โปรย : ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะกลัวการเคลื่อนไหวของเยาวชนเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย คล้ายๆ กับรัฐบาลของผมที่ฮ่องกงนั่นแหละ
เที่ยวบินที่ผมนั่งแตะสนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่มีปัญหาใดตอนเที่ยงคืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมได้รับเชิญไปแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับขบวนการร่ม (Umbrella Movement) ที่ฮ่องกง ในสองมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ และจะพูดเกี่ยวกับการเป็นนักการเมืองรุ่นเยาว์ด้วย
แต่ทันทีที่ผมออกจากเครื่องบิน ผมก็เริ่มกังวลว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะกักกันผมไว้ และส่งตัวผมกลับฮ่องกงในเที่ยวบินเดียวกันหรือเปล่า ผมเริ่มรู้สึกแปลกๆ เริ่มเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่มากผิดปกติ แต่ผมก็ไม่มีที่อื่นให้ไป เมื่อผมเหยียบไปที่ทางเชื่อมเพื่อออกจากเครื่องบิน ผมก็เห็นว่ามีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาเป็นฝูง แล้วผมก็รู้แล้วล่ะ ว่ามีอะไรตุๆ อย่างแน่นอน
สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือ มันไม่เหมือนกับตอนที่ผมถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ามาเลเซียในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 ในครั้งนี้ ไม่ต้องรอให้ถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง ผมก็ถูกเอาตัวไปแล้ว
เขาถามผมว่าผมใช่โจชัว หว่องไหม ผมตอบว่าใช่
ทันทีที่พวกเขายืนยันตัวผม เขาก็ประกาศว่ามีเอกสารจากทางการไทยให้กักกันตัวผมไว้ และบอกให้ผมยื่นพาสปอร์ตให้เขา ผมกลัวมาก เพราะไม่คิดว่าแค่ผมเพิ่งลงจากเครื่อง ก็จะเจออะไรแบบนี้
สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยทำให้ผมคุมสภาพจิตไว้ไม่ค่อยอยู่ ครั้งสุดท้ายที่ผมรู้สึกแบบนี้ – รู้สึกว่าตื่นเต้นจนหัวใจแทบจะหลุดออกจากอก – คือเมื่อสองปีก่อน ในปี 2014 ตอนที่ผมถูกจับกุมระหว่างขบวนการร่มนั่นเอง
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในฮ่องกง อย่างน้อยผมก็จะสามารถติดต่อทนายหรือสื่อเพื่อซื้อเวลาได้ แต่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นที่ที่ไม่คุ้นเคยสำหรับผม มือถือผมก็ไม่สามารถเชื่อมต่อกับไวไฟของสนามบินได้ด้วย ผมจึงติดต่อใครไม่ได้เลย ผมไม่มีทางเลือก นอกจากยื่นพาสปอร์ตให้เขา
เจ้าหน้าที่บอกว่า ผมถูกแบนจากรัฐบาลไทย และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ หลังจากที่ผมยื่นพาสปอร์ตให้ ผมก็ถูกสั่งให้เดินตามเจ้าหน้าที่ตำรวจและศุลกากรกว่า 20 คนไปที่ไหนก็ไม่รู้ ใจผมเต้นแรงขึ้นๆ ผมยิ่งรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ เราเดินมาไกลมากๆ นับตั้งแต่เครื่องแตะพื้น และคำเดียวที่ผมเข้าใจคือ “ผมถูกแบน”
หลังจากที่พวกเขาเอาผมไปไว้ที่ห้องขัง (detention cell) ผมก็ทนไม่ไหวอีกแล้ว ผมถามพวกเขาว่ามีมาตราไหนในกฎหมายเหรอที่อนุญาตให้คุณโยนชาวต่างชาติไว้ในห้องขังได้โดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ ผมขอติดต่อครอบครัว หรืออย่างน้อยทนายในพื้นที่ก็ยังดี
แต่พาสปอร์ตผมไม่อยู่แล้ว แถมผมไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ด้วย ผมจึงติดต่อใครไม่ได้เลย เขาจะทำอะไรตามใจชอบก็ได้ คำร้องขอสองอย่างของผม คือขอทนาย กับขอให้พวกเขาอธิบายว่าพวกเขาทำตามกฎหมายมาตราไหน ได้รับการตอบรับด้วยคำง่ายๆ ว่า “ไม่”
ผมวิพากษ์วิจารณ์พวกเขาว่าการกักกันตัวผมไว้โดยไม่มีกฎหมายมารองรับนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พวกเขาตอบว่า “เดี๋ยวจะบอกเหตุผลตอนที่กักกันตัวเสร็จแล้ว” ผมไม่ยอม ยังบอกพวกเขาอีกว่านี่ทำผิดขั้นตอนของตำรวจนะ แต่พวกเขาก็ตอบว่า “รู้ไว้นะ นี่มันประเทศไทย มันก็เหมือนประเทศจีนนั่นแหละ ไม่เหมือนฮ่องกงหรอก”
ผมท่องคำที่เขาพูดซ้ำๆ กับตัวเอง
“รู้ไว้นะ นี่มันประเทศไทย มันก็เหมือนประเทศจีนนั่นแหละ ไม่เหมือนฮ่องกงหรอก”
“รู้ไว้นะ นี่มันประเทศไทย มันก็เหมือนประเทศจีนนั่นแหละ ไม่เหมือนฮ่องกงหรอก”
“รู้ไว้นะ นี่มันประเทศไทย มันก็เหมือนประเทศจีนนั่นแหละ ไม่เหมือนฮ่องกงหรอก”
ผมว่าเขาพูดถูก มันเหมือนจีน ไม่เหมือนฮ่องกง ก็ขนาดกุย มินไฮเจ้าของสำนักพิมพ์ในฮ่องกงยังถูกลักพาตัวในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วเพื่อส่งตัวกลับจีนแผ่นดินใหญ่เลยนี่นา
การสนทนาของผมกับตำรวจจบลงเมื่อเขาพูดว่า “นายรู้ไหมว่าพวกเราจะปฏิบัติกับนายดีๆ อย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ได้ แต่พวกเราอาจจะทำอะไรรุนแรงกว่านี้ก็ได้ เราเชื่อว่านายรู้ว่าเราพร้อมที่จะทำอะไรแค่ไหน” (“You know we can treat you nicely like we are now. But we can also make it hard for you. We believe you understand how far we can go.”) ผมก็รู้แหละ จริงๆ แล้ว ทุกคนในฮ่องกงก็รู้เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวข่าวคนขายหนังสือ ที่ว่าคนขายหนังสือท้องถิ่นห้าคนถูกส่งไปจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งนั้น
ประมาณตีสอง ผมก็ถูกจับขังคุกในสนามบิน
ตอนแรกผมคิดว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ คือการที่ตำรวจยี่สิบนายมา ‘เฝ้า’ ผมในสนามบินก่อนที่จะส่งตัวผมกลับฮ่องกง
แต่สิ่งที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนก็คือการที่ผมจะถูกขังในต่างประเทศ เพียงเพราะว่าผมจะมาบรรยายในมหาวิทยาลัยชั้นนำของที่นี่เท่านั้น
ห้องขังในฮ่องกงไม่ได้สุขสบายหรอก แต่ในไทยยิ่งแย่กว่านั้นอีก ในฮ่องกง อย่างน้อยคุณก็ได้รับอนุญาตให้พบทนาย สองปีก่อนตอนที่ผมถูกจับกุมในฮ่องกงเพราะเดินขบวนใน Civic Square สองวันก่อนขบวนการร่มจะปะทุขึ้น ผมก็ยังสามารถขอออกมาได้ โดยการยื่นสิทธิผู้ถูกคุมขังในศาล (habeas corpus petition)
ในประเทศไทย ศูนย์กักกันนั้นเลวร้ายกว่ามาก ความที่มันทั้งไม่สะอาด ทั้งมีกำแพงภาษานั้นไม่ใช่ปัญหาหลักหรอก แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือการถูกตัดจากโลกภายนอกในห้องกุมขังเล็กๆ นี้ต่างหาก คุณจะไม่ได้เห็นแสงสว่าง และคุณก็จะไม่รู้ว่านี่กี่โมงแล้ว คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณต้องรอนานเท่าไร แต่คุณรู้ว่าคุณไม่อาจช่วยตัวคุณเองผ่านทางช่องทางทางกฎหมายได้ – เพราะมันไม่มีกฎหมายอยู่ด้วยซ้ำ
ในห้องขังขนาด 50 ตารางฟุตนี้ จิตใจของผมปั่นป่วนมาก ทั้งกลัวและทั้งไม่สงบสุข ผมสงสัยว่าเพื่อนๆ และเพื่อนร่วมงานจากพรรค Demosisto จะกังวลไหมที่ไม่เห็นผมออนไลน์ ผมสงสัยว่าครบอครัวและแฟนของผมจะคิดอะไรอยู่ เมื่อไม่ได้รับการติดต่อจากผมเลย ผมสงสัยว่าเพื่อนๆ ผมที่เคลื่อนไหวในประเทศไทยอาจช่วยให้ผมออกจากห้องขังนี้ได้ เมื่อพวกเขาเห็นว่าผมไม่ปรากฏตัวที่สนมบิน ผมสงสัยว่ารัฐบาลฮ่องกงจะโต้ตอบเหตุการณ์นี้อย่างไร หรือพวกเขาจะทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมกลัวมากจนอยากร้องไห้
การถูกตัดออกจากโลกภายนอกนั้นน่าสะพรึงอย่างยิ่ง แต่ผมก็บอกตัวเองว่าอย่าร้องไห้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ห้ามร้องไห้เต็มขาด ผมไม่อาจยอมให้ตำรวจ ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาล รู้สึกว่าพวกเขาเอาชนะผมได้ ผมมองไปที่ผนังห้องขัง คิดว่าเมื่อไรกันที่ผมจะได้กลับบ้าน จะเป็นพรุ่งนี้เช้าหรือเปล่า หรือตอนเที่ยง หรืออาจจะเป็นวันถัดไป
อาจจะฟังดูบ้านะครับ แต่ผมก็กังวลจริงๆ ว่ารัฐบาลไทยอาจนำตัวผมไปขึ้นศาลผ่านทางกฎหมายความมั่นคงอะไรสักอย่าง แล้วต้องใช้เวลาสองสามอาทิตย์ก่อนที่จะส่งตัวผมกลับบ้าน หรือเลวร้ายกว่านั้น – พวกเขาอาจจะตัดสินว่าผมผิดแล้วจับขังคุกเป็นปีๆ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ผมคิดว่าอาจเกิดขึ้นได้ – ถึงแม้ผมจะคิดขึ้นมาแวบเดียวเท่านั้น – ก็คือผมกลัวว่าพวกเขาจะส่งผมกลับจีนแผ่นดินใหญ่ เหมือนกับที่พวกเขาทำกับคนขายหนังสือห้าคนที่หายตัวไปในปีก่อน
คุณอาจคิดนะครับว่าผมเวอร์เกินไปที่คิดว่าตัวเองอาจจะกลับบ้านไม่ได้ แต่เมื่อผมเริ่มมีความคิดเชิงลบพวกนี้ ผมก็เริ่มเตือนตัวเองว่า ถึงแม้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผมก็คงไม่ถูกขังในไทยหรอก และคงไม่ถึงขนาดถูกส่งตัวกลับจีนแผ่นดินใหญ่ เหตุผลเริ่มบอกกับผมว่าสถานการณ์พวกนั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้
แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าเมื่อร่างกายเราอยู่ในสภาพแย่ คุณไม่อาจหายใจได้เพราะถูกสภาพอากาศกดทับไว้ ความกลัวจะเริ่มกัดกินจิตใจคุณ ความเป็นจริงในตอนนั้นคือผมถูกกักตัวอยู่ในต่างแดน ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และไม่แน่ใจว่าจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านด้วยซ้ำ
ผมว้าวุ่นจนไม่อาจข่มตาให้หลับ จนกระทั่งสุดท้ายผมก็เข้าใจแล้วว่า “อิสรภาพจากความกลัว” หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ประสบการณ์การถูกกุมขังครั้งนี้น่ากลัวกว่าตอนที่ผมถูกจับในฮ่องกงเป็นร้อยเท่า
จนเที่ยงวันต่อมานี้เองที่เขาบอกผมว่าจะส่งตัวผมกลับในไฟต์ถัดไป ผมโล่งใจมาก ก่อนที่ผมจะออกมา ผมได้รับเอกสารจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพื่อบอกว่าพวกเขาปฏิเสธการเข้าประเทศของผมตามมาตรา 19,22 และ 54 ตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองปี 2522
ดังนั้นเป็นอันว่า หลังจากประเทศจีน มาเก๊า และมาเลเซีย ผมก็รู้แล้วว่ามีเขตแดนอีกแห่งที่ผมไม่อาจเข้าไปได้ จริงๆ แล้วผมก็ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าทำไม ผมไม่เคยวิพากษ์รัฐบาลไทยเสียด้วยซ้ำ ผมแค่ถูกเชิญมาเพื่อปันประสบการณ์การเป็นเด็กหนุ่มที่มีส่วนร่วมในขบวนการร่ม เท่านี้เองที่ทำให้ผมถูกกักตัวหลังจากผมออกจากเครื่องบิน และถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเลย ผมถูกขังอยู่ 12 ชั่วโมง ถูกยึดพาสปอร์ต และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก
ผมแน่ใจว่าการกักตัวผมอย่างผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของไทย นั้นมาจากความกลัวของพวกเขาที่มีต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชนทั่วโลก
ผมมั่นใจว่าหนุ่มสาวทั่วโลกจะผนึกกำลังกันแข็งแรงขึ้น และมีส่วนร่วมต่อประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และค่านิยมสากลอื่นๆ ให้มั่นคงมากขึ้น พวกเราจะออกมาทำกิจกรรมบนท้องถนนกันมากขึ้น ความหวังและความฝันของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงทั้งวัฒนธรรม ทั้งภาษา ทั้งประเทศ และทั้งการเมืองไปอย่างแน่นอน
พรรคการเมืองที่ผมสังกัดและผมจะทำงานกับกลุ่มพลเมืองในพื้นที่ เพื่อนำทางสู่เสรีภาพและความยุติธรรมต่อไป
แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษโดย Y.M. Wong, Jason Y Ng และ Christy Yao
บทความต้นทางจาก https://www.theguardian.com/…/thailand-joshua-wong-deportat…
ที่มาภาพ : usatoday.com