‘สิทธิมนุษยชน’ ก็เหมือนกับอากาศ คือจำเป็นต่อชีวิต รู้ว่ามีอยู่ แต่ก็จับต้องไม่ได้ และหากไม่สังเกตดูดีๆ ว่ามีผู้กำลังมาช่วงชิงเอาไปอยู่ กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็อาจจะเหลือเพียงอากาศก้อนเล็กๆ ให้เราได้หายใจ
สิทธิมนุษยชนยังมักถูกจับให้อยู่ขั้วตรงข้ามกับ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ จึงไม่ต้องแปลกใจอะไร ว่าตลอด 3 ปีเศษที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจ อากาศที่เคยมีให้เราได้สูดหายใจชนิดคล่องปอด จะถูกแย่งชิงไปเรื่อยๆ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อย-ความมั่นคงของชาติ
ดังนั้น เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ปฏิกิริยาจาก อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงออกมาในรูปแบบของ ‘ความประหลาดใจ’ เพราะเธอมองว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลชุดปัจจุบันได้จำกัดสิทธิของประชาชนลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงความคิดเห็น
ในโอกาสที่วันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปี ตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล The MATTER จึงขอถือโอกาสนี้ ไปพูดคุยกับ กสม.หญิงรายนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า ในเวลานี้ ประเทศไทยยังเหลืออากาศ ซึ่งเป็นอุปมาอุปไมยของ ‘สิทธิมนุษยชน’ ให้หายใจ มากน้อยแค่ไหน ..ใกล้ที่จะหมดลมหายใจกันแล้วหรือยัง?
ครม. ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ คุณอังคณาคิดว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นหรือไม่
รู้สึกประหลาดใจ ไม่คิดว่า ครม. จะประกาศเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันก็มีการละเมิดสิทธิกันอยู่ แต่ถือว่าการประกาศดังกล่าวเป็นการแสดงเจตจำนงว่ารัฐจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็ดีใจ แต่มันก็ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับหลักสากลมันคนละเรื่อง มันไม่เหมือนกัน
เคยถามเจ้าหน้าที่รัฐ ที่บอกว่า ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ มันจริงไหม เขาก็บอกว่าจริง แล้วถ้ามันจริงทำไมต้องแจ้งข้อกล่าวหา ก็ไม่มีใครตอบได้ เราก็รู้สึกว่าวิธีการแบบนี้ คือฟ้อง ๆ ไปก่อนแล้วให้ศาลช่วยตัดสิน คนที่ถูกฟ้องมันลำบาก ทำให้มีประวัติ บางคนห้ามไปต่างประเทศ ห้ามแสดงความคิดเห็น มันเกิดผลกระทบขึ้นมาเยอะ แล้วมันกระทบความเป็นมนุษย์
เวลานายกฯไปเมืองนอก ก็มักจะชี้แจงว่าการจับกุมดำเนินคดีต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน
หลักการสิทธิมนุษยชนมันกว้างกว่ากฎหมาย มีหลายเรื่องที่กฎหมายไม่มี แต่หลักการสิทธิมนุษยชนมันคุ้มครอง และถ้ามีกฎหมายใดไปละเมิดหลักการนี้ ก็ต้องแก้ไขด้วย ฉะนั้น ถ้าเราจะบอกว่าต้องทำตามหลักกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่โห ทุกวันนี้มีกฎหมายใหม่ ๆ ออกมาห้ามโน่นห้ามนี่เต็มไปหมด
จนถึงวันหนึ่ง เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เราจะอยู่กันต่อไปแบบไม่มีสิทธิอะไรเลยเหรอ
สามปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านสิทธิดีขึ้นหรือแย่ลง ระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือนมีความแตกต่างกันหรือไม่
ในฐานะที่เรียกร้องความยุติธรรมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเลือกตั้ง จะมีสิ่งหนึ่งแทบไม่แตกต่างกัน คือ ‘วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล’ (impunity) ไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยต้องรับผิด เพียงแต่ในรัฐบาลเลือกตั้งมันจะมีกลไกที่เราตรวจสอบรัฐได้มากกว่า เรามีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นได้มากกว่า โดยไม่มีใครเดินมาบอกว่า พูดแบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐไม่สบายใจนะ
ดังนั้น พอรัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ คุณอังคณาก็เลยแปลกใจ เพราะแค่วิจารณ์รัฐบาลก็ไม่ได้
ใช่ อย่างเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา แค่จะไปยื่นหนังสือกับนายกฯ ก็ถูกจับ แต่พี่ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) วิ่ง ทำไมไม่ถูกจับ ทั้ง ๆ ที่มีแม่ยกรอรับเยอะแยะ มันทำให้เกิดคำถามว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน อะไรเป็นเส้นแบ่งว่าทำได้-ทำไม่ได้
เพราะพี่ตูนวิ่งไม่ใช่การเมือง?
แล้วนิยามของคำว่า ‘การเมือง’ คืออะไร เพราะเครือข่ายที่คัดค้านโรงไฟฟ้าเทพาก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ไม่ได้อยากจะไล่นายกฯ แค่อยากมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันก็เกิดคำถามเหมือนกันนะ ฝ่านคัดค้านจะไปยื่นหนังสือก็ถูกจับ แต่ฝ่ายสนับสนุนได้เข้าไปยื่นหนังสือถึงค่ายทหารได้
ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะการเลือกปฏิบัติก็เป็นการละเมิดสิทธิแบบหนึ่ง
เราเคยเจอกรณีหนึ่ง เรื่องการทำเหมือง ชาวบ้านที่คัดค้านใส่เสื้อเขียว เขียนว่าต่อต้าน พอไปเจอเจ้าหน้าที่รัฐ เขาบอกให้ถอดออก ทั้งที่ไม่ใช่ถ้อยคำหยาบคาย แค่ใส่เสื้อเชิงสัญลักษณ์ แต่ฝ่ายสนับสนุนใส่เสื้อสีชมพู เขียนว่าสนับสนุน กลับเข้าได้ ไม่ต้องถอด คือตอนนี้เรามาถึง wording กันแล้วหรือว่า ถ้าสนับสนุน ทำได้ตามสิทธิ แต่ถ้าคัดค้าน ทำไม่ได้ ต้องถูกลดทอนสิทธิ
กสม. ได้เข้าไปสอบการละเมิดสิทธิในค่ายทหารหลาย ๆ กรณี คนไทยชอบมองว่าค่ายทหารเป็นที่ๆ ตรวจสอบได้ยาก ความเชื่อนี้จริงหรือไม่
ที่ผ่านมา เราเคยเข้าไปตรวจสอบการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ ก็ยอมรับว่าเข้าถึงข้อมูลได้ไม่ 100% หรอก เพราะทหารจะมีวัฒนธรรมนอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตให้พูด ก็จะพูดไม่ได้ เราก็เลยต้องไปหาข้อมูลจากแพทย์หรือญาติแทน แต่ กสม. ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จะบอกว่าเรื่องนี้ถูกหรือผิด เรามีหน้าที่แค่ให้ความเห็นตามหลักการสิทธิมนุษยชน แล้วก็จะมีข้อเสนอแนะต่างๆ
เรื่องการเสียชีวิตในค่ายทหาร จริงๆ มันมีระเบียบวิธีการซ่อมอยู่ ซึ่งดีในระดับหนึ่ง คือไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัว ให้อยู่ห่างกี่เมตร แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันก็มีวิธีให้ไม่ถูกเนื้อถูกตัวแต่เกิดผลกระทบตามมาด้วย จึงควรหาวิธีประเมินว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าอยู่ในสภาวะคับขันแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียตามมา
คนที่เสียชีวิตจากการฝึกทหาร เท่าที่พบคือมักจะมีประวัติว่าคนนนั้นๆ ขัดคำสั่ง ซึ่งก็ต้องไปดูต่อว่า ขัดคำสั่งอย่างไร เขามีสิทธิจะโต้แย้งไหม หากเห็นว่าคำสั่งนั้น ๆ ไม่ถูกต้อง
จริง ๆ เราอยากเห็นการปฏิรูปทหาร ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถให้ความเห็นผู้บังคับบัญชาได้ เช่น ถ้าถูกซ่อมจนทนไม่ไหว มีโอกาสไหมที่เขาจะบอกว่า ไม่ไหวแล้ว ขอหยุด ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องเสียใจ
สิทธิในร่างกาย เรื่องสามารถอนุญาตให้คนอื่นมาละเมิดได้ไหม หรือจริง ๆ แล้วมันจะมีสิทธิบางอย่าง ที่ห้ามละเมิดโดดเด็ดขาด
คือ ‘สิทธิในชีวิต’ ไม่ว่าจะถูกทรมานหรือทำให้หายไป เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าใครก็จะมาละเมิดไม่ได้ แม้แต่ในสภาวะสงคราม ซึ่งการทรมาน ไม่ได้หมายความแต่เรื่องทางกายเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงเรื่องทางใจ ทำให้เสียใจ ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
จากประสบการณ์ส่วนตัว คิดว่าคอนเซ็ปท์เรื่องสิทธิมนุษยชนอะไรที่คนไทยยังเข้าใจน้อย เข้าใจผิด หรือน่าจะเข้าใจให้มากขึ้นกว่านี้
คือวันนี้ มันมีคำว่า ‘ความมั่นคง’ เข้ามา ก็ต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของชาติกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพราะบางทีเราก็ชอบอ้างความมั่นคง ซึ่งมันอธิบายยากว่าอะไรคือความมั่นคง เช่น แค่คน ๆ เดียวโพสต์ข้อความบนเน็ต ก็ถูกฟ้องมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง ถามว่าคนหนึ่งคนจะทำได้ขนาดนั้นเชียวหรือ มันไม่ได้มีกองกำลังหรือขบวนการอะไรอยู่เบื้องหลังซักหน่อย แค่พูดจาไม่เข้าหูคนเท่านั้น จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ขนาดนั้นเลยหรือ บางทีเราก็ต้องกลับมาตั้งคำถาม
เหมือนเอาความมั่นคงมากลบทุกสิ่ง
มันเลยกลายเป็นการทำให้คนกลัว แต่จะไม่มีประโยชน์ หากวันหนึ่งทุกคนกลัว ไม่กล้าพูด โอเค มันอาจจะทำให้ปกครองง่าย แต่จะไม่ทำให้เกิดการพัฒนา ที่สำคัญความกลัวนั้นมันจะไปกั้นบางอย่าง จนอาจทำให้พร้อมจะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวกว่า
ยกตัวอย่างภรรยาที่ลุกขึ้นมาฆ่าสามี หลายกรณีก็เกิดจากการถูกทุบตีจนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว มันไม่มีทางออก หนีจากตรงนั้นไม่ได้ พอเหยื่อถูกกดมาก ๆ วันหนึ่งเลยลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำ
คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเอ็นจีโอ หรือ กสม. เอง ดูเหมือนจะต้นทุนต่ำพอสมควร มันเกิดจากอะไร
เพราะคนมักจะมองว่าคนทำงานด้านสิทธิฯ จะต้องต่อต้านรัฐ ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าไม่จริงเสมอไป เอ็นจีโอก็ต้องพิสูจน์ว่าไม่ใช่แค่จะด่าหรือวิจารณ์รัฐอย่างเดียว ต้องมีข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ปัญหาด้วย ขณะที่ กสม. แม้จะได้งบจากรัฐ แต่ก็เป็นองค์กรอิสระ ก็มีหน้าที่เสนอแนะข้อเสนอต่างๆ อย่างมีอิสระ จึงอยากให้รัฐมองเป็นกัลยาณมิตร ขอข้อมูลอะไรไป หากให้ได้ก็ควรให้ เพื่อให้การทำรายงานต่างๆ มีข้อมูลครบถ้วน และที่ผ่านมา หากรัฐทำดี กสม.เองก็ไม่ควรละเลยที่จะชื่นชม
กสม. เองก็เหมือนถูกขนาบ 2 ด้าน คือ รัฐก็อคติ ประชาชนก็รู้สึกว่าพึ่งพาไม่ได้
ใช่แล้ว คือ กสม. ไม่มีอำนาจไปสั่งรัฐ ทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะ และแม้จะไปขึ้นศาลช่วยชาวบ้านบ่อย แต่เราก็ต้องยืนอยู่ตรงกลาง ซึ่งรัฐก็คาดหวังว่าเราจะปกป้องรัฐ ด้านเอ็นจีโอต่างๆ ก็มองว่าเราไม่มีน้ำยา หลายคนถึงขั้นประกาศว่าจะไม่ทำงานกับ กสม. ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ทำงาน ใช้งบจากภาษีของประชาชน จึงต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน
แต่การตรวจสอบ กสม. อยากให้มีข้อเสนอแนะด้วยว่าอยากให้เราปรับปรุงอะไร จะบอกว่า กสม.ไม่มีน้ำยา ทำอะไรไม่ได้ รับใช้ คสช. แล้วยังไงต่อ
เคยพูดว่าในช่วงชีวิตนี้อาจจะไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย แต่ถ้าสมมุติมันเปลี่ยนได้ อยากเห็นอะไรเปลี่ยนมากที่สุด ในโอกาสที่ ครม. ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ
สิ่งที่อยากให้เปลี่ยนเร็วที่สุด คือขอให้ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็นมากขึ้น เพราะถ้าเรายังไม่มีเสรีภาพในเรื่องนี้เลย ก็ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องอื่นๆ แล้ว
ทุกวันนี้เด็กๆ หลายคนพูดว่า ไม่อยากอยู่แล้ว หนีไปประเทศอื่นดีกว่า แต่คุณจะหนีไปถึงเมื่อไรล่ะ อยากให้คนรุ่นใหม่อดทนที่จะอยู่ เพื่อทำให้ประเทศมันดีขึ้น อย่าเพิ่งหมดหวัง ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวลานี้ หากเทียบกับเมื่อก่อน สมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันดีขึ้นมามาก อยากจะให้มาสานต่อสิ่งที่เราทำ สร้างระบบที่ดี เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อๆ ไป
Illustration by. Namsai Supavong