ถ้าคู่กันแล้ว คงไม่แคล้วคลาดกัน เหมือนจีนกับฮ่องกงที่แม้จะพบเจอชะตากรรมให้ถูกพลัดพราก ฮ่องกงต้องจากไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษตามสัญญาเช่าถึง 99 ปี แต่ก็กลับหวนคืนสู่อ้อมกอดการปกครองของประเทศแม่อย่างจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกครั้ง ในปี 1997
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ใจคนก็เปลี่ยนตาม กลับคืนหากันครั้งนี้ อะไรๆ มันก็ไม่เหมือนเดิม หลายปีที่ผ่านมาเสียงจากคนฮ่องกงก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าไม่อยากอยู่กับการปกครองสไตล์ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ อีกต่อไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกอึดอัดกับสภาพสังคมที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น ก็โตแล้วก็อยากดูแลตัวเองบ้างมันผิดตรงไหน ไม่ใช่เด็กที่ต้องอยู่ในโอวาทของแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ฮ่องกงก็อยู่กับจีนมาครบรอบ 20 ปีแล้ว ท่ามกลางเสียงประท้วงที่ร้องให้ฮ่องกงแยกตัวออกไป และขณะที่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเชียร์ให้อยู่กับจีนต่อ อนาคตของฮ่องกงจะเป็นอย่างไร จะอยู่หรือจะไป The MATTER ขอชวนทุกคนไปเสี่ยงเซียมซีทำนายอนาคตฮ่องกงกันดีกว่า
เซียมซีใบที่ 1 – อยู่กันอย่างนี้นานๆ นะเธอ จากกันวันใดแผ่นดินใหญ่คงผิดหวัง
เซียมซีใบแรก กับอนาคตของเกาะฮ่องกง ที่ดูจะถูกใจฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งและจีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่สุด คือการหวนคืนสู่การปกครองของจีนเต็มร้อย กลืนชาวฮ่องกงให้กลายเป็นชาวจีนอย่างเต็มรูปแบบ ควบรวม 2 ระบบที่เป็นอยู่ให้กลายเป็นหนึ่งใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ เหมือนอย่างเซี่ยงไฮ้ที่แม้ในอดีตจะรับวัฒนธรรมตะวันตกมากมาย และเคยอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษกับฝรั่งเศส แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ในอ้อมกอด ร่มเงาการปกครองของแผ่นดินใหญ่อย่างสมบูรณ์
ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งในฮ่องกง มองว่า ตัวเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ถูกต้องสมควรของฮ่องกงแล้ว เพราะความยิ่งใหญ่ประดุจมังกรที่กำลังผงาดในโลกของจีนในตอนนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฮ่องกง ทั้งยังมองว่าการถูกจีนปกครองนั้นดีกว่าสมัยอยู่ใต้อังกฤษด้วยซ้ำ
ชาวฮ่องกงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีท่าทีหวาดกลัวกับตัวเลือกนี้ เพราะการตกอยู่ใต้จีนนั้น ย่อมจะทำให้ชีวิตเขาพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งการศึกษาที่ต้องไปแข่งขันกับนักเรียนจีน ทำให้มีความตึงเครียดมากขึ้น หรือเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกที่ย่อมจะถูกจำกัดและควบคุมมากกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้การอยู่ใต้พรรคคอมมิวนิสต์อาจทำลายวัฒนธรรมและความเป็นฮ่องกงที่มีมาแต่อดีต รวบฮ่องกงให้เป็นเหมือนเพียงจังหวัดแห่งหนึ่งของจีนด้วย
เซียมซีใบที่ 2 – ไปแล้วไปลับ ไม่กลับย้อนมา ฮ่องกงแยกตัวลา ตัดขาดอย่างถาวร
เซียมซีใบที่ 2 ที่เป็นเหมือนความหวังและพลังศรัทธายิ่งใหญ่ของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง และกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย คือการเป็น 2 ประเทศ 2 ระบบ แยกตัวออกจากประเทศจีนอย่างถาวร แบบไม่เหลือเยื่อใยหรือความทรงจำดีๆ ที่ีบรรพบุรุษมีร่วมกันมา
ฝ่ายสนับสนุนเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ได้ออกมาประท้วง ชุมนุมเรียกร้องทางเลือกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดที่เราเห็นได้คือ การปฏิวัติร่มในปี 2014 ที่มีประชาชนฮ่องกงเข้าร่วมมากถึงกว่า 1 แสนคน แต่ถึงแม้สุดท้ายการชุมนุมนี้จะถูกปราบปรามลง แต่ก็เป็นการเริ่มต้นให้เห็นถึงพลัง และการแข็งข้อไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจจีนของชาวฮ่องกง
ทั้งฮ่องกงยังมีผู้นำรุ่นใหม่หัวใจประชาธิปไตยที่เป็นความหวังให้กับอนาคตของประเทศอย่าง โจชัว หว่อง หนุ่มผู้ไม่ย่อท้อเรียกร้องเสรีให้กับประเทศ และนาธาน ลอว์ หัวหน้าพรรคการเมืองประชาธิปไตย Demosisto ที่ปัจจุบันเขาได้รับเลือกตั้งและมีตำแหน่งเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในสภานิติบัญญัติแห่งชาติฮ่องกง รวมถึงผองเพื่อนคนรุ่นใหม่อีกมากมาย ที่พร้อมอุทิศตนเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ อาจร่วมเป็นแกนนำสำคัญผลักดันให้ฮ่องกงแยกตัวออกจากจีนจนสำเร็จ
ถ้าฮ่องกงสามารถแยกตัวออกจากจีนได้อย่างเด็ดขาดสำเร็จนั้น เราคงได้เห็นประเทศใหม่ ที่คาดว่าจะมีประชาธิปไตยและเสรีภาพเข้มแข็ง ทั้งยังเป็นประเทศที่เปิดโอกาสและพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนอนาคตของสังคมร่วมกันอย่างสดใสด้วย
เซียมซีใบที่ 3 – ร่วมด้วยช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ปกครองร่วมกันต่อไป
เซียมซีใบที่ 3 กับตัวเลือกที่เป็นเหมือนทางคู่ขนานระหว่างตัวเลือกที่ 1 และ 2 ยอมต่อวิธีการปกครองแบบ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ คือการที่ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่จีนยอมให้มีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมได้ โดยฮ่องกงจะมีระบบเศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมายเป็นของตัวเอง
ถึงแม้พรรคคอมมิวนิสต์สัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวแอบเอี่ยวด้วย แต่เราก็ยังคงเห็นอำนาจของแผ่นดินใหญ่ที่แทรกแซงการเมืองฮ่องกงอยู่เรื่อยๆ ทั้งจากระบบเลือกตั้งผู้ว่าเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นกระบวนการลงคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่เสียงจากประชาชนฮ่องกงอย่างแท้จริง ทำให้ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาะฮ่องกง มักถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิด ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง คอยผลักดันนโยบายที่ดูสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อจีน รวมถึงนางแคร์รี่ แลม ผู้ว่าคนใหม่ที่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งวันนี้ด้วย
ทั้งยังมีอำนาจและมือที่มองไม่เห็นมากมายเข้าแทรกแซง อุ้มและลักพาตัวเหล่าผู้ทำอาชีพสุจริตในการขายหนังสือหลายคน ที่จำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวของผู้นำจีน ซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกในฮ่องกง
ถ้าในอนาคต ฮ่องกงอยู่กับทางเลือกและระบบนี้ต่อไป ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ คงอยู่กันแบบที่ยื้อก็เหมือนจะยิ่งเหนื่อย ต่างต้องคอยเฝ้าระวังและจับตาดูอย่างหวาดระแวงกันตลอด เพราะทางการจีนต้องเผชิญกับการต่อต้านและการชุมนุมจากเหล่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรงขึ้น และชาวฮ่องกงต่างก็ต้องเจอกับการแทรกแซง และอำนาจที่คืบคลานดั่งมนต์ดำอยู่เนืองๆ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าชาวฮ่องกงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะอพยพออกนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหนีการอยู่ใต้ปกครองของจีนด้วย
เซียมซีใบที่ 4 – อนาคตมืดมน มองไม่เห็นทาง จะเป็นอย่างไร ชาวฮ่องกงคงต้องตัดสินกันเอง
เซียมซีใบที่ 4 กับทางเลือกที่ดูมืดมน มองไม่เห็นทาง ถึงแม้ในพิธีการรับคืนเกาะฮ่องกงในปี 1997 จีนจะทำตามสัญญา โดยขอเวลา 50 ปี ที่ยินยอมให้มีการปกครองแบบ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ ซึ่งบรรจุลงในกฎหมายขั้นพื้นฐานถึงปี 2047 ซึ่งถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว
อนาคตอีก 30 ปี หลังหมดคำมั่นสัญญาการปกครองรูปแบบนี้ ชะตาของฮ่องกงจะเป็นอย่างไร แม้แต่ชาวฮ่องกงเองก็คงยังไม่รู้ แต่ชาวไทยอย่างเราก็ได้แต่หวังว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชาวฮ่องกงจะได้ตัดสินและกำหนดอนาคตประเทศตัวเอง และได้แผ่นดินที่งดงามคืนกลับมาเหมือนเราเนอะ
อ้างอิง
Illustration by Namsai Supavong