ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา และมันเกี่ยวอะไรกับไทย?
วนกลับมาอีกครั้ง กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นทุก 4 ปี กับครั้งนี้ ในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2024 (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ที่มีผู้ท้าชิงคือโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกัน และ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) จากพรรคเดโมแครต
ในโค้งสุดท้ายนี้ ไม่เพียงแต่พลเมืองในสหรัฐฯ เท่านั้นที่ติดตามการหาเสียง นโยบายต่างๆ และผลการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เพราะในทุกมุมโลกต่างก็ให้ความสนใจกับการเลือกตั้ง รวมถึงไทยเอง ที่บรรยากาศทั้งในสื่อทุกประเภท รวมถึงประชาชนทั่วไปก็มีการพูดถึงเลือกตั้งสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย
นำมาซึ่งคำถามที่อาจเกิดในใจของคนหลายคนว่า ในเมื่ออยู่กันคนละซีกโลก ทำไมเราจะต้องสนใจการเลือกตั้งสหรัฐฯ ขนาดนั้น และการเลือกตั้งที่ว่าเป็น ‘ครั้งสำคัญ’ นี้ จะส่งผลอะไรต่อไทย และต่อโลกของเราต่อไป?
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นกัน
คนจำนวนหนึ่งบอกว่า นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกา อาจารย์เห็นด้วยไหม
ย้อนกลับไปอาจจะมีอีกหลายครั้งที่สำคัญเช่นกัน แต่สำหรับครั้งนี้ก็เห็นด้วยว่ามีความสำคัญ ไม่เพียงแต่กับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เป็นการเลือกตั้งที่อาจมีผลกระทบต่อโลกในวงกว้างที่สุดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เพราะขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยง ทั้งสงคราม และความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
เพราะสหรัฐฯ เป็นยักษ์ใหญ่ในการเมืองโลก ทั้งทางทหาร ทางเศรษฐกิจ และยังเคยเป็นผู้นำโลกเสรี ดังนั้นการจะได้เป็นประธานาธิบคนใหม่ ก็เสมือนการขึ้นมาเป็นพ่อทุกสถาบันในหลายบริบทการเมืองโลก จึงจะมีผลสะเทือนค่อนข้างมาก และที่สำคัญคือ ทรัมป์ เป็นบุคคลที่มีประเด็นถกเถียงมาก มีคนรัก มีคนเกลียด และมีความไม่แน่นอนในการตัดสินใจในฐานะผู้นำโลก ถ้าหากได้ทรัมป์ขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบในหลายด้าน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากที่สุดในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ในวิธีการหาเสียง ทั้งสองฝ่ายพยายามขับเน้น mood&tone ในการสื่อสารของตัวเองแค่ไหน ทั้งการส่งต่อความหวัง ความกลัว ความเกลียดชัง
นโยบายหลักที่เดโมแครต-รีพับลิกัน มีความแตกต่างกัน 6 ด้าน
- ด้านเศรษฐกิจ ในรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างการขึ้นภาษีหรือลดภาษีต่อคนกลุ่มต่างๆ
- จุดยืนเรื่องสิทธิการเจริญพันธุ์ อย่างสิทธิในการทำแท้ง ครอบคลุมทั้งเรื่องงบประมาณ การวางแผนครอบครัว เงินช่วยเหลือในการทำแท้ง
- ความมั่นคงชายแดน หรือผู้อพยพ ที่มีผลต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมและความมั่นคงภายในประเทศ
- สิ่งแวดล้อม
- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในเชิงภาคีทางความมั่นคง
- การค้าระหว่างประเทศ ทรัมป์คือการขึ้นกำแพงภาษี
ทั้งนี้ ถ้ามอง mood&tone ของการหาเสียง ทั้ง 2 พรรคใช้กลยุทธ์ทั้งใต้ดินและบนดิน มีการสร้างควาหวาดมกลัว สร้างความเกลียดชัง คือใช้ไพ่ทุกใบที่สกปรกไม่แพ้กัน
ทางพรรครีพับลิกัน ทรัมป์ก็ใช้อัตลักษณ์ของผู้สมัครมาเป็นเครื่องมือตั้งแต่แรก อย่างช่วงที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นแคนดิเดตของพรรคเดโมแครต ก็พูดถึงความชราภาพ โดยในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน (Republican National Convention) ก็เอา ฮัลก์ โฮแกน (Hulk Hogan) นักมวยปล้ำ มาฉีกเสื้อโชว์ความอ่อนวัยกว่าของทรัมป์
แต่เมื่อแคนดิเดตเปลี่ยนมาเป็นกมลา แฮร์ริส ที่อ่อนวัยกว่าทรัมป์ ก็เปลี่ยนไปเล่นเรื่องแฮร์ริสเป็นคนผิวดำไม่จริง เลือกที่จะใช้ไพ่เรื่องชาติพันธุ์ และบดขยี้ จนบางครั้งกลายเป็นดาบที่หันมาทำร้ายตัวเอง
ล่าสุด ในเวทีหาเสียงของทรัมป์ที่นิวยอร์ก โทนี ฮินช์คลิฟฟ์ (Tony Hinchcliffe) นักแสดงตลกชื่อดัง ได้ขึ้นพูด และเรียกเปอร์โตริโกว่าเป็นเกาะขยะกลางทะเล หรือทรัมป์เองก็เคยพูดในดีเบตกับแฮร์ริส ว่าคนเฮติทานน้องหมาน้องแมว ก็เป็นไพ่เรื่องชาติพันที่ถูกนำมาใช้
เหล่านี้สร้างความหวาดกลัวว่า ถ้ารีพับลิกันแพ้ จะยอมรับผลการเลือกตั้งไหม เพราะในขณะนี้ สิ่งหนึ่งที่รีพับลิกันพูดถึงมาก คือมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้โกง ใช้กลยุทธ์ให้ผู้อพยพเข้ามาช่วยโหวต หรือระบุว่าบัตรเลือกกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์มีปริมาณมากเกินกว่าปกติ
ซึ่งถ้ามองในหัวใจหลักของคำว่า “Make American Great Again” เขาพูดถึงอเมริกันผิวขาวเป็นหลัก (white supremacy) ในขณะที่อเมริกันอื่นๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยอาจไม่ถูกนับรวม
ทางด้านพรรคเดโมแครตก็ไม่น้อยหน้า เมื่อแฮร์ริสขึ้นเป็นแคนดิเดต ก็พยายามเลี่ยงเรื่องชาติพันธุ์ เพราะไม่อยากนำสีผิวตนเองมาใช้ และที่สำคัญคือได้เรียนรู้จากจุดอ่อนบทเรียนของ นิกกี เฮลีย์ ที่พ่ายแพ้ให้กับทรัมป์ในการเลือกตั้งขั้นต้น จากการใช้ไพ่เรื่องเพศ หรือความเป็นผู้หญิงขึ้นมาชู
จึงจะเห็นไดเว่าแฮร์ริสพยายามลดทอนความเป็นเพศของตัวเองลง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นปัจจัยที่ย้อนกลับมาตีเดโมแครต เมื่อกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกแฮร์ริสทั้งๆ ที่ใกล้วันเลือกตั้งแล้ว คือผู้ชายผิวดำ ในช่วงหลัง แฮร์ริสจึงเสนอนโยบายจะช่วยเหลือการลงทุน คล้ายๆ กับ SMEs ในประเทศไทยให้กับผู้ชายผิวดำ ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ทั้งปัจจัยด้านสีผิวและเพศ
mood&tone ในการหาเสียงที่เป็นเชิงลบก็ปรากฏในฝั่งเดโมแครตเช่นกัน โดยไบเดน พูดถึง ผู้สนับสนุนทรัมป์ว่าเป็น ‘ขยะ’ (garbage) ซึ่งทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความหมายเชิงลบ
ดังนั้น ภาพรวมของ mood&tone ในการหาเสียง หากจะต้องนิยามมัน
ฝั่งรีพับลิกันมองว่าแฮร์ริสเป็นภัยต่อความเป็นอเมริกัน ในขณะที่แฮร์ริสมองว่าทรัมป์เป็นภัยต่อประชาธิปไตย
ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ประเด็นนโยบายเป็นเรื่องที่ถูกลดความสำคัญลง และกลายเรื่องคาแรกเตอร์ โหมกระหน่ำความเกลียดชัง ความขัดแย้งทางความคิด และอารมณ์และความรู้สึก ที่กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเลือก
ในทรรศนะของอาจารย์ ความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างทรัมป์ จากรีพับลิกัน และแฮร์ริส จากเดโมแครต คืออะไร
คิดว่าทางรีพับลิกันเน้นโจมตีตัวบุคคลมาก ช่วงหลังๆ ที่ทรัมป์ขึ้นเวที แทบจะไม่มีกรปราศรัยเรื่องอะไรแล้ว เพียงแค่เปิดเพลง เต้น ทำให้ประเด็นทางการเมืองของฝั่งรีพับลิกันลดลง แล้วไปเน้นอารมณ์ความรู้สึก ความเกลียดชัง ในขณะที่เดโมแครตยังเน้นประเด็นทางการเมือง และพยายามสนทนากับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
และในส่วนที่สำคัญที่สุด คือการที่เดโมแครตเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและเป็นรัฐบาลอยู่ ในมุมของประชาชนจึงจะมองว่า ปัญหาที่ผ่านมา ทั้งทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนในเรื่องสงคราม เป็นสิ่งที่รัฐบาลเดโมแครตต้องรับผิดชอบ
แม้แฮร์ริสจะเป็นรัฐบาลอยู่ แต่คนไม่รู้จักและไม่รู้ว่าเธอจะทำอะไร ในขณะที่ทรัมป์ไม่ได้เป็นรัฐบาลในขณะนี้ แต่เคยเป็นประธานาธิบดีมาก่อน คนจึงรู้จักมากกว่า ถือเป็นความแตกต่างที่เป็นจุดอ่อนจุดแข็งของสองฝ่าย
ซึ่งเดโมแครตยังอธิบายให้สังคมฟังได้ไม่ดีนักว่า ถ้าแฮร์ริสขึ้นมาดำรงตำแหน่ง จะต่างอย่างไรกับไบเดน จะทำให้เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น ความยิ่งใหญ่ของอเมริกันกลับคืนมาได้ยังไง ทรัมป์จึงใช้สิ่งนี้เป็นจุดโจมตี และนี่เป็นคำอธิบายได้ว่า แม้ทรัมป์จะพูดโกหก มีปัญหามากมาย แต่ทำไมทรัมป์ยังได้รับความนิยม
มีประเด็นเฉพาะเรื่องที่เป็นนโยบายใดไหม ที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้
นโยบายที่จะกระทบต่อการตัดสินใจของคนอเมริกันมากที่สุดก็คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน
ฝั่งรีพับลิกันโจมตีว่าปัญหาเหล่านี้เป็นผลงานของไบเดนจากสี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วในภาพรวมต้องบอกว่าเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้าย ปัญหาว่างงานก็ไม่ได้มากมาย แต่คนรู้สึกไปว่าเงินเฟ้อทำให้เงินในกระเป๋าเขาลดลง ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันเขาสูงขึ้น
ทรัมป์เสนอวิธีการแก้ปัญหาไว้ชัดเจน คือลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 21% มาที่ 15% ในขณะที่แฮร์ริสจะขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 28% จุดนี้จึงกระทบการตัดสินใจของคนมาก
และถ้าลงไปในรายละเอียดในประเด็นเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา เดโมแครตถูกมองว่าเอาใจชนชั้กลางมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลางค่อนสูง และกลุ่มคน White Collar หรือคนทำงานในออฟฟิศ ทั้งที่ฐานเสียงเดิมของเดโมแครตคือชนชั้นล่างและแรงงาน
เมื่อฐานเสียงนี้เลยรู้สึกว่าถูกละเลย ส่งผลให้คนในรัฐ Swing State (รัฐที่คะแนนเสียงสูสีกันเกินกว่าที่จะบอกได้ว่าพรรคไหนจะคว้าชัยไป) ซึ่งเป็นรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของเดโมแครตมาก่อน อาจจะไม่เลือกแฮร์ริสและหันไปเลือกทรัมป์
ในทางกลับกัน นโยบายที่ส่งผลในทางลบต่อทรัมป์ คือเรื่องสิทธิในการทำแท้ง เพราะแฮร์ริสยืนหยัดในเรื่องนี้ แต่แม้ว่าทรัมป์จะปฏิเสธว่าไมไ่ด้ต่อต้านการทำแท้ง แต่ถ้าดูจากการพูดถึงในอดีต ประกอบกับการที่สิทธิในการทำแท้งถูกถอนไป ก็อาจบ่งบอกแนวคิดของทรัมป์ได้
โดยเป็นผลมาจากการที่ทรัมป์แต่งตั้งผู้พิพิากษาศาลสูงสุด 3 ใน 9 คน ซึ่งทั้ง 3 คนมีส่วนร่วมในการโหวตให้การทำแท้งเป็นเรื่องไม่เสรีอีกต่อไป ประเด็นนี้จึงทำให้เดโมแครตได้ฐานเสียงจากผู้หญิง ที่จะมาโหวตให้แฮร์ริส
ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ต่างกัน เช่น เรื่องผู้อพยพ หรือสิ่งแวดล้อม ในด้านของทรัมป์ไม่เชื่อในเรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน ถึงกับเคยถอนตัวเองออกมาจากความตกลงปารีส (Paris Agreement; ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งครั้งนี้ถ้าได้อีก จะถอนตัวอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ส่วนแฮร์ริสก็ชัดเจนว่าเขาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
อีกประเด็นที่แตกต่างกัน คือจุดยืนต่อสงคราม อย่าง รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทางเดโมแครตสนับสนุนประธานาธิบดีเซเลนสกี้ จากยูเครน แต่ทรัมป์ประกาศว่าจะลด หรือตัดเงินช่วยเหลือเลย นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และท่าทีต่อไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นจุดที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโลก
ส่วนที่จะส่งผลอย่างมากต่อทุกประเทศ คือถ้าทรัมป์ขึ้นมา จะมีนโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้ากับทุกประเทศเป็น 10% จาก 3% ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ระเบียบโลกในทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 พรรคมองเหมือนกัน คือนโยบายที่มีต่อจีน ทั้งรีพับลีกันและเดโมแครตต่างมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุด เป็นศัตรูอันดับ 1 ดังนั้นนโยบายและท่าที่ที่มีต่อจีนจะไม่ต่างกัน
ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนประเทศเดียว ถึง 60% และภาษีนำเข้ารถ EV 100% แต่ที่บอกว่าไม่ต่างกัน เป็นเพราะสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีและมาขึ้นกำแพงภาษีต่อจีน ไบเดนก็ใช้อัตราภาษีแบบเดียวกัน ดังนั้นเรื่องท่าทีที้มีต่อจีนจึงไม่ต่าง แต่เรื่องอื่นๆ ค่อนข้างต่างกันมาก
จากนโยบายที่เห็น เราสามารถพูดได้ชัดเจนเลยหรือเปล่าว่า ใครได้เป็นประธานาธิบดีแล้วจะมีผลดีต่อไทยมากกว่า
ใครจะได้เป็นก็ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯ ยาวนานเป็น 200 ปี ดังนั้นความสัมพันธ์จะไม่เปลี่ยน แต่ผลประโยชน์ที่สหรัฐฯ มีเวลามาช้อปปิ้งที่ประเทศไทยมันไม่มีจุดเด่น เพราะเราไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์ และเราก็ไม่ได้มีกำลังซื้อ
ที่สำคัญ คือไทยได้เปรียบในดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาตลอดในทุกสมัย ในขณะที่กับจีน เราเสียเปรียบดุลการค้าจีนมหาศาล แต่คนไทยจำนวนหนึ่งก็ไปกลัวสหรัฐฯ มองว่าเขาจะมาแทรกแซงทางการเมือง แต่จริงๆ แล้วสหรัฐฯ ต่างหากที่ยอมขาดดุลการค้ากับเรา ดังนั้น ไม่ว่าทรัมป์หรือแฮร์ริสขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็จะไม่ต่างกัน
ความแตกต่างกันอาจมี 2 ประเด็น คือถ้าทรัมป์ขึ้นมา ถ้าการขึ้นกำแพงภาษีเป็นจริงได้ ก็จะกระทบกับไทยด้วย เราก็เป็นเหมือนหมากตัวหนึ่งในเกมนี้ อาจจะต้องหันไปดูว่าเราจะต่อรองให้เขาลดอัตราภาษีในเรื่องไหนบ้าง ตามอำนาจต่อรองที่เรามีกับสหรัฐฯ เพราะจะมีสิ่งที่เรียกว่าระบบพิเศษ (special system) ในแง่ของการให้ลดอัตราภาษีในบางกรณีอยู่บ้าง
อีกจุดที่อาจแตกต่างกัน คือในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรัมป์อาจจะไม่ได้สนใจไทย และปล่อยให้ทีมการทูตเป็นคนดำเนินความสัมพันธ์ไป และความไม่สนใจของทรัมป์ ก็ทำให้เขาอาจไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองภายในของเรา อย่างประเด็นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความเห็น
ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็ไม่ได้มาแทรกแซงแบบเข้มข้นเพียงแต่วิพากษ์วจารณ์ไปตามประเด็น อาจเพื่อแสดงความเป็นพี่ใหญ่ในฐานะความเป็นตำรวจโลกตามที่เขาเคยชิน แต่ไม่ได้แทรกแซงโดยตรง
ในขณะที่ถ้าแฮร์ริสขึ้นมา เดโมแครตจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าทางรีพับลิกันเล็กน้อย แต่อาจไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
โดยความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา ก็จะเป็นไปตามระบบทางการทูต เมื่อเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ทูตคนเดิมก็จะกลับไป แล้วเปลี่ยนคนใหม่ขึ้นมา ดังนั้นในแง่นี้ จึงขึ้นอยู่กับทูตท่านใหม่มากกว่า ว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับไทยและภูมิภาค
ทำไมคนไทยจึงควรสนใจการเลือกตั้งสหรัฐฯ หรือไม่ต้องสนใจก็ได้?
สนใจก็ดี เพราะอย่างที่เกริ่นนำไว้ว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ ถึงแม้เราจะอยู่ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานและอาจจะไม่ได้กระทบ ไม่ว่าใครจะชนะ อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เท่าไร
และผลประโยชน์ไทยกับอเมริกาไม่ได้อ่อนไหวเหมือนประเทศอื่น เช่นเวียดนาม เพราะอเมริกาลงทุนในเวียดนามค่อนข้างเยอะ ในขณะที่ของไทย ปริมาณการลงทุนก็ไม่มาก การช่วยเหลือก็ไม่มาก
แล้วทำไมเราควรสนใจ? เพราะการขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของโลกในอนาคต
เช่น โอกาสการเกิดขึ้นของสงคราม เพราะอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในการทหาร เศรษฐกิจของอเมริกาใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของประเทศ G7 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ประเทศ) สงครามในโลกจำนวนมากจึงมีอเมริกาเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญ โอกาสการยุติสงคราม จึงมีอเมริกาเป็นตัวแปรในความขัดแย้งเกินครึ่งหนึ่งของโลก
ถ้าใกล้ตัวเราที่สุด ก็คือประเด็นไต้หวัน หรือความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือแม้แต่ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งกระทบทุกอณูชีวิตในโลก ดังนั้นใครจะขึ้นมาเป็นผู้ถือบังเหียนของประเทศ ถึงแม้จะไม่กระทบกับไทยแบบเผชิญหน้า แต่ส่งผลแน่นอน
และที่สำคัญไปกว่านั้น คือสหรัฐฯ อยู่ในฐานะผู้ถือธงนำประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอเมริกาจะยังสามารถชูธงประชาธิปไตย เป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศประชาธิปไตยที่ยอมรับการเลือกตั้งให้เป็นเครื่องมือของการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติได้หรือไม่
เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2020 อเมริกาก็มีบาดแผลในเรื่องของการยอมรับการเลือกตั้งให้เป็นเครื่องมือของการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ครั้งนี้ต้องติดตามว่าอเมริกาจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งอเมริกาก็ถือว่าเป็นต้นแบบที่ประเทศอื่นต้องจับตามอง
การที่สหรัฐฯ เลือกตั้งได้อย่างสม่ำเสมอ มันเป็นบทเรียนสะท้อนอะไรให้กับการเมืองไทยได้บ้าง
อเมริกาเป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก 1789 คือเลือกตั้งทุก 4 ปีไม่เพี้ยนเลย สะท้อนว่าที่ผ่านมาอเมริกาเป็นประเทศที่เคารพากรตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้นำประเทศ
ประการที่ 1 ถึงแม้ประธานาธิบคดีคนแรกจะเป็นนายพล คือ จอร์จ วอชิงตัน ที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังสู้รบจนได้เอกราชจากอังกฤษ ก็ยังยอมให้ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของพลเรือน (Civillian Control)
ดังนั้น การเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอได้ ก็คือการเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน และไม่ให้กองกำลังทหารหรืออำนาจเหนืออื่นได้มาแทรกแซง
ประการที่ 2 ในเชิงหลักการ อเมริกันเคารพในหลักอำนาจของรัฐบาลมีอย่างจำกัด (Limited Government) จำกัดโดยอำนาจของประชาชน
ประการที่ 3 ในแง่การจัดการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญอเมริกาที่ใช้มา 200 กว่าปีถือว่ามีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง อย่าในงครั้งนี้ มีความพยายามอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเลือกตั้งมากขึ้น
เช่น มีให้เลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในช่วงโควิดเพราะคนมาเลือกเองโดยตรงไมไ่ด้ และให้มีการเลือกตั้งแบบเลือกล่วงหน้า ถ้าหากวันเลือกตั้งเราอาจจะไม่สะดวก แต่เราสะดวกวันไหน เราก็ขอบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วไปหย่อนในตู้ก่อนได้
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลไว้ใจประชาชน ว่าจะสามารถแสดงเจตนารมณ์ได้โดยไม่ถูกชักจูง ทำให้การเลือกตั้งมันง่ายขึ้น สะดวกขึ้นสำหรับประชาชน
แต่ต้องบอกทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความท้าทายว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้พ่ายแพ้จะยอมรับเสียงของประชาชนหรือไม่ เพราะหลังการเลือกตั้งในวันอังคารตามเวลาสหรัฐฯ พอประกาศผลออกมา ทั้งเดโมแครตกับรีพับลิกันจะโวยวาย ไปฟ้องศาลสูงสุด และทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาช้าลงหรือเปล่า
หากเป็นอย่างนั้น จะกลายเป็นตำหนิในหลักการประชาธิปไตยสหรัฐฯ ในอนาคต ถือเป็นบททดสอบสำคัญ
โดยสรุปแล้ว โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังจากเลือกตั้งครั้งนี้
อาจารย์ไม่ได้เชียร์ทั้งทรัมป์ และแฮร์ริส แต่ถ้าทรัมป์ขึ้นมา มันจะมีความไม่แน่นอนในระเบียบโลกค่อนข้างสูง ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของโลก แต่มันอาจจะเป็นในทางที่ดีก็ได้ แต่จะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
ถ้าหากทรัมป์ขึ้นมา ทรัมป์บอกเลยว่า รับรองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน จบแน่ ถามว่าจบ คือจบแบบไหน คือสหรัฐฯ อาจถอนความช่วยเหลือ
ทุกวันนี้ สหรัฐฯ มีการให้เงินสนับสนุนยูเครนหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากทรัมป์ขึ้นมาและยุติการให้เงินสนับสนุน แปลว่าเซเลนสกี้จากยูเครนจะต้องไปดิ้นรนหาเงินสนับสนุน จะทำให้ NATO (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ พันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลระหว่าง 31 รัฐสมาชิก) ต้องก้าวขึ้นมาปกป้องยูเครนจากรัสเซีย เพราะหาก NATO ไม่ทำแบบนั้น รับรองว่าวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะขยายอิทธิพลมาแน่นอน เพียงแค่นี้ ระเบียบโลกจากสงครามก็จะแตกต่างออกไปแล้ว
หรือประเด็นระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่ได้พูดชัดเจนว่าจะสนับสนุนอิสราเอล แต่เป็นที่รู้กันดีเลยว่าทรัมป์สนับสนุนอิสราเอลมากกว่าไบเดนและแฮร์ริส โทรคุยกับ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลตลอด และเคยพูดว่า “Do what you have to do.” (ทำในสิ่งที่คุณต้องทำเถอะ) ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังรุนแรงกับปาเลสไตน์ได้
ดังนั้นถามว่าโลกจะเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยน จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ (turning point) ของความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงในอนาคตแน่นอน แต่เราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่ามันจะออกมาในทางไหน เพราะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของทรัมป์กับผู้นำโลกแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นปูติน จากรัสเซีย เนทันยาฮู จากอิสราเอล และคิมจองอึน จากเกาหลีเหนือ
เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่พึ่งพาความไตร่ตรองโดยทีมของผู้มีประสบการณ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะลดลง เป็นการตัดสินใจโดยทรัมป์คนเดียว
โดยอ้างอิงจากขณะที่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิดี แล้วแต่งตั้ง เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแล้วทรัมป์ก็ไล่ออกไป เพราะความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยทรัมป์มองว่าเขาควรเป็นคนตัดสินใจ
ทรัมป์จึงมีคาแรกเตอร์ความไม่แน่นอน จึงสร้างทั้งความกังวลใจ และความหวังให้กับโลก
ทำให้คนมีความกังวล ทั้งในด้านบวก และด้านลบ ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร