นับจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการมาเกือบสามปีแล้ว สารพัดวิธีการเก็บกวาดความวุ่นวายถูกใช้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง (แต่ถูกนำเสนอให้ประชาชนรับรู้แค่บางส่วน) โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่ ‘มาตรา 44’ ถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อราวกับมนต์วิเศษ
เกือบหนึ่งเดือนก่อน ปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในสื่อต่างๆ และเกิดการถกเถียงอย่างจริงจังในโซเชียลมีเดีย นั่นคือ แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เนื้อหาคือการเรียกร้องให้ คสช. ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44
จากกรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 ในรอบหนึ่งเดือน ได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่ง 4/2560 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 105/2557 คำสั่ง 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย คำสั่ง 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา คำสั่ง 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ คำสั่ง 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น คำสั่ง 9/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ คำสั่ง 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย คำสั่ง 11/2560 เรื่อง การกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ และคำสั่ง 12/2560 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตําแหน่ง นั้น
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า
1. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 ในลักษณะดังกล่าวมีความพร่ำเพรื่อและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันควรที่จะใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว อีกทั้ง ในหลายกรณีรัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ยังสามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายทั่วไปหรือขั้นตอนตามกฎหมายปกติได้
2. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 เป็นการใช้อำนาจที่เผด็จการและขัดกับหลักนิติธรรม ถึงแม้ว่าการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวจะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและขาดความชอบธรรมในกระบวนการออกกฎหมาย
3. ขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
25 ก.พ. 2560
เมื่อเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อเสียงเรียงนามจึงมักมาคู่กันเป็นเรื่องปกติ หลังแถลงการณ์ถูกเผยแพร่ สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอโดยเน้นคำว่า ‘มหาวิทยาลัยมหิดล’ ตัวโตๆ เพียงวันเดียวเท่านั้น แถลงการณ์ซ้อนแถลงการณ์ก็ออกมาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล
ตามที่กลุ่มบุคคลออกแถลงการณ์ในนามสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 นั้น มหาวิทยาลัยมหิดลขอให้กลุ่มบุคคลยุติการกระทำดังกล่าวในทันที การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยมหิดลในทางที่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัยต่อไป
มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนหยัดในการให้ทุกคนเคารพกฎหมาย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน
มหาวิทยาลัยมหิดล
26 กุมภาพันธ์ 2560
อย่างที่รู้กัน ทุกวันนี้อายุของข่าวสารสั้นมาก เพียงไม่กี่วัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวค่อยๆ เงียบหายไปจากการรับรู้ ข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่ดุเดือดฝุ่นตลบก็ค่อยๆ จางไปเช่นกัน วินาทีที่ความเงียบปกคลุมสถาบันการศึกษา (จริงๆ ก็ทั้งประเทศนั่นแหละ) คำถามที่ควรขีดเส้นใต้ให้ชัด แล้วค่อยๆ ตอบให้กระจ่างก็คือ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ คืออะไรกันแน่
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาจะมาคลี่ให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ทั้งในฐานะนักวิชาการ นักวิชาการของสถาบันฯ และประชาชนคนหนึ่ง
The MATTER : สิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ คืออะไร
อ.เบญจรัตน์ : โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบคำๆ นี้ในความหมายที่ใช้กันอยู่ในสังคมไทย เพราะมักถูกสื่อความหมายไปว่าเป็น ‘เสรีภาพของนักวิชาการ’ ในการแสดงความเห็นต่างๆ ซึ่งความจริงแล้ว นักวิชาการไม่ได้มี และไม่ควรจะมีสิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากกว่าประชาชนคนอื่นๆ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมีเท่ากัน และควรจะได้รับการปกป้องแบบเดียวกัน โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่เชื่อในเรื่องปากเสียงของประชาชน
อย่างนั้นแล้ว ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ หมายถึงอะไร ทำไมต้องพูดถึงเสรีภาพนี้มากเป็นพิเศษ คำอธิบายโดยกว้างๆ เสรีภาพทางวิชาการ คือเสรีภาพในการค้นคว้าหาความรู้และเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่อาจยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น หรือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว รวมไปถึงเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาการ เช่น เนื้อหาการเรียนการสอนต้องไม่ถูกสั่งการโดยรัฐบาล
หลักเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเป็นหลักประกันว่า ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น การขู่ว่าจะลงโทษ การไม่ต่อสัญญาจ้างอาจารย์ เพื่อมาปิดปากหรือปรามการค้นคว้า การแสดงความเห็น หรือการถกเถียงที่แตกต่าง หรือถูกมองว่าไม่ฉลาด หรือกระทั่งถูกมองว่าผิดศีลธรรม เพราะการแสดงความเห็นต่อต้านข้อเสนอทางวิชาการแบบนั้นถือเป็นหน้าที่ของ ‘ประชาคมทางวิชาการ’ ต่างหาก ที่จะต้องนำความเห็นนั้นไปพูดคุย ตั้งคำถาม ท้าทาย ตรวจสอบ เพื่อตัดสินใจได้เองว่าควรเชื่อหรือไม่เชื่อตามนั้น
เนื่องจากนักวิชาการก็มี 2 สถานะ สถานะแรกคือเป็นพลเมืองคนหนึ่งของรัฐ อีกสถานะคือเป็นสมาชิกของสถาบันการศึกษา พอพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการเลยมีความเหลื่อมซ้อนของ 2 สถานะนี้อยู่บ้าง ความหมายของเสรีภาพทางวิชาการที่ใช้ๆ กันอยู่เลยมี 2 ด้าน ด้านแรกในแง่เสรีภาพในการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ และนำเสนอข้อค้นพบใหม่ อีกด้านคือเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็นในฐานะที่เป็นพลเมือง นักวิชาการไม่ควรจะถูกสถาบันการศึกษาที่ตัวเองทำงานด้วยมาเซนเซอร์หรือลงโทษอะไรเวลาแสดงความคิดเห็น ในฐานะนักวิชาการยังมีข้อถกเถียงว่า แล้วนักวิชาการจะพูดในนามสถาบันการศึกษาที่ตัวเองทำงานได้หรือไม่ หรือต้องพูดในฐานะปัจเจกบุคคล ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเท่านั้น สถานะที่ซ้อนกันของความเป็นนักวิชาการและพนักงานของสถาบันการศึกษาหนึ่งๆ ทำให้นักวิชาการมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามวิชาชีพของตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น ในการเสนอความเห็น โดยเฉพาะในฐานะนักวิชาการก็ควรจะต้องเป็นข้อมูลที่มีหลักฐานรองรับ ไม่ใช่พูดอะไรลอยๆ
หลักเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเป็นหลักประกันว่า ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น การขู่ว่าจะลงโทษ การไม่ต่อสัญญาจ้างอาจารย์ เพื่อมาปิดปากหรือปรามการค้นคว้า
The MATTER : เสรีภาพทางวิชาการสำคัญยังไงต่อแวดวงวิชาการ และเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปยังไง
อ.เบญจรัตน์ : ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การค้นพบอะไรใหม่ๆ หลายต่อหลายครั้งสิ่งที่ถูกค้นพบ หรือแนวคิดที่ถูกเสนอใหม่นั้น มักไม่ตรงกับความเชื่อหรือขนบประเพณีเดิม คนเสนอความคิดหรือการค้นพบนั้นก็อาจถูกตำหนิ หรือกระทั่งถูกปิดปาก ซึ่งถ้าไม่ได้มีการยันเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ โลกเราก็คงไม่ต้องมีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ไม่ต้องมีการหักล้างข้อเสนอเดิมหรือความเชื่อเดิม เราอาจยังเชื่อว่าโลกแบนกันต่อไป เพราะคนที่เสนอว่าโลกกลมถูกปิดปากไป
เช่นเดียวกับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไป ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ และการตั้งคำถามกับการใช้อำนาจของรัฐบาล เราจะสร้างระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจได้ยากมาก หากเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ได้รับการคุ้มครอง
The MATTER : อยากให้ยกตัวอย่างเคสในต่างประเทศหรือประเทศไทย ที่การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการส่งผลกระทบชัดๆ
อ.เบญจรัตน์ : ตัวอย่างของประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดชัดเจนมาก นอกจากการแสดงความเห็นของประชาชนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือการบริหารงานของรัฐบาลจะถูกจำกัดลงไปอย่างมาก ทั้งโดยการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเหวี่ยงแห เช่น ตั้งแต่การอ้างกฎอัยการศึกมาถึงคำสั่ง คสช.ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง หรือการใช้มาตรา 44 และการใช้วาทกรรมเรื่องการไม่อยากสร้างความขัดแย้ง หรือการต้องร่วมการสร้างความปรองดอง ซึ่งมีความหมายถึงการห้ามตั้งคำถามกับสิ่งที่ คสช.และทหารทำ รวมทั้งการห้ามพูดเรื่องทางการเมือง มหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่เคยเป็นเหมือนพื้นที่และสถานะที่มีความพิเศษบางอย่าง ที่อย่างน้อยพอจะมีพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้บ้าง ก็ถูกปิดกั้นลงไปมาก ทั้งที่ปิดกั้นโดยทหารและ คสช.เอง และที่ปิดกั้นโดยผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัย หลายต่อหลายครั้งที่บางงานสัมมนาต้องยกเลิก หรือถูกขอให้เปลี่ยนหัวข้อ หรือเปลี่ยนสถานที่จัด ที่จัดได้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวหรือกระทั่งทหารและตำรวจในเครื่องแบบมานั่งฟังอยู่ด้วย ซึ่งนี่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนยุค คสช. (https://freedom.ilaw.or.th) คนที่พูดก็ต้องเซนเซอร์ตัวเองไปโดยปริยาย ต้องระมัดระวังคำพูดในการวิจารณ์ลงบ้าง เพราะไม่รู้ว่าถ้าเดินลงเวทีไปแล้วจะถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปไหนหรือเปล่า
ถ้าไม่ได้มีการยันเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ โลกเราก็คงไม่ต้องมีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ไม่ต้องมีการหักล้างข้อเสนอเดิมหรือความเชื่อเดิม เราอาจยังเชื่อว่าโลกแบนกันต่อไป เพราะคนที่เสนอว่าโลกกลมถูกปิดปากไป
หันไปดูประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเรา สถานการณ์ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก อย่างในมาเลเซียมีการใช้กฎหมาย ‘Sedition Act (กฎหมายเรื่องการยุยงปลุกปั่น)’ มาเล่นงานนักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ส่วนมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ห้ามนักวิชาการของตนออกมาพูดถึงประเด็นการเมืองหรือศาสนาต่อสาธารณะ หรือในประเทศอื่นๆ อย่างฮ่องกง ก็มีการเข้าไปแทรกแซงการเลื่อนตำแหน่งหรือการต่อสัญญาของนักวิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหว ‘Umbrella Movement’ ที่เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ยิ่งปัจจุบันที่ในหลายๆ ประเทศความมั่นคงในสัญญาจ้างงานของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีน้อยลงทุกที โดยเฉพาะจากการออกนอกระบบราชการ และจากความพยายามปลดพนักงานออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจมากขึ้นในการเข้ามาแทรกแซงว่านักวิชาการสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้
ในบางพื้นที่ นักวิชาการหรือนักศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะถึงกับถูกสังหารหรืออุ้มหาย ถ้าเราไปดูรายงานจากการติดตามขององค์กร Scholar at Risk ที่ติดตามกรณีการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการทั่วโลก ก็จะพบตัวเลขที่น่าตกใจ คือตั้งแต่ประมาณปี 2554 เป็นต้นมา มีกรณีการใช้ความรุนแรง การเสียชีวิต หรือการอุ้มหาย ถึง 177 ครั้ง ในเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก มีนักวิชาการและนักศึกษาเสียชีวิตไปทั้งหมดเกือบห้าร้อยคน
แน่นอนว่า การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการแบบที่ว่ามาเรียกได้ว่าเป็นแบบเบาๆ ถ้าเทียบกับสิ่งที่ประชาชนทั่วไปกำลังเผชิญในหลายประเทศ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เรียกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นกระจกเงาสะท้อนถึงสถานการณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสังคมโดยรวมด้วย และสิทธิและเสรีภาพในสองพื้นที่ต่างต้องอิงและเอื้ออาศัยกันและกัน
The MATTER : ตอนตัดสินใจออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้ ม.44 ของสถาบันสิทธิฯ คาดหวังอะไร
อ.เบญจรัตน์ : สถานการณ์ในช่วงที่สถาบันฯ ออกแถลงการณ์คัดค้านเรื่องการใช้มาตรา 44 เป็นช่วงที่ คสช.ใช้มาตรา 44 ถี่มาก ทั้งที่ยังสามารถใช้กฎหมายปกติมาจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ ทางสถาบันฯ ซึ่งติดตามสถานการณ์อยู่อยากเป็นอีกปากเสียงหนึ่งที่ทักท้วงการใช้อำนาจพิเศษเหล่านี้เพราะมันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการสร้างสันติภาพในสังคมอย่างมาก ถ้าใครพอจะติดตามงานของสถาบันฯ อยู่บ้าง จะเห็นว่าทางสถาบันฯ ได้แสดงความกังวลเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งต่างๆ อยู่ตลอด โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา นอกจากการออกแถลงการณ์อย่างครั้งนี้ ก็ยังมีการจัดสัมมนาประเด็นที่เกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน
ตั้งแต่ประมาณปี 2554 เป็นต้นมา มีกรณีการใช้ความรุนแรง การเสียชีวิต หรือการอุ้มหาย ถึง 177 ครั้ง ในเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก มีนักวิชาการและนักศึกษาเสียชีวิตไปทั้งหมดเกือบห้าร้อยคน
The MATTER : ไม่นานหลังจากแถลงการณ์ของสถาบันสิทธิฯ ถูกนำเสนอสู่สาธารณะ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ออกมาปฏิเสธ ตอนนั้นในทีมงานคุยกันยังไงบ้าง
อ.เบญจรัตน์ : ยอมรับว่าค่อนข้างตกใจกับท่าทีของมหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาถือได้ว่ามหาวิทยาลัยค่อนข้างให้เสรีภาพในการทำงานและทำกิจกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพเมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายๆ ที่ ไม่ว่าบางครั้งสถาบันฯ จะตกเป็นข่าวหรือถูกจับตามองจากทางอำนาจรัฐ แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของเราเหมือนครั้งนี้ เราก็ยังยืนยันว่าสิ่งที่ทางสถาบันฯ นำเสนอไปในแถลงการณ์เรื่องการคัดค้านมาตรา 44 เป็นการแสดงความเห็นที่เราพึงจะทำได้ทั้งในฐานะพลเมืองและในฐานะนักวิชาการ หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ซ้อนมา ก็มีหลายหน่วยงานที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องเสรีภาพทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศแสดงความห่วงใยกับกรณีนี้ ก็ช่วยตอกย้ำความชอบธรรมของสถาบันฯ ด้วย
The MATTER : เข้าใจว่าการออกแถลงการณ์หนึ่งๆ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ไม่ได้มีเจตนาจั่วหัวว่า ‘ฉันคือมหาวิทยาลัยมหิดล’ แต่การเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัย เลยเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีคำว่า ‘มหาวิทยาลัยมหิดล’ ห้อยท้ายเสมอ อาจารย์มองว่าสถาบันฯ ควรมีอิสระในการแสดงออกแค่ไหน
อ.เบญจรัตน์ : คำถามนี้ตอบยากเหมือนกัน อย่างที่เล่าว่ามันก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเสรีภาพทางวิชาการควรหมายถึงแค่เสรีภาพในการทำงานวิชาการแต่ไม่รวมถึงสิทธิในการพูดในนามสถาบันการศึกษาหรือเปล่า นักวิชาการสามารถเสนอความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่ตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญได้หรือไม่ สามารถแสดงความเห็นโดยเฉพาะความเห็นทางการเมืองของตนนอกห้องเรียนได้หรือไม่ สามารถแสดงความเห็นต่อสาธารณะได้ในนามของสถาบันการศึกษาหรือไม่
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับมาดูความเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาประกอบด้วย แน่นอนว่าทางมหาวิทยาลัยอาจจะบอกว่าพนักงานของมหาวิทยาลัยมีสิทธิจะแสดงความเห็นอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเสื่อมเสีย ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัย คิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ต้องตั้งคำถามและทบทวนว่า ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยคืออะไร อยู่บนฐานของอะไร และย้อนกลับไปประเด็นข้างต้นว่า ในฐานะที่สถาบันฯ เป็นสถาบันวิชาการเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็มีหน้าที่ในการยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ‘ชื่อเสียง’ ของสถาบันฯ น่าจะอยู่ที่การทำหน้าที่นี้มากกว่าการอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรให้กระด้างกระเดื่องผู้มีอำนาจในสังคม และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่แห่งปัญญา ก็ควรจะอยู่ที่การตั้งคำถามสำคัญๆ ในสังคมหรืออย่างน้อยก็เปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงเรื่องนั้นๆ ได้
บางคนอาจจะบอกว่าคุณมีเสรีภาพที่จะสอนอะไรก็ได้ในห้องเรียน แต่เมื่อปรากฏภาพต่อสาธารณะคุณต้องเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาต้นสังกัดเท่านั้น แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนอาจจะเป็นเรื่องที่มีสถานะพิเศษอยู่ เพราะมันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องหลักการทางวิชาการ แต่เป็นเรื่องของคุณค่าที่เรายึดถือในการดำรงชีวิตด้วย เราจะสอนกันเพียงหลักทฤษฎี ปรัชญาสิทธิมนุษยชน หรือการท่องตัวบทกฎหมายก็คงไม่เพียงพอ แต่เราต้องเชื่อในคุณค่าบางอย่างของหลักการสิทธิมนุษยชนด้วย เช่น เรื่องความเท่าเทียม เรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรื่องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญ สิทธิมนุษยชนไม่อาจแยกจากเรื่องการเมืองได้เพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่เป็น ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ในภาษาสิทธิมนุษยชน
ในฐานะที่เราเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในจัดการเรียนการสอน การวิจัย และงานบริการวิชาการทางด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอยู่แล้ว การจะให้หลีกเลี่ยงไม่แสดงความเห็นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและความเห็นทางการเมืองเลยก็คงเป็นเรื่องยาก อันที่จริงถึงจะไม่ได้ออกมาพูดต่อสาธารณะ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราพูดอยู่ในชั้นเรียนทุกวันอยู่ดี เพราะถ้าจะพูดเรื่องหลักการและทฤษฎีสิทธิมนุษยชนโดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง คงไม่มีประโยชน์อะไร แต่พอเราออกมาพูดในนามสถาบันฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา แม้ว่าเราก็ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงว่านี่เป็นการพูดในนามสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ไม่ใช่ในนามมหาวิทยาลัยทั้งหมด
สิทธิมนุษยชนไม่อาจแยกจากเรื่องการเมืองได้เพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่เป็น ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ในภาษาสิทธิมนุษยชน
The MATTER : จากแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า สิ่งที่สถาบันฯ ทำไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์มองอย่างไร เพราะเห็นว่าตอนสถาบันฯ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลับไม่มีแถลงการณ์ซ้อนจากส่วนกลางออกมา
อ.เบญจรัตน์ : คิดว่าการที่การวิจารณ์มาตรา 44 แล้วทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับมากกว่าการที่เราวิจารณ์นโยบายรัฐอื่นๆ นั้นก็มีนัยยะสำคัญของมันอยู่ มันแสดงให้เห็นว่าอะไรที่แตะต้องไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่านี่เป็นประเด็นที่ทางผู้มีอำนาจก็ตระหนักดีว่าอ่อนไหวมาก การพยายามใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเลยมีจุดอ่อนในตัวมันเอง แต่ยิ่งพยายามจำกัดการวิจารณ์ก็ยิ่งทำให้ความตึงเครียดมันมากขึ้น
The MATTER : การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ มีต้นทางมาจากรัฐบาลเผด็จการ ทั้งขู่ให้กลัวผ่านคำพูด และการจับติดคุกจริงๆ ในหลายกรณี ในเมื่อบรรยากาศมันปิดกั้นจริงๆ เรามองความเงียบทั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันอื่นๆ ด้วยความเข้าใจได้ไหม ใครๆ ก็รักตัวกลัวตาย ไม่อยากเดือดร้อน ไม่อยากให้การงานที่ทำอยู่ต้องเกิดผลกระทบ
อ.เบญจรัตน์ : ความเงียบต่อการคุกคามสิทธิและเสรีภาพบางครั้งน่ากลัวเสียยิ่งกว่าการละเมิดเองเสียอีก เพราะมันเป็นการบอกว่าคุณทำอย่างนั้นต่อไปได้ การไม่ออกมาวิจารณ์มันถูกตีความได้ว่าคุณให้การยอมรับความชอบธรรมของมันไปโดยปริยาย แน่นอนว่าความกลัวมันมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำอะไร ตัวเองก็กลัวเวลาที่ออกมาพูดวิจารณ์ คสช.หรือร่วมกิจกรรมสาธารณะทางการเมือง นี่เป็นโจทย์สำคัญว่าเราคงต้องมาคิดร่วมกันว่าจะขยายพื้นที่ปลอดภัยของการแสดงความเห็นได้อย่างไรในภาวะเช่นนี้
อีกแง่หนึ่งของความเงียบที่รู้สึกว่าน่ากลัวมาก คือไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความเงียบนี้เกิดจากความกลัว หรือเกิดจากความเห็นชอบกับสิ่งที่ คสช. ทำอยู่ ถ้าเป็นกรณีแรก เรายังค่อยๆ สร้างและขยายพื้นที่ปลอดภัยกันได้ อาจจะช้าไม่ทันใจแต่ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นในกรณีหลัง คือสังคมชอบกับการใช้อำนาจเด็ดขาด การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะในนามการคืนความสุขหรือการสร้างการปรองดอง นั่นแสดงว่าสังคมไทยไม่ได้มีฐานคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแน่นหนาเลย
ความเงียบต่อการคุกคามสิทธิและเสรีภาพบางครั้งน่ากลัวเสียยิ่งกว่าการละเมิดเองเสียอีก เพราะมันเป็นการบอกว่าคุณทำอย่างนั้นต่อไปได้
The MATTER : สถานการณ์ปัจจุบันของสถาบันฯ เป็นยังไงบ้าง และในอนาคตจะวางบทบาทสถาบันฯ ยังไง