เคยได้ยินกันบ้างไหมว่ารัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub) สำหรับภูมิภาคอาเซียน มีการผลักดันนโยบายหลากหลายด้านเพื่อให้การศึกษาไทยไปสู่ระดับสากล แล้วเคยได้ยินไหมว่าอันที่จริงแล้วเดี๋ยวนี้ก็มีนักศึกษาต่างชาติเริ่มให้ความสนใจมาเรียนต่อที่เมืองไทยแล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับไปนั้นคุ้มค่ารึเปล่า?
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ก็มีหลักสูตร International ที่เอื้อให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนกันทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่หน่อยก็จะมีโครงการแลกเปลี่ยนส่งเด็กไทยไปนอก แล้วเอาเด็กนอกมาเรียนไทย เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม เปลี่ยนบรรยากาศให้ห้องเรียนดูมีอะไรน่าค้นหามากขึ้น ดูเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้นของการศึกษาไทยอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่ติดตรงคำถามที่ว่า ‘ไอ้ที่มีหลักสูตรกันเยอะแยะมากมายเนี่ย มันมีประสิทธิภาพจริงๆ หรือเปล่า?’ เพราะก็อย่างที่รู้ๆ กันเนอะ ว่าระบบการศึกษาไทยมันลุ่มๆ ดอนๆ กันอยู่ในหลายด้านเหมือนกัน เด็กไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับหลักสูตรปกติก็อาจจะเคยชินกันแล้ว บางคนก็ปรับตัวเข้ากับระบบซะเลย แต่บางคนก็อาจหาทางเลือกอื่น
แล้วเด็กต่างชาติที่เขามาแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ล่ะ
หลักสูตรนานาชาติในไทยมันจะดีกว่าหลักสูตรปกติไหม
หรือถ้าตัวโครงสร้างมันไม่ต่างกันเลย นักศึกษาเหล่านั้นจะทำยังไง
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวการศึกษาประเด็นหนึ่งที่บอกว่านักศึกษาชาวจีนรวมตัวกันเรียกร้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ถึงการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้คุณภาพในมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง ว่าอาจารย์สอนไม่ครบชั่วโมงบ้าง หรือมีการเรียกหาผลประโยชน์จากนักศึกษาบ้าง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับเรื่องเอาไว้เรียบร้อย
จากประเด็นนี้ มันก็ชี้ให้เห็นว่าเรามีปัญหาตรงนี้อยู่จริงๆ และถ้าถึงขั้นมีการเรียกร้อง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วล่ะ
เราได้ไปสัมภาษณ์นักศึกษาต่างชาติ ทั้งที่เป็นนักศึกษาเต็มตัว และนักศึกษาแลกเปลี่ยน 6 เดือน ถึงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาไทยที่ได้เจอมาเองกับตัว ซึ่งก็แน่นอนว่ามันก็เหมือนกับทุกอย่างบนโลกนี้นั่นแหละ ที่มีทั้งแง่มุมที่ดีและไม่ดี แต่มันก็น่าสนใจว่าในความคิดของนักศึกษาเหล่านี้ ‘ปัญหาที่ควรแก้ไข’ คืออะไร เหมือนหรือต่างยังไงกับนักศึกษาไทยกันบ้าง
แจ้งสักนิดตรงนี้ ว่าเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว และป้องกันไม่ให้นักศึกษาบางคนต้องมีปัญหากับทางมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ ทางเราจึงจะขอใช้นามสมมติกับทุกคน และไม่ขอเอ่ยชื่อของทางมหาวิทยาลัยในบทความชิ้นนี้จ้ะ
ช่องว่างทางการศึกษาที่กว้างจนแม้แต่เด็กแลกเปลี่ยนยังมองเห็น
จริงอยู่ว่าเรื่องนี้มันค่อนข้างละเอียดอ่อน กับการบอกว่ามหาวิทยาลัยนี้ดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ นะ เพราะก็เห็นว่ามีดราม่ากันทุกปีจนกระทั่งการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในไทยแทบจะกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปเลย ถ้าจะมีก็คงจะเป็นการอ้างอิงจากผลการสำรวจจากต่างประเทศเท่านั้น
มุมหนึ่ง มันก็ใช่นะ ที่ว่าจบจากที่ไหนก็เหมือนกัน ขอแค่เรามีความสามารถเสียอย่าง ใครก็อยากร่วมงานด้วย เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยดังเนี่ยเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำงานจริงไม่ได้ก็มี พวกเด็กมหาลัยดังเนี่ยแหละ ลูกน้องผมทั้งนั้น แต่แล้วอีกมุมหนึ่งก็จะมีความเห็นแย้งมาว่า สุดท้ายบริษัทดังๆ ก็จะเลือกรับเฉพาะเด็กมหาลัยดังอยู่ดี
เฮนรี่ (นามสมมติ) นักศึกษาชาวเยอรมัน ที่แลกเปลี่ยนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกว่า “ระหว่างผมที่เรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ กับเพื่อนอีกคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน มันเห็นได้ชัดเลยว่ามีความแตกต่างกันมากระหว่างแต่ละมหาวิทยาลัย โชคดีที่ผมอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ถือว่าโอเคนะ การเรียนการสอนถือว่ามีคุณภาพ และอาจารย์ก็ช่วยเหลือตลอด จะมีก็แต่บางครั้งที่เนื้อหาโฟกัสอยู่กับทฤษฎีมากกว่าความเข้าใจ แต่อย่างเพื่อนของผมที่แลกเปลี่ยนไปมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยเปิดให้เลือกลงทะเบียนเรียนแค่ 4 วิชา เท่ากับนักศึกษาไม่มีตัวเลือกเลยนอกจากต้องลงเรียนวิชาพวกนั้น และถ้าวิชานั้นเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงสามทุ่ม แต่กว่าอาจารย์จะมาสอนก็ 6 โมง 45 นาทีเข้าไปแล้ว”
มิค (นามสมมติ) นักศึกษาชาวไต้หวัน ที่ร่ำเรียนอยู่ในระบบการศึกษาไทยมาตั้งแต่สมัยประถม และเรียนจบภาคอินเตอร์จากมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่ง ก็มีความคิดเห็นคล้ายๆ กันว่า “มหาวิทยาลัยที่ไทยชิลไปนะ เรียนกันง่ายเกินไป แต่ก็น่าจะแล้วแต่มหาลัยด้วยแหละครับ อย่างม.รัฐก็ดูจะเรียนยากกว่า ถ้าเป็นม.เอกชนทั่วไป บางที่ก็ซื้อเกรดได้ เอาคนเข้าไปสอบแทนได้ด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้าผมก็เคยเรียนในม.เอกชน ก็เคยเจอคนที่ทำแบบนี้ครับ”
จริงอยู่ว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังก็ไม่ได้มีแต่นักศึกษาดีๆ และเช่นกันที่มหาวิทยาลัยที่คะแนนสอบเข้าต่ำกว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณภาพที่ด้อยกว่า หรือจะไม่มีเด็กเก่งๆ อยู่เลย แต่เราอาจต้องยอมรับแล้วว่าช่องว่างระหว่างการจัดการศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่จริง เพราะถ้าจะบอกให้ ‘ขอแค่เป็นคนเก่ง จะไปเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน’
แต่มันก็คงน่าเสียดายที่คนเก่งจะต้องโดนลดทอนคุณค่า
เพียงเพราะไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง
หรือคนไม่เก่งจะต้องหมดสิ้นหนทางเพียงเพราะไม่เก่งนะ
ใช่…เรากำลังพูดว่า เมื่อไหร่ที่เรายอมรับกันได้ว่ามันมีช่องว่างนี้อยู่ เมื่อนั้นแหละถึงจะเกิดการแก้ปัญหาที่จะลดความแตกต่างตรงนี้ลง แล้วเมื่อมันมีความเท่าเทียมทางการศึกษาจริง ถึงเวลานั้นจะเก่งหรือไม่เก่ง ไปเรียนที่ไหนก็ได้เหมือนกัน
คอร์รัปชั่นในระบบการศึกษา รู้นะ…แต่ไม่แสดงออก
เรื่องแป๊ะเจี๊ยะใต้โต๊ะนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เรารู้กันดีว่ามันมีอยู่จริง พูดว่าแป๊ะเจี๊ยะนี่ยังมีความใต้โต๊ะ ดูต้องแอบทำลับๆ ล่อๆ เนอะ แต่บางครั้งมันก็มาในรูปแบบของผู้สนับสนุนหลักของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษานั้นๆ ออกหน้าออกตาเป็นผู้บริจาคมีพระคุณอะไรก็ว่าไป (ซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งหมดของผู้มีจิตศรัทธาบริจาคหรอกเนอะ) มีความพยายามแก้ปัญหาหลายครั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายคน ว่าห้ามรับแป๊ะเจี๊ยะนะ คราวนี้จะห้ามจริงๆ แล้วนะ ถ้าทำอีกจะลงโทษนะ
แต่ก็นั่นแหละ รู้ๆ กัน
เราคนไทยอาจชินและชากับวัฒนธรรมนี้ บางคนก็บอกว่าคนอื่นทำกัน ชั้นทำบ้างจะเป็นไรไป หรือบางคนไม่ได้ทำ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน ในเมื่อตัวเองไม่เสียประโยชน์ก็ให้มันเป็นไป
แต่แล้วถ้ามันมาเกิดกับนักศึกษาต่างชาติล่ะ
จะดูเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาไหม?
นอกจากเรื่องที่มิคอ้างอิงถึง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว เรายังเจอเรื่องราวของ แดเนียล (นามสมมติ) เป็นนักศึกษาปริญญาโทในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งจากเมียนมาร์ ที่ให้ความเห็นว่าจริงๆ แล้วการเรียนที่นี่ก็ดีกว่าที่บ้านเกิดของเขามากทีเดียว แต่เพราะประสบการณ์บางอย่างที่เจอกับตัว เกี่ยวกับค่าดำเนินการไปทัศนศึกษาต่างประเทศที่ชวนให้น่าสับสนไปหมด ทำให้เขาเริ่มคิดว่าหรือบางทีเขาอาจแค่เลือกเรียนผิดมหาวิทยาลัย
“ตอนแรกอาจารย์บอกกับพวกเราว่าค่าทัศนศึกษาทั้งหมด คือ 18,000 บาท สำหรับทริป 4 วัน 3 คืน รวมค่าตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า และค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ต่างๆ ทั้งหมดแล้ว แต่หลังจากพวกเราจ่ายเงินไปแล้ว กลายเป็นว่าอาหารเช้าหายไป และแพลนที่จะเข้าชมสถานที่บางอย่างก็ถูกยกเลิก ไฟลต์บินถูกเลื่อนทำให้เราเสียเวลาหนึ่งวันไปฟรีๆ โดยที่พวกเราไม่ได้เงินค่าส่วนต่างคืน สำหรับผมปัญหาของระบบการศึกษาไทยก็คือความรับผิดชอบของอาจารย์บางคนเนี่ยแหละ แล้วพอพวกเราทั้งเด็กต่างชาติและเด็กไทยรวมตัวกันร้องเรียน ไม่ได้ทำเป็นทางการนะ แค่คุยกันในห้องเรียนเฉยๆ แต่หลังจากนั้นอาจารย์คนนี้ก็มีท่าทีกับพวกเราเปลี่ยนไปเลย”
“ขอพูดเพิ่มบางอย่างนะครับ ตอนแรกอาจารย์บอกพวกเราว่าคนที่ไปทัศนศึกษาจะต้องเขียนรายงานส่ง 1 หน้า ส่วนใครที่ไม่ไปจะต้องเขียนรายงาน 2 หน้า หลังจากกลับมาพวกเราที่ไปทัศนศึกษาก็เขียนส่งกันตามปกติ แต่ไม่เห็นว่าอาจารย์จะทวงงานจากคนที่ไม่ไปทัศนศึกษาเลย เท่ากับว่าสุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรต่างกันเลยระหว่างคนที่ไปกับไม่ไป เหมือนเราไม่ได้อะไรจากทัศนศึกษาครั้งนี้เลย พวกเรารู้สึกว่าอาจารย์คนนี้จัดทัศนศึกษาขึ้นมาโดยที่ไม่จำเป็นสักนิด”
“บางทีอาจเป็นเพราะผมเลือกเรียนผิดมหาวิทยาลัยก็ได้ เพราะผมได้เรียนกับอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยอื่นอยู่คนหนึ่ง อาจารย์คนนี้จัดการเรียนการสอนได้เป็นระบบมาก แล้วก็มีความรับผิดชอบเมื่อเทียบกับอาจารย์คนอื่น ทำให้ผมอยากย้ายไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนเลย”
คุณสมบัติของนักศึกษาปริญญาโท?
อีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ได้คาดคิด แต่ก็ได้รับฟีดแบกที่ตรงกันจากนักศึกษาต่างชาติ 2 คน จาก 2 สถาบัน จนอดนำมาพูดถึงไม่ได้ ก็คือคุณสมบัติของนักศึกษาในไทย อันที่จริงเราก็เคยได้ยินมาบ้างเรื่องการเรียนเพียงเพื่อเอาวุฒิการศึกษา จนนำไปสู่การจ้างเรียน จ้างสอบ หรือแม้กระทั่งใบปริญญาบัตรปลอม
เฮนรี่ ชาวเยอรมัน ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยในสายตาของเขา “นักศึกษาที่นี่ส่วนใหญ่ขี้อายเกินไป ทำให้คนไทยมีส่วนร่วมกับชั้นเรียนน้อยมาก”
เบน (นามสมมติ) นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวไต้หวัน เพื่อนในมหาวิทยาลัยเอกชนที่เฮนรี่พูดถึงก่อนหน้านี้ ยังเสริมด้วยว่า “การศึกษาไทยควรต้องสะท้อนเป้าหมายของนักเรียนมากกว่านี้ ว่าพวกเขาจะเรียนไปทำไม เพราะขนาดผมเรียนอยู่ในคลาสอินเตอร์แล้ว แต่ก็ยังมีนักศึกษาหลายคนเลยที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ให้พวกเขาเข้ามาเรียน ผมว่าทางมหาวิทยาลัยต้องเข้มงวดกับการรับสมัครนักศึกษามากกว่านี้ ไม่ใช่แค่หวังจะเอาแต่ผลกำไรอย่างเดียว”
ที่ผ่านมาเราพูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงปัญหาในระบบการศึกษาไทย ถกเถียงกันไปมาแต่ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ และก็ไม่รู้ด้วยว่าผู้มีอำนาจจะเห็นด้วยกับที่พวกเราคุยกันไหม (ฮา) แต่การได้รับรู้มุมมองใหม่ๆ จากชาวต่างชาตินี่ก็ทำให้ได้คิดดีเหมือนกันนะ ว่าไม่ใช่แค่พวกเราหรอกที่มองเห็นว่ามันมีปัญหา
แต่ในฐานะที่เราจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาทั้งที ถ้าจะตั้งตัวเป็นแบบนี้แล้ว ก็น่าจะทำตัวให้แฟร์กับคนที่เขาไว้วางใจเลือกมาเรียนในประเทศเราหน่อยเนอะ และถ้าจะให้ดี ก็น่าจะแฟร์กับนักเรียนไทยเองด้วยเลย เพราะเรื่องการศึกษามันคงไม่ใช่แค่เข้ามาเรียนๆ สอบๆ สนุกๆ แล้วก็จบ แต่มันอาจส่งผลกระทบถึงอนาคตของคนคนหนึ่งได้จริงๆ
น่าจะถึงเวลาเลิกมองการศึกษาเป็นของเล่น แล้วให้ความสำคัญกับมันจริงๆ เสียที
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.nation tv.tv/main/content/social/378524869/