ป.อาญามาตรา 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
ป.อาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์จากการถูกหมิ่นประมาท และปกป้องสถาบันในฐานะประมุขที่น่าเลื่อมใสของประเทศ อย่างไรก็ตาม มันมีลักษณะการทำงานที่ประหลาด คล้ายสวิตซ์ไฟที่บางครั้งถูกใช้อย่างต่อเนื่อง และบางครั้งก็ไม่ถูกใช้เลย เพราะทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุมคณะราษฎร ก็มีคนโดนฟ้องคดีนี้ในทันที 23 ราย ใน 11 คดี
รวมถึงถูกตั้งคำถามในมุมว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ อย่างที่มีการดำเนินคดีนี้กับนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก อาทิ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอปิโด), สุรชัย แซ่ด่าน, เอกชัย หงส์กังวาน หรือ อำพล ตั้งนพกุล (อากง) ตลอดจนประเด็นอื่นๆ อาทิ เปิดให้ตีความกว้างเกินไป, การบัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ตลอดจน การสอบสวนทางกระบวนการยุติธรรมที่หลายครั้งไม่ได้มาตรฐาน กล่าวคือ ไม่มีการเชิญพยาน หรือมีการพิจารณาคดีอย่างลับ
ในวาระที่ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างเปิดเผย และกฎหมายนี้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง จึงเกิดวงเสวนา ‘ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง’ ซึ่งได้เชิญ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้าและอดีตนักวิชาการนิติราษฏร์, ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายมาตรานี้ 3 คน ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ เกียรติชัย ตั้งกรณ์พรรณ มาร่วมสะท้อนมุมมองต่อกฎหมายฉบันนี้
ปิยบุตร – คดีหมิ่นประมาทต้องไม่มีโทษอาญา
ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า ย้อนความกลับไปครั้งที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จัดงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับกฎหมาย ป.อาญามาตรา 112 เขากล่าวว่ามันช่างบังเอิญที่วันนี้ครบรอบ 10 ปีอย่างพอดี
เขาเริ่มต้นว่าตามหลักการของการปกครองระบบเสรีประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตั้งแต่กำเนิด แต่เมื่อสังคมต้องการจำกัดเสรีภาพผ่านกฎหมาย ต้องให้ตัวแทนของประชาชนเป็นผู้กระทำ และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมไม่ให้เกินกว่าเหตุ
ขณะเดียวกัน ป.อาญามาตรา 112 กลับถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทโดยเฉพาะ ทั้งที่พวกเขาเป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับประโยชน์จากภาษีประชาชน ซึ่งควรถูกวิจารณ์และตรวจสอบได้ ดังนั้น ปัญหาในกฎหมายข้อนี้มีอยู่ 7 ประการ
ข้อแรกคือ ป.อาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของราชอาณาจักร
ซึ่งมันสะท้อนถึงแนวคิดของรัฐไทยที่มองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เท่ากับความมั่นคงของรัฐ และการหมิ่นประมาทสถาบันเท่ากับการทำลายความมั่นคงของรัฐ อันเป็นแนวคิดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มองว่า ‘รัฐ=กษัตริย์’
ข้อสองคือ ป.อาญามาตรา 112 มีอัตราโทษที่สูงเกินไป โดยปิยบุตร ย้อนไปว่าหลังการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารได้เพิ่มโทษความผิดอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งระบบ ไม่ว่าการหมิ่นศาล ทูต หรือสถาบันกษัตริย์ โดย ป.อาญามาตรา 112 ได้ถูกเพิ่มโทษจากเดิมไม่เกิน 7 ปี เป็น 3-15 ปี
ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่าปกติแล้วความผิดทางอาญามันจะไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ แต่กฎหมายหมิ่นสถาบันกลับกำหนดและมีโทษเกินกว่าเหตุด้วยซ้ำ ซึ่งสะท้อนว่าตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คณะรัฐประหารเข้ามาเพื่อปิดปากประชาชน
ข้อที่สาม ไม่มีเหตุยกเว้นโทษ ปกติกฎหมายหมิ่นประมาทจะมีข้อกำหนดให้ยกเว้นโทษได้ หากการพูดดูหมิ่นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือประโยชน์สาธารณะ
ข้อที่สี่ ทุกคนสามารถฟ้องร้องความผิด ป.อาญามาตรา 112 ได้ ปัญหาของการฟ้องร้องได้โดยทุกคนทำให้เกิดการกลั่นแกล้งขึ้น บวกกับความกระตือรืนร้อนของเจ้าหน้าที่ต่อความผิดมาตรานี้ ยิ่งทำให้กฎหมายข้อนี้มีปัญหา
ข้อที่ห้า การตีความของกระบวนการยุติธรรม หลายครั้งที่ศาลตีความกฎหมายข้อนี้ไปไกลกว่าที่มีบัญญัติไว้ เช่น การตีความว่าการวิพากษ์ ร.4 ผิดตาม ป.อาญามาตรา 112 โดยอ้างว่า ร.4 เป็นพ่อของพ่อ ร.9 หรืออย่างกรณีที่สุดโต่งเลยคือ การใช้กฎหมายข้อนี้กับสุนัขทรงเลี้ยง
ข้อที่หก ศาลรัฐธรรมนูญแสตมป์ตราไว้แล้ว ในสมัยที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกดำเนินคดี ป.อาญามาตรา 112 เขาได้ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายข้อนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ข้อที่เจ็ด มีกลไกบางอย่างคลุม ป.อาญามาตรา 112 อยู่ โดยปิยบุตรตั้งข้อสังเกตุว่า ทุกวันนี้ ป.อาญามาตรา 112 ถูกใช้ตามใบสั่งมากกว่าตามบทบัญญัติ กล่าวคือบทจะใช้ก็ใช้ บทจะไม่ใช้ก็ไม่มีเลย
ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ฝ่ายที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของ ป.อาญามาตรา 112 มักจะอ้างเหตุผลไม่กี่ข้อ อาทิ บทบัญญัติมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติองค์กระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพ สักการะ และละเมิดมิได้ ดังนนั้น จีงต้องมี ป.อาญามาตรา 112 เพื่อคุ้มครองสถาบัน
เขาพูดถึงประเด็นนี้ว่า “การอ้างแบบนี้ผิดฝาผิดตัว เพราะรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นแบบนี้ เพื่อให้เกียรติกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่ใช่เพื่อบังคับให้เลื่อมใส” ขณะที่คำว่า ‘ละเมิดมิได้‘ หมายถึงดำเนินคดีกับพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สามารถฟ้องคนที่ใช้อำนาจต่อจากสถาบันได้ กล่าวคือ ผู้ใช้อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ
และอีกเหตุผลหนึ่งที่มักใช้อ้างกันคือ ทุกประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุข โดยปิยบุตรกล่าวว่า กฎหมายเหล่านั้นมีอยู่จริง แต่มันมีรายละเอียดที่แตกต่างกับ ป.อาญามาตรา 112 อยู่บางประการ อาทิ มีโทษไม่สูงเท่า, บัญญัติไว้แต่ไม่นำมาใช้ เช่น ในอังกฤษ เบลเยียม หรือ สวีเดน ที่เวลาฟ้องร้องผู้หมิ่นประมาทก็เลือกใช้กฎหมายเดียวกับประชาชนงทั่วไป ซึ่งมีบทลงโทษแค่ปรับ ไม่ใช่โทษทางอาญา
ปิยบุตร สรุปด้วยข้อเสนอว่า เราควรยกเลิกโทษทางอาญาทั้งหมดสำหรับกฎหมายหมิ่นประมาท เพราะในศตวรรษที่ 21 ที่สิมธิมนุษยชนเป็นหลักที่ครอบทั้งโลก การวิจารณ์เป็นเรื่องที่สามัญ และการนำคนเข้าคุก เพราะการวิจารณ์เป็นเรื่องไม่สมเหตุผล
ศศินันท์ – เรื่องเล่าจากกระบวนการที่บิดเบี้ยว
ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่า ป.อาญามาตรา 112 เป็น ‘กฎหมายนโยบาย’ ที่ไม่มีความแน่นอนในการบังคับใช้ แต่หากจะแบ่งยุคที่มีการบังคับใช้อาจแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ หลังการรัฐประหาร 2549, หลังการสววรรคตของรัชกาลที่ 9 (2557-2561) ศูนย์ทนายฯ รับทำคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 54 คดี และรอบล่าสุดหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ มีการฟ้องไปแล้ว 11 คดี และลูกความ 24 คน
ในฐานะผู้รับหน้าที่ทางกระบวนการยุติธรรม ศศินันท์มองว่า ในยุคแรก ผู้ที่ถูกฟ้องด้วย ป.อาญามาตรา 112 มักจะไม่ได้ประกันตัว และด้วยอัตราโทษที่สูงทำให้สามารถฝากขังผู้ต้องหาได้มากที่สุดถึง 84 วัน แต่ถ้าสุดท้ายอัยการไม่สั่งฟ้อง ผู้ต้องหาก็ต้องติดคุกฟรี ทั้งที่ตามปกติ ก่อนมีคำตัดสินจากศาลต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ และการประกันตัวเป็นสิทธิตามกฎหมายของทุกคน
ศศินันท์กล่าวถึงอีกปัญหาว่า เวลาที่ทนายเข้าสู้คดีในศาลหากจะหยิบยกข้อความที่ถูกฟ้องขี้น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ข้อความที่ไม่สมควร 1,2 หรือ 3’ ทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการสู้คดี
หรือบางครั้ง คดี ป.อาญามาตรา 112 ก็ถูกพิจารณาด้วยความลับ ไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าฟัง หรือพอเริ่มพิจารณาคดี ศาลก็สั่งให้ทุกคนเอาโทรศัพท์มาวางข้างหน้า เหมือนเวลาครูยึดโทรศัพท์ของนักเรียน
หรือล่าสุด ที่มีการแจ้ง ป.อาญามาตรา 112 กับผู้ที่อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน หน้าสถานทูตเยอรมัน แต่พอถามว่า ข้อความตรงไหนเป็นปัญหา กลับระบุไม่ได้
เธอยืนยันว่า การลงโทษทางอาญาแก่คนที่ผิดกฎหมายข้อนี้ ไม่ช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด ถึงแม้คุมขังพวกเขาไป ออกมาพวกเขาก็เชื่อเหมือนเดิม ดังนั้น เธอเสนอให้ยกเลิก ป.อาญามาตรา 112 เพื่อยุติการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน
สมยศ – ควรยกเลิก 112 ภายในสิ้นเดือนนี้
สมยศ เป็นหนึ่งในอดีตนักโทษคดี 112 ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 7 ปี (2554-2561) จากกรณีเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Thaksin ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้ ป.อาญามาตรา 112 ว่า มันเป็นกฎหมายที่ถูกตีความกว้างเกินไป โดยยกตัวอย่างว่า หากวันนี้ผู้ฟังในห้องเสวนาปรบมือให้กับสิ่งที่เขาพูด ก็อาจจะถูกดำเนินคดีได้เหมือนกัน
สมยศ แชร์ประสบการณ์ในฐานะนักโทษคดี 112 ว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีนี้คือ มักจะไม่ได้รับการประกันตัว และถูกปฏิบัติเยี่ยงนักโทษตั้งแต่ถูกฟ้อง โดยเขายกตัวอย่างที่ตัวเองถูกพาไปเรือนจำ ตรวจทวาร ทั้งที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหา ไม่ใช่นักโทษ เขาเล่าต่อว่า “คนส่วนมากที่รู้ว่าถูกดำเนินคดี 112 บอกว่า ให้ยอมรับไปเถอะ อย่าสู้คดีเลย ถ้ารับไป 2 ปีก็ออกแล้ว” เพราะนักโทษคดีนี้มักถูกเรียกให้เข้ารับพระบรมราชโองการอภัยโทษ และให้พูดว่าเป็น “พระมหากรุณาธิคุณ 3 ครั้ง” ซึ่งเขามองว่า ความคิดแบบนี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เพราะความจริงไม่ได้ถูกพิสูจน์
ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี ป.อาญามาตรา 112 ไม่จบแค่บทลงโทษเท่านั้น เพราะเมื่อออกมาแล้ว เขายังต้องเจอกับการปรับตัวครั้งใหญ่ของชีวิต โดยเฉพาะเรื่องงาน ที่เขาเคยไดัทำงานเป็นโชเฟอร์ รายได้ตกวันละ 2,000 บาท แต่พอเขาสืบประวัติพบว่าเคยถูกคดีนี้ สมยศ ก็ถูกปลดในทันทึ
สมยศเอ่ยถึงผลกระทบอีกมาก ทั้งในเรื่อง การสืบพยานที่เชิญคู่กรณึมาไม่ได้, ความอึกอักของเจ้าหน้าที่เอง หรือภาวะนักโทษล้นคุกที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
“เขาเป็นบุคคลสาธารณะ ควรถูกวิจารณ์ถูกตรวจสอบ พระพุทธเจ้าอยู่มา 2,500 ปี ใครดูหมิ่นเขายิ้มให้ตลอด หรือถ้าไม่นับถือ เขาก็ไม่มีมาว่าชังชาติ มันเป็นเสรีภาพ” ดังนั้น “ยกเลิกโดยเร็วและด่วนที่สุด และควรแล้วเสร็จในสิ้นเดือนนี้”
พริษฐ์ – 112 เป็นดาบที่บิ่นไปแล้ว
ขณะนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุม ถูกฟ้องคดี ป.อาญามาตรา 112 มาแล้ว 8 คดี โดยมีกรณีหนึ่งที่เขาถูกฟ้องเพราะปราศรัยในการชุมนุมครั้งไปยื่นหนังสือแก่ประธานองคมนตรีเมื่อ 20 กันยายน (วันปักหมุดคณะราษฎร) เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเพิ่งถูกฟ้องเอาตอนนี้? ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านไป 3 เดือนกลับเพิ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีกับเขา
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเพดานเสรีภาพในการพูดได้ถูกยกขึ้นแล้วโดยการชุมนุม บวกกับความเสื่อมของสถาบัน ในฐานะองค์กรทางสังคมที่ขาดการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ ทำให้ตกอยู่ใน echo chamber ของตัวเอง ได้ยินแต่เสียงชื่นชม
ดังนั้น ป.อาญามาตรา 112 ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวได้อีกแล้ว ราวกับว่ามันเป็น ‘ดาบที่บิ่นแล้ว’ และยิ่งถูกชักขึ้น
พริษฐ์ เปรียบสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ว่า
เหมือนขับรถไปเจอสามแยก เลี้ยวซ้ายคือถนนปฏิรูป เลี้ยวขวาคือถนนปฏิวัติ ขบวนการราษฎรคือน้ำมันที่พามาถึงแยกแห่งนี้ แต่คนที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลี้ยวไปทางไหนคือสถาบัน
เพราะตามประวัติศาสตร์ การปฏิรูปสังคมมันถูกเรียกร้องโดยประชาชน แต่จะสำเร็จหรือไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่สถาบัน ถ้าสถาบันปฏิรูปตัวเองให้สอดรับกับยุคสมัยก็อาจดำรงอยู่ได้เช่นเดียวกับราชวงศ์อังกฤษ แต่ถ้าไม่ก็อาจเป็นเหมือนราชวงศ์ฝรั่งเศส
เขาทิ้งท้ายว่า ขอบฟ้าเสรีภาพการแสดงออกที่กว้างไกลมาถึงทุกวันนี้ได้ ต้องขอบคุณคนหลายคน อย่างเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ดา ตอปิโด, ปรีดี พนมยงศ์ และนักโทษการเมืองอีกหลายคน ดังนั้น เพื่อเป็นการขอบคุณพวกเขา ต้องยกเลิกการใช้ ป.อาญามาตรา 112 ในทันที
เกียรติชัย – ถ้าจะรักยืนเฉยๆ เขาก็รัก
เกียรติชัย ตั้งกรณ์พรรณ จากกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุมเล่าว่า เขาถูกแจ้งความดำเนินคดี ป.อาญามาตรา 112 ด้วยข้อความว่า “พระมหากษัตริย์ต้องปกเกล้า ไม่ใช่ปกครอง” ในการปราศรัยหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน
การถูกดำเนินคดียังทำให้เขาต้องพบกับปัญหาครอบครัว ถูกที่บ้านเตือนว่า “อาจหมดอนาคต” และทำให้เขาต้องย้ายออกจากบ้านมาอาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งเขายอมรับว่าทำให้กลัว แต่ก็ไม่คิดหยุดเคลื่อนไหวอยู่ดี
เกียรติชัย มองว่าระบบการคัดเลือกประมุขตามการสืบสันติวงษ์ มีข้อเสียคือ ทำให้มีความเป็นไปได้ในตัวประมุขไม่รู้จบ กล่าวคือ อาจเก่งหรือไม่เก่ง ดีหรือเลว ก็ได้ นอกจากนี้ การขาดการวิพากษ์วิจารณ์ยังทำให้สถาบันเกิดข้อครหามากมาย ไม่ว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 หรือ ความใกล้ชิดระหว่าง จอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ กับการฟื้นฟูอำนาจสถาบัน
เขาเสริมต่อว่า ในประเทศอังกฤษก็ไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมุขมา 137 ปีแล้ว, ญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายหมิ่นประมุขตั้งแต่ปี 1947, เดนมาร์กมีโทษเบาเพียงปรับหรือจำคุกไม่เกิน 8 เดือน หรืออย่าง บรูไน ที่ปกครอบระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีโทษหมิ่นประมุขแค่ 3 ปีเท่านั้น และล่าสุดที่ เมื่อปี 2017 ในเนเธอร์แลนด์มีการใช้ในกฎหมายหมิ่นประมุขกับบุคลที่ไปว่าราชินีว่าเป็น “กะหรี่” ก็ถูกโทษแค่ปรับเงิน 400 ยูโรเท่านั้น
“ประเทศที่เจริญแล้วไม่เอากฎหมายมาปิดปากคน เพราะเขาจะได้วิจารณ์อย่างเสรี แต่ประเทศที่ไม่เจริญก็จะปิดไม่คุณพูด เพราะคิดว่าคุณโง่ และจะได้ตามเขาเสมอไป”
“รัฐบาลต้องเลิกใช้กฎหมายฉบับนี้กับประชาชน เพราะถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” เกียรติชัย กล่าวปิดท้ายในวงเสวนา