ในมิติสากล…
ตั้งแต่ค.ศ. 1975 องค์การสหประชาชาติประกาศให้ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งเกือบทั่วโลกเค้าเฉลิมฉลองกันมานานแล้วตั้งแต่ 1910’s
ที่เลือกวันที่ 8 มีนาก็เพื่อรำลึกถึงการลุกขึ้นสู้ของกรรมาชีพหญิงในโรงงานทอผ้าที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต่อการกดขี่ขูดรีดเอาเปรียบของนายจ้าง ที่ให้ค่าแรงราคาถูก ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน และให้ภาระงานเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เนื่องจากพวกเธอถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลายคนถูกจับกุม ซ้ำยังมีผู้ลอบวางเพลิงโรงงานที่พวกเธอชุมนุม จนเหยียบกันเองเพื่อหนีตาย รายงานว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมหญิงเสียชีวิตไปจำนวน 119 รายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 และต่อมา ค.ศ. 1907 กลุ่มกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าอีกเช่นกันในนิวยอร์ก (บ้างก็ว่า 1909 ในชิคาโก) ได้หมุดหมายวันที่ 8 มีนา นัดหยุดงาน รวมตัวชุมนุมต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะไม่สามารถอดทนต่อการถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสได้อีกต่อไป
เพราะพวกเธอต้องก้มหน้าก้มตาทำงานวันละ 16-17 ชั่วโมง
ไม่มีทั้งวันหยุดและไม่มีประกันแรงงานใดๆ
หากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก แต่ได้ค่าแรงน้อยนิด
สุขภาพร่างกายพวกเธอทรุดโทรม เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย และอายุสั้น
แม้เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จอีกเช่นกัน กลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับ แต่ก็สามารถสั่นคลอนอำนาจพวกนายทุนและจุดประกายให้ผู้หญิงหลายมุมของโลกตระหนักถึงสถานะภาพทางเพศของตนเอง และการกดขี่ทางเพศหลังปฎิวัติอุตสาหกรรม พวกเธอสนับสนุนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้
กว่าการต่อสู้ของแรงงานสตรีจะประสบผลสำเร็จก็ ค.ศ. 1910 เมื่อตัวแทนกรรมกรผู้หญิงจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาแรงงานสตรีครั้งที่ 2 ที่เดนมาร์ก ประกาศรับรองข้อเรียกร้องให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน ปรับค่าแรงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย คุ้มครองสวัสดิการผู้หญิงและแรงงานเด็ก และกำหนดให้มีวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของสาวกรรมาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวโรงงานทอผ้าในนิวยอร์ก
และในปีแรกแห่งการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ค.ศ. 1911
ตามเมืองต่างๆ ไปจนถึงหมู่บ้านทั่วยุโรป เช่นเยอรมนีและออสเตรีย
ผู้หญิงชนชั้นใช้แรงงานต่างออกมาพบปะชุมนุมกันในที่สาธารณะ
ขณะที่ผู้ชายอยู่บ้านกับลูกๆ
วันสตรีสากลยังคงถูกนำมาเป็นโอกาสอันดีในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม เช่นชาวชิลีใช้วันสตรีสากลเพื่อแสดงออกว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับเผด็จการทหาร Pinochet ที่กดขี่ประชาชนมาตลอดตั้งแต่ยึดอำนาจ และเมื่อค.ศ. 2006 ชาวอิหร่านจำนวนหนึ่งอาศัยวันสตรีสากล เดินขบวนเรียกร้องให้ยุติการแต่งงานผัวเดียวหลายเมีย สิทธิในการหย่า สิทธิอันเท่าเทียมในกฎหมายครอบครัว และการได้เป็นพยานในศาล นำมาซึ่งการสลายการชุมนุม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำลังอาสาสมัครเข้าทุบตีด้วยกระบองสั้น ขว้างปาถังขยะ และใช้แก๊สน้ำตา
ในมิติไม่สากล…
คือความไม่สากลในสากล… คืออะไร งงในงง เอาเข้าจริง วันสตรีสากลเองก็มีหลายวันขึ้นอยู่กับว่าชาติใดเป็นผู้กำหนด หรือฝักใฝ่อุดมการณ์ฝ่ายใด หรือใช้ปฎิทินใด ปฎิทินแบบ Julian หรือ Gregorian
ขณะที่หลายคนเข้าใจว่า 8 มีนาคม 1907 คือวันเริ่มอย่างเป็นทางการของวันสตรีสากล ที่ได้จัดงานรำลึก 50 ปี การต่อสู้และโศกนาฏกรรมของกรรมาชีพหญิง ค.ศ. 1857 Temma Kaplan นักวิจัยเรื่องพิธีกรรมและวันหยุดของกลุ่มสังคมนิยม เสนอว่าการเคลื่อนไหวของสาวโรงงานนิวยอร์กปี 1857 นี้ อันที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นหรอก เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างช่วงสงครามเย็นนี้เอง ในค.ศ. 1955 เพื่อให้วันสตรีสากลถูกแยกออกมาจากประวัติศาสตร์โซเวียต เพื่อให้มันมีความเป็นสากลมากขึ้น ให้แลดูว่ามันเกิดขึ้นด้วยตัวเอง มีความเก่าแก่กว่า Bolshevism
ซ้ำปี 1857 ก็ยังเป็นปีเกิดของ Clara Zetkin
นักทฤษฎีสายมาร์กซิสต์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี
ที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหววันสตรีสากล
และอันที่จริง งานวันสตรีสากลจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 1909 ณ สหรัฐอเมริกา เพื่อเคลื่อนไหวให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ ‘May Day’ แรกเริ่มเดิมที วันสตรีสากลถูกกำหนดให้เป็นวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันหยุดพอดี จะได้ไม่ต้องหยุดงานในวันทำงาน ขณะเดียวกันนักสังคมนิยมอเมริกันก็ได้กำหนด ‘วันสตรีแห่งชาติ’ (ไม่สากล) ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภา และเริ่มฉลองเมื่ออาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 1909
ต่อมาในปี 1911 เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 40 ปีของ ‘Paris Commune’ ซึ่งเป็นรัฐบาลสังคมนิยม ปกครองระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 28 พฤษภาคม 1871 จึงเริ่มมีงานสตรีสากล 18 มีนาคมขึ้นในยุโรปเพื่อเผยแพร่ความรู้ว่าด้วยความจำเป็นของสิทธิสตรี สิทธิพลเมืองของผู้หญิงในการเลือกตั้ง ขนานไปกับสหรัฐฯ ที่ยังคงนิยามวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันสตรีสากล แต่แม้ว่าจะคนละวัน กลุ่มสังคมนิยมของทั้งยุโรปและสหรัฐก็มีหลักชัยเดียวกันคือ ‘สิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงในสหรัฐฯและยุโรป’ ทั้งสองกลุ่มต่างเดินขบวนเพื่อยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาลในประเด็นเดียวกัน
กำเนิดวันสตรีสากลสืบเนื่องมาจากในปลายศตวรรษที่ 19 กลุ่มมาร์กซิสต์ และอนาธิปไตยได้พยายามสถาปนาวันสำคัญที่เป็นวันหยุดร่วมกันและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา กลุ่มฝ่ายซ้ายในสเปนก็เลือกเอาวันปฎิวัติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคมเป็นเทศกาลสำคัญ เนื่องจากเป็นวันปฎิวัติครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ต้องรำลึกถึง (ก่อนจะมีการปฎิวัติรัสเซีย) กลุ่มสังคมนิยมจึงเลือก Bastille Day นี้เป็นวันประชุม 20 ประเทศเพื่อก่อตั้ง ‘สมาคมคนแรงงานสากลที่ 2 (The Second International Working Man’s Association ชื่อเล่นคือ Second International)’ ในค.ศ. 1889 ก่อนที่จะสลายตัวในค.ศ. 1916 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสานต่อเจตนารมณ์สมาคมที่ 1 (First International, ค.ศ. 1864–1876)
ในวันประชุมก่อตั้ง Second International หนึ่งในผู้เข้าร่วมคือ Clara Zetkin (1857 –1933) นักทฤษฎีนักเคลื่อนไหวสายสังคมนิยมชาวเยอรมัน เธออุทิศตัวตนอย่างหนักเพื่อเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ สวัสดิการคนงานหญิง ตลอดช่วงปี 1890-1915 ไม่เพียงเธอเป็นบรรณาธิการให้หนังสือพิมพ์เพื่อผู้หญิง Gleichheit สังกัดพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) เธอยังหาสมัครพรรคพวกผู้หญิงสังคมนิยมในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ก่อน 1907 เธอมีอิทธิพลอย่างมากกับหญิงชนชั้นแรงงาน ทว่าไม่เป็นที่รักของบรรดานักสตรีนิยมทั้งภายในและนอกพรรคนัก
และในงานประชุมสมัชชาแรงงานสตรีครั้งที่ 2 ค.ศ. 1910
โดยสมาคมคนแรงงานสากลที่ 2 เพื่อรวมตัวแทนองค์กรสตรี
ในพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ที่กล่าวกันว่าได้สถาปนาวันสตรีสากลนั้น
ก็ไม่ได้กำหนดวันที่ที่ชัดเจน
เนื่องจากเข้าสู่สภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 กิจกรรม ชุมนุม เดินขบวน แสดงละครของพวกเธอ ใน International Woman’s Day เคลื่อนไหวในประเด็นคล้ายคลึงกัน เช่นสวัสดิการแรงงาน การควบคุมราคาสินค้าอาหาร ค่าแรงที่เท่าเทียมกับผู้ชายซึ่งหมายถึงสิทธิในการเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากสงครามทำให้สินค้าบริโภคราคาสูงขึ้น ผู้หญิงในนิวยอร์กรวมตัวกันประท้วงเรื่องราคาอาหารที่สูงขึ้น จนนำไปสู่การควบคุมราคา โดยบอกว่าเป็นการสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิที่จะดูแลครอบครัว ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ยุติสงคราม นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวสมัครสมานสามัคคีของผู้หญิง เพราะเชื่อว่าต่างเผชิญปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยอาศัยวันสตรีสากลเป็นโอกาสอันดี
แม้แต่ในนิวยอร์กที่มีการจัดงานวันสตรีสากลหลากหลายงาน
ขึ้นอยู่แต่ละท้องที่ แต่ก็พูดเรื่องชุดเดียวกันกับที่อิตาลี
ปากท้อง สงครามและสันติภาพ
เช่นเดียวกับที่อื่นๆในวันสตรีสากล Alexandra Kollontai นักสตรีนิยมนำหญิงชายชาวรัสเซียจำนวนมากนัดหยุดงาน เดินขบวนเหมือนอย่างที่อเมริกาทำในวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของปี 1913 และรวมตัวกันที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 เรียกร้องค่าแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานที่เท่าเทียมกัน เสรีภาพในการตัดสินใจหย่าร้าง การลาคลอดที่ยังคงได้ค่าจ้าง ขณะเดียวกันก็พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างบรรยากาศที่อำนวยต่อเสรีภาพทางเพศจากภาระงานบ้านที่มากเป็นทวีคูณด้วยการสร้าง ศูนย์อาหารเลี้ยงเด็กและซักอบรีดรวม
ทว่ากิจกรรมวันสตรีสากลในรัสเซียวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ก็ได้กลายเป็นหมุดหมายอันยิ่งใหญ่บนหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย เพราะนำปสู่การปฎิวัติรัสเซีย 1917 อย่างเป็นทางการโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จนสามารถล้มล้างระบอบราชาธิปไตยของพวกซาร์และเกิดรัฐบาลใหม่ที่ให้สิทธิผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้ง
การปฏิวัติในรัสเซียโดยมีผู้หญิงเป็นกลุ่มเริ่มต้นทำให้ในปีต่อๆ มาประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็ฉลองวันสตรีสากลตามในวันที่ 8 มีนาคมด้วย และในปี 1922 Vladimir Lenin ก็ได้กำหนดให้วันสตรีสากลเป็นวันหยุดของคอมมิวนิสต์ จากนั้นกลุ่มคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมตามประเทศต่างๆ ที่สมาทานอิทธิพลจากสหภาพโซเวียต ก็ทยอยประกาศวันสตรีสากลเป็นวันหยุดแห่งชาติ เช่นจีน ทำให้หลังปี 1945 จาก International Woman’s Day ที่เป็นผู้หญิงเอกพจน์ มาสู่พหูพจน์ เป็น International Women’s Day
แม้จะประสบผลสำเร็จ แต่ความรุ่งโรจน์แห่งอำนาจ
ชนชั้นกรรมาชีพนี้มีระยะเวลาอันสั้นนัก
เพราะไม่นานก็ถูกปฎิวัติซ้อนและยึดอำนาจโดย Joseph Stalin
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วันสตรีสากลยังคงเป็นวันหยุดคอมมิวนิสต์อยู่จนกระทั่งมีการใส่สัญญะใหม่โดยประเทศค่ายเสรีนิยม ประมาณปี 1967 ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการเริ่มต้นของกลุ่มผู้หญิงที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ หนึ่งในนั้นมีลูกสาวของคอมมิวนิสต์ชาวอเมริกัน ไปพร้อมกับการสร้างสำนึกใหม่ของสตรีนิยม และในที่สุด 1975 UN ได้ประกาศให้เป็นปีสตรีสากลและได้เริ่มกำหนดวันที่ 8 มีนาคม (ตาม Juliancalendar ซึ่งตกวันที่ 23 กุมภาพันธ์) ของ Gregorian calendar ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล
ในมิติที่ไม่สากลกว่า…
และในจักรวาลคู่ขนานกับสากล ประเทศไทย ซึ่งก็มีวันสตรีสากลเหมือนกัน เพราะเป็นประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงพลอยนับวันสตรีสากลไปกับเขาด้วย ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องงานสมาคมสโมสรของบรรดาคุณหญิงคุณนายชุดผ้าไหมและเครื่องเพชรเครื่องพลอย หรือไม่ก็ผ้าป่านกัญชงพอเป็นพิธีมากกว่า และแน่นอนมีความพิธีการตามจริตราชการ เป็นเรื่องของหญิงชนชั้นสูงมากกว่าชนชั้นใช้แรงงานหรือชนชั้นล่างอย่างสากลโลก ไม่ต่างไปจากวันสตรีไทย 1 สิงหาคมของทุกปี ที่เริ่มมีมาตั้งแต่พ.ศ. 2546 ก็มาจากหญิงชนชั้นสูง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Chapman, Annsley and Seelhoff, Cheryl. (2006). Iran: police attack international women’s day protest, Off Our Backs, (36, 2), p. 5.
Friedman, Michelle. (1987). International Women’s Day in Chile, Agenda: Empowering Women for Gender Equity (1), p. 27.
Kaplan, Temma. (Spring, 1985). On the Socialist Origins of International Women’s Day, Feminist Studies (11,1), pp.163-171.