เสียงสวดมนต์ข้ามปีผ่านพ้นไป วันแรกของปีมันก็ดีแบบนี้แหละ แต่เราจะยืนระยะความรู้สึกแบบนี้ต่อไปยังไงให้ได้อีกตั้ง 12 เดือน
ปีใหม่เริ่มต้นสดใส เอาน่ะ ถึงสุดท้ายเราก็รู้อยู่ในใจว่า เราเองต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่ไหลไปตามกาลเวลาที่ไม่สิ้นสุด การนับรอบ 12 เดือน 365 วัน ดูจะเป็นวิธีการหนึ่งที่มนุษย์เราใช้ปลอบใจตัวเองว่า เอ้อ เรายังมีการเริ่มต้นใหม่เสมอๆ นะ คิดแล้วก็อย่าเพิ่งหดหู่ไป มนุษย์ตัวน้อยอย่างเราอย่างน้อยๆ ก็นับหนึ่ง…สอง…ไปแล้ว หลังจากนี้เหลืออีก 300 กว่าวัน พูดถึงการนับ—เราเองก็อาจจะต้องมองหาอาจารย์ สมาทานตัวเองเป็นสานุศิษย์ของเมนเทอร์ผู้จะคอยช่วยเราพยุงเรือลำน้อยให้ลอยไปตลอดรอดฝั่ง
มนุษย์เราหาทางพาเรือชีวิตมายาวนานเท่าอารยธรรม และแน่นอนว่าองค์ความรู้เหล่านั้นตกทอดมาในรูปแบบของงานเขียน ในรูปแบบหนังสือ เนื่องในวาระปีใหม่ มีคนเคยบอกว่าให้เหล้าเท่ากับแช่ง ดังนั้น The MATTER จึงไม่ให้เหล้า แต่เราแนะนำหนังสือกันรับวันใหม่ เป็นหนังสือสาธุบุญที่ผสานทั้งตะวันตกและตะวันออก หนังสือที่พาเราเข้าสู่สันติในเรือนใจและพาเราออกไปเข้าใจโลก ไปจนถึงว่า เอ้อ บางทีคนเรามันก็ต้องสู้กันบ้าง
ปรัชญาชีวิต, คาลิล ยิบราน
ขอเริ่มด้วย ปรัชญาชีวิต ของยิบราน เล่มแรกที่แนะนำอาจจะยังต้องเป็นที่เกี่ยวกับโลกียะกันก่อนด้วยชีวิตเรายังต้องสัมผัสกับเรื่องโลกย์ๆ ปรัชญาชีวิตเป็นหนังสือชี้นำชีวิตของวัยรุ่นมาตั้งแต่ยุคแสวงหาเมื่อสัก 40-50 ปีที่แล้วและยังคงเป็นคัมภีร์จิตใจของใครหลายคนจวบจนทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายในแง่ที่แบ่งเป็นตอนย่อยๆ ตามแง่มุมของชีวิต ความรัก การแต่งงาน แต่แน่นอนว่าด้วยความเป็นงานเขียนเชิงปรัชญาและด้วยการเขียนที่ใช้ความเปรียบ มีการใช้วรรณศิลป์ที่แพรวพราว หลายครั้งทำให้เราต้องหยุดขบความเปรียบและความหมายจากข้อความงดงามเหล่านั้นเพื่อเข้าใจความหมายบางอย่างในชีวิต หนังสือเล่มนี้แปลได้อย่างยอดเยี่ยมโดยอาจารย์ระวี ภาวิไล ผู้ล่วงลับ
โลกของโซฟี, โยสไตน์ กอร์เดอร์
บางคนบอกว่าอ่านยาก บางคนบอกว่าอ่านง่าย เวลาที่มีคนสนใจปรัชญา อยากจะขบคิดเข้าใจโลกมากขึ้น โลกของโซฟี เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่มักจะถูกพูดถึง โลกของโซฟีพาเราท่องไปในประวัติศาสตร์ทางความคิดอันยาวนานของโลกตะวันตก และแน่นอนว่าโลกทางปรัชญาคือดินแดนของการขบคิด การท้าทายความคิดของเรา งานเขียนเล่มนี้เป็นเหมือนนำเอาภาคปฏิบัติของวิชาปรัชญาที่แสนยากมาสู่เรื่องเล่าของโซฟี เด็กหญิงขี้สงสัยที่ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของเราและมนุษยชาติที่ไม่เคยหยุดตั้งคำถาม
คู่มือมนุษย์, พุทธทาส
คำสอนของท่านพุทธทาสค่อนข้างเป็นคำสอนเชิงปฏิบัติ (practical) ท่านพุทธทาสเน้นเรื่องการที่ใครก็สามารถเข้าถึงแก่นหรือภาวะตามคำสอนของพุทธศาสนาได้ด้วยตัวเอง ผ่านการปฏิบัติและการใช้ชีวิตประจำวัน พุทธศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าการจะต้องไปวัด ไปประกอบพิธีกรรม จุดหมายของพระศาสนาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของนักบวชหรือเป็นสิ่งที่พ้นโลกและไกลตัวเราออกไป คู่มือมนุษย์ ถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจแนวทางพุทธศาสนาของท่านพุทธทาส
สันติสุขทุกลมหายใจ: วิธีปฏิบัติสำหรับคนไม่มีเวลา, ติช นัท ฮันห์
ชีวิตเรา ไม่ยึดอยู่กับอดีตก็กังวลกับอนาคต คำว่าอดีตและอนาคตดูเหมือนไกล แต่เอาเข้าจริงใจเราแทบไม่เคยอยู่กับปัจจุบันเลย การอยู่กับปัจจุบันจึงดูเป็นแก่นที่แสนเรียบง่ายแต่ทำได้ยากมากที่สุด ท่านติช นัท ฮันห์ ดูจะเข้าใจปัญหานี้และเข้าใจว่าชีวิตสมัยใหม่นั้นแสนยุ่งเหยิง สันติสุขทุกลมหายใจ: วิธีปฏิบัติสำหรับคนไม่มีเวลา จึงเป็นคู่มือการรักษาความสงบ การหาความเบิกบานในระหว่างก้าวของชีวิตที่เร่งรีบ
พิชัยสงครามซุนจื่อ, ซุนวู
ชีวิตใช่ว่าจะหาศานติแต่อย่างเดียว เราเองก็ต้องการความเจริญก้าวหน้า มีการแข่งขัน และบางครั้งก็มีความขัดแย้งที่ต้องเผชิญ และแน่นอนว่า เราก็ต้องการแม่ทัพกุนซือ พิชัยสงครามซุนจื่อ เป็นตำราพิชัยยุทธเก่าแก่ของจีน จริงอยู่ว่าตำรานี้ว่าด้วยการสงครามระหว่างรัฐแต่แกนหนึ่งของการสู้รบคือการก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ในโลกสมัยใหม่ เราเองก็กำลังสู้รบดิ้นรนกันอยู่ การได้ภูมิปัญญาเก่าแก่ในการปกครองอาณาจักรอันไพศาล การมีกุนซือช่วยให้เราเอาชนะความกลัว ความไม่แน่ใจ และช่วยนำเราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
คัมภีร์ห้าห่วง, มิยาโมโต้ มูซาชิ
เราจะเป็นนักรบที่ฟาดฟันกับชีวิตได้อย่างเฉียบคมและเยียบเย็นได้อย่างไร มิยาโมโต้ มูซาชิ เป็นซามูไรผู้ไม่เคยแพ้และอุทิศทั้งชีวิตเพื่อการต่อสู้และขัดเกลาตัวเอง จนกระทั่งอายุได้ 50 ปี จึงได้เขียน คัมภีร์ห้าห่วง ขึ้น คัมภีร์ห้าห่วงประกอบขึ้นด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และความว่างเปล่า แต่ละบทพูดถึงแง่มุมต่างๆ ในการต่อสู้และฝึกฝนเพื่อเอาชนะศัตรู งานเขียนนี้ไม่ได้เขียนขึ้นสำหรับนักรบหรือนักปกครองเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับคนที่แสวงหาเส้นทางสู่ความสำเร็จและการฝึกฝนตนเองด้วย
ประวัติย่อของกาลเวลา, สตีเฟน ฮอว์กิง
ไม่เชิงว่าเป็นหนังสือชี้นำชีวิต แต่งานแนวฟิสิกส์ของฮอว์กิงทำให้เราเห็นภาพรวมของจักรวาลอันยิ่งใหญ่ และห้วงเวลาอันเป็นอนันต์ ทำให้เราพบว่า เราเองเป็นเหมือนกับฝุ่นแสนจิ๋วที่ปลิวขึ้นมาและสลายหายตัวไปท่ามกลางความไม่รู้จบของกาลเวลานี้ บางครั้งการเข้าใจความไพศาลและปริศนาของจักรวาลอันลี้ลับ อาจทำให้เรากลับมาเข้าใจตัวเองขึ้นได้บ้าง หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ทำให้ฮอว์กิงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากความสามารถที่ไม่ใช่แค่เชิงวิชาการ แต่ด้วยความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องยุ่งยากให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น