ในห้องเรียนสมัยเด็กๆ เราถูกสอนให้รู้จักคำว่า ‘หน้าที่พลเมือง’ ผ่านตำราเรียนในหนังสือ เมื่อถึงปลายเทอมก็ต้องจำเนื้อหาเพื่อเข้าห้องสอบตอบคำถามตามที่ครูสอน หากแต่ในโลกแห่งความจริง ‘หน้าที่พลเมือง’ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติด้วยบททดสอบนอกห้องเรียน
ในยุคที่เสียงของประชาชนจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราจึงพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกูรูด้านการสร้างความพลเมือง เพื่อหาคำตอบว่า ความเป็นพลเมืองนั้นสำคัญอย่างไร และจำเป็นแค่ไหนที่เราจะช่วยกันสร้างสำนึกที่ว่านี้
The MATTER: อยากให้อาจารย์ช่วยนิยามคำว่า “สำนึกความเป็นพลเมือง” คืออะไร ทำไมต้องเป็น “Active citizen”
ผศ. อรรถพล: เป็นความรู้สึกที่ว่าเราเป็นเจ้าของสังคม และสังคมก็เป็นของเรา เพราะมันเป็นของเรา เราจึงต้องรู้สึกมีส่วนร่วม ต้องรับผิดชอบ เวลาเราพูดคำว่าความเป็นพลเมือง (Citizenship) มันอยู่บนฐานของคำ 2 คำ คือต้องมี ความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งเป็นพวกเดียวกัน (Sense of belonging) และต้องมีการถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของ (Ownership) เป็นสังคมของเรา ที่ๆเราจะอยู่ ที่ๆเราจะทำงาน และใช้เรี่ยวแรงของเราเพื่อให้สังคมมันดีขึ้น
ทุกคนมีแนวโน้มว่าจะมีความเป็นพลเมืองติดตัว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทุกคนอยากรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ของสังคมที่เราอยู่ แต่ถ้าในสังคมเรานั้นไม่มีการจัดการอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกัน ทำให้ฝ่ายหนึ่งกลายเป็นแค่คนที่อยู่ข้างล่าง ส่วนอีกฝ่ายเป็นคนที่อยู่ข้างบนตัดสินใจให้แทนทุกอย่าง ความเป็นพลเมืองที่จะตื่นตัว กระตือรือร้นในการทำหน้าที่ตัวเอง มันก็จะลดน้อยถอยลง กลายเป็นพลเมืองตั้งรับ (Passive citizen) เป็นคนใต้ปกครอง เป็นสังคมที่มีแต่การปกครองไม่มีการเมือง เพราะการปกครองคือการควบคุม แต่การเมืองคือมีการต่อรองระหว่างคนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ดังนั้นเวลาเราพูดว่า สำนึกพลเมือง มันต้องเริ่มจากเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของที่ๆเราอยู่ สังคมที่เราอยู่ เป็นเจ้าของร่วมกับผู้อื่น คือไม่ใช่เราคนเดียว ดังนั้นเวลาที่เราคิดเกี่ยวกับสังคม ก็อาจมีคนที่คิดต่างกับเราก็ได้ เราก็ต้องหาทางออกร่วมกัน
The MATTER: การเป็น Active citizen ต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตยไหม อย่างไร
ผศ. อรรถพล: ทุกประเทศ ทุกการปกครองอยากให้พลเมืองมีความกระตือรือร้น แต่การปกครองคนละระบอบเลยทำให้มี Active citizen คนละแบบ ถ้าเป็นการปกครองแบบอำนาจนิยมแบบเผด็จการ ก็จะมี Active citizen แบบที่กระตือรือร้นคือได้รับสั่งอะไรก็ทำตามหมด แต่ถ้า Active citizen ในแบบเซนส์ที่เราพูดทุกวันนี้มันมีนัยยะตรงๆกับสังคมประชาธิปไตย ก็คือมีเรื่องของ Civic engagement คือมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองสูง
งานของ Joe Westheimer นักวิชาการจากแคนาดา เขาตั้งคำถามว่าพลเมืองแบบไหนที่สังคมกำลังต้องการ โดยมี 3 โมเดลเพื่อการถกเถียง โมเดลที่ 1 คือ ‘พลเมืองที่มีความรับผิดชอบดี’ ถูกคาดหวังให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น มีกฎกติกาอะไรก็ทำตามนั้น ประครองชีวิตตัวเอง อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองและพร้อมแบ่งปันญาติพี่น้องได้ เช่น ถ้าเกิดน้ำท่วม คนพวกนี้จะบริจาคเงินก่อน ใครต้องการความช่วยเหลือก็จะรีบดูว่าตัวเองทำอะไรได้ นี่คือขั้นต่ำของความเป็นพลเมือง ถามว่าตอนนี้เราพูดถึง Active citizen แล้วเราพูดถึงใคร ถ้าเราพูดถึงแค่คนที่เคารพธงชาติเช้าเย็น แล้วก็จ่ายภาษี งั้นก็เป็นแค่ในแบบนี้เอง แต่ดูเหมือนตอนนี้สังคมไทยต้องการโมเดลที่ 2 คือ ‘พลเมืองที่มีส่วนร่วม’ ที่อาจจะใกล้เคียงกับนิยาม Active citizen ที่พูดถึงในตอนนี้ คือเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นจะมีส่วนร่วม เช่น ถ้าน้ำท่วมก็จะไปเป็นอาสาสมัคร คือพยายามเอาตัวเองไปมีส่วนร่วมกับกลุ่ม องค์กรและกลไกทางสังคมที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดการรับผิดชอบร่วมกันในสังคม แต่อาสาสมัครก็เป็นเพียงงานพาร์ทไทม์ ไม่มีใครเป็นอาสาสมัครได้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยพลังอาสาสมัครอย่างเดียวไม่ได้ มันเป็นแค่การรวมพลังกันในระยะเวลาสั้นๆ และเราก็ไปทำงานอาสาสมัครโดยแย่งหน้าที่รัฐไม่ได้อีกเราหันหลังให้กลไกรัฐไม่ได้ เพราะสังคมก็ต้องมีรัฐอยู่ดี โมเดลแบบที่ 2 จึงไม่เพียงพอ จึงเกิดโมเดลที่ 3 ที่ตั้งคำถามว่าหรือจริงๆเราต้องการ ‘พลเมืองที่มุ่งเน้นสังคมที่เป็นธรรม’ เป็นพลเมืองที่ตื่นตัว มีส่วนร่วมแล้ว ตั้งคำถามกับสังคมตัวเองด้วย เป็นพลเมืองที่เห็นภาพรวมทางสังคมแล้วพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กลไกเชิงโครงสร้างให้ได้ เช่นผลักดันให้เกิดกติการ่วมกัน, กลไกที่อาจจะทำโดยรัฐแอกทีฟมากขึ้น ให้รัฐเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้คนที่เคยเสียเปรียบได้เข้าถึงโอกาสหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ แต่โมเดลนี้มันเกิดขึ้นในระบอบอำนาจนิยมไม่ได้ เค้าต้องการแค่คนที่เชื่อฟังแบบที่ 1 เพราะรัฐไม่ต้องการคนตั้งคำถาม คนที่ไปแตะโครงสร้างอำนาจหรือเปลี่ยนแปลงกลไกภาครัฐ
ดังนั้นพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม ถ้าจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ในสังคมที่เชื่อในพลังของคนทุกคน มีศักดิ์ศรี มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐได้ จึงสำคัญมากเพราะ Justice citizen ก็ก่อให้เกิด Justice society คือถ้าคุณมีพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม สังคมแบบที่ไม่ทอดทิ้งกัน ที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้
คนเดินตามถนนทั่วไปก็คือประชาชน แต่คนที่ตระหนักรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ มีหน้าที่ มีบทบาทต้องกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมถึงจะตระหนักว่าตัวเองคือพลเมือง มีสำนึกพลเมือง รับผิดชอบในฐานะพลเมือง
The MATTER: อาจารย์มองว่าการเป็น Active citizen จำเป็นหรือสำคัญอย่างไรกับสังคมไทย
ผศ. อรรถพล: จำเป็นครับ ทุกๆสังคมต้องการ Active citizen เพราะทุกๆสังคมไม่ได้อยู่ด้วยการที่ต่างคนต่างอยู่ ทุกๆสังคมมีการอยู่ร่วมกัน มีเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งเราให้รัฐเป็นผู้จัดการ เราให้สิทธิกับรัฐในการเป็นผู้แทนบริหารประเทศผ่านอำนาจของประชาชน รัฐไม่ใช่แค่รัฐบาลแต่หมายถึงกลไกภาครัฐทั้งหมด ซึ่งต้องมีการถ่วงดุลกัน เพราะผู้แทนที่เข้าไปอยู่ในรัฐไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง หรือคนที่มาจากวิธีต่างๆเช่นรัฐประหาร ไม่ได้แปลว่าเป็นผู้แทนประชาชน 100% ทั้งหมด เพราะฉะนั้นประชาชนต้องไม่มองตัวเองว่าเป็นประชาชน ต้องมองตัวเองเป็นพลเมือง มันจึงมีความแตกต่างระหว่างประชาชนและพลเมือง คนเดินตามถนนทั่วไปก็คือประชาชน แต่คนที่ตระหนักรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ มีหน้าที่ มีบทบาทต้องกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมถึงจะตระหนักว่าตัวเองคือพลเมือง มีสำนึกพลเมือง รับผิดชอบในฐานะพลเมือง
เวลาพูดว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ รัฐจะมองว่าแค่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญให้มีหน้าที่แค่ไหน คุณก็ปฏิบัติตามนั้น แต่มันไม่ใช่ ถ้ามองจากคนที่ทำงานเรื่องการสร้างพลเมือง คำนี้มันเกิดจากสำนึกของเราว่าเราเป็นเจ้าของสังคม พลเมืองไม่ได้ทำแค่ตามกฎหมายที่รัฐบอก เพราะกฎหมายบางอย่างก็ไม่ชอบธรรมนโยบายหลายๆอย่างก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเกิดพลเมืองเอาแต่เป็นผู้เชื่อฟังตามรัฐหมด สุดท้ายก็ไม่เกิดพลังพลเมือง ก็เป็นแค่ประชาชนภายใต้การปกครอง สังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่ผูกขาดอำนาจ แล้วถ้าบอกว่าเป็นรัฐในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคือรัฐที่ต้องฟังเสียงประชาชน แต่รัฐกำลังดำเนินสู่ทิศทางที่มันกุมอำนาจมากยิ่งขึ้น ก็กำลังทำผิดเจตจำนงของการอยู่ร่วมกัน
ถ้าเกิดคุณไม่รับข้อมูลที่มากพอ ไม่รู้เท่าทันทางการเมือง ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยี่อของการผลิตซ้ำข่าวลวง ตื่นตัวไปก็เท่านั้น ตื่นตัวไปก็ยิ่งแย่
The MATTER: อยากให้อาจารย์วิเคราะห์/มองว่าคนไทยในปัจจุบันมีความเป็น Active citizen กันแล้วหรือยัง มากน้อยแค่ไหนอย่างหลายปีนี้ เรามีการชุมนุมกันหลายครั้ง ทั้งเรื่องการเมืองบ้าง ไม่ใช่การเมืองบ้าง การแสดงออกแบบนี้มันถือว่าสังคมเราเป็น Active citizen แล้วรึยัง
ผศ. อรรถพล: มันมีคำนึงที่ต้องมาด้วยกันนอกจาก Active citizen แล้ว ต้องมี Informix มีข้อมูลมากพอด้วย เพราะแค่ตื่นตัวทางการเมือง ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ท่องชื่อรัฐมนตรีได้ วิพากษ์วิจารณ์ข่าว มันมีมานานแล้ว ยิ่งมีโซเชี่ยลมีเดีย ยิ่งมีช่องทางในการแสดงจุดยืน มุมมองกันมากขึ้น แต่ต่ว่าการเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น มันไม่ใช่แค่พูดได้ว่าวันนี้มีข่าวอะไรบ้าง คำถามคือ คุณจะทำอะไร ?
Active citizen มันต้องมี Action บนฐานของความคิดที่รอบคอบ มีข้อมูลที่มากพอจากหลากหลายแง่มุม แล้วยิ่งอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ต้องไม่คิดแต่มุมของตัวเองอย่างเดียว ต้องคิดในแง่มุมอื่นของสังคมด้วย ต้องเคารพคนที่เห็นต่างด้วย เราจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 การเมืองมีความผันผวน คนตื่นตัวมากขึ้น เพราะมันมีแรงกดดันทางการเมืองที่ผลักให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และยิ่งกระแสการเมืองมีการแข่งขันสูง นักการเมืองพยายามตรงไปหาชาวบ้านระดับท้องถิ่นโดยไม่ผ่านกลไกรัฐ ชาวบ้านยิ่งรู้ว่าเขามีสิทธิในการต่อรองและเลือกนักการเมือง เค้ายิ่งรู้สึกว่าเค้าต้องออกมาเคลื่อนไหว ยิ่งเกิดการผลักให้คนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองมาเจอกัน แต่คนที่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ได้แปลว่าเป็นพลเมืองที่ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง จึงต้องมี Active and Inform citizen คือต้องสร้างฐานการศึกษาให้คนเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นและได้รับข้อมูลมากพอในการตัดสินใจ เพื่อทำให้เขาคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกก่อนสนับสนุนแนวคิดนโยบายต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด เพราะตลอด 10 ปีนี้เราอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จึงเป็นธรรมชาติที่คนต้องตื่นตัวและพยายามจะสมาทานตัวเองในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน มีทั้งคนแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย คนที่อยู่ตรงกลาง พร้อมจะถกเถียง ดีเบตกันตลอด
แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่ยากมาก คือสังคมข่าวสารมันเร็วและหลากหลายมาก มันหมดยุค One to all ที่รอสำนักข่าวในประเทศประกาศ มันกลายเป็น All to All ทุกคนลุกขึ้นมาเขียนข่าวเองได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสังคมที่เรียกร้องวิจารณญาณและความเข้าใจทางการเมืองสูงมาก ไม่ใช่แค่รู้เท่าทันสังคม (Civic literacy) แต่รู้เท่าทันการเมือง (Political literacy) เช่นต้องรู้เรื่องการตรากฎหมาย ต้องรู้ว่าช่องทางไหนบ้างที่จะใช้อำนาจได้บ้าง และนอกจากนี้คือต้องรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศดิจิทัล (Digital literacy) เพราะสื่อแต่ละสื่อมีเจตจำนงทางการเมืองไม่เหมือนกัน ธรรมชาติของสื่อไม่เหมือนกัน ตัวข้อความที่มากับสื่อ ข้อมูลคืออะไรก็เราต้องรู้ ต้องมีความรู้เท่าทันข้อมูลด้วย (information literacy) ไม่งั้นก็จะเกิดปรากฎการณ์เหมือนเนติวิทย์ พอมีข่าวออกมาว่าเนติวิทย์ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภา ก็เริ่มมีอคติทางการเมืองเลย มีการเต้าข่าวขึ้นมาว่าเนติวิทย์จะเข้ามายกเลิกการหมอบกราบ มีการตัดต่อภาพ ใช้ลูกเล่นทางดิจิทัลในการเล่นงาน และอาศัยช่องทางสื่อที่ไปเร็วมากเช่น เฟสบุ๊ก ยิ่งเทคโนโลยีเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดคุณไม่รับข้อมูลที่มากพอ ไม่รู้เท่าทันทางการเมือง ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยี่อของการผลิตซ้ำข่าวลวง ตื่นตัวไปก็เท่านั้น ตื่นตัวไปก็ยิ่งแย่ ดังนั้น Active citizen ต้องควบคู่ไปกับการเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันทางการเมือง
อย่างครูพึ่งไปอบรมที่ออสเตรเลียมา เค้าก็มีพรรคการเมืองหลายพรรค พรรคชาตินิยมสุดโต่ง พรรคเสรีนิยม พรรคที่ทำเรื่องความเท่าเทียมทางสังคม คนก็ต้องรู้ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคมันมีจุดยืนในการมองนโยบายไม่เหมือนกัน และไม่ใช่คุณเลือกแค่คนที่คุณชอบ แต่ต้องเลือกคนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่จะเข้าไปผลักดันนโยบายให้พาสังคมเป็นแบบนั้นได้ หรือบางคนก็จะมองว่ามี 2 พรรคใหญ่แล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคเล็กบ้าง จะได้มีเสียงจากคนกลุ่มต่างๆเข้าไป อาจจะมีคนที่ทำการเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมในสังคมเข้าไปเพื่อส่งเสียงให้คนกลุ่มนี้ได้ แสดงว่าคำว่าพลเมืองมันไม่ใช่แค่ไปเลือกตั้งแล้วจบนะ ต้องติดตามว่านักการเมืองจะเข้าไปทำอะไร ก่อนครูจะกลับมาเค้าพึ่งมีดีเบตใหญ่เรื่องรัฐบาลจะปรับลดงบประมาณการศึกษา เพราะตอนนี้เป็นสังคมคนแก่แบกภาระการศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ไหว คนดีเบตกันหนักมากว่าถ้าคุณปล่อยให้คนหนุ่มสาวเป็นหนี้กันตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ คุณจะได้คนหนุ่มสาวที่มีความมั่นคงทางการเงินได้อย่างไร ภาษีก็จะน้อยลง สังคมเค้าดีเบตกันเรื่องพวกนี้แล้ว แล้วกลายเป็นวงดีเบตอยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ทุกที่ กลายเป็นวาระทางสังคมที่คนพูดเยอะมาก เพราะมันจะกระทบกับเค้าในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แสดงว่าเราต้องไม่ใช่แค่ฟังข่าว แล้วรู้ว่านักการเมืองคนนี้ไปมีอะไรกะอีหนูคนไหน หรือว่าคนนี้ มาอีกแล้วออกมาใช้วาทศิลป์ในการโจมตีกัน อันนี้มันข่าวแบบเรื่องชาวบ้าน แต่มันต้องถกในเชิงคอนเซปทางการเมืองได้
The MATTER: ในประเทศที่เราเห็นว่าพลเมืองเขาแอกทีฟ มากๆ เขามีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมอย่างไร หรือรัฐมีส่วนช่วยในการส่งเสริมอย่างไร มีประเทศไหนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่อง Active citizen บ้าง เราเรียนรู้อะไรได้จากเขา
ผศ. อรรถพล: คือถ้าเราเชื่อว่า Active citizen เป็นพลเมืองที่ลุกขึ้นมาหาข้อมูล หาข้อเท็จจริง จากหลายหลายแง่มุมแสดงว่าการเข้าถึงสื่อต้องหลากหลายได้ มีระดับชั้นการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลได้ สังคมโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีค่านิยมบางอย่างร่วมกันที่เชื่อว่าคนเรามีโอกาสและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน มีวัฒนธรรมพลเมืองประชาธิปไตยอยู่ด้วย อันนี้ก็ยากเป็นโจทย์ที่ยากของสังคมที่ไม่ได้มี Mind set แบบนี้ เช่นสังคมที่มีชนชั้นหลายๆชนชั้น ทุกสังคมเจอเรื่องนี้หมด ยากมาก ยากน้อยแตกต่างกันไป สังคมไทยก็เจอปัญหานี้ เพราะเรามีโครงสร้างอำนาจที่มันลดหลั่นกันมา ตอนที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันเปลี่ยนตัวระบอบ เปลี่ยนแบบแผนเชิงอำนาจ ซึ่งคนมันต้องถูกเกลาใหม่ แต่เรามีค่านิยมบางอย่างที่มันถูกตีความผิดๆ เช่นเรื่อง อาวุโส ระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติที่มันฝังอยู่ในวัฒนธรรมคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมันเป็นสังคมแบบพึ่งพากัน แล้ววันนึงคุณเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย แต่ค่านิยมเปลี่ยนตามระบอบไม่ทัน
อย่างออสเตรเลียไม่ได้บอกว่าเค้าเวิร์กหมดในเรื่องประชาธิปไตย เค้าแอคทีฟมาก แต่เค้าก็ยังมีปัญหาเดิม เช่นเรื่อง Racist ก็ยังมีและมีมากขึ้นด้วย เดิม Racist ต่อคนเอเชีย ตอนนี้ก็เป็นต่อผู้ลี้ภัยที่มาจากโลกมุสลิม พอรัฐมีการตัดลดงบประมาณช่วยเหลือคนจน มีคนตกงานมากขึ้น คนขาวที่ตกงานก็ไม่พอใจ เค้ารู้สึกว่าเค้าเป็น White-Australian ทำไมกลายเป็นคนตกงาน ทำไมรัฐไม่ช่วยเหลือเขา ทำไมรัฐต้องไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย มันก็เป็นดีเบตใหญ่ ทุกสังคมยังมีปัญหาอยู่ใต้พรมหมด ไม่มีสังคมไหนเป็นประชาธิปไตยแล้วเป็นยูโทเปีย ทุกสังคมมีโอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำหมดอยู่ที่ว่าสังคมไหนจะรับมือกับความเพลี่ยงพล้ำได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างหลายๆประเทศที่เค้ามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่มันเจ็บปวดมากๆ เช่นสวีเดน เยอรมัน ยุโรปเหนือ หรือญี่ปุ่น พวกนี้ผ่านความยากจนมาแล้วทั้งนั้น บางประเทศกว่าจะฟื้นมาจากสงคราม สังคมเค้าผ่านเรื่องราวร้ายๆกันมา มันทำให้คนต้องจับมือกันไว้ ต้องเคารพกันและกัน มีค่านิยมร่วมกันในสังคมว่าเราจะไม่ใช้ความรุนแรงโต้ตอบความรุนแรงเวลาเจอสถานการณ์ปัญหา ค่านิยมพลเมืองที่มันปลูกฝังมาผ่านการกล่อมเกลาทั้งผ่านการศึกษาก็ดี หรือบรรยากาศทางสังคมก็ดี นี่ก็ทำให้เห็นความสำเร็จของเขาแต่มันไม่ใช่ DNA ติดตัวมา ไม่ได้แปลว่าคนไทยเป็นไม่ได้ แต่มันต้องเปลี่ยนชุดความคิดเป็นอีกชุดหนึ่งเลย ต้องรอเวลาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ทุกวันนี้คนไทยก็เปลี่ยนไปเยอะแต่อาจจะไม่ทันใจ เพราะอย่างใน 80 กว่า เรายังไม่เคยอยู่ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆเลย มันมีความเหลื่อมๆกันตลอดเวลา เหมือนจะมีเสรีภาพแต่ก็ไม่มีเสรีภาพ เหมือนจะมีโอกาสได้ส่งเสียง แต่ก็มีทั้งการส่งเสียงที่ได้รับการขานรับและไม่ได้รับการขานรับ 10 กว่าปีพึ่งมีกฎหมายที่ถูกร่างและเคลื่อนไหวโดยประชาชนออกมาสำเร็จฉบับเดียว ที่เหลือยังถูกทำผ่านนักการเมืองอยู่ แต่ก็ ดีกว่าสมัยก่อนเยอะที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย ถึงตอนนี้สังคมไทยก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ท้องถิ่นเค้าเข้มแข็งขึ้นมามีการกระจายอำนาจ โรงเรียนที่สมัยก่อนถูกผูกขาดอำนาจโดยรัฐหมด ก็เริ่มมีการกระจายการตัดสินใจมากขึ้น แม้จะยังไม่มากพอแต่ก็มีบทบาทมากขึ้น และมันก็ต้องการเวลาในการเปลี่ยนผ่านต่อไป
The MATTER: บริบททางการเมือง และสังคมในปัจจุบัน สอดคล้องและส่งเสริมการเป็น Active citizen ในสังคมไทยไหม
ผศ. อรรถพล: ถ้าพูดถึงวันนี้ก็จะบอกว่าลำบาก เพราะในวันนี้เราไม่ได้อยู่ในภาวะที่รัฐที่เป็นคนปกครองเราเป็นตัวแทนของพวกเราอย่างแท้จริง เราอยู่ในภาวะพิเศษที่ไม่ได้อยู่ในการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่อยู่ในรัฐบาลที่มีท่าทีอำนาจนิยมสูงและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับแบบฉันทมติด้วย เมื่อเป็นแบบนี้ สังคมก็จะเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัว การจับผิดและการที่พยายามควบคุม ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ความเป็น Active citizen ก็จะทำงานลำบาก แต่ตลอด 3 ปีนี้ พลเมืองเป็นอันมากก็ยังไม่หยุดส่งเสียง ยังพยายาม Active ให้รัฐบาลเห็นอยู่ ซึ่งก็มีบทบาทที่มีนัยยะสำคัญ เช่นพอออกมาส่งเสียงรัฐบาลก็ยอมถอย แต่ถ้าเราอยู่ในรัฐประชาธิปไตย นักการเมืองจะแคร์เรื่องฐานเสียง แต่พอรัฐบาลมาจากอำนาจนิยมแบบนี้ เค้าอาจจะไม่แคร์เรื่องนี้เลย ถ้าเราปล่อยให้เค้าทำอะไรโดยพลการ ไม่ทักท้วงไม่ยับยั้ง รัฐบาลจะยิ่งเดินหน้าต่อไป แม้เราจะอยู่ในภาวะพิเศษก็จริง แต่บทบาทในฐานะพลเมืองเรายัง active อยู่ ถ้าเรายังเคลื่อนไหว ยังส่งเสียง มันก็จะเกิดแรงเสียดทานส่งกลับมาให้รัฐรับรู้ เรายังเหลือพลังพลเมืองที่จะต่อสู้กับนโยบาย กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ถึงแม้จะยากในภาวะที่ประชาธิปไตยไม่ทำงาน กฎหมายพิเศษออกมาทำอะไรก็ได้ คนถูกจับตา ถูกอุ้มหายได้ ในภาวะที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแบบนี้มันยิ่งเรียกร้องให้พลเมืองไม่ปล่อยมือ
ถ้ามองไปไกลกว่า ณ วันนี้ สังคมไทยก็มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ทั้งคนรุ่นใหม่หรือคนระดับชาวบ้านเองก็ตื่นตัวสูงทางการเมืองขึ้น เพราะมันกระทบตัวเค้าเองมากขึ้น อีกทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียก็หลากหลายมากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นว่าเรารับข้อมูลด้านเดียวไม่ได้ และอยู่แต่กับคนที่มีความคิดเหมือนกันไม่ได้ เพราะในสังคมประชาธิปไตยหัวใจสำคัญของมันคืออยู่ร่วมกันในความเห็นต่าง มันเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะคิดเหมือนกัน แต่ในความคิดที่ไม่เหมือนกันแต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร นี่คือโจทย์ของสังคมไทย ใน 10 กว่าปีมานี้ ที่ความขัดแย้งสูงมากๆ มันเป็นบทพิสูจน์ว่าเรายังก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง มีเรื่องอะไรเราก็โยงไปการเมืองหมด และก็ไม่ได้เชื่อเรื่องของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง มันไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปไตยแต่มันเป็นเรื่องของทักษะการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมการเมือง เช่นการรับฟังกัน การสื่อสารกันอย่างเป็นมิตร
ในทางกลับกันตอนนี้ประชาธิปไตยอย่างมีตัวแทนไม่เวิร์ก ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เราก็เห็นช่องทางใหม่ๆในการต่อสู้มากขึ้น ประชาธิปไตยทางตรงมันเข้มแข็งมากขึ้น คือคนเข้าถึงปะทะกับอำนาจทางตรงเลย อย่างเช่นจัดเวทีเสวนา ยื่นจดหมายประท้วง หรือบางคน Action ลงมือทำเลย นี่ก็เป็นโหมดของประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ที่เรา ไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ระหว่างนี้เราก็ต้องส่งเสียงของเราเอง กลายเป็นเครือข่ายของคนกลุ่มต่างๆเคลื่อนไหวกันอยู่เช่น เช่นตอนนี้มีโครงการเครือข่ายคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีวิศวะกร คนกลุ่มต่างๆที่จะมาต่อกรทางการเมือง ซึ่งรัฐต้องให้มีพื้นที่ที่คนเหล่านี้ส่งเสียงได้ แต่รัฐที่เป็นที่ไม่ใช่รัฐแบบประชาธิปไตยก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้พื้นที่คนเหล่านี้มีที่ยืนได้ ซึ่งจริงๆมันคือการลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงด้วยซ้ำ เพราะมีพื้นที่ที่ได้คุยกัน ได้รับฟัง รัฐเองก็ได้ข้อมูลสองทางด้วย ก็ทำนโยบายบางอย่างให้ตอบโจทย์ได้ ถ้ารัฐบาลเค้าอยู่ด้วยการใช้อำนาจเด็ดขาดไปนานๆ ความสุ่มเสี่ยงก็จะเป็นของเขาเสียเอง เพราะประชากรก็จะทนไม่ไหวที่ไม่มีช่องทางในการต่อรอง
The MATTER: สื่อสังคม (social media) มีส่วนช่วยให้คนเป็น active citizen มากขึ้น (ใช่ไหม) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ยินว่ามันก็อาจไปเน้นให้เรา ‘active’ ในเรื่องที่อาจไม่เป็นประโยชน์ หรือกระทั่งเป็นโทษมากขึ้น อาจารย์คิดว่าจุดสมดุล หรือสิ่งที่ควรเป็นเป็นอย่างไร
ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล: มันคงบอกไม่ได้ว่าสมดุลคืออะไร แต่คำถามคือคุณใช้มันอย่างเข้าใจมากแค่ไหน เพื่อเป้าหมายอะไร ซึ่งสิ่งที่ต้องมีในการใช้สื่อสังคมคือทักษะการวิพากษ์ (Critical mind) และการรู้เท่าทัน (Literacy) เมื่อเวลาเห็นข่าวอะไรควรตั้งคำถามก่อน ว่าข่าวจริงหรือข่าวลวง มีวิจารณญาณในการแยกแยะข่าวอยู่ เพราะสุดท้ายเรื่องเดียวกันมันไปแตะทุกหมวดในชีวิต อย่างที่เราเห็นอย่างเรื่องทัวร์ซินแสโชกุน 9,000 กว่าบาท คนไม่คิดไม่สงสัย ไม่รู้วิธีการตรวจสอบบริษัท ไม่มี Sense ในการตั้งคำถาม หรือการปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยซ้ำ อันนี้เป็นเรื่องที่ลำบากมากๆ คนแต่ละคนถูกเตรียมสมรรถนะในการอยู่ในโลกออนไลน์ที่ไม่เหมือนกัน พอดีแค่ไหนก็พูดยาก ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเด็กใช้เยอะแล้วไม่มีคุณภาพ แต่เด็กมองว่าเขาใช้อย่างมีคุณภาพ หรือผู้ใหญ่เองอาจจะใช้น้อยแต่ไม่มีคุณภาพเท่าเด็กก็ได้ เช่นความไวต่อการรับรู้ หรือสงสัยต่อข่าวสาร ผู้ใหญ่ก็จะไม่มี เพราะเค้าโตมาในยุคที่อะไรก็ตามที่มันประกาศออกมามันเป็นเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง แต่เด็กรุ่นใหม่มันโตมากับข่าวสารออนไลน์ เคยแชร์ข่าวผิด เคยเงิบมาก่อน เด็กก็เรียนรู้ได้
ห้องเรียนประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แต่ในวิชาหน้าที่พลเมือง แต่ห้องเรียนในทุกวิชาควรจะเป็นประชาธิปไตย แปลงคำว่าประชาธิปไตยให้ฟังง่าย คือห้องเรียนที่รับฟังกัน เคารพในสิทธิในเสียงของกันและกัน เคารพในคนคิดต่าง และอยู่ด้วยกันได้
The MATTER: ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันส่งผลต่อการเป็น Active citizen ของเด็กไทยหรือไม่อย่างไร แล้ว ระบบการศึกษาควรมีส่วนส่งเสริม หรือปลูกฝังการเป็น Active citizen ในรูปแบบไหน
ผศ. อรรถพล: เวลาพูดถึงระบบการศึกษาต้องมองสองอันคือมองระบบที่เป็นกลไกเชิงอำนาจ กับคนในระบบ ถ้าพูดถึงระบบการศึกษาอย่างในไทยตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเป็นระบบที่รวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางเยอะ ทำให้ไม่มีอิสระในการจัดการอย่างแท้จริงกับการศึกษา แม้ว่าจะมีความพยายามกระจายอำนาจจากส่วนกลาง แต่การกระจายอำนาจก็กระจายเป็นลักษณะมอบหมายภาระหน้าที่ในการทำงานมากกว่าการตัดสินใจ ต้องทำทุกอย่างตามที่ส่วนกลางสั่ง เพราะมันคือคำสั่ง กลไกเชิงระบบจึงมีปัญหา เพราะระดับเขต ระดับโรงเรียนยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างที่สองคือตัวซอฟแวร์ คือคนในระบบก็มีหน้าที่เป็นราชการ มีโหมดที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแม้ว่าบางทีจะขัดแย้งกันเองก็ตาม แต่ไม่ทำไม่ได้ มันเลยเกิดสถานภาพที่ขัดแย้งกันเองอยู่ แล้วก็คนในระบบเอง ในหลายปีนี้ก็มีการเปลี่ยนผ่าน ครูอาวุโสก็เริ่มทำการเกษียณ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในระบบมากขึ้น แต่ปัญหาคือเข้ามาในโครงสร้างอำนาจเหมือนเดิม มีการสั่งงานแบบเดิมอยู่ ครูรุ่นใหม่คิดว่าตัวเองจะมีอิสระเต็มที่แต่จริงๆคือไม่มี เพราะถูกสั่งจากเขตพื้นที่ จากส่วนกลาง ต้องรับโครงการนั้นนี้มา ปฏิเสธงานจากเขตไม่ได้
มันก็จะมีโครงสร้างแบบนี้ที่มันซ้อนอยู่ในโหมดของซอฟแวร์คน คือครู ครูรุ่นก่อนนี้ก็โตมากับสังคมอีกแบบหนึ่ง โตมากับการถูกสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลาเป็นครู เค้าก็จะมีท่าทีใช้วิธีการแบบที่เค้าถูกสอนมาในการสอนเด็ก แต่ค่านิยมแบบนี้ก็เริ่มบางลงเพราะคนรุ่นเก่าก็ทยอยเกษียณ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือภายใต้อำนาจของโรงเรียนที่ยังเป็นแบบนี้ ก็มีการส่งต่อค่านิยมแบบนี้อยู่ ครูรุ่นใหม่ส่วนมากที่เข้าไปอยู่ในระบบ ถ้าไม่แข็งแรงพอก็จะถูกกลืนไปสู่ค่านิยมอำนาจในโรงเรียน ถ้าคนรุ่นใหม่ไปสมาทานกับวิถีแบบเดิมโครงสร้างอำนาจแบบเดิม ไม่ตั้งคำถาม ไม่ปกป้องสิทธิให้ลูกศิษย์ตนเอง สิ่งที่ตามมาก็กระทบต่อตัวเด็ก แล้วถ้าเกิดว่าโครงสร้างแบบอำนาจนิยมมันยังฝังอยู่ มันก็กดทับเด็กในโรงเรียนไม่ให้มีสิทธิในการส่งเสียง นึกถึงตอนเราเป็นเด็ก คุณครูจำนวนมากลืมว่าตัวเองเคยเป็นเด็ก คนมาเป็นครูลืมว่าตัวเองเคยเป็นเด็ก เด็กเค้าไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่เคยเป็นเด็ก เลยไม่คิดถึงว่าเด็กก็อยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กลายเป็นแนวคิด โครงสร้างอำนาจนิยม ไปทำให้บทบาทของเด็กถูกกดลงไปข้างล่าง ไม่ได้มีบทบาทจริงๆในโรงเรียน เด็กไม่เคยรู้สึกว่าเป็นเจ้าของโรงเรียน
โรงเรียนที่สอนประชาธิปไตย แต่อำนาจมาจากบนสู่ล่างอย่างเดียวก็ค่อนข้างเยอะ ครูไม่เชื่อเรื่องการสอนเกี่ยวกับประชาธิปไตย ( Teaching about democracy) เพราะเราเรียนกันมาหลาย 10 ปีแล้ว ท่องจำด้วยว่ามันคืออะไร แต่ครูเชื่อเรื่องการสอนผ่านประชาธิปไตย (Teaching through democracy) วัฒนธรรมและการอยู่ด้วยความสัมพันธ์ เคารพกัน ห้องเรียนประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แต่ในวิชาหน้าที่พลเมือง แต่ห้องเรียนในทุกวิชาควรจะเป็นประชาธิปไตย แปลงคำว่าประชาธิปไตยให้ฟังง่าย คือห้องเรียนที่รับฟังกัน เคารพในสิทธิในเสียงของกันและกัน เคารพในคนคิดต่าง และอยู่ด้วยกันได้
The MATTER: อาจารย์คิดอย่างไรกับการที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ยุบวิชาสังคม ซึ่งรวมถึงวิชาหน้าที่พลเมืองในการสอบ O-NET
ผศ. อรรถพล: ก่อนหน้านี้สังคมศึกษามันก็ถูกรวมอยู่ในการสอบวัดระดับของชาติ คือ O-net ซึ่งจริงๆแล้ว O-net มันถูกสร้างเพื่อวัดให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง แต่พอมีการสอบแล้วจะทำอย่างไรให้เด็กตื่นตัวในการสอบเลยเอาไปผูกกับการประเมินหลายๆเรื่อง มีไปถึงประเมินโรงเรียนหรือผ.อ. และก็ไปผูกโยงให้เด็กยื่นคะแนนเอ็นทรานซ์ด้วย ซึ่งการนำไปใช้ประเมินว่าโรงเรียนดีหรือไม่ดีมันผิดเจตนารมณ์ เป็นการวัดตอนปลายทางซึ่งแก้อะไรไม่ได้แล้ว เด็กเรียนจบม.6 แล้ว ไม่ได้เกิดการวางแผนเพื่อพัฒนา ไทยเอาระบบเรื่อง National test มาจากหลายประเทศ แต่อย่างออสเตรเลียเค้าใช้วิธีการสอบตอนเปิดเทอม พอคะแนนออกมาก็ดูเกณฑ์ว่าเด็กอยู่ตรงไหน แล้วอีก 2 ปี โรงเรียนจะทำอย่างไรในการพัฒนาเด็ก พอผ่านไป 2 ปี ก็จัดสอบเพื่อดูพัฒนาการ และก็ไม่ใช้การเทียบทุกโรงเรียนในเกณฑ์เดียวกัน แต่ดูที่พื้นหลังของโรงเรียน โรงเรียนไหนในระดับเศรษฐกิจไหน เปรียบกับโรงเรียนในเกณฑ์เดียวกัน เพราะไม่สามารถเอาโรงเรียนจากคนละเบื้องหลังมาเปรียบกันได้ เพราะไม่มีวันเท่ากัน แต่ของไทยเอาระบบนี้มาใช้ผิดจุดประสงค์ เราเลยไม่เคยใช้ O-net เพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง อย่าง ม.6 ในรุ่นนี้คะแนนสูง อีกรุ่นคะแนนต่ำ มันวัดกันไม่ได้เพราะคนสอบคนละคนกัน
อีกอย่างขอบเขตการออกข้อสอบแต่ละวิชาไม่เหมือนกัน คำตอบของสังคมศาสตร์หลายๆข้อมันไม่ได้ตายตัว ไม่ได้มีคำตอบเดียวและอยู่ที่มุมมองในการมองเช่นมิติทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นข้อสอบหลายๆวิชา เช่นศิลปะ การงาน พละศึกษา วิชาพวกนี้ยิ่งออกยากเพราะเป็นวิชาทักษะ ไม่ควรจะเอามาออกสอบ O-net ด้วยซ้ำ แต่ที่เอามาออกข้อสอบเพราะถ้าไม่มี เด็กๆในโรงเรียนก็เลยไม่สนใจเรียนวิชาเหล่านี้ แต่ข้อสอบเหล่านี้มันไม่มีเนื้อหาชัดเจนในการออกข้อสอบ เราเลยเจอเนื้อหาแปลกๆในข้อสอบในปีที่ผ่านๆมา หรือไม่ก็ออกเน้นการท่องจำไปเลย วิชาสังคมเลยตกเป็นเป้า เพราะหลายเรื่องไม่ได้มีคำตอบเดียวก็ออกข้อสอบไม่ได้ ออกมาก็เกิดการถกเถียงกัน ก็กลายเป็นต้องออกให้เด็กท่องจำ เลยมีแนวความคิดว่าเอาออกจากการสอบ O-net เพื่อให้มันกลายเป็นวิชาสังคมจริงๆที่สัดคุณลักษณะจากห้องเรียน ซึ่งก็เพียงพอในการวัดระดับชาติ แต่ถ้าเอาวิชาสังคมออกแล้ว ก็ต้องมีแผนสำรองว่าจะวัดผลสังคมศึกษาในโรงเรียนอย่างไร เพราะข้อสอบในโรงเรียนเองก็มีปัญหา ต้องเตรียมการต่อไปว่าจะเตรียมครูอย่างไรที่จะประเมินเด็กจากการเขียน การตอบ การมีส่วนร่วมอื่นๆ ในห้องเรียน เพราะหัวใจสำคัญของวิชาสังคมศึกษาไม่ใช่การท่องจำ แต่คือวิชาสร้างคุณลักษณะคนให้เป็นสมาชิกของสังคมพลเมือง ซึ่งการวัดพลเมืองไม่ได้วัดโดยข้อสอบอยู่แล้ว เท่าที่รู้ตอนนี้เค้ากำลังพยายามรวบรวมทำคลังข้อสอบของกลาง ให้มีข้อสอบที่มีสมรรถนะที่โรงเรียนสามารถเลือกไปใช้ได้ แต่ก็ต้องตามดูต่อไป
เราถูกทำให้เชื่อว่าเวลาผู้ใหญ่พูดเราเถียงไม่ได้ มันจะเปลี่ยนได้ยังไงก็คงต้องเปลี่ยนที่โรงเรียน ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมก็ต้องเปลี่ยนที่การศึกษา เพราะการศึกษามันคือเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม
The MATTER: นอกจากปัจจัยทางการเมือง สังคม และการศึกษาแล้ว ปัจจัยอื่นๆในสังคมไทยอย่างบริบทวัฒนธรรมในไทย ที่ผู้ใหญ่มักพูดว่า “เชื่อผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เป็นเด็กต้อง “อ่อนน้อมถ่อมตน” มันขัดขวาง active citizen ไหม
ผศ. อรรถพล: ก็จริงสังคมเราก็มีปัญหาเรื่องนี้จริงๆ บอกว่าเป็นปัญหามั้ยเรามองว่าเป็นความท้าทายแล้วกัน ที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราเท่ากัน ผู้ใหญ่กับเด็กเท่ากัน ถ้าจะแก้ Mind set เรื่องนี้ก็ยากมาก จริงๆแล้วเด็กเค้าพร้อมจะหันเข้าหาผู้ใหญ่หมด ลองไปดูเด็ก ป.1 เวลาเข้าโรงเรียน เด็กจะมาพร้อมคำถาม ซนตลอดเวลา แต่อยู่โรงเรียน 2 ปีเอง กลายเป็นเด็กเรียบร้อยไปแล้ว เพราะโรงเรียนทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ตัวน้อย ที่ต้องเคารพกติกาโรงเรียนและฟังเวลาที่ครูสอน ความอยากรู้ แสดงความคิดเห็น อยากถก ก็กลดลงเรื่อยๆ เพราะโรงเรียนคือภาพสะท้อนสังคม สังคมเป็นอย่างไรโรงเรียนก็เป็นอย่างนั้น มันถูกย่อส่วนมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เรื่องวัยและความอาวุโส ทำให้เราไม่ค่อยเชื่อว่า ทุกคนมีความสามารถ มีความคิดเป็นของตัวเอง มีศักดิ์ศรีที่ไม่แตกต่างกัน ทำไมเวลาผู้ใหญ่พูดทุกคนต้องเงียบหมด เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าเวลาผู้ใหญ่พูดเราเถียงไม่ได้ มันจะเปลี่ยนได้ยังไงก็คงต้องเปลี่ยนที่โรงเรียน ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมก็ต้องเปลี่ยนที่การศึกษา เพราะการศึกษามันคือเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่รัฐบาลทุกรัฐบาลพยายามมาคุมการศึกษา เพราะเค้าต้องการให้การศึกษาผลิตพลเมืองมาในแบบที่เค้าต้องการ รัฐมีท่าทีพยายามคุมโรงเรียนสูงมาก คุมความคิดคนในโรงเรียน ด้วยการสั่งการ ถ้าเกิดเราจะปล่อยให้กลไกมันเป็นแบบนี้อยู่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็จะเป็นไปได้ช้า ถ้าเกิดในห้องเรียนถูกสอนให้ไม่ให้เถียงหรือตั้งคำถาม สภานักเรียนเป็นแค่ไม้ประดับในโรงเรียน วันหนึ่งถ้าโตไปก็จะกลายเป็นแค่ไม้ประดับในสังคม เมื่อออกไปในสังคมเค้าก็จะผลิตซ้ำสิ่งที่สังคมเป็น
เป็นเรื่องยากเพราะตราบใดที่การรวมอำนาจยังมาจากรัฐอยู่ ครูยังเป็นราชการที่ได้รับการสั่งการ การเปลี่ยนผ่านอำนาจก็จะเป็นไปได้ช้า กว่าจะมาถึงระดับมหาวิทยาลัยก็ช้าแล้ว ในโรงเรียนควรจะเตรียมพลเมืองให้มีความใฝ่รู้ ตั้งคำถามเวลาเจอข้อมูลข่าวสาร ถ้าครูในโรงเรียนสอนทักษะแบบนี้ให้แก่เค้า เวลาเค้าเข้าไปในสังคมก็จะมีเรื่องพวกนี้ติดตัว โรงเรียนจะมาหวังเรื่องนี้ให้มหาลัยสอนมันสายไปแล้ว
อย่าพึ่งท้อ อย่าพึ่งหมดหวัง เพราะทุกสังคมหัวใจตอนนี้อยู่ที่พลังหนุ่มสาว
The MATTER: อยากฝากอะไรเพื่อให้คนรุ่นใหม่ รู้จักการมีสำนึกความเป็นพลเมืองมากขึ้นไหม
ผศ. อรรถพล: ครูไม่อยากฝาก แต่อยากชวนให้คนรุ่นใหม่มองสังคมด้วยการใช้ความเข้าใจมากๆ ความเป็นคนรุ่นใหม่มีข้อดีคือ มีความพร้อมจะขบถ พร้อมในการตั้งคำถาม อยากรู้อยากเห็น และพยายามจะส่งเสียง ถ้าเกิดตอนเป็นหนุ่มสาวไม่มีเรื่องแบบนี้ติดตัวแล้วก็เป็นเรื่องง่ายมากที่จะถูกรัฐจะควบคุม
ถ้าตอนเป็นหนุ่มสาวยังไม่เชื่อเรื่องอุดมการณ์ ไม่มีวัยไหนแล้วที่จะคุยเรื่องอุดมการณ์ได้ ดังนั้นอุดมการณ์ไม่ใช่เรื่องโลกสวย การที่ตัวเองมีความเชื่อในจุดยืนทางการเมืองไม่ว่าตนเองจะมีสมาทานใดก็แล้วแต่ เป็นเรื่องที่ถูกต้องว่าคุณกำลังมองเรื่องเหล่านั้นด้วยแว่นตาอะไรแต่ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตาเดียวตลอดชีวิต วันหนึ่งเราเจอสังคมอีกแบบหนึ่ง ก็อาจะเจอแว่นตาแบบอื่นก็ทำให้เราค้นพบโลกที่มันกว้างขึ้น
คนรุ่นใหม่จำนวนมากโตมาในช่วงที่ไทยมีล้าทางการเมือง มีความขัดแย้งกันสูง เราโตมากับกระประท้วงในถนน การโจมตีกันทางการเมืองให้เราเห็น บางคนที่โตมาแบบนี้ก็จะเมินเรื่องการเมืองไปเลย แต่คุณหนีการเมืองไม่พ้น เพราะสุดท้ายแล้วเงินของทั้งประเทศมันคือภาษี ที่ถูกบริหารด้วยการเมือง แล้วถ้าเราปล่อยให้เงินถูกบริหารโดยที่เสียงของเราไม่มีความหมายเลย เราก็ต้องยอมรับผลของการที่เราเมินเฉยทางการเมือง มันคือค่าเสียโอกาสที่เราต้องจ่ายให้ถ้าไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นคนรุ่นใหม่ถ้าไม่ตระหนักถึงความเป็นไปรอบตัวเลยคุณก็ต้องอยู่กับผลแบบนั้นตอนคุณแก่
ครูว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการจะรู้จักโลกคือการเป็นหนุ่มสาว ยิ่งช่องทางการรู้จักโลกในทุกวันนี้กับ 20 ปีก่อนมันต่างกันเยอะ โอกาสที่เราจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเยอะมาก สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ มีประสบการณ์ต่างแดน แล้วถ้าเราไม่ได้ใช้มันให้เกิดประโยชน์ในฐานะพลเมือง เป็นแค่ผู้บริโภคสื่อ ผู้บริโภคข่าวสารวัฒนธรรม ของที่มีประโยชน์ในมือที่เราจะเข้าถึงได้มันก็กลายเป็นแค่สินค้า และพลังอำนาจของคนรุ่นใหม่ก็จะน้อยลง ครูเข้าใจและเห็นใจคนรุ่นใหม่ที่โตมาและเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยิ่งเราโตมากับความขัดแย้งมากขึ้นเท่าไหร่มันยิ่งถูกทำให้เราได้เห็นว่าสังคมไม่ได้คิดเหมือนกันมากเท่านั้น และยิ่งฟังความเห็นที่แตกต่างมากเท่าไหร่ มันยิ่งหล่อหลอมตัวเรา ว่าเรามองเรื่องนี้อย่างไร
คนหนุ่มสาวไม่ได้หายไปไหนในเรื่องการเมือง แต่เค้าอยู่ในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป เค้าไม่ออกมายืนประท้วงตามถนน แต่เค้ามีการจัดวงเสวนา รณรงค์อย่างอื่นแล้ว
อย่าพึ่งท้อ อย่าพึ่งหมดหวัง เพราะทุกสังคมหัวใจตอนนี้อยู่ที่พลังหนุ่มสาว เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เหตุการณ์เดือนตุลาก็ดี พฤษภาประชาธรรมก็ดี มันก็เปลี่ยนด้วยคนหนุ่มสาว และสังคมที่หนุ่มสาวล้าแล้ว เป็นสังคมที่หมดหวัง