โอ้ย กระดุมมอหายไปไหน! ติ้งล่ะ? เมื่อวานเอาไปวางไว้ตรงไหนนะ? เอ๊ะ หรือหายอีกแล้ว นี่ต้องซื้อใหม่อีกกี่รอบกัน!
แต่ละวันของนักศึกษานอกจากชุดนักศึกษาอย่างเสื้อเชิ้ต และกระโปรง หรือกางเกงตามมหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งจะเลือกใส่หรือไม่ใส่ตามแต่ความชอบส่วนบุคคล สถานการณ์ หรือข้อจำกัดของคณะและอาจารย์ประจำวิชาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มาด้วยกันเป็นแพ็คคู่ (ตามระเบียบการแต่งกายที่มหาวิทยาลัยแจ้ง) ก็คือ ‘เครื่องหมายนิสิต-นักศึกษา’ ในชุดเครื่องแบบปกติของนักศึกษาประจำมหาวิทยาลัย
จากการหาข้อมูลคาดว่า ชุดเครื่องแบบปกติของนิสิต-นักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีการพัฒนามาจากชุดเครื่องแบบโรงเรียนมหาดเล็ก (จุฬาฯ ในปัจจุบัน) โดยได้ปรับเปลี่ยน ปรับลดเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ.2492 ที่มีการกำหนดชุดเครื่องแบบจุฬานิยม รวมทั้งขอความร่วมมือให้นักศึกษาแต่งกายมาเรียนด้วยชุดเครื่องแบบทุกวัน และในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2507 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ออกคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 71/2507 ว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตชาย และนิสิตหญิง ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังมีการปรับเปลี่ยนเรื่อยมาจนเป็นชุดในปัจจุบัน และบังคับใช้ในปี พ.ศ.2533
ชุดเครื่องแบบปกตินี้ สำหรับผู้ชายส่วนมากจะประกอบไปด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาวไม่มีลวดลาย กางเกงขายาวแบบสากลสีกรมหรือดำ ถุงเท้าสีดำ รองเท้าหุ้มส้นสีดำ เนคไท และเข็มขัด ที่มีเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยประกอบอยู่ ในส่วนผู้หญิงก็จะเป็น เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนสั้นไม่มีลวดลาย ติดกระดุมโลหะและเข็มกลัดที่มีเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย กระโปรงผ้าสีกรมท่าหรือสีดำไม่มีลวดลาย รองเท้าแบบสุภาพ และเข็มขัดที่หัวเข็มขัดมี ‘เครื่องหมาย’ ของมหาวิทยาลัย
ซึ่ง ‘เครื่องหมาย’ ในชุดเครื่องแบบปกติของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ นับเป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่า นักศึกษาคนที่สวมใส่อยู่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอะไร ในบางที่ยังแยกย่อยเป็นเครื่องหมายของแต่ละคณะและสาขาวิชา โดยเครื่องหมายเหล่านี้บ้างก็ถูกนำไปยึดโยงเข้ากับความรู้สึกเชิงอัตลักษณ์ หรือความภาคภูมิใจในสถาบัน (หรือคณะ)
เครื่องหมายที่กำลังพูดถึงนี้ มีตั้งแต่เข็มขัด หัวเข็มขัด กระดุม เข็มกลัด ตุ้งติ้ง และโบว์ สำหรับนักศึกษาหญิง และเข็มขัด หัวเข็มขัด เนคไท และเข็มเนคไทสำหรับนักศึกษาชาย โดยองค์ประกอบต่างๆ ก็จะแตกต่างไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยอีกที เช่นในบางมหาวิทยาลัยนักศึกษาหญิงจะต้องใส่โบว์สำหรับงานพิธีการ บางมหาวิทยาลัยมีแค่เข็มกลัดไม่มีตุ้งติ้ง หรือนักศึกษาชายของบางมหาวิทยาลัยไม่ต้องมีเข็มเนคไท แต่ต้องใส่เนคไทที่มีตราของมหาวิทยาลัยแทน
และในหลายครั้ง เครื่องหมายที่จะต้องใส่พร้อมชุดนักศึกษานี้ ก็ได้สร้างปัญหาให้กับเหล่านักศึกษาอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ราคาเครื่องหมายนิสิต-นักศึกษา ที่ไม่เป็นมิตรกับนิสิต-นักศึกษา
“สวัสดีค่ะ มีรุ่นพี่มอ… คนไหนที่จบไปแล้ว หรือสามารถขายเข็มขัด กระดุม เข็มกลัด ตุ้งติ้งกลมอะไรพวกนี้ให้เราได้บ้างค่ะ ตอนนี้ที่บ้านมีปัญหาและซื้อครบทุกอย่างมันแพงค่ะ ใครมีมือสองสามารถขายต่อให้เราถูกๆ ได้บ้างจะขอบคุณมากเลยค่ะ” ข้อความของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่ออกมาสอบถามชุดเครื่องประดับนักศึกษามือสองบนทวิตเตอร์
และนอกจากทวีตนี้ ก็ยังมีคนที่เข้ามาถามหาเครื่องประดับจากสถาบันเดียวกันอีกจำนวนหนึ่ง จนทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงราคาของเครื่องหมายเหล่านี้
เมื่อได้สำรวจราคาของบรรดาเครื่องประดับชุดนักศึกษาอย่างหัวเข็มขัด กระดุม เข็มกลัด และตุ้งติ้งของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาจำนวนหนึ่ง จึงพบว่า ราคาของเครื่องหมายต่างๆ เริ่มต้นที่ประมาณ 23 บาท และอาจแพงถึง 400 บาทต่อหนึ่งชิ้น โดยราคาจะแตกต่างกันตามชนิดรูปแบบ และวัสดุของเครื่องหมาย รวมถึงแตกต่างไปตามแต่มหาวิทยาลัยด้วย
อย่างชุดกระดุมมหาวิทยาลัยของนักศึกษาหญิง มีราคาตั้งแต่ 30 จนถึง 150 บาท ตามแต่มหาวิทยาลัย หัวเข็มขัดที่มีทั้งของมหาวิทยาลัยและคณะ ก็มีราคาตั้งแต่ 40 ไปจนถึง 400 บาท เข็มกลัดมหาวิทยาลัยอันละ 25 จนถึง 100 บาท หรือตุ้งติ้งก็สนนราคาอยู่ที่ 23 ไปจนถึง 120 บาท แล้วแต่คณะหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งพอรวมเครื่องหมายต่างๆ เป็นชุดสำหรับนักศึกษาสักหนึ่งคนก็จะมีราคาประมาณ 120-190 บาท เป็นอย่างต่ำ
และแน่นอนว่าราคานี้ไม่ใช่ราคาของทุกมหาวิทยาลัย ทำให้มีนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถซื้อเครื่องหมายหลายๆ ชนิดนี้ได้ในราคาที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด
บางคนอาจมีเงินพอแค่ซื้อชุดนักศึกษา
ไม่ใช่เครื่องประดับชุดนักศึกษา
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลยังไม่รวมถึงเวลาเครื่องหมายชำรุด หรือสูญหาย ที่เมื่อเกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างเสียไม่ได้
ชุดเครื่องแบบปกติของนักศึกษา ที่ไม่ตอบโจทย์นักศึกษา
นอกจากราคาที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับนักศึกษาแล้ว เมื่อถึงเวลาต้องนำมาใช้จริง เครื่องหมายชนิดต่างๆ ก็ค่อนข้างไม่ฟังก์ชั่นในการใช้งานด้วย “รู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ และเป็นอะไรที่ไร้สาระมากในการต้องใส่เข็มขัดทั้งๆ ที่กระโปรงไม่มีห่วงเข็มขัด” นักศึกษาหญิงคนหนึ่งกล่าว
“ตอนที่เราซื้อเสื้อมา ปกติแล้วเสื้อก็จะมีกระดุมแบบปกติมาให้เลย แต่พอต้องใส่กระดุมมอ ทำให้เราต้องเลาะกระดุมที่เขามาให้ดีอยู่แล้วออก เพื่อที่จะใส่กระดุมมอที่มันใหญ่และใส่ยากเข้าไปใหม่” นักศึกษาหญิงอธิบายถึงความไม่เอื้อประโยชน์ในการใช้งานของเครื่องประดับต่างๆ ที่อยู่ในข้อกำหนดของระเบียบการแต่งกายนักศึกษา ทั้งการที่ต้องใส่เข็มขัด ทั้งที่ไม่มีห่วงเข็มขัดของกระโปรงนักศึกษา หรือการใช้งานยากของกระดุมนักศึกษา
ทำให้เกิดการหาวิธีแก้ปัญหาในแบบต่างๆ จนสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ อย่างการที่กระดุมหลุดไม่รู้ตัว จากการกรีดรังดุมมากเกินไปเพื่อให้ง่ายต่อการใส่กระดุมที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ จนรังดุมหลวม หรือการเพิ่มภาระทางค่าใช้จ่าย จากการซื้อโปรดักส์หรือสิ่งของที่ช่วยแก้ปัญหาการใส่กระดุม หรือการซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยรั้งเข็มขัดนักศึกษาหญิงไม่ให้หมุนหรือเลื่อนไปมาจากการที่ไม่มีหูเข็มขัด หรือแม้แต่การที่ต้องซื้อเสื้อใหม่เรื่อยๆ เพราะเสื้อรังดุมหลวมบ้าง เลอะสนิมจากการใส่กระดุมทิ้งไว้บ้าง
“มันยุ่งยาก เพิ่มภาระ เสียเงินซื้อของ และเสียเวลาในการแต่งตัว” เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถซื้อเสื้อนักศึกษาที่ต้องเลาะกระดุมออกได้หลายตัว ซื้อชุดเครื่องหมายได้ทีละหลายชุด ซื้อเครื่องหมายใหม่ได้ทุกครั้งที่หาย หรือซื้อเครื่องทุ่นเวลาในการแต่งตัวได้ทุกครั้งที่ต้องการ
เพียงเพราะต้องการใช้เงิน
เพื่อซื้อเวลาเพิ่มให้กับตัวเอง
แม้ว่าปัจจุบันอาจารย์ในคณะ และมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งจะไม่ได้เข้มงวดเรื่องการแต่งกายของนักศึกษา ว่าจะต้องแต่งตัวด้วยชุดนักศึกษา หรือชุดที่มีเครื่องหมายเต็มยศในเวลาเรียนเท่านั้นแล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังมีการกำหนด และนำเสนอว่าการแต่งกายแบบนี้คือการแต่งกายที่ถูกระเบียบมหาวิทยาลัยอยู่ดี (และบางทีก็มีรุ่นพี่มาขอความร่วมมือ ให้นักศึกษาปี 1 แต่งกายแบบนั้นจนกว่าจะหมดเทอม หรือตามเวลาที่กำหนดด้วย)
ทำให้ก็อาจจะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า การแต่งการด้วยเครื่องหมายครบทุกชิ้นดูเป็นการแต่งกายที่เรียบร้อย เหมาะสม และดูเป็นความน่าภาคภูมิใจสำหรับนักศึกษาอยู่ ซึ่งในความเห็นของผู้ใช้จริงกลับไม่มองว่าเป็นแบบนั้น
“ถ้าเลือกได้ ตอนเรียนก็รู้สึกว่าอย่างน้อย ขอใส่อะไรที่คล่องตัว ใส่ได้ทั้งวัน และไม่เสียเวลาไปกับของจุกจิก” นักศึกษาคนหนึ่งแสดงความเห็นต่อการแต่งตัวไปเรียนในมหาวิทยาลัย
เพราะในมุมของผู้ใช้ การใส่ชุดนักศึกษาที่ประดับด้วยเครื่องหมายนั้น เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ยิ่งกับสภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้เอื้อต่อการต้องมาเสียเวลา หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใส่เครื่องหมายนิสิต-นักศึกษาให้ครบ ดังนั้นเมื่อสภาพแวดล้อม สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ เครื่องใช้ การแต่งกาย เครื่องประดับ หรือเครื่องหมายต่างๆ ก็ควรถูกปรับเปลี่ยน ลดทอนบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
ยิ่งกับโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย การซื้อเครื่องหมายชุดนึงก็เสียเงินไปไม่น้อย และแต่งตัวเพื่อเรียนก็ต้องเสียเวลาประมาณหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งบางทีการลดทอน หรือเลือกที่จะใส่-ไม่ใส่เครื่องหมายเหล่านั้นในการไปเรียนในแต่ละวัน อาจจะดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มากกว่าการที่ยังเก็บองค์ประกอบของเครื่องหมายต่างๆ ไว้เหมือนหลายสิบปีก่อน…
ในเมื่อสุดท้ายแล้วการแต่งกายตามเครื่องแบบอาจจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายให้นักศึกษา ถ้าอย่างนั้นแล้วการแต่งกายตามความเหมาะสมต่อสถานที่ และสถานการณ์ของแต่ละคน คือสิ่งที่เหมาะสมกับสังคมของเราในปัจจุบันมากกว่ารึเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก