิษจากระเบิดนิวเคลียร์ หยดน้ำสีดำที่ตกและปนเปื้อนไปทั่วบริเวณหลังการระเบิดคือฝันร้าย Black Rain เป็นนวนิยายที่เขียนโดยชาวญี่ปุ่น เล่าเรื่องราวโดยอิงจากบันทึกความเสียหายจากเหตุการณ์จริง นวนิยายเรื่องนี้ถือเป็นงานเขียนที่ว่าด้วยผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุด
Barefoot Gen, Keiji Nakazawa (1973-1985)
จากนวนิยายมาสู่ฉบับการ์ตูนญี่ปุ่น (manga) Barefoot Gen เป็นการ์ตูนเขียนโดย Keiji Nakazawa นักเขียนการ์ตูนที่ตัวเองก็เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมา Barefoot Gen เล่าเรื่องของ Gen Nakaoka เด็กชายวัย 6 ขวบที่รอดชีวิตและต้องเอาตัวรอดจากผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์ การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ใน Shōnen Jump นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ชื่อดัง เรื่องราวการต่อสู้และเอาตัวรอดไปจนถึงผลกระทบกันรุนแรงจากระเบิดสร้างความประทับใจและถูกนำไปดัดแปลงเป็นฉบับคนแสดง เป็นละครโทรทัศน์ และเป็นภาพยนตร์การ์ตูน
Sadako and the Thousand Paper Cranes, Eleanor Coerr (1977)
ยังจำซะดะโกะกับตำนานพับนกกระเรียนพันตัวได้ไหม Sadako and the Thousand Paper Cranes เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สำหรับเด็กเขียนโดย Eleanor Coerr นักเขียนเชื้อสายอเมริกันแคนาเดียน อ้างอิงจากเรื่องราวของซาดาโกะ ซาซากิ เด็กหญิงวัยสองขวบที่อยู่ห่างจากจุดระเบิดหนึ่งไมล์ สิบปีหลังจากนั้นซาดาโกะเริ่มมีอาการป่วยอันเกิดจากผลกระทบของรังสีจนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นลูคีเมีย
ด้วยความเจ็บป่วยของเด็กน้อยที่ได้รับผลกระทบจากระเบิด เพื่อนของซาดาโกะได้บอกเธอเกี่ยวกับตำนานการพับนกกระเรียนกระดาษ 1000 ตัว เพื่อขอพรอะไรก็ได้ 1 อย่าง ซาดาโกะจึงใช้ชีวิตอย่างมีความหวังเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายและพับนกกระดาษของเธอเพื่อให้หายจากความเจ็บป่วย ซาดาโกะจากไปในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1955 ในขณะที่เธอพับนกกระดาษไปได้ 644 ตัว หลังการจากไป เพื่อนและครอบครัวจึงช่วยกันสานความปรารถนาของเธอ ตำนานนกกระเรียนพันตัวของเธอจึงได้กลายเป็นไอคอนสำคัญในการเป็นอุทาหรณ์และความหวังจากผลกระทบที่มนุษย์เราได้กระทำต่อกัน
Hiroshima Bugi, Gerald Vizeno (2003)
Hiroshima Bugi : Atomu 57 เป็นนวนิยายที่ใช้รูปแบบการเล่าเรื่องจากละครคาบูกิ คือเล่าเรื่องที่มีภูมิหลังเป็นผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์ในรูปแบบตำนานโบราณ (ผู้เขียนเรียกว่า kabuki novel) Gerald Vizeno ผู้เขียนเรื่องนี้ก็มีความโดดเด่นคือเป็นนักวิชาการตะวันตกที่เคยเป็นทหารและได้รับผลกระทบโดยตรงจากระเบิดนิวเคลียร์ ตอนที่ประจำการที่ญี่ปุ่น Vizeno เรียนรู้รูปแบบและศิลปะการประพันธ์เช่น กวีนิพนธ์ไฮกุและได้แต่ง Hiroshima Bugi ขึ้นในภายหลัง
Trinity : A Graphic History of the First Atomic Bomb, Jonathan Fetter-Vorm (2012)
นวนิยายภาพ (graphic novel) เป็นรูปแบบงานวรรณกรรมที่กำลังเป็นที่สนใจ ในประเด็นเรื่องสงครามนิวเคลียร์ Trinity: A Graphic History of the First Atomic Bomb เป็นนวนิยายภาพที่อ้างอิงโครงการ Manhattan Project และการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ในเรื่องพาเราย้อนไปถึงการคิดค้นของมารี กูว์รี เรื่องราวในค่ายทหาร ไปจนถึงเรื่องราวรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ชื่อเรื่อง Trinity เป็นชื่อรหัสของพื้นที่ที่ใช้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก