นับเป็นบทสรุปแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงได้ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยคดีห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ด้วยมติเสียงข้างมากให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 หรือวันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้
เป็นธรรมดาที่จะมีผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง The MATTER จึงไปพูดคุยกับ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนและกฎหมายการเมือง ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กำลังสร้างบรรทัดฐานอย่างไรให้กับวงการนิติศาสตร์ไทย
อีกทั้งเมื่อคำตัดสินออกมา ส่งผลให้สถานะนายกฯ ยังคงต่ออายุไปจนถึงกลางปี 2568 ซึ่งก็จะเพียงพอหากจะท้าชิงเก้าอี้สมัยถัดไป เช่นนี้แล้วคำวินิจฉัยดังกล่าว จะพลิกเกมการเมืองหรือไม่ อย่างไร
อะไรเห็นด้วย-เห็นต่าง
“การนับสถานะนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560 ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัยที่เหลวไหลโดยสิ้นเชิง หรือไม่มีฐานคิดทางกฎหมายเลย” เป็นความเห็นแรกของเข็มทอง ต่อคำวินิจฉัยของตุลาการศาลฯ ด้วยมติเสียงข้างมาก 6:3 ด้วย เช่นเดียวกับการนับตั้งแต่ปี 2557 ที่พอฟังขึ้น
“ในการที่จะเลือก 2557 หรือ 2562 มันก็เป็นเรื่องจุดยืนของนักกฎหมายแต่ละคนด้วย ว่าเขาตีความเคร่งครัด หรือขยายความได้ขนาดไหน”
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ เข็มทองสามารถยอมรับในผลคำตัดสินได้ แต่ตั้งข้อสังเกตไปยังวิธีการให้เหตุผล “ที่ยังไม่ดีพอ”
โดยเฉพาะในประเด็นของบันทึกการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธาน กรธ. ระบุว่า ต้องนับรวมเวลาดำรงตำแหน่งทั้งหมด และพบหลักฐานการประชุม กรธ. ครั้งที่่่ 501 ที่รับรองรายงานการประชุม กรธ.ครั้งนั้นอย่างเป็นทางการ ประกอบกับความเห็นในฐานะประธาน กรธ. ที่ให้ไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ไม่สอดคล้องกับความเห็นใหม่ที่่ให้ไว้
“คำวินิจฉัยก่อนๆ ถ้าเกิดมีปัญหาเรื่องบทกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะเรียกบันทึกกรรมาธิการ เพื่อมาดูเจตนารมณ์”
เข็มทองอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อถามหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย บ่อยครั้งจะมุ่งไปที่สิ่งที่ผู้ร่างเคยกล่าวถึง ซึ่งก็มี ‘จุดอ่อน’ ที่ผู้ร่วมประชุมอาจมีความเห็นต่างกัน แต่อาจไม่ถูกบันทึกไว้ทั้งหมด เพื่อให้สามารถนำมาใช้แย้งกัน” มันไม่ได้แปลว่าความเห็นคุณมีชัยต่อรัฐธรรมนูญนี้จะถูกชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งไม่ใช่”
“ผมคิดว่าควรต้องฟังประกอบว่าตอนนั้นตั้งใจทำอะไร แล้วดูมาตราอื่นๆ ทิศทางทั้งหมดของการร่างรัฐธรรมนูญว่าจุดหมายใหญ่คืออะไร มาตราอื่นทำหน้าที่อะไร ถ้าบอกว่าต้องการปราบโกง เราก็ควรสรุปว่าถ้าจะให้การป้องกันการผูกขาดอำนาจเกิดผลสูงสุด คุณควรจะตีความไปทางไหน”
“โดยรวมครั้งนี้ ศาลจัดการกับเรื่องการแสวงหาความหมาย หรือเจตนาของกฎหมายได้ไม่ดี คือมีขัดกันเอง และขัดกับมาตรฐานตนเองด้วย ไม่อยู่กับร่องกับรอย บางครั้งตีความเคร่งครัด ไปข้างหน้าอย่างเดียว บางครั้งตีความกว้างขวาง”
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนรายนี้ ระบุว่า แนวทางวินิจฉัยจากกรณีนี้ คงไม่สามารถนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ ได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแค่ไหน แต่การทำงานของศาลอาจลำบากขึ้น
โอกาสต่อไปทางการเมืองของนายกฯ
เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกฯ คงต่อไปได้ถึงปี 2568 นั่นเท่ากับว่า หากเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ช่วงต้นปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะยังสามารถหวนกลับมาครองเก้าอี้ได้อีกราว 2 ปีเศษ ที่หลายๆ คนอาจเห็นเป็นโอกาสของเจ้าตัว
แต่ในฐานะผู้ที่ติดตามและอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาตลอด เข็มทองกลับไม่คิดเช่นนั้น
เขาระบุว่า เริ่มเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนหัวเรือใหม่ในพรรคพลังประชารัฐเอง อย่าง ‘สูตรคนละครึ่ง’ ที่อาจจะให้อำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขึ้นมาแทน
เปรียบเทียบกับบริบทของต่างประเทศ ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลมีคะแนนเสียงไล่เลี่ยกัน เสียจนต้องยอมจับมือตั้งรัฐบาล โดยสัญญากันว่าจะแบ่งอำนาจกันคนละครึ่งเทอม แต่ในทางปฏิบัติด้วยความไร้เสถียรภาพของรัฐก็ไปไม่รอดช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างที่เกิดในอิสราเอล จึงดูเหมือนโมเดลดังกล่าวจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
คำวินิจฉัยที่เพิ่งผ่านไปจุดสำคัญอาจไม่ได้อยู่ ที่ว่าจะยังคงรักษาตำแหน่งนายกฯ ได้หรือไม่ แต่สำคัญในความหมายที่ว่า “กลุ่มอำนาจนิยมชนชั้นนำ ยังเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นประโยชน์อยู่ ทำให้เมื่อเขาลงจากตำแหน่ง เขายังมีที่ทางในระบอบอำนาจ”
หันกลับมามองคำวินิจฉัยครั้งนี้ ที่ศาลหาทางลงอย่าง ‘ประนีประนอม’ ให้กับสถานะนายกฯ ในขณะที่อีกฝั่งต้องการให้ตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมานี่แหละเป็นปัญหาใหญ่
เข็มทองยกตัวอย่างว่า หากเราเป็นทนายของบริษัทที่ต้องพึ่งพิงกฎหมายธุรกิจ การประนีประนอมอาจเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะต้องการหาประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝั่งพิพาท แต่กับกรณีของการตัดสินชี้ขาดต้องต่างออกไป
“ผมถามว่ามันประนีประนอมได้ด้วยเหรอ นิติศาสตร์มันเป็นศาสตร์ที่ต้องชี้ ตีความให้ถูกตามหลักวิชากฎหมาย ที่ถูกกำหนดด้วยถ้อยคำ เหตุผล”
ความอ่อนแอของกระบวณการยุติธรรมไทย
เข็มทองไม่ปฏิเสธว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งที่ผ่านมา แม้แต่ผู้ที่อยู่ในวงการกฎหมายมหาชนเอง ก็ยังมีความสงสัยอยู่มาก ไม่เว้นในการเรียนการสอนที่ยังศึกษาเป็นตัวอย่าง “แต่ไม่ใช่บรรทัดฐานที่จะเดินตาม มันอ่อนในเหตุผลเชิงนิติศาสตร์”
แม้จะย้ายสายจากคณะนิติศาสตร์มาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ แต่เขาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องกฎหมายมหาชนมาตลอด มองว่า เสียงวิพากษ์จากเพื่อนร่วมอาชีพเป็นกลไกรักษาสมดุลที่จะขาดไม่ได้ แต่คำตัดสินท้ายสุดก็เป็นอำนาจของกลุ่มผู้ปฏิบัติที่ทุกคนต้องยอมรับ ประชาชนเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
“เสียงมหาชนเข้าไปชี้นำศาลไม่ได้ กฎหมายไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมาก เป็นเรื่องของผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นศาลก็ไม่ควรตัดสินตามเสียงประชาชน”
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเสียงวิพากษ์จากผู้คนอาจไม่ได้เปลี่ยนผลในคดีใดคดีหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีผลให้ศาลต้องระมัดระวังในการวินิจฉัยครั้งถัดๆ ไป
ด้วยระบบยุติธรรมไทย ที่ความตั้งใจถูกออกแบบมาให้ช่วยคานอำนาจฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้นำกับรัฐแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น
“8 ปีมานี้ เราใช้ต้นทุนการเมืองเยอะในการประคองระบอบนี้ โดยเฉพาะต้นทุนศาล ศาลเสียให้ พล.อ.ประยุทธ์หมดเลย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไหม ถวายสัตย์ครบไหม อยู่บ้านหลวงรึเปล่า คือเราใช้ต้นทุนเยอะ ฝ่ายตุลาการก็แบก การเมืองยิ่งแย่ลง”
“ความคงกระพันของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้มารยาท ธรรมเนียม หรือค่านิยมทางประชาธิปไตยเสื่อมทรามลง ถ้าตรงนี้กลายเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า มีอำนาจแล้วชนะหมดไม่ต้องสนอย่างอื่น เลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองที่ลงมาเล่น ก็จะเล่นด้วยรูปแบบเดียวกัน” เข็มทองทิ้งท้าย