นับวัน โดยเฉพาะในช่วงห้าปีที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร สังคมไทยยิ่งเรียนรู้อย่างถ่องแท้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ลำพังการมี ‘กฎหมาย’ จำนวนมาก และผู้มีอำนาจชอบอ้างกฎหมายและบอกบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นนั้น มิได้หมายความว่า ‘ความยุติธรรม’ ในสังคมจะมีมากขึ้น หรือว่า ‘ความอยุติธรรม’ จะลดลงเองอัตโนมัติ
ในทางตรงกันข้าม ถ้ากฎหมายจำนวนมากถูกออกโดยใบสั่งของเผด็จการที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ตัวบทเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น คำสั่งของเผด็จการทุกฉบับมีค่าเท่ากับกฎหมาย ผู้มีอำนาจเหิมเกริมหนักข้อ ใช้กฎหมายเป็น ‘เครื่องมือ’ คุกคามคนเห็นต่างและ(คนที่มองว่าเป็น)ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ด้วยการตีความฐานความผิดอย่างเหมารวมและเกินเลยตัวบทไปมาก ตั้งแต่การฟ้องประชาชนที่แชร์ข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในโทษฐานส่งต่อ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ …หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ฟ้องคนธรรมดาด้วยข้อหาหนักอย่าง ‘ยุยงปลุกปั่น’ เพียงเพราะโพสต์ภาพขันแดงคู่โปสเตอร์อดีตนายกรัฐมนตรีลงโซเชียลมีเดีย ผู้สมัคร ส.ส. ถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติเพียงเพราะถือหุ้นในบริษัทที่มีคำว่า ‘สื่อ’ ในวัตถุประสงค์ของบริษัทเพราะใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปตอนจดทะเบียน ถึงแม้บริษัทนั้นจะไม่ได้ทำธุรกิจสื่อจริงๆ ก็ตาม ฯลฯ และ ฯลฯ
กรณีเหล่านี้นับว่าเป็นการใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือเพื่อคุกคามคน ใช้โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่แยแสในข้อเท็จจริง ถ้ามีกรณีแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่สักแต่ว่ามีกฎหมายแต่ไร้ซึ่งความยุติธรรม เพราะใช้กฎหมายเอาใจผู้มีอำนาจเป็นหลัก
สังคมแบบนี้เรียกว่า ‘Rule by Law’ ไม่ใช่ ‘Rule of Law’ หรือสังคมที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ
สังคมที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐคือสังคมที่ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐจะต้องชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายทั้งหลายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ซึ่งบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน) กฎหมายต้องไม่ให้อำนาจรัฐล้ำเข้าไปในแดนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินหลัก ‘จำเป็นและได้ส่วน’ (necessary and proportionate) และฝ่ายตุลาการก็ต้องเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง สามารถวางตัวเป็นกลางดังที่เทพีแห่งความยุติธรรมผูกผ้าพันตาเป็นสัญลักษณ์ ตัดสินคดีความไปตามเนื้อผ้าไม่ใช่ ‘ใบสั่ง’ ของใคร
ในภาพใหญ่ ศาลคือ ‘สถาบัน’ ที่ขาดไม่ได้ในการอำนวยความยุติธรรม งานของศาลมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพูนหรือลดทอนระดับ ‘นิติรัฐ’ ในสังคม ทว่าในระดับปัจเจก ผู้พิพากษาแต่ละคนย่อมเป็นมนุษย์ มีความรู้สึก มีอคติ มีรัก-ชอบ-โกรธ-หลง เฉกเช่นปุถุชนทั่วไป การสะกดกลั้นอคติและอารมณ์ทั้งหลายไม่ให้มาข้องแวะในการตัดสินจึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย
โดยเฉพาะในห้วงยามที่ศาลถูกแรงกดดันทางสังคมบีบบังคับให้เล่นบท ‘ตุลาการภิวัตน์’ ขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า หรือออกจากภาวะที่ทุกคนเห็นแต่ทางตัน สถาบันอื่นในสังคมล้มเหลวหรือติดขัด
ภาษาอังกฤษมีคำว่า ‘judicial activism’ ที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ ในภาษาไทย หมายถึงการตีความกฎหมายนอกเหนือจากตัวบทหรือตัดสินนอกกรอบบรรทัดฐานที่เคยมีมา หลายคนมองในแง่ลบว่าตุลาการภิวัตน์เป็นผลเสียต่อหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยมากกว่าผลดี เพราะเท่ากับให้ศาลลงมาเป็นผู้เล่นทางการเมืองเสียเองหรือลดทอนอำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในทางตรงกันข้าม คนอีกจำนวนมากก็มองในแง่ดีว่าตุลาการภิวัตน์น่าจะก่อผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะตัวบทกฎหมายมักจะมีช่องว่างและความไม่แน่นอน ศาลจำเป็นจะต้องตีความ และไหนๆ จะตีความแล้ว ก็ควรตีความกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคม ซึ่งย่อมไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
ไม่ว่าเราจะมอง ‘ตุลาการภิวัตน์’ อย่างไร ด้วยนิยามอะไร การทำความเข้าใจกับความคิดและชีวิตของ ‘ผู้พิพากษา’ ในห้วงยามที่ศาลกลายเป็นกลไกสำคัญทางการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำแต่ทำได้อย่างยากเย็น โดยเฉพาะในเมื่อเราไม่ค่อยมีโอกาสรู้จักผู้พิพากษาตัวเป็นๆ เท่าไรนักในชีวิตจริง
We. The Revolution เกมสุดทะเยอทะยานจาก Polyslash สตูดิโออินดี้ในโปแลนด์ ไม่เพียงให้เราสวมบทบาทเป็น ‘ผู้พิพากษา’ เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้พิพากษา ‘ศาลปฏิวัติ’ (Revolutionary Tribunal) ในกรุงปารีสตอนปลายศตวรรษที่ 18 ปีแรกๆ หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส จุดเริ่มต้น ‘สมัยแห่งความกลัว’ หรือ la Terreur พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพิ่งถูกโค่นลงจากบัลลังก์ กลิ่นเขม่าปืนและคาวเลือดยังไม่จางหาย เสถียรภาพทางการเมืองยังไม่ต้องพูดถึง ประชาชนอกสั่นขวัญแขวนระส่ำระสาย เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงฝ่ายรอยัสลิสม์ (ผู้สนับสนุนกษัตริย์) ติดต่อกับราชวงศ์อื่นนอกฝรั่งเศสเพื่อรวมกองกำลังมาปฏิวัติคืน ส่วนบรรดานักปฏิวัติสาธารณรัฐนิยมก็แตกคอกันออกเป็นหลายก๊กหลายเหล่า สองก๊กหลักๆ ชื่อ ฌีรงแด็ง (Girondins) กับ ฌากอแบ็ง (Jacobins) ใครก็ตามที่ถูกตั้งข้อหา “ศัตรูของการปฏิวัติ” จะถูกลากคอขึ้นศาลปฏิวัติให้ตัดสิน นักปฏิวัติผู้ครองอำนาจคาดหวังให้การบั่นคอด้วย ‘กิโยติน’ เป็นจุดหมายปลายทาง
ในสถานการณ์ที่ท้าทายมโนธรรมสำนึกทุกมิติ We. The Revolution ให้เราเล่นเป็น อเล็กซิส ฟิเดเล (Alexis Fidèle) ผู้พิพากษาในศาลปฏิวัติ เขาเป็นตัวละครในจินตนาการ ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ถูกเขียนประวัติและเส้นเรื่องโดยได้แรงบันดาลใจจากผู้พิพากษาศาลปฏิวัติตัวจริงมากมายหลายคน
ระบบเกมใน We. The Revolution ผสมผสานหลายระบบเข้าด้วยกันแต่หลักๆ คือแนววางแผน แต่ละวันในเกมเราจะไปทำงานในศาลปฏิวัติ ประจันหน้ากับจำเลยในคดี อัยการของรัฐอยู่ด้านขวา คณะลูกขุนอยู่ด้านซ้าย ประชาชนผู้สังเกตการณ์อยู่ด้านหลังห้อง เราจะคลิกอ่านสรุปสำนวนฟ้องบนโต๊ะหน้าบัลลังก์ จากนั้นคลิกจับคู่เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานในคดีเข้ากับหมวดหมู่ที่ถูกต้องเพื่อค้นหาประโยคที่จะใช้ในการไต่สวนจำเลย หรือเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำ เช่น โยงรูป ‘มีดเปื้อนเลือด’ กับคำว่า ‘หลักฐาน’ โยงรูป ‘อดีตทหารผ่านศึก’ เข้ากับคำว่า ‘ประวัติจำเลย’ เป็นต้น ถ้าเราโยงผิดหมวดหมู่มากเกินไปจอจะล็อก ไม่ให้เชื่อมโยงต่อ
เราต้องใช้ประโยคเท่าที่ค้นเจอในการไต่สวนจำเลยหรือเรียกพยาน ด้านข้างของแต่ละประโยคส่วนใหญ่จะแสดงผลลัพธ์คร่าวๆ ต่อท่าทีของลูกขุน ถ้าแสดงภาพนกพิราบแปลว่า ลูกขุนจะเอนเอียงไปข้าง ‘พ้นผิด’ ถ้าแสดงภาพกิโยตินเปื้อนเลือดแปลว่า ลูกขุนจะเอนเอียงไปข้าง ‘ประหาร’ ฉะนั้นเราสามารถปรับจูนทัศนะของคณะลูกขุนให้ตรงกับคำพิพากษา(ที่เราอยากจะตัดสิน)ได้ ด้วยการเลือกเฉพาะประโยคที่ตรงใจเรา โดยทั่วไปเราจะอยากทำให้ลูกขุนเห็นพ้องกันกับคำตัดสิน เพราะไม่อย่างนั้นชื่อเสียงของเราและคะแนนนิยมในตัวเราของคณะปฏิวัติจะลดลง แต่การเลือกประโยคก็ต้องระวังด้วย เพราะเราต้องไต่สวนจำเลยมากพอที่จะได้คำตอบมาทำรายงานส่งอัยการ ถ้ารายงานผิดพลาดมากๆ ชื่อเสียงเราจะลดลง
หน้าที่หลักของเราในศาลคือการพิจารณาว่าจะตัดสินแต่ละคดีอย่างไร ระหว่างการพิพากษาให้จำเลยพ้นผิด หรือส่งไปประหารด้วยกิโยติน (ช่วงแรกๆ ในเกมมีทางเลือก ‘ตัดสินให้ติดคุก’ ด้วย แต่ทางเลือกนี้ไม่นานก็จะหายไป เมื่อ มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ (Maximilien Robespierre) ผู้มีอิทธิพลในสภาปฏิวัติสั่งว่า ‘ศัตรูของการปฏิวัติ’ สมควรต้องโทษประหารสถานเดียวเท่านั้น แต่การตัดสินของเราไม่ง่ายเลย เพราะแต่ละทางเลือกส่งผลต่อคะแนนนิยมของเราในสายตาคนสามกลุ่มไม่เท่ากัน—ประชาชน นักปฏิวัติ และกลุ่มรอยัลลิสม์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตัดสินประหารชีวิตทหารนักปฏิวัติชื่อดังเพราะเขาข่มขืนผู้หญิง (ไม่ว่า ‘ข้อเท็จจริง’ เท่าที่เราค้นพบจะเป็นอย่างไร) นักปฏิวัติอาจเกลียดขี้หน้าเรามากขึ้น แต่รอยัลลิสม์กับประชาชนจะชอบเรามากกว่าเดิม
ทำไมเราต้องสนใจผลลัพธ์ของคำพิพากษา? เหตุผลหลักก็คือ ถ้าคะแนนนิยมในตัวเราของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลดลงมากๆ จนเหลือศูนย์ เมื่อนั้นเราอาจถูกลอบฆ่า (โดยประชาชนหรือรอยัลลิสม์) หรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง (โดยคณะปฏิวัติ) ทำให้เกมจบก่อนกาล
ทุกคดี ก่อนที่จะคลิกอ่านข้อมูลอะไรก็ตาม เราสามารถ ‘แอบดูเฉลย’ หรือผลต่อคะแนนนิยมในตัวเราของคนแต่ละกลุ่ม ของคำตัดสินแต่ละแบบ (พ้นผิด/ติดคุก/ประหาร) ได้ล่วงหน้า ด้วยการคลิกคำตัดสินแต่ละแบบแล้วดูแถบคะแนนนิยมด้านซ้ายว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ด้วยเหตุนี้ เล่นๆ ไปเราจะเริ่มให้ความสำคัญกับคะแนนนิยม มากกว่าข้อเท็จจริงของคดี เช่น เราจะเริ่มเกิดความคิดทำนอง “อืม คดีนี้เราจะพิพากษาให้จำเลยพ้นผิดดีกว่า เพราะกลุ่มรอยัสลิสม์อยากให้เขาพ้นผิด คะแนนนิยมของเราในสายตารอยัลลิสม์จะได้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง มันต่ำเตี้ยติดดินแล้ว ส่วนนักปฏิวัติกับประชาชนจะมองเราแย่ลงนิดก็ไม่เป็นไร คะแนนนิยมของเราในหมู่พวกเขายังสูงมากอยู่”
พูดง่ายๆ ว่า ยิ่งเล่น เราจะยิ่งเผชิญกับแรงกดดันที่จะตัดสินด้วย ‘ธง’ ในใจที่มาจากความอยากเอาตัวรอด หมกมุ่นกับการปรับสมดุลของคะแนนนิยมให้รอด มากกว่าการพยายามตัดสินไปตามข้อเท็จจริงของคดี
ซึ่งแน่นอน นี่คือสิ่งที่ทีมออกแบบ We. The Revolution อยากให้เรารู้สึก
ที่ซับซ้อนกว่านั้นอีกคือ ชื่อเสียงของเราโดยรวม และคะแนนนิยมในตัวเราของคนสามกลุ่มไม่ได้เปลี่ยนโดยการตัดสินใจของเราในศาลอย่างเดียว แต่ยังมาจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น เสียงซุบซิบนินทา แรงสนับสนุน(หรือไม่สนับสนุน)จากครอบครัว หรือมหกรรมใส่ร้ายป้ายสีโดยคู่แข่งทางการเมือง นอกจากนี้ คำตัดสินบางคดียังส่งผลต่อทัศนคติที่คนในครอบครัวเราเองมีต่อตัวเราด้วย เช่น ถ้าเราตัดสินให้อดีตครูสอนพิเศษของลูกเราติดคุก ลูกก็จะชอบเราน้อยลง ซึ่งก็จะเด้งไปส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของคนบางกลุ่มต่อไป
เมื่อเรามั่นใจในคำพิพากษาและกรอกรายงานอัยการครบแล้ว เราก็จะคลิกลงนาม ตราครั่งประทับ เป็นอันจบหนึ่งวันในศาลปฏิวัติ แต่งานของเรายังไม่จบ! ถ้าเราส่งจำเลยไปประหาร เราจะเลือกได้ว่าอยากกล่าวอะไรต่อหน้ามวลชนที่มามุงดูรอบลานกิโยตินหรือไม่ ถ้าเราเลือกกล่าวสุนทรพจน์ที่ตรงกับสภาพอารมณ์ของพวกเขา (เช่น เลือกพูดแบบ ‘ดุดัน’ ถ้ามวลชนดู ‘กระเหี้ยนกระหือรือ’) เราก็จะได้เสียงเชียร์กระหึ่ม ชื่อเสียงของเราจะพุ่งพรวดก่อนดึงเชือกบั่นคอ
เมื่อกลับถึงบ้าน เราจะนั่งพร้อมหน้ากับเมีย ลูกชายสองคน และพ่อ ถ้าเป็นวันปกติเราจะเลือกได้ว่าจะทำกิจกรรมอะไรกับพวกเขาเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว (มีผลเพิ่มคะแนนนิยมของคนบางกลุ่ม) แต่บางวันเราจะมีแขกรับเชิญมาเยือนถึงบ้านเพื่อวางแผนกำจัดคู่แข่งทางการเมือง เริ่มเกมเราจะไม่รู้สึกอยากได้อำนาจหรือมีความทะเยอทะยานอะไรนัก เพียงแค่อยากก้มหน้าทำงานของตัวเองเพื่อเอาตัวรอด แต่ไม่นานเราจะพบว่าไม่สามารถอยู่นอกวงความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นได้อีกต่อไป แต่ต้องกระโจนลงไป ‘เล่น’ เกมการเมืองทั้งหลายด้วย ทั้งบนดินและใต้ดิน
โดยเฉพาะเมื่อคนใกล้ชิดของเราถูกคุกคาม
ไม่มีใครวางตัว ‘เป็นกลาง’ ได้นานในสภาพสังคมที่แตกแยกแบ่งขั้วและไม่มีใครไว้ใจใคร แม้แต่ผู้พิพากษาก็ไม่เว้น โดยเฉพาะผู้พิพากษาใน ‘ศาลปฏิวัติ’ ซึ่งเป็นศาลการเมืองตั้งแต่ต้น
ระบบเกมยังไม่จบเพียงเท่านั้น ก่อนถึงวันต่อไป เกมจะสลับแสดงจอแผนที่ปารีสคล้ายกระดานในเกมสงคราม เราจะได้วางแผนส่งสายลับหรือทหารในอาณัติ (เมื่อไต่เต้าบันไดอำนาจไปได้ระดับหนึ่ง) ไปยังเขตต่างๆ ในกรุงปารีสเพื่อเพิ่มอิทธิพลให้กับตัวเอง และตัดอิทธิพลของคู่แข่งทางการเมือง เขตที่เราครองอิทธิพลได้จะเพิ่ม ‘แต้มอิทธิพล’ (influence point) ให้เราใช้ทำแอ็กชั่นโบนัสต่างๆ เช่น ส่งรายงานอัยการฉบับต่อไปให้โดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันเราก็ต้องระวังไม่ให้คนของฝ่ายศัตรูมาแย่งเขตอิทธิพลของเราไปหรือปลุกระดมให้ประชาชนออกมาจลาจล
เราจะตัดสินใจบนแผนที่ปารีสสลับฉากกับจอ ‘อุบาย’ (intrigue) ซึ่งเราใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อโค่นคู่ต่อสู้ทางการเมือง เล่ห์เพทุบายมีตั้งแต่ ปล่อยข่าวลือป้ายสี ทรมานคนสนิทของศัตรู และแน่นอน รวมถึงการ ‘ยัด’ หลักฐานเท็จต่างๆ นานา เพื่อส่งตัวคนสนิทศัตรูมาขึ้นศาล—ของเรา—ในข้อหา ‘ภัยต่อความมั่นคง’ ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส!
We. The Revolution ดึงความสนใจเราได้อยู่หมัดด้วยความสนุกสนานซ่อนเงื่อนของคดีต่างๆ หลายสิบคดีที่มีความหลากหลายสูงมาก หลายคดีเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสสมัยนั้น จำเลยของเรามีตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก แมรี อังตัวเน็ตต์ มเหสีของพระองค์ อ็องตวน ลาวัวซีเย นักเคมีรุ่นบุกเบิกที่ถูกจับขึ้นศาลปฏิวัติ รวมไปถึงนักหนังสือพิมพ์ นายพล นักการเมืองชื่อดัง พ่อค้าและคนธรรมดาอีกมากมายที่ ‘อาชญากรรม’ ของพวกเขาบางครั้งดูเหมือนจะมีเพียง ‘อยู่ผิดที่ผิดเวลา’ เท่านั้นเอง
ข้อเสียของเกมนี้ในความเห็นของผู้เขียนก็คือ เนื้อหาช่วงแรกๆ ดีกว่าช่วงสุดท้าย ระบบเกมบางระบบ เช่น การให้เราบังคับบัญชากองทัพ ทำสงครามในฉากท้ายๆ น่าเบื่อกว่าระบบอื่นและไม่ค่อยเข้ากับเกม จำนวนระบบเกมก็ดูจะอัดแน่นมามากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าความอลเวงอลวนทั้งหมดนั้นเข้ากับธีมหลักของเกม เพราะมันช่วยถ่ายทอดบรรยากาศ “ยุคแห่งความกลัว” ในปารีสสมัยนั้นได้ ยุคที่ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น
เส้นเรื่องหลักของเกมเล่าผ่านฉากคัตซีน (cutscenes) กราฟิกสองมิติสวยงามเหมือนการ์ตูนช่องเจ๋งๆ และมีการหักมุมสนุกสนานน่าติดตามไปจนจบ แต่น่าเสียดายที่ราว 15% สุดท้ายดึงดันเราไปสู่ฉากจบเพียงฉากเดียว แทนที่จะมี ‘ทางเลือก’ ให้เราตัดสินชะตาชีวิตตัวเองบ้าง และผู้เขียนก็เสียดายที่เกมไม่มีอรรถาธิบายใดๆ เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสให้คนที่ไม่คุ้นเคยได้เข้าใจที่มาที่ไป เปิดมาก็เจอคำศัพท์และชื่อกลุ่มการเมืองต่างๆ มากมายที่ต้องเดาเอาเองว่าใครคิดอะไร (หรือไม่ก็ออกจากเกมไปเปิดกูเกิลค้นต่อ ซึ่งในแง่ดี เกมนี้ก็กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสช่วงนั้นได้ดีมาก)
โดยรวม We. The Revolution เป็นเกมทะเยอทะยานที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ดึงดูดให้เราตรึงอยู่หน้าจอ และฉุกให้คิดถึงประเด็นต่างๆ มากมายที่เกี่ยวกับความยุติธรรม บทบาทและข้อดีข้อเสียของ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ตลอดจนข้อจำกัดในชีวิตของตุลาการในฐานะปัจเจกชน
รวมทั้งกระตุ้นให้ครุ่นคิดว่า ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของศาลในฐานะสถาบัน ควรจะสร้างและสั่งสมอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ และประวัติศาสตร์จะตัดสินผู้เล่นคนสำคัญๆ ในยุคแห่ง ‘ตุลาการภิวัตน์’ ว่าอย่างไรในอนาคต เมื่อพายุความบ้าคลั่งแห่งยุคสมัยได้พัดผ่านไปแล้ว.