ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวในประเทศไทยแล้ว ยังมีปัญหาอีกมากที่พวกเขาต้องเผชิญ ไม่นับปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาเรียกร้องจากผู้มีอำนาจ ก็ยังมีการถูกคุกคามด้านสวัสดิภาพอย่างที่ปรากฏในนิทรรศการ ‘FOR THOSE WHO DIED TRYING’ และมันก็ยิ่งลำบากกว่าเมื่อนักเคลื่อนไหวเหล่านั้นเป็น ‘ผู้หญิง’ ที่มักจะต้องเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามทางเพศอยู่บ่อยครั้ง
เนื่องในวันสตรีสากล คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดงานเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อยกย่องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งที่เสียชีวิต และที่กำลังทำงานอย่างหนัก และเพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และยกระดับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
ในงานนี้ มี ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ 8 คน ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ พวกเธอเป็นใคร ทำไมถึงต้องเคลื่อนไหว และการเคลื่อนไหวของพวกเธอในฐานะผู้หญิงหนึ่งคนต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง เรารวบรวมมาไว้ในนี้แล้ว
ภิกษุณีธัมมนันทาเถรี
“พระพุทธเจ้าทรงงดงาม ทรงประกาศชัดเจนว่าผู้หญิงมีความสามารถในการบรรลุธรรมได้เช่นกัน สามารถบรรลุโสดาบันขั้นอรหันต์ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย นอกเหนือจากท้าทายระบบวรรณะแล้ว พระพุทธเจ้ายังท้าทายเรื่องศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาปฏิบัติธรรมได้อย่างเป็นระบบ
“ช่วงที่บวชกลับมาใหม่ จะโดนโจมตีอย่างมาก แต่เราก็ไม่หวั่นไหว ยึดเพียงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเรามั่นคงในธรรมะ ธรรมะก็จะรักษาเราได้ และหากเราเชื่อในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ก็จะปกป้องเราให้พ้นจากภัยพาลทั้งหลายได้
“เรื่องที่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิง ความรุนแรง ความทุกข์ยากของคน ความไม่ยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด เราจะทำอย่างไรที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ โดยที่ตัวเราเองยังคงรักษาความสงบในจิตใจของเราเอาไว้ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่”
คะติมะ หลีจ๊ะ
หญิงชนเผ่าลีซู ชนเผ่าในชุมชนสันป่าเหียง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ถูกถือว่าเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ของรัฐ ทั้งที่บรรพบุรุษได้อาศัยผืนดินแห่งนี้มาอย่างยาวนาน พ่อของเธอถูกผู้นำท้องถิ่นและพวกยิงเสียชีวิต ด้วยสาเหตุจากปัญหาเรื่องที่ดินและอคติทางชาติพันธ์
“รางวัลในวันนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เราทำหน้าที่ให้ดีมากกว่าเดิม เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยพี่น้อง โดยเฉพาะชนเผ่าชาติพันธุ์ในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง”
แวววรินทร์ บวงเงิน
ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหลัดลำปาง
“ในพื้นที่ปัจจุบันยังมีปัญหาความขัดแย้งกรณีการคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ พื้นที่กว่า 1,500 ไร่อยู่ และยังมีคดีที่ถูกฟ้อง และเป็นโจทย์ยื่นฟ้องเองหลายคดี ล่าสุดทางกลุ่มยื่นขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประทานบัตร เนื่องจากการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการต่อสู้นี้ยาวนานมากว่า 7 ปีแล้ว
“ชาวบ้านผ่านการถูกดำเนินคดีมาเยอะ พอเจออะไรข้างหน้า เราก็จะต่อสู้ ปรับตามสถานการณ์เฉพาะหน้าไป พร้อมที่จะเผชิญปัญหา เพราะความจริงก็คือความจริง เรามาแค่เรียกร้องความเป็นธรรมของเรา ไม่ได้เกเร หรือหาเรื่องใคร ที่ผ่านมาเราถูกคุกคามหลายรูปแบบ ทั้งการถูกสะกดรอยติดตามตัว การใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาคุกคาม การขู่ฆ่า และการขู่จะอุ้มหายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงกรณีของ ‘แววรินทร์ บัวเงิน’ ที่ถูกฟ้องร้องและถูกดำเนินคดีคดีอาญาหลายคดีในปัจจุบัน”
นงนุช นบนอบ
ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่
“รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างให้ผู้หญิงในพื้นที่อื่นๆ ได้ลุกขึ้นสู้ ผู้หญิงในเครือข่ายฯของเรามีความกล้าที่จะพูดและทำ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวหน้าที่ไปคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 1100 ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ และเป็นที่พักพิงของสัตว์อนุรักษ์หลายสายพันธ์ รวมไปถึงอู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน
“ทุกคนก้าวพ้นความหวาดกลัว ออกมาต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้านี้ พร้อมเสนอทางเลือกเรื่องพลังงานหมุนเวียนแทน เพราะนอกจากพื้นที่กระบี่แล้ว หากมีการสร้างโรงฟ้า ความเสียหายยังจะลุกลามไปอีกหลายพื้นที่ที่มีระบบนิเวศน์เดียวกันด้วย”
ณัฐพร อาจหาญ
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิพลเมืองและการเมืองจากอีสาน
“เมื่อไม่มีทางเลือกชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นสู้ ถึงมันจะเป็นความเสี่ยง และต้องใช้พลังของประชาชนอย่างมากในสถานการณ์แบบนี้ เพราะถ้าไม่ทำชาวบ้านต้องเสียสิทธิ มันก็ต้องยอมแลก ถ้าไม่แลกเราคงต้องโดนละเมิดมากกว่านี้
“รัฐใช้วิธีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้เราหยุดพูด เพื่อให้เรากลัว แม้จะพูดเพื่อสิทธิของเราก็กลายเป็นความผิดแต่ปัจจุบันขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมได้ขยายไปในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้จากรางวัลที่มอบให้กับ บุคคลและองค์กรที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก การต่อสู้ยังอีกยาวไกล เราคงต้องสู้ต่อไป
“เราไปทุกที่เพื่อขอความเป็นธรรม ทั้งรัฐบาล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ เรานำเสนองานวิจัยของนักวิชาการท้องถิ่นที่พบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจะทำให้เกิดมลพิษ จนวันนี้เรายังไม่เห็นรายงาน EIA ของการไฟฟ้า วันนี้ถึงแม้ ครม. ยังไม่มีมติให้สร้างโรงไฟฟ้าเทพา แต่บริษัทเอกชนได้เข้ามาสร้างท่าเทียบเรือแล้ว การตอกเสาเข็มลงทะเลทำให้น้ำในทะเลขุ่น ชาวบ้านทำประมงชายฝั่งไม่ได้นานนับเดือน โดยไม่เคยมีการชดเชยเยียวยาใดๆ”
รอกีเย๊าะ สะมะแอ
กลุ่มสตรีเครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา
“การต่อสู้ของเรา ลูกๆ ญาติๆ ก็เตือน แต่หัวใจของเรามันด้านไปแล้ว ไม่กลัวอะไรแล้ว ใจมันมาของมันเอง ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว ง่ายๆก็คือ ของๆ เรา เราก็หวง เราต้องต่อสู้ปกป้องสิทธิของเรา เพื่อบ้านเกิดให้ลูกหลานเรา
“สิ่งที่เราได้มันยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่แค่การที่เราช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่ง มันไม่ได้ช่วยเขาแค่คนเดียว แต่ยังเป็นการไปช่วยครอบครัวเขาด้วย เมื่อเขาได้รับกำลังใจตรงนี้แล้วรู้สึกดีก็อยากให้เขาส่งต่อมันไปให้คนอื่นๆ”
พนา เจริญสุข
ผู้หญิงผู้ปกป้องสิทธิของผู้หญิงจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ
“บางทีเขาแค่พูดว่าเขาดีใจหรือเขาดีขึ้น แค่นี้เรารู้สึกดี ผู้หญิงที่ประสบปัญหาถูกล่วงละเมิดจะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เช่นถ้าเขาท้อง ถ้าไม่ฆ่าตัวตายก็ต้องหนีไป ใจเราอยากช่วยเขา เราอาจเคยผ่านพ้น เคยเป็นแบบนั้น แต่ไม่มีใครฟังเราเลย เราก็บอกเล่าเรื่องของเราให้เขารู้จักสิทธิของเขาให้เขากล้าขึ้นมาเพื่อต่อสู้ พยายามให้กำลังใจว่าเขาสามารถทำได้แค่ต้องใช้เวลา”
เจษฎา แต้สมบัติ
มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (The Foundation of Transgender Alliance for Human Rights)
“ ‘เครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน’ มีเป้าหมายในการดำเนินงานคือสนับสนุนให้กะเทยในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อรวบรวมข้อมูลและผลิตชุดข้อมูลความรู้ด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกะเทยในสังคมไทยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพคนทำงานกับกลุ่มกะเทยในสังคมไทยพร้อมทั้งรณรงค์สร้างความเข้าใจในตัวตนและสิทธิของกะเทย และสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมอื่นๆเพื่อพัฒนาสังคมไทย
“การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม และการขับเคลื่อนนโยบายให้มีความละเอียดอ่อนในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี เป็นการทำงานในระยะยาวและมีความจำเป็นที่ต้องทำงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่การเปลี่ยนแปลงที่เราทุกคนสามารถเริ่มทำได้ คือการปรับและเปลี่ยนจากภายในตัวเราเอง เพียงแค่คุณไม่ตัดสินคนที่แตกต่างและเปิดใจให้เห็นถึงความหลากหลาย คุณจะพบว่าบนโลกไปนี้ ไม่ได้มีเพียงหญิงและชาย แต่เราดำรงอยู่บนความหลากหลายทางเพศ ที่มนุษย์ทุกคนต่างมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมเสมอเหมือนกัน”