เวลาเราพูดถึงโลกวิชาการ พวกวิชาเรียนมหาวิทยาลัย และการทำวิจัยอะไรทั้งหลาย แค่คิดถึงคำพวกนี้ก็รู้สึกหนักๆ ปวดหัวตุบๆ กับภาพของห้องเรียนที่น่าง่วงเหงาหาวนอน ภาพเนื้อหาวิชาในตำราหนาหนักที่บางทีก็เป็นความรู้ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ยุคก่อตั้งคณะหรือมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยที่เป็นเหมือนหอคอยงาช้าง สร้างและสอนเฉพาะองค์ความรู้ที่ไกลตัว และค่อนข้างแน่นิ่งไม่หมุนตามโลก ก็น่าจะอยู่รอดได้ยากเหมือนกันในโลกแห่งความรู้ ดังนั้นพอโลกก้าวไป ความรู้ก็หมุนไปข้างหน้าตาม มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มองเห็นว่า เอ้อ โลกนี้มันยังมีอะไรที่น่าสนใจใหม่ๆ เยอะแยะ เป็นอะไรที่เอา ‘ความรู้’ ไปทำความเข้าใจจนเกิดการสร้าง ‘องค์ความรู้ใหม่ๆ’ ได้ แถมไอ้ความรู้จากเรื่องหรือมุมมองใหม่ๆ นั้น ในที่สุดมันก็ทำให้ความรู้ขยับเข้ามาใกล้ตัว ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น
The MATTER พาไปดู 9 ‘วิชา’ ที่ฟังดูประหลาดพิกลแต่เปิดสอนกันจริงๆ ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ว่าเขาสอนอะไร แล้วไอ้วิชาแปลกๆ พวกนี้มันนำเราไปสู่อะไรบ้าง
Wasting Time on the Internet – (University of Pennsylvania)
Department: English
บ่นกันนักใช่มั้ยว่าชีวิตบนโลกออนไลน์ทุกวันนี้มันเสียเวลาไปเปล่าๆ ภาควิชาภาษาอังกฤษ (ซึ่งสอนความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับภาษา เช่น ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม การเขียน) แห่ง University of Pennsylvania เลยบอกว่า งั้นเราเอากิจกรรมบนอินเตอร์เน็ตที่มันดูไร้สาระอย่างการไถฟี้ด ดูรูปแมว ช็อปปิ้งอะไรทั้งหลายแหล่ มาเป็น ‘วัตถุดิบ’ สำหรับงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ได้มั้ยนะ เอามาทดลองเลยว่าเราจะสร้าง ‘วรรณกรรม’ จากกิจกรรมที่ถูกตราว่ากลวงโบ๋ไร้สาระพวกนี้ได้ยังไง ฟังดูเบสิคๆ แต่ลึกๆ แล้วมีปรัชญาซ่อนอยู่ ในคลาสสามชั่วโมงนักเรียนจะต้องอยู่แต่กับจอ มีปฏิสัมพันธ์ได้แค่บนโลกออนไลน์ วิชานี้พูดอย่างขี้โม้ก็จะบอกว่ามันเป็นการสำรวจประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเยียวยาวความเบื่อหน่ายและการทิ้งเวลาไปเปล่าๆ ผ่านการใช้ตัวบททางทฤษฎีและแนวคิดของนักปรัชญาตัวพ่อทั้งหลายอย่าง Guy Debord, Michel de Certeau, Henri Lefevbre, Stuart Hall และอื่นๆ อีกมากมาย
ดูเค้าโครงรายวิชาได้ที่ http://www.english.upenn.edu/Courses/Undergraduate/2015/Spring/ENGL111.301
Daytime Serials: Family and Social Roles (University of Wisconsin-Madison)
ไม่ใช่มีแต่บ้านเราที่วันธรรมดามีละครตอนบ่าย ตำนานรักดอกเหมยหรือละครรีรัน ถ้าเป็นที่อเมริกาก็จะคล้ายๆ กันคือจะมีละครสำหรับแม่บ้าน…ประเภทน้ำเน่าฟูมฟายหน่อยๆ (soap operas) ด้วยความที่มันฮิตนัก University of Wisconsin-Madison เลยบอกว่ามาศึกษากันอย่างจริงจังกันดีกว่า วิชา ‘ละครตอนกลางวัน : ครอบครัวและบทบาททางสังคม’ เน้นการวิเคราะห์แก่นเรื่องและตัวละครทั้งหลายในละครตอนกลางวัน เน้นวิเคราะห์บทบาทของผู้ชายและผู้หญิงในครอบครัวและในที่ทำงาน โดยวิชานี้จะเอาการวิเคราะห์ละครตอนกลางวันไปเปรียบเทียบกับละครไพรม์ไทม์ด้วยว่ามันแตกต่างกันยังไงและบอกอะไรเราบ้าง
ดูเค้าโครงรายวิชาได้ที่ https://pubs.wisc.edu/home/archives/ug01/09sohe/famcomm.html
Invented Languages: Klingon and Beyond (The University of Texas at Austin)
Department: Linguistic
ในหนังไซไฟหรือแฟนตาซีหลายเรื่องมักมีการสร้างชุดภาษาของตัวเอง ในวิชา ‘ภาษาประดิษฐ์: คลิงก้อนและอื่นๆ’ เลยลงไปดูว่า เราจะเข้าใจการสร้างงานรวมถึงบริบทรอบข้างต่างๆ จากภาษาที่ถูกจินตนาการขึ้นมาได้แค่ไหน ในวิชาสุดไซไฟนี้จะพาเราสำรวจไปหลายๆ แง่มุม โดยมีภาษาประดิษฐ์ทั้งหลายเป็นศูนย์กลาง ทั้งการใช้ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ ไปจนถึงบริบททางสังคมต่างๆ ที่ภาษานั้นถูกสร้างขึ้น คำถามเช่นว่า ภาษาคลิงกอนจากสตาร์เทรคมีโครงสร้างยังไงที่ทำให้ดู ‘ต่างดาว (Alien)’ มากๆ หรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทำไมในยุโรปถึงได้มีความคิดเรื่อง ‘ภาษาของจักรวาล’ หรือในภาษาทั้งหลายนี้มีนัยเรื่องการเหยียดเพศมั้ยนะ เจ้าวิชาที่ดูเฉพาะนี้แต่จริงๆ แล้วทางมหาวิทยาลัยจัดให้เป็น 1 ใน 9 วิชาพื้นฐาน เนื่องจากว่าเป็นวิชาที่เรียนรู้ศาสตร์และองค์ความรู้ต่างๆ อย่างบูรณาการ รวมไปถึงฝึกทักษะการคิด วิเคราะห์ การเขียน ในกรอบความคิดที่ว่าภาษาประดิษฐ์นั้นเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของป๊อบปูลาร์คัลเจอร์
ดูเค้าโครงรายวิชาได้ที่ https://sdsu-dspace.calstate.edu/bitstream/handle/10211.3/133886/Bigham_LING243_InventedLgSyllabus_Sp2015.pdf?sequence=1
The Science of Superheroes (University of California, Irvine)
Department: Physics & Astronomy
เวลาที่เราดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ดูขี้โม้ทั้งหลาย อย่างซูเปอร์แมนบินได้ สไปเดอร์แมนที่มาพร้อมกับประสาทสัมผัสของแมงมุม ไปจนถึงอุปกรณ์ล้ำโลกทั้งหลายที่ดูยังไงก็เป็นไปไม่ได้ในอีกหลายๆ เรื่อง มันดูเหนือจริงซะจนภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์แห่ง University of California, Irvine อาสาเปิดวิชาที่จะเผยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์แบบจริงจังสุดๆ ว่าไอ้ของขี้โม้รวมไปถึงพลังพิเศษทั้งหลายที่เราเห็น จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นอย่างไร เป็นไปได้แค่ไหน แล้ววิทยาศาสตร์มีส่วนที่จะสร้างสิ่งของเหล่านี้ได้อีท่าไหน ความพิเศษของวิชานี้คือมันถูกออกแบบมาให้วิชาหินๆ อย่างวิทยาศาสตร์มันสนุกขึ้น เป็นช่องทางให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจวิทยาศาสตร์และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น
ดูเค้าโครงรายวิชาที่ http://ocw.uci.edu/courses/physics_21_science_from_superheroes_to_global_warming.html
The Art of Walking (Centre College in Danville)
Department: Environmental Studies
เราเดินอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมต่างๆ กันทุกวัน ภาควิชาที่ฟังดูวิทยาศาสตร์อย่างสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่ง Centre College in Danville เลือกที่จะเปิดวิชาข้ามสาขาชื่อ ‘ศิลปะแห่งการเดิน’ เพื่ออ่านบันเทิงคดีและสารคดีที่เกี่ยวข้องกับการเดิน ทั้งการเดินในชีวิตประจำวันและการเดินเตร็ดเตร่ การเดินทั่วๆ ไปทั้งในสภาพแวดล้อมรอบตัวและพื้นที่ต่างๆ งานเขียนที่วิชานี้เลือกมาศึกษาก็มีทั้งนักเขียนดังๆ อย่าง Wordsworth, , Chesterton, และ Dickens ไปจนถึงงานเชิงปรัชญาทางศิลปะเช่น Kant และ Heidegger ที่พูดถึงการเดินในสวน สวนสาธารณะ และในพิพิธภัณฑ์
ดูเค้าโครงรายวิชาได้ที่ https://www.centre.edu/course_catalog/files/assets/basic-html/page184.html
HARRY POTTER AND THE AGE OF ILLUSION (Durham University)
Department: Education
ไหนๆ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ก็ศึกษาเรื่องการศึกษา ส่วนโรงเรียนพ่อมดก็ดังระดับปรากฏการณ์ Durham University ในสหราชอาณาจักรจึงใช้ฮอกวอตส์และเรื่องราวต่างๆ ในการศึกษาเรื่องความอคติ ความเป็นพลเมือง และการกลั่นแกล้งกันในห้องเรียน รวมไปถึงความรักและมิตรภาพ โดยชั้นเรียนนี้จะมองแฮร์รี่ พอตเตอร์เข้าไปถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่กว้างขึ้นกว่าเดิม โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21
ดูเค้าโครงรายวิชาได้ที่ https://www.dur.ac.uk/faculty.handbook/archive/module_description/?year=2013&module_code=EDUC2381
Politicizing Beyoncé (Rutgers University)
Department: Women & Gender Studies
‘Who run the world!’ เรารู้จักบียอนเซ่ในฐานะศิลปินป็อบสตาร์ แต่จริงๆ แล้วงานของเธอเต็มไปด้วยนัยทางการเมืองทั้งเพศสถานะ สีผิว และชนชั้น จนอาจเรียกได้ว่าบียอนเซ่เป็นหนึ่งในต้นแบบทางการเมือง (politic figure) ในวิชา ‘ทำบียอนเซ่ให้เป็นการเมือง’ ด้วยการมองหาประเด็นทางการเมือง ทั้งการเมืองเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ ไปจนถึงชนชั้น ผ่านเพลงและเส้นทางชีวิตของบียอนเซ่เอง ว่าในที่สุดทั้งชีวิตและผลงานของเธอนำไปสู่ความเปลึ่ยนแปลงเชิงสังคมได้หรือไม่ อย่างไร
เวปไซต์ของวิชา http://www.politicizingbeyonce.com/about.html
The Sociology of Miley Cyrus (Skidmore College in Saratoga Springs)
Department: Sociology
สังคมวิทยาของไมลี่ย์ ไซรัส!? เราอาจรู้สึกว่าป็อบไอค่อนมันสลักสำคัญอะไรขนาดนั้นรึ แต่ทางศาสตราจารย์ที่เปิดวิชาบอกว่า มันก็มีความสำคัญและมีความซับซ้อนในเชิงสังคมวิทยาอยู่นะจ๊ะ หญิงสาวแสนฉาวที่อยู่ในวงการมาตั้งแต่เด็กๆ โหนลูกตุ้มเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางของการถกเถียงเชิงวิชาการเช่น เรื่องความเหมาะสม ความเป็นเควียร์ การก่อร่างตัวตนทางเพศ และการทำวัยเด็กให้เป็นสินค้า แกนกลางหนึ่งที่ทางวิชาให้ความสนใจคือการที่ไมลี่ย์เปลี่ยนตัวเองจากโลกดิสนีย์มาสู่ความฉาวๆ ทำให้เธออยู่ตรงกลางของคู่ตรงข้ามของหญิงพรหมจรรย์และโสเภณี
รายละเอียดเกี่ยวกับวิชา https://www.theguardian.com/music/2014/mar/28/miley-cyrus-university-course-sociology-new-york
Finding Dates Worth Keeping (University of Sioux Falls in South Dakota)
Workshop
ปวดหัวกับการเดทกันอยู่รึเปล่า หรือหาได้แล้วจะเอายังไงต่อดี เราจะรู้ได้ยังไงว่าเดทนี้จะอยู่ยาวนานหรือควรค่าที่จะเก็บไว้ นี่มันปัญหาของจักรวาลชัดๆ และทาง University of Sioux Falls ใน South Dakota ก็มีความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพหัวใจของนิสิตนักศึกษาจึงเปิดรายวิชา ‘หาเดทที่ควรค่าจะสานต่อ’ กับ Lori Chaplin ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์และนักบำบัดที่จะมาทำหน้าที่แบบพี่อ้อยพี่ฉอดอย่างใกล้ชิด ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผู้สอนให้ความสำคัญในวิชาความรักนี้คือการ ‘รักอย่างฉลาด’ และการแยกความรักที่แท้จริงกับความหลงออกจากกันให้ได้…แหม่ ฟังดูเป็นวิชาที่เราต่างก็เรียนรู้ ฝึกฝน และล้มเหลวกันไปทั้งชีวิตเลยเนอะ
อ่านรายละเอียดจากผู้สอนได้ที่ http://www.keloland.com/news/article/other/learning-to-love
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.topuniversities.com/blog/10-university-courses-you-wont-believe-actually-exist
11 Bizarre College Courses We Actually Want to Take
Illustration by Namsai Supavong