สีม่วง เป็นสัญลักษณ์ของความเจ็บปวด เป็นสีเดียวกันกับรอยฟกช้ำจากการเป็นผู้ถูกกระทำ
สีเป็นสิ่งที่เราใช้ช่วยนิยามความหมายต่างๆ ของชีวิต เราให้ความหมายกับสี และสีก็ถูกนำกลับมาอธิบายตีความชีวิต สีเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและจัดจ้านในการวาดระบายสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ ให้แจ่มชัดมากขึ้น ดังนั้นสีจึงเป็นอุปกรณ์ที่ศิลปินใช้เพื่อสื่อสารผ่านศิลปะของตัวเอง นอกจากงานศิลปะที่ระบายสีลงไปให้เราเห็น งานเขียนที่เล่นกับความคิด กับจินตนาการเองหลายครั้งก็ใช้กลยุทธ์ในการใช้สื่อเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน
จาก The Color Purple หนังสือที่ว่าด้วยความยากลำบากผ่านการนิยามคนผิวสีด้วยสีสันจากร่องรอยบนผิวหนัง มาจนถึง ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ งานเขียนของมุราคามิที่ใช้ ‘ภาวะไร้สี’ และสีสันต่างๆ มาเล่นกับการไร้ความหมาย ไร้ตัวตน และความบางเบาของชีวิตร่วมสมัย
ถ้าให้นิยามชีวิตของเราด้วยสี ช่วงนี้ชีวิตเป็นสีอะไร The MATTER รวบรวมวรรณกรรมที่มีสี คือมีสีตั้งแต่ชื่อเรื่อง เผื่อว่าเราจะมองเห็นโลกและความหมายต่างๆ ในหลากเฉดสีกัน
The Color Purple – Alice Walker
แค่ชื่อเรื่องก็แสนกระแทกความรู้สึก The Color Purple เป็นหนึ่งในงานเขียนที่เล่าถึงความเจ็บปวดและความรู้สึกของทาส การเป็นทาสก็ว่าแย่แล้ว แถมยังเป็นผู้หญิงอีก หนังสือเล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเล่มที่ส่งอิทธิพลต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง เสียงเล่าเรื่องถือเป็นวิธีสำคัญที่ Walker ถ่ายทอดการเป็นผู้ถูกกระทำ ความไร้เดียงสา และความเป็นมนุษย์ได้อย่างนุ่มนวลและสัมผัสหัวใจ นอกจากหนังสือแล้วฉบับหนังก็ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน เราอาจรู้จักสตีเวน สปีลเบิร์กในฐานะเจ้าพ่อหนังอลังการ แต่ The Color Purple ถือเป็นหนึ่งในหนังดราม่าที่สปีลเบิร์กกำกับแล้วทรงพลังไม่แพ้ฉบับหนังสือ
The Picture of Dorian Gray – Oscar Wilde
สีเทา เป็นหนึ่งในสีสำคัญของมนุษย์ สีเทาคือสีที่ไม่ขาวและไม่ดำ อาจหมายถึงความคลุมเครือระหว่างความดีและความชั่ว The Picture of Dorian Gray เป็นอีกงานเขียนกึ่งสยองขวัญ กึ่งปรัชญา ที่ชวนให้เราน่าหวาดหวั่นและขบคิด เมื่อชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งยึดติดกับภาพ – ตัวตนอันงดงามของตัวเอง – จนยอมจ่ายทุกอย่างแม้กระทั่งวิญญาณ ในขณะที่ตัวตนของเกรย์ยังคงหล่อเหลาและสดใส แต่ภาพวาดของเขากลับหม่นหมองลงตามการกระทำ สีเทาในที่นี้อาจหมายถึงตัวตนที่อยู่เบื้องหลังสีขาวสดใส ในคอนเซ็ปต์ที่ว่า ภาพสะท้อนซึ่งสะท้อนออกมาแล้วดูฟอนเฟะของตัวเราท่ามกลางความพยายามในการรักษาภาพจริงๆ ของตัวเองเอาไว้ในทุกๆ วัน – ฟังแล้วก็น่าขนลุกเนอะ หรือเราต่างก็ทำแบบนั้นกันอยู่?
Raise the Red Lantern: Three Novellas – Su Tong
เมื่อโคมแดงถูกจุดขึ้นที่หน้าตึก คืนนั้นคุณผู้ชายจะไปค้างคืนที่ห้องหอของภรรยาคนนั้น สีแดงในวัฒนธรรมจีนหมายถึงความโชคดี หมายถึงสิ่งอันเป็นมงคล เจ้าสาวในชุดสีแดงคือหญิงสาวที่มีความสุข
Raise the Red Lantern พูดถึงสมัยที่ผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องประดับบารมี นวนิยายเรื่องนี้ของซูถงเป็นต้นแบบของเรื่อง ดอกส้มสีทอง – แนวเรื่องการถูกกดขี่และการถูกบีบบังคับให้ทำร้ายกันเองเพื่ออยู่รอดภายใต้อำนาจของผู้ชาย ในเรื่องว่าด้วย ‘ดอกบัว’ หญิงสาวไร้เดียงสาการศึกษาดีที่แต่งงานเข้าเป็นคุณนายที่สี่ของบ้านคหบดี … สีแดง เป็นตัวแทนของความมงคลจึงถูกฉาบไปด้วยความย้อนแย้ง เพราะภายใต้โคมสีแดงกลับเต็มไปด้วยการกดขี่ การทำร้ายและการทำลายกันเองภายในครัวเรือน เรื่องนี้มีเวอร์ชั่นหนังกำกับโดย จางอี้ โหมว แสดงนำโดย กงลี่ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องคลาสสิกที่เล่นกับสีและความหมายได้ดี สนุก สวยงาม และร้าวราน
My Name is Red – Orhan Pamuk
อีกหนึ่งหนังสือที่เล่นกับสี ศิลปะ วัฒนธรรมอาหรับ และการฆาตกรรม สีแดง (และสีดำ) จึงเป็นเฉดสีที่จะระบายลงในความคิดของเราได้จากงานของ Orhan Pamuk นักเขียนชาวตุรกีที่รับรางวัลโนเบลไปเมื่อปี 2006 นวนิยายเรื่องนี้เล่นกับการเล่าเรื่องด้วยเสียงเล่าทั้งของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เรื่องเล่าและเสียงเล่าสารพัดนี้ต่างอยู่รายรอบการฆาตกรรมอันน่าสยดสยอง ความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของมนุษย์ ความรัก ความตาย ศาสนา และศิลปะ – เป็นสิ่งที่เราจะสัมผัสได้ภายใต้ชื่อสีแดงนี้
The White Tiger – Aravind Adiga
เราจะนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึง ‘เสือขาว’ เราอาจนึกถึงตัวแทนของพลังอำนาจ สิ่งมีชีวิตที่ทรงพลังเจ้าของผืนป่า แต่ถ้าในมิติของโลกสมัยใหม่ นวนิยายที่เล่าถึง ‘อินเดีย’ ณ ห้วงเวลาที่อยู่ภายใต้เงื้อมอำนาจของโลกตะวัน เสือขาว – ในฐานะตัวแทนอำนาจของเหล่าดินแดนในโลกตะวันออก ดินแดนที่พลังของโลกสมัยใหม่กำลังรุกรานและกลืนกินเสือที่เคยถือครองพลังนี้ The White Tiger เป็นนวนิยายที่ให้บรรยากาศคล้าย Slumdog Millionaire พูดถึงการดิ้นรนในมุมมองแสบๆ ของคนอินเดียในโลกทุนนิยมสมัยใหม่
The Bluest Eye – Toni Morrison
ประเด็นเรื่องคนผิวสี ดูจะเป็นอีกเรื่องที่เราแบ่งแยกกันด้วย ‘สี’ Toni Morrison เป็นอีกหนึ่งนักเขียนหญิงผิวสีที่เล่าถึงการกดขี่ ดวงตาที่ฟ้าที่สุด ย่อมเชื่อมโยงกับอคติที่คนผิวขาวใช้แบ่งแยกจัดลำดับผู้คน ในเรื่องเล่าถึงสาวน้อยผิวดำที่รู้สึกด้อยค่าในตัวเอง เธอปรารถนาในความเป็นคนขาว ผิวขาว และดวงตาสีฟ้า ผิดกับผิวสีเข้มของเธอที่ถูกตราว่าน่าเกลียด ปลายทางในเรื่องเปิดให้เห็นประเด็นการเหยียดผิว และการให้คุณค่าที่สังคมมอบให้สุดท้ายส่งผลกับคนที่มีเลือดมีเนื้อ มีชีวิตจิตใจมากแค่ไหน
Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage – Haruki Murakami
ชีวิตของเรามีสีสันไหม หรือจริงๆ แล้ว เราต่างใช้ชีวิตอย่างไร้สี อย่างชืดชา ในโลกสมัยใหม่ที่เราต่างใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ในโลกที่เราอาจกำลังปกป้องตัวเองจากสีสันต่างๆ จากความเจ็บปวด มูราคามิเป็นนักเขียนที่โดดเด่นในการให้ภาพตัวตนอันว่างเปล่าของเราในสังคมร่วมสมัยได้อย่างชัดเจน จากหนังสือสารพัดสีมาจนถึงงานที่พูดถึง ‘เรา’ ในทุกวันนี้ วันที่ชีวิตของเราจริงๆ แล้ว อาจจะไม่มีสีอยู่เลยก็ได้ จริงๆ นะ แค่บอกว่าเป็นชายไร้สี คือแค่นี้ก็เหมือนเราได้เห็นตัวตนอันเจือจางของเราแล้ว