เชื่อว่าหลายคนน่าจะเพิ่งทราบว่าในแม่น้ำบ้านเรามีปลากระเบนตัวเบ้อเริ่มอาศัยอยู่ก็ไม่นานมานี้เอง ซึ่งน่าเสียดายว่าเป็นการได้รู้จักจากข่าวอันไม่น่ายินดีซักเท่าไหร่
ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือ Giant Freshwater Whipray (Urogymnus polylepis) เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลากระเบนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสาม รองจากปลากระเบนราหูตัวสีดำ-ขาวสองชนิดที่อาศัยในน้ำเค็ม (และมักจะเป็นดาราเด่นหน้ากล้องสารคดีโลกใต้ทะเลอยู่เสมอ)
ประชากรกระเบนราหูน้ำจืดกระจายอยู่ตามแม่น้ำขนาดใหญ่ในแถบอินโดจีนและบอร์เนียว ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบนั้นวัดความยาวลำตัวจรดปลายหางได้ห้าเมตร (ก็แค่ประมาณรถเบนซ์ C Class คันนึงเท่านั้น!) และหนักได้ถึงครึ่งตัน ความเป็นอยู่ของกระเบนราหูน้ำจืดค่อนข้างจะลี้ลับและเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพวกมันมากนัก แต่ที่แน่ๆ คือพวกมันถูก IUCN* จัดสถานภาพให้อยู่ในระดับหายากใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีจำกัดถูกคุกคามอย่างหนักจากฝีมือมนุษย์และมลภาวะ
แม่กลองร้องไห้
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เริ่มมีการพบปลากระเบนราหูน้ำจืดและปลาในกระชังเลี้ยงตายในแม่น้ำแม่กลอง ปลากระเบนทยอยตายจนนับได้ 45 ตัวด้วยกัน และสัตว์น้ำยังคงทยอยตายอย่างต่อเนื่องไปจนถึงดอนหอยหลอดบริเวณปากแม่น้ำ
อีกไม่นานต่อมา มีการเปิดเผยหนังสือถึงหน่วยราชการของโรงงานราชบุรี เอทานอล จำกัด ระบุถึงการทำน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วลงแม่น้ำในวันที่ 30 กันยายน 2559 ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่านี่ใช่สาเหตุหรือไม่ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าทำงานล่าช้า ไม่ตรงจุด
จนในที่สุด ทางรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยว่าผลตรวจวิเคราะห์ปลากระเบนและปลากะพงทั้งที่ตายและยังมีชีวิตอยู่ร่วมกับสัตวแพทย์จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและสถาบันสุขภาพสัตว์ว่า สาเหตุที่ปลาตายเกิดจากการได้รับสารเคมีในกลุ่มไซยาไนด์ในปริมาณมากจนเสียชีวิตเฉียบพลัน และทางทีมงานศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำได้ร่วมกันรักษาปลากระเบนเพศเมียที่กำลังตั้งท้องอยู่จำนวนสองตัวจนแข็งแรงดี พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ดร.ชัยวุฒิ สุดทองคง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร) ได้สรุปจากผลตรวจสอบคุณภาพน้ำและสภาพแวดล้อมว่าสาเหตุการตายเบื้องต้นมาจากสภาวะการขาดออกซิเจนท้องน้ำอย่างฉับพลัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยตามหน้าดิน และสัตว์น้ำที่ถูกเลี้ยงอย่างหนาแน่นในกระชังได้เช่นกัน สันนิษฐานว่าเกิดจากมีสารอินทรีย์มีน้ำหนักถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำอย่างผิดกฎหมายในปริมาณมาก ซึ่งกากส่าหรือกากน้ำตาลก็เข้าข่ายนี้ด้วย
ใครคือฆาตกร?
สารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบนั้นมีความเป็นพิษสูงมากที่สุดในรูปก๊าซ ของเหลว และผลึกตามลำดับ ซึ่งถ้าอยู่ในรูปของเหลวสิ่งมีชีวิตน่าจะตายเป็นเบือกว่านี้มาก อีกข้อสังเกตคือสัตว์ที่ตายมักจะเป็นสัตว์ที่หากินอยู่กับหน้าดินและหนีไปไหนได้ไม่สะดวก อย่าง กระเบน หอย และปลาในกระชัง จึงมีความเป็นไปได้ที่สารตกค้างอาจจะอยู่ในรูปของตะกอนไซยาไนด์ ซึ่งต้นทุนในการกำจัดและบำบัดสูง
สารเคมีกลุ่มไซยาไนด์ถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น โรงงานชุบโลหะ เหล็ก สกัดทอง เคมีอินทรีย์ ยาฆ่าแมลง การย้อมสี ยาง พลาสติก ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกหน้าตรวจสอบเพื่อระบุที่มาให้แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นไซยาไนด์ในสมมติฐานที่หนึ่ง หรือสารอินทรีย์ในสมมติฐานที่สอง
อีกสองประเด็นที่ควรสนใจคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบและใครจะเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้าหากอ้างอิงจากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในครั้งนั้นประมงจังหวัดปทุมธานีเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีบริษัทไทยรวมทุนอ่างทอง จำกัด และบริษัทไทยมารีน ซัพพลาย จำกัด โดยอ้างอิงมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม**
และข้อสุดท้าย, ปลากระเบนเพศเมียสองตัวที่กำลังตั้งท้องซึ่งปัจจุบันแข็งแรงดีแล้วและอยู่ในความดูแลของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงครามนั้นจะมีชะตากรรมอย่างไรต่อไป? ทั้งนี้ อำนาจสั่งการให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหรือเก็บไว้เพาะเลี้ยงเป็นแม่พันธุ์นั้นขึ้นอยู่กับต้นสังกัด หรือกรมประมงนั่นเอง
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?
– หูตาว่องไว ช่วยกันจำ ช่วยกันกระตุ้นเตือนให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามเงื่อนไขที่ถูกต้อง รวมทั้งติดตามเรื่องเจ้ากระเบนที่ได้รับการรักษาจนหายแล้วนี้ด้วย
– ละ ลด เลิกสร้างขยะและมลภาวะ อย่าลืมว่าต่อให้เราทิ้งขยะลงถัง ก็ไม่ได้หมายความว่าขยะชิ้นนั้นจะถูกนำไปรีไซเคิล หรือถูกกำจัดอย่างถูกวิธี
– เลือกซื้อสินค้าที่มาจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีระบบบำบัดที่ดี (ข้อนี้แอดวานซ์นิดนึง แต่รับรองว่าไม่เกินความสามารถคนรุ่นใหม่)
– รู้ไหมว่าการย้อมผ้าเพื่อให้ได้ผ้าที่มีสีเข้มสม่ำเสมอ สีไม่ตก ไม่โดดนั้น นอกจากจะต้องอาศัยความชำนาญแล้วยังต้องพึ่งพาสีและสารเคมีอย่างเข้มข้น น้ำเสียจากการย้อมผ้าที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้องก็คือมลภาวะทางน้ำดีๆ นี่เอง แค่คนละนิด คนละหน่อย รวมกันเข้าแล้วก็ไม่น้อยเลย
– สามารถบริจาคเพื่อช่วยทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งโรงพยาบาลเคลื่อนที่สำหรับสัตว์น้ำได้ที่นี่ บริจาคผ่านเทใจแล้วใบเสร็จสามารถเก็บไว้ลดหย่อนภาษีได้นะเออ
ที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมมือกันเพื่อสิ่งนี้แวดล้อม อาจมีเรื่องเข้าใจไม่ตรงกันหรือจุดที่อ่อนไหวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในยามวิกฤติเราก็ควรจะจับมือกันไว้ให้แน่นๆ ใช่ไหมล่ะเธอ
Cover Photo by Sirachai Arunrugstichai
*IUCN = International Union for Conservation of Nature, สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ
**มาตรา 19 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจเรียกให้ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและบุคคลอื่น ส่งเอกสารการสำรวจผลกระทบต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องของโครงการและแผนงาน ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือบุคคลนั้นมาพิจารณา ในการนี้อาจเรียกบุคคล ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วย หากเห็นว่าโครงการและแผนงานใดอาจจะทำให้ เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เสนอมาตรการแก้ไขต่อ คณะรัฐมนตรีต่อไป ในกรณีที่เอกสารหรือข้อมูลที่คณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียกให้ ส่งตามวรรคหนึ่งเป็นเอกสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับความลับอันมีลักษณะเป็น สิทธิบัตรซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร ให้คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดวิธีการและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้ เอกสารหรือข้อมูลเหล่านั้นถูกเผยแพร่สู่บุคคลอื่นใด นอกจากนี้จะต้องใช้ เอกสารหรือข้อมูลนั้นเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ของมาตรานี้เท่านั้น (พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535)