เช้าจนถึงบ่ายไทม์ไลน์เต็มไปด้วยข่าว ‘โจชัว หว่อง’ ถูกกักตัวและส่งกลับฮ่องกง เนื่องจากมีหนังสือจากรัฐบาลจีนขอให้ส่งตัวกลับ ทำให้ไม่สามารถมากล่าวปาฐกถาในงาน ‘6 ตุลาฯ ชาวจุฬามองอนาคต’ ไม่ได้ The MATTER สัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมเสวนาที่จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ว่า พวกเขารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้
โตมร ศุขปรีชา
“ที่จริงไม่ประหลาดใจนัก เพราะคิดไว้เหมือนกันว่าอาจมีขบวนการขัดขวางอะไรบางอย่าง แต่ค่อนข้างงงกับข่าวมาก จนบัดนี้ก็ยังไม่เคลียร์ว่าเพราะอะไร คือถ้าจีนอยากได้ตัวโจชัว ก็ไปจับที่ฮ่องกงได้ หรือถ้าสั่งฮ่องกงไม่ได้ จะอ้อมทางอำนาจโดยมาบีบให้ไทยส่งตัวกลับ โจชัวก็น่าจะถูกส่งตัวกลับไปปักกิ่งหรือเมืองอื่น แต่เข้าใจว่าเขาถูกส่งกลับฮ่องกง เลยยังสงสัยอยู่ว่าเหตุผลของเรื่องทั้งหมดนี้คืออะไรกันแน่
อีกความรู้สึกหนึ่งคือเสียดาย อยากฟังเขาพูด เราฟังโจชัวเรื่องฮ่องกงมาเยอะ เลยอยากรู้ว่า ในฐานะที่เป็นคนอีกรุ่นและอีกประเทศ เขามองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างไร เขาเปรียบเทียบมันกับเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินอย่างไร จริงๆ เรื่อง 6 ตุลา ค่อนข้างซับซ้อน คนที่คลุกอยู่กับมันจริงๆอย่างคนในประเทศอาจ ignore หรือ overwhelm กับมันได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเป็นนักกิจกรรมที่เห็นเหตุการณ์คล้ายๆกันอย่างนี้ในหลายๆที่ และเป็นคนรุ่นดิจิตอล ได้ลองเปรียบเทียบความเหมือนความต่างให้เราดู น่าจะทำให้เรา ‘เห็น’ อะไรมากขึ้นกว่าเดิมได้ เลยเสียดายมากที่เขาไม่ได้มา ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากความใจแคบบางอย่างหรือเปล่า”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
“เสียดายครับ เพราะเชื่อว่าทุกคนรอฟังการปฐกถาจากเขาอยู่ เพราะในงานวันพรุ่งนี้นั้นมี 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นวิทยากรคนไทยที่มีมุมมองต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา
อีกช่วงเราก็อยากฟังมุมมองจากคนระดับโลกอย่างโจชัว หว่องบ้าง เพราะเขาถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็จะช่วยเป็นภาพสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดได้ดีขึ้น สำหรับวันพรุ่งนี้งานก็จะยังมีอยู่ต่อไป อาจจะมีการสไกป์กับโจชัว หว่องอยู่ดี
แต่โอกาสที่อาจารย์ นิสิต นักศึกษาหรือประชาชนทั่วไปจะได้เจอกับเขาโดยตรงก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก”
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
“ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงกับการกักตัวโจชัว หว่องเมื่อคืนนี้
คือเอาจริงๆ ก่อนหน้านี้ ในฐานะคนหนี่งคน ซึ่งต้องไปร่วมเป็นแขกรับเชิญในการเสวนาในงานเดียวกันด้วยเนี่ยตอนแรกไม่รู้เลยว่า โจชัว หว่อง เป็นแขกในงานนี้ด้วย แล้วมารู้หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ตอนแรกน้องเนติวิทย์ชวนมา เออ โอเค ก็ไป
มันเป็นการสะท้อนว่า การยิ่งห้าม เนี่ยมันยิ่งเป็นการสร้างสปอตไลท์ให้กับคนที่อยากจะมีสิทธิมีเสียงในการพูดเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่า การกระทำครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลไทยหรือจีนหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ยังไม่มีใครออกมายอมรับ ว่าเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ว่ามันก็สะท้อนความพยายามที่จะปิดปากคน พยายามที่จะไม่ให้เราพูดคุยในเรื่องของประชาธิปไตย ในเรื่องที่สำคัญๆของสังคม มันก็ยังสะท้อนอีกด้านหนึ่งว่า สังคมในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะพยายามปิดแค่ไหน มันก็จะให้ผลตรงข้ามเสมอ คือยิ่งปิดยิ่งดัง ยิ่งปิดยิ่งน่าสนใจ แล้วน้องโจชัว จริงๆ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ลงมาที่สนามบินเรา แค่ชั่วโมง สองชั่วโมง ก็สามารถสร้างกระแสกระเพื่อมให้เราพูดคุยกันได้เยอะขนาดนี้ เปรียบกับการถ้าเค้ามาพูดในงานไปเลย อาจจะไม่ได้เกิดความสนใจขนาดนี้ก็ได้
นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดครั้งแรก ของการปิดปากเยาวชนนะ ก็กับนักศึกษาไทยที่โดนจับเข้าคุกไปเนี่ย จริงๆ ที่น้องๆ เค้าเสียงดังขึ้นมาได้เยอะขนาดนี้ ก็เพราะทางการนี่แหละ ที่ทำให้เค้าเสียงดัง ด้วยการไปจับก็ดี จับอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการล้มเลิกการเสวนางานต่างๆ ก็ดี การพยายามไม่ให้มีการพูดคุยกันยิ่งทำให้การพูดคุยมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น และนี่ยิ่งมาช่วงที่ใกล้ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาพอดี ยิ่งเป็นการผสานวาทะนั้นเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน
แล้วทำให้เรามองย้อนกลับไปว่า 40 ปีที่ผ่านมา เราได้เดินทางมาไกลแค่ไหนแล้ว ในบางเรื่องเราก็เดินทางมาไกลมาก ในบางเรื่องก็ไม่มีอะไรต่างจากเดิมเลย”
จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์
“ก็ตามสไตล์นะครับถ้าเกิดว่ามีจดหมายจากจีนจริงก็เหมือนเราทำตามคำสั่งลูกพี่อันนี้คือในกรณีที่มีจดหมายจริงๆ นะ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นไปได้ว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเรากลัวเรื่องหกตุลาจะเป็นที่สนใจในสื่อสากล โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ทหารก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง”
กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด เลขาธิการคนใหม่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
” คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรมากๆ เพราะโจชัวหว่องเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เขาแค่มาพูดเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งหนูคิดว่ามันเกินไปจริงๆ คิดว่าถ้าเขามาไทย เขาคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในการทำสิ่งใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้”
ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด
ปิดท้ายด้วยความคิดเห็นเพิ่มเติมจาก ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์