‘การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด’ คำพูดฮิตที่ใครหลายๆ คนชอบพูดถึงการศึกษา ที่ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ หรือเรียนจบปริญญากันมานานแค่ไหน คนเราก็ควรจะเรียนรู้กันอยู่เรื่อยๆ เข้ากับสังคมในปัจจุบัน ที่มีสกิล ทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีได้ให้ออกมาเรียนรู้กันมากมาย ไปจนถึงคอร์สเรียนออนไลน์ที่เปิดให้เรียนกันฟรีๆ ทั้งในและต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็เป็นสถาบันการศึกษาอีกหนึ่งแห่ง ที่เริ่มปรับตัว เปลี่ยนบทบาทจากการให้ความรู้แค่กับนักศึกษา มาเปิดกว้างมากขึ้น กับธรรมศาสตร์ตลาดวิชา หรือโครงการ ‘Gen Next Academy’ ที่เตรียมเปิดให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ หรือมีวุฒิอะไร เข้ามาลงเรียนวิชาในธรรมศาสตร์กันได้ ทั้งเรียนออนไลน์ เข้าเรียนกับนักศึกษา ไปถึงคอร์สระยะสั้น
The MATTER พูดคุยกับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรศ. ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ถึงโครงการตลาดวิชานี้ ว่าทำไมถึงเปิดโครงการนี้ กลุ่มเป้าหมายคือใคร และแต่ละกลุ่มควรเรียนวิชาอะไร ไปจนถึงบทบาทการปรับตัวของมหาวิทยาลัย ที่จะไม่ใช่พื้นที่ให้ความรู้แค่แก่นักศึกษาอีกต่อไป
ตลาดวิชาเป็นแนวคิดที่ธรรมศาสตร์เคยทำมาแล้วในอดีต ทำไมถึงนำแนวคิดนี้มาใช้อีกครั้ง
อ. เกศินี : เราคิดว่าโครงการนี้น่าจะเข้ากับแนวทางการพัฒนาคนรุ่นใหม่ และกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพัฒนาในที่นี่ไม่ได้จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับปริญญาหมด มันก็มีกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งคนที่ทำงานอยู่ คนที่เกษียณไปแล้ว หรือศึกษาอยู่มัธยมปลาย ดังนั้นความต้องการของแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน ในการที่เราเอาวิชาการที่เราจัดทำการเรียนการสอนอยู่ มาให้คนแต่ละกลุ่มที่อยากเรียนเพิ่มเติมได้เลือก
โดยเฉพาะรัฐบาล หรือประเทศชาติ อยากได้คนที่ retrain, reskill มีทักษะที่อัพเดทอยู่เสมอ การมีโครงการแบบนี้มันจะช่วยให้คนมีแนวทางในการปรับปรุงความรู้ของตัวเองได้ไม่ยาก ในราคาที่ไม่แพงด้วยและเป็นการประหยัด เพราะต้นทุนคงที่มันมีอยู่แล้ว เขาเข้ามาตรงนี้ก็ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตของเรามันก็ถูกลง ประหยัดขึ้น มันเป็นวิน-วิน ที่เขาก็ได้ประโยชน์ และต้นทุนเราก็ลดลง ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดค่าเรียนแพงจนไม่สามารถเข้ามาเรียนได้
ในฐานะของธรรมศาสตร์ เรายังตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาคนและประเทศ ทั้งสำหรับคนที่อยู่นอกระบบการศึกษาสามารถเข้ามาเรียน หรือคนที่อยู่ในระบบการศึกษาสามารถมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย เรามีความคิดว่า คนเราต้องพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต และอีกอย่างสำหรับเด็กของเราที่เรียนอยู่ ก็เหมือนประตูเปิด ให้คนที่ประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน มานั่งเรียนกับเรา ที่มีมุมมองไปจากเด็กๆ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในการแสวงองค์ความรู้ และการถกเถียงกัน
ตลาดวิชาเดิมที่ธรรมศาสตร์เคยเปิด กับตอนนี้ โครงการนี้ที่กำลังจะเปิด มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม
อ.ชาลี : ตลาดวิชาเดิมของธรรมศาสตร์ เป็นการเรียนลักษณะเปิดให้ทุกคน ทุกชนชั้นได้เข้ามาเรียนเพื่อรับปริญญาเป็นหลัก แต่อันนี้ที่เรากำลังจะเปิดน่าจะเป็นลักษณะของการ reskill, retrain, livelong learning หรือการเรียนแบบ advancement ของนักเรียนม.ปลาย
อ.เกศินี : ปริญญาอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่พอถึงจุดนึง ถ้าได้ปริญญาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เน้นเป็น certificate หรือมีใบรับรองมากกว่า
ในหลักสูตรใช้คำว่า ‘Gen NextAcademy’ หมายถึงคนกลุ่มไหน นิยามของ ‘Gen Next’ คืออะไร
อ.ชาลี : คือปกติเราจะเรียกคน generation ต่างๆ เช่น Gen X, Gen Y หรือ Gen Z แต่เนื่องจากความไวของสังคมที่เปลี่ยนไปgeneration ต่างๆ มันเริ่มสั้นลง generation อย่าง Gen X สมัยก่อนช่วงของมันอาจจะเป็น 20 ปี สมัยนี้ก็ลดเหลือแค่ 10 ปี Gen ต่อๆ ไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ สั้นลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่เหลือขอบเขต คือมันจะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราเลยเรียกคนที่ต้องเปลี่ยนตามสังคมหรือเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำว่าคน Generation Next คือรุ่นต่อไป
เราก็คิดว่า academy นี้จะส่งเสริมให้คนสามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ที่มาควบคู่ Generation Next อยู่เสมอ เราจึงตั้งชื่อนี้
เป้าหมายกลุ่มผู้เรียนของธรรมศาสตร์ตลาดวิชาคือกลุ่มไหน
อ.เกศินี : มีทั้ง 3 แบบ ทั้งกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย กลุ่มคนที่กำลังทำงานอยู่ และกลุ่มคนที่เกษียณไปแล้ว แต่ก็ยังมีไฟ มีแพชชั่น อยากจะหาความรู้ใหม่ๆ
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการเรียนมีทั้งแบบข้ามศาสตร์ คุณเรียนด้านวิทยาศาสตร์แล้ว คุณก็อาจจะอยากจะไปเรียนวิชาโททางด้านผู้ประกอบการ หรือภาษาที่ 3 หรือคนเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็อาจจะสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การอาหาร ก็สามารถผสมผสานกันไปได้ ดังนั้นตรงนี้จะมีการเรียนข้ามศาสตร์มากขึ้น
หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้ ก็มีการเรียนข้ามประเทศ ไม่ว่าจะเป็น exchange programme หรือ summer school เราก็อยากจะแลกเปลี่ยนกับเด็กในที่ต่างๆ เราให้ทุนเขา เขาก็ให้ทุนเรา แลกเปลี่ยนกัน โดยวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อกำไร แต่เป็นการเปิดโอกาส และโลกทัศน์ให้กับเด็ก เพราะฉะนั้นการเรียนมันก็จะแชร์กันมากขึ้น การเปิดธรรมศาสตร์วิชาก็จะตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย
ดังนั้นการเรียนตรงนี้ ก็จะมีทั้งข้ามศาสตร์และข้ามประเทศ แต่เราก็จะมีการควบคุม เช่นบางส่วนให้เรียนออนไลน์ บางส่วนก็เข้ามาเรียนในคลาสเลย ซึ่งเราก็จะมีกำกับด้วยระบบ IT ดิจิทัล ว่าเด็กในระบบของเรามีลงเรียนวิชานี้แล้วกี่คน และสามารถรับได้อีกกี่คน เราก็จะรับคนที่มีความหลากหลาย เพราะเราต้องการความหลากหลายในคลาสด้วย
การมีผู้เรียน เป็นกลุ่มอายุ หรือวัยที่หลากหลายคิดว่าจะเป็นปัญหาบ้างไหม
อ.ชาลี : จริงๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะมุมมองที่หลากหลายนี่แหละจะทำให้เกิดแนวคิดที่ต่อยอดและแตกต่าง ในสังคมเราเวลาทำงานจริงมันก็ต้องประสบบรรยากาศของความคิดของคนที่หลากหลาย generationในวงประชุมอยู่แล้ว ก็เหมือนเป็นการฝึกประสบการณ์เข้าไปในตัวด้วย ทำให้ยกระดับเรื่องของการเรียนรู้
อ.เกศินี : มันทำให้เกิดการรับฟังนะ คนเราถ้าอยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ถ้าใครที่มาพูดอะไรแตกต่างจากความคิดเห็นของตัวเองก็ไม่อยากฟังแล้ว ดังนั้นการไม่อยากฟังก็เสียโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้เพิ่มเติม คิดว่าการเรียนรู้แบบนี้เป็นเรื่องจำเป็น ในอนาคตมันยิ่งต้องมีหลายชาติ หลายภาษา หลายบริษัทก็เริ่มมีแบบนั้นแล้ว เราจึงต้องรู้จักวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วย
แต่ละกลุ่ม อย่างนักเรียน คนทำงาน หรือผู้สูงวัย ควรเรียนอะไร มีวิชาอะไรที่เหมาะสมกับแต่ละวัย
อ.ชาลี : ปกติแล้วนักเรียนม.ปลาย ชีวิตก็คือ เสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเย็นก็ต้องไปเรียนพิเศษ ซึ่งมันอาจจะดีกว่าก็ได้ถ้าเกิดเขาได้เข้ามาทดลองเรียนในระบบ ‘Gen Next’ เป็นวิชาปี 1 คือ general education ที่เป็นวิชาพื้นฐานศึกษาทั่วไป ซึ่งไม่ได้ต้องการความรู้พื้นฐานอะไรทั้งสิ้นมาก่อน แต่ว่าการเรียนนี้จะเปลี่ยนโลกทัศน์ ในขณะเดียวกัน นักเรียนก็จะได้ฝึกความรับผิดชอบในรูปแบบการเรียนที่แตกต่างจากม.ปลาย เพื่อให้เขาเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียนในระบบอุดมศึกษา ทั้งเขายังได้พยายามค้นพบตัวเอง ว่าอาชีพ หรือคณะที่เขาอยากเรียนตรงกับที่เขาต้องการไหม ถ้าลองเรียนแล้ว ไม่ใช่ตัวเองก็จะได้เปลี่ยนได้
คิดว่าตรงนี้จะเป็นประโยชน์หลายประการ ไม่ต้องให้เด็กไปมุ่งเรียนพิเศษมากนัก ค้นหาตัวเองให้เจอ ในขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมตัวเองสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งวิชาพื้นฐาน ทุกวิชามุ่งสร้างสกิลในศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันเขาก็เซฟเวลา เมื่อเขาเข้ามหาวิทยาลัยจริงๆ วิชาตรงนี้ก็จะถือว่าเก็บไปแล้ว เขาก็จะสามารถเรียนจบเร็วขึ้น ภายใน 3 ปีก็เป็นไปได้
สำหรับกลุ่มของคนที่ทำงานแล้ว เนื่องจากความไวของโลกที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเขาอาจจะล้าหลัง โดนคลื่นใหม่มาแซง เขาก็ต้องทำตัวให้สามารถที่จะแข่งขันได้อยู่เสมอซึ่ง World Economic Forum เคยทำวิจัยบอกว่านักเรียนที่กำลังเข้าเรียนประถมตอนนี้ พอจบออกไป 65% ของงานที่เขาจะทำเป็นงานที่ไม่มีตอนนี้ คือเกิดใหม่ และเขาไม่สามารถเตรียมตัวสำหรับงานนั้นได้เลย ดังนั้นความรู้ที่เราเรียนตอนปริญญาตรี หรือโท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันก็ไม่สามารถเข้ากันได้กับงานใหม่ เราก็ต้องหาข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเพื่อที่จะแข่งขันในงานใหม่ได้
วิชาก็จะเป็นวิชาพวกเชิงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สร้างความสามารถในการทำงาน การบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ วิเคราะห์ dataการ PR Marketing หรืออื่นๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในการทำงาน ก็จะเหมาะกับคนในวัยทำงาน
ถ้าเป็นกลุ่มสุดท้าย ของคนที่ต้องการ livelong Learning หรือคนที่เกษียณแล้ว เข้าใจว่าคนกลุ่มนี้จะเรียนตามแพชชั่นของตัวเอง เนื่องจากว่าตอนที่เป็นหนุ่ม-สาว อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งนั้นเช่น อาจจะเคยอยากเป็นช่างถ่ายรูป อยากเป็นช่างปั้นปฏิมากรรม อยากจะเรียนทำเว็บไซต์ infographic สวยๆ แต่ไม่มีโอกาส เมื่อตอนนี้มีเวลาแล้ว ก็เรียนตามแพชชั่นของตัวเอง ดังนั้นวิชาสไตล์การสร้างอาชีพ การพัฒนาฝีมือต่างๆ อาจจะเป็นที่สนใจของวัยผู้สูงอายุ หรือบางคนอาจจะเรียนภาษา เพราะว่าสนใจประเทศนี้มานาน ก็สามารถมาเรียนวิชาภาษาที่ 3 ของประเทศนั้นๆ ได้ วิชาของกลุ่มที่ 3 ก็จึงหลากหลายมาก
ลงเรียนแล้วได้อะไร ได้ปริญญาเลยไหม
อ.เกศินี : สามารถได้ แต่จะไม่ใช่แบบ auto และคิดว่าถ้าเข้ามาแล้ว เป้าเขาอาจจะเปลี่ยนว่าไม่ใช่ว่าต้องได้ปริญญา แต่ทำให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง มันไปตอบโจทย์งานหรือสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ตอนนั้น หรือเขามีปัญหาอยากจะมีความรู้เรื่องสุขภาพ ก็มาเรียนได้หมด
อ.ชาลี : เรื่องปริญญา เราคิดกันถึงขั้นที่ว่า ถ้าใครเรียนครบ 25% ของหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ก็จะให้ automatic transfer เข้าหลักสูตรนั้นเลย แต่ปรากฏว่าทางหลักสูตรต่างๆ เองก็มีความรู้สึกกังวล ไม่อยากให้เป็น autoขนาดนั้น จึงเสนอกันว่า ถ้าเรียนมาถึงจำนวนนึง ไม่ต้องเป็น 25% ก็ได้ ก็สามารถยื่นพอร์ตโฟลิโอในรอบ TCAS รอบ 1 แล้วก็รับเข้าด้วยระบบนี้แทน เช่น ถ้าผมเรียนวิชาในวารสารศาสตร์มาครบ 10% แล้ว หรือ 10 ตัว ผมก็อยากเข้าเรียนก็ยื่น certificate ทั้งหมดมาในรอบนี้ ถ้าคณะพิจารณาแล้วว่า เกรดดี ผลการเรียนดี น่าจะเรียนรอด ก็จะพิจารณารับเข้าในลักษณะนี้
เมื่อก่อนนี้มีธรรมศาสตร์บัณฑิต ก็คือตลาดวิชาสมัยก่อน ถ้าคุณเรียนไปเรื่อยๆ จนครบหน่วยกิต ครบโครงสร้าง คุณก็มายื่นได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตจริงๆ ในอนาคตเราก็ต้องการให้เป็นระบบนั้น คาดหวังอะไรจากการเปิดมหาวิทยาลัยให้เป็นตลาดวิชา
คาดหวังอะไรกับการเปิดธรรมศาสตร์ตลาดวิชา
อ.เกศินี : เราก็คิดว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นหน่วยหนึ่งของประเทศชาติ เราทำโครงการอย่างนี้เพราะตอบโจทย์ประเทศ ว่าอยากจะพัฒนาคนของประเทศในทิศทางไหน ทั้งให้คนสูงอายุสร้างมูลค่าทางสังคมได้ด้วย
อ.ชาลี : จริงๆ ถ้าธรรมศาสตร์ทำที่เดียว ก็จะได้แค่ที่รังสิต ท่าพระจันทร์ ลำปาง พัทยา แต่ถ้าเกิดว่าเราร่วมกันหลายๆ มหาวิทยาลัย มันก็จะไปได้ทุกที่ ทุกภูมิภาค สังคมแห่งการเรียนรู้มันก็จะเกิดขึ้นได้ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง ด้วยทรัพยากรของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์ก็ไม่ต้องจ้างเพิ่ม ทั้งยังพร้อมกับกระแสที่อัตราการเกิดน้อยลง นักศึกษาที่น้อยลงด้วย
หลายคนมองว่า มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่เข้ามาเรียนเพื่อเอาใบปริญญา แล้วปัจจุบันมีการเรียนรู้อื่นๆ ได้มากมายแล้ว การได้วุฒิปริญญา และมหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหม
อ.ชาลี : มีการศึกษาว่าเทรนด์ใหม่ๆ ของโลกคือ บริษัทเริ่มรับคน โดยที่ไม่ได้ดูที่วุฒิปริญญา แต่ดูที่ทักษะว่าเขาสามารถทำอะไรได้ เช่นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน IT บอกว่าคุณไม่ต้องจบ computer-science มาหรอก แต่คุณเขียนโค้ดได้เก่งแค่ไหนมากกว่าที่เราอยากรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องของปริญญาบัตรจึงถูดลดความสำคัญลงอย่างมาก
เพราะว่าวุฒิต่างๆ มันแค่บอกว่าคุณมีความสามารถพอที่จะทำงานในวันที่คุณได้วุฒิ แต่ 5-10 ปีต่อจากนั้น ถ้าคุณไม่พัฒนาความสามารถต่อ คุณจะไม่มีสกิลในการทำงานในปีต่อๆ ไป มันจึงต้องมีการทำ livelong learning แบบนี้ขึ้นมา นอกจาก Gen Next Academy เป็นหนึ่งทิศทางแล้ว ในอนาคตเราคิดถึงขั้นว่า เราจะทำเป็นเหมือน transcript ที่ระบุความสามารถของคน อย่างตอนนี้เรามี transcript ที่บอกว่าคนหนึ่งคนเรียนวิชาอะไรมาบ้าง แต่ถ้าเรามีรายละเอียดที่บอกถึงความสามารถ ความสำคัญของวุฒิจะถูกลดไปทันที เช่น ภาษาต่างประเทศอยู่เลเวลไหน มายเซ็ตเรื่องการทำงานดีไหม ซึ่งเราคิดกันไว้ว่าจะทำในลักษณะเกี่ยวเนื่องกับรายวิชา แต่ละวิชามีผลที่ต้องการสร้างความสามารถอยู่แล้ว ซึ่งจะรวมไปในการสอบ ว่าสอบแล้วได้ความสามารถในระดับไหน แนวทางของมหาวิทยาลัยในปีหน้าก็จะเปลี่ยนแปลงไปเยอะ
ในปัจจุบันมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บทบาทในการให้ความรู้ของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไปอย่างไร
อ.เกศินี : เราก็ดำเนินการเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว อย่างเดือนมกราคมนี้เราก็จะออกคอร์สการเรียนการสอนออนไลน์ ประมาณ 19วิชา แล้วก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าตรงนี้เราก็จะไม่ให้เขาได้เรียนออนไลน์อย่างเดียว เราก็จะให้มาเจอหน้ากับอาจารย์ด้วย เพราะเรายังคิดว่า การถกเถียงกับอาจารย์ กับเพื่อนในคลาสเป็นสิ่งจำเป็น เพราะอาจารย์เชื่อว่าการสื่อสารก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ
อ.ชาลี : ที่ท่านอธิการพูดเราหมายถึงการเรียนแบบ Blended Learning คือการเรียนออนไลน์อาจจะหมายถึงซัก 1ใน 3ของวิชา เช่นวิชา 3เครดิตหมายความว่าเรียนออนไลน์ 1เครดิต และเรียนแบบพบหน้ากันอีก 2เครดิต คือประมาณ 2ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คุณก็จะได้ไปเลย 3เครดิต
แต่ถ้าคุณเรียนออนไลน์อย่างเดียว คุณก็จะได้เนื้อหาไปประมาณ 1ใน 3 แล้วจะได้ certificate มูลค่า 1 เครดิตไป ในอนาคตเราออกจะออกแบบเรียนออนไลน์ module ที่ 2 และ 3 เพื่อให้มาเรียนครบ 3 เครดิตไป รูปแบบตอนนี้เรากำลังพยายามทำเป็นแบบนั้น อย่างรูปแบบ discussion เรามองว่ายังทำเป็นออนไลน์ได้ เช่นถ่ายคลิปวิดีโอตัวเอง หรือถกเถียงกับเพื่อนที่อยู่ใกล้ตัว และทำงานเป็น assignment ได้
จากเทรนด์โลกปัจจุบัน อาจารย์มองว่าทักษะ และศาสตร์อะไรที่คนจำเป็นต้องเรียนรู้ และการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องสอนเพื่อให้คนเท่าทัน
อ.ชาลี : มันมีลิสต์ 20 สกิล ที่ฟรีแลนซ์ยุคนี้ต้องมี โดยเค้าอัพเดทลิสต์สกิลพวกนี้ทุกๆ 3 เดือน และลิสต์ล่าสุดที่ออกมา ทั้ง 20 สกิลนี้ ผมแทบไม่รู้จัก เช่น เขียน Apple Xcode ได้, เข้าใจ Bitcoin หรือรู้ภาษา SCOM จะมีที่เรารู้จักก็เช่น e-learning, ถ่ายรูปโปรดักส์ที่เราพอรู้ นี่แค่รู้จักชื่อสกิลก่อนนะ ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า
แสดงว่าสกิลที่ต้องการในปัจจุบัน หรือในอนาคตอันใกล้ มันเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นถ้ามหาวิทยาลัยจะมุ่งสอนสกิลเหล่านั้น มหาวิทยาลัยตามไม่ทันหรอก ดังนั้นวิธีการของเราก็คือ เราต้องสอนให้เขาเป็นผู้เรียนที่สามารถเรียนได้ด้วยตนเอง หาความรู้ด้วยตนเอง และเข้าใจวิธีการเรียนที่ถูกต้อง เหมือนถ้าเขาตกปลาเป็น เขาก็จะมีปลาใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ทักษะที่สำคัญมากจึงเป็น learning skill ซึ่งเขาต้องมี หรือเรื่องของความรับผิดชอบ วินัยในตัวเอง ซึ่งเหล่านี้มันจะไปเสริมให้คนเห็นภาพ เห็นมายเซ็ต เชื่อมโยงระหว่างประเทศ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมได้ ซึ่งถ้าเขาเห็นภาพแบบนี้แล้ว เขาก็จะไปเรียนรู้อะไรก็ได้ที่เขาคิดว่าเป็นสกิลที่สำคัญ
อาจารย์คิดว่าทิศทางของสถาบันการศึกษาในอนาคตควรเป็นอย่างไร และจะตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างไร
อ.ชาลี : มีอยู่ 4 ทิศทาง ทิศทางแรกก็คือ เรื่องของการออกแบบหลักสูตรต่างๆ เนื่องจากผู้คนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาในปัจจุบันมีความต้องการที่หลากหลาย เพราะโอกาสต่างๆ มันเปิดมากขึ้น และคนก็เข้ามาด้วยทักษะสกิลที่ไม่เท่ากัน และต่างกันมาก เพราะคนเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการที่เราจะตอบสนองต่อความต้องการของคนที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยในแต่ละปีมันยากขึ้นเรื่อยๆ หลักสูตร fix ของเราที่ต้องเรียนวิชานี้ ต่อด้วยวิชานี้ เมนูที่เป็นเมนูเดียวให้ทุกคนทาน มันเริ่มไม่ตอบโจทย์ ต้องเป็นเมนูที่หลากหลายเรื่องได้เอง หรือเรียกว่า personalize curriculum แบบที่เรากำลังทำอยู่กับหลักสูตร Bechelor of Art & Science อันนี้ก็คิดว่าเป็นจุดที่ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องไป ไม่งั้นก็จะไม่สามารถตอบโจทย์คนที่เข้ามาเรียนได้
ประการที่ 2 เนื่องจากการเรียนต้องเป็นการผสมศาสตร์หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้น กำแพงระหว่างคณะที่อยู่ในมหาวิทยาลัย การเรียนที่ต้องอยู่แค่ในเฉพาะ curriculum ของตัวเอง ก็จะน้อยลง หมายความว่าต้องสามารถข้ามไปเรียนวิชาของคณะอื่นได้บ้าง ตามวิธีการผสมผสานที่ตัวเองอยากได้ ดังนั้นกำแพงคณะต้องลดลง
ประการที่ 3 เนื่องจากว่าคนมักจะพูดเสมอว่าจบมาแล้วยังทำงานไม่ได้ บริษัทต้องไปเทรนด์ซัก 6 เดือน ส่งไปต่างประเทศเทรนด์คอร์สต่างๆ ดังนั้นประเด็นเรื่องการทำงานได้ทันทีมันจึงเข้ามา หมายความว่าการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนมันต้องไปบูรณาการกับโลกของการทำงาน เราเรียกว่า work integrated learning ดังนั้นการร่วมมือกันกับหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน กับมหาวิทยาลัยต้องเกิดในการสร้างบัณฑิตที่พร้อมต่อการทำงาน
อีกอันนึงที่คิดว่าสำคัญ คือเรื่องของวิธีการสอน ซึ่งเดิมเราอาจจะเน้นเรื่องของ lecture base เรื่องของการให้ความรู้ มุ่งว่าต้องท่องจำและมาสอบให้ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนเป็นลักษณะของ active learning ให้มากขึ้น ให้คนมี experiential base learning มากขึ้น หรือ community base learning ซึ่งการทำงานประสานกับชุมชน ทำโครงงานแก้ไขปัญญาสังคม นำความรู้ที่ตัวเองมีไปบริการผู้อื่น เป็น service learning ก็จะเป็นการสร้างการเรียนรู้ขึ้นอีกระดับ มากกว่าการท่องจำ