บ่าวสาวแลกแหวนกลมเกลี้ยง พร้อมกล่าวคำสาบานว่าจะครองคู่กันไปตลอดชีวิต เมื่อสิ้นเสียงประกาศการเป็นสามีและภรรยา นั่นเป็นสัญญาณว่าชีวิตบทใหม่ของทั้งสองได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับ ‘เจ้าชายแฮร์รี่’ และ ‘เมแกน มาร์เคิล’ ที่เพิ่งเข้าพิธีเสกสมรสไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และหากใครนั่งเกาะจอทีวีเฝ้าติดตามงานอย่างใกล้ชิด ก็อาจสัมผัสได้ถึงความแปลกใหม่ที่ถูกใส่เข้ามาในพิธีนี้เป็นครั้งแรก สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ของสถาบันอันเก่าแก่แห่งนี้
สัญลักษณ์มากมายในพิธีนอกจากจะหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคู่บ่าวสาวแล้ว ยังช่วยให้เรามองเห็นทิศทางในอนาคตของสถาบันที่ขึ้นชื่อได้ว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ ที่สุดในสหราชอาณาจักร อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ‘ราชวงศ์อังกฤษ’ ด้วยการส่งสารผ่านพิธีการสำคัญให้โลกภายนอกได้รับรู้ว่าสถาบันเองก็พร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นใหม่ด้วยเช่นกัน ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า นี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่ราชวงศ์อังกฤษได้เลือกส่งสัญญาณแบบนี้ แต่ปรากฏว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ราชวงศ์อังกฤษได้ผ่านการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ และสามารถรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของราชบัลลังก์ จนกระกระทั่งกลายเป็นกฎเหล็กว่าสมาชิกจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด ไม่ว่าจะแลกกับอะไรก็ตาม
101 ปี ราชวงศ์วินด์เซอร์
ราชวงศ์อังกฤษ หรือ ราชวงศ์วินด์เซอร์ (House of Windsor) ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 (George V) พระอัยกาของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ประมุของค์ปัจจุบัน พระองค์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ของพระองค์อย่าง ‘ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา’ ซึ่งเป็นราชวงศ์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่เป็นชาวเยอรมันเสียสิ้น
เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ได้สร้างกระแสความเกลียดชังชาวเยอรมันไปทั่วและลามเข้าสู่เกาะอังกฤษในที่สุด ประชาชนเริ่มบุกทำลายร้านค้าที่วางขายสินค้าจากเยอรมัน และเข้าทำร้ายร่างกายชาวเยอรมัน ผู้อพยพในชุมชนต่างๆ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน ปี 1917 เครื่องบินบรรทุกระเบิดฝ่ายเยอรมันบินเข้าสู่น่านฟ้าลอนดอนและทิ้งระเบิดลงในย่านอีสต์เอนด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 100 ราย ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่าวนั้นมีชื่อเดียวกับราชวงศ์
พระเจ้าจอร์จที่ 5 ตระหนักได้ทันทีว่าราชบัลลังก์ของพระองค์กำลังสั่นคลอน ประชาชนเริ่มหันมามองว่าราชวงศ์เป็นภัยคุกคามของชาติเช่นเดียวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดลำนั้น หนำซ้ำเครือข่ายพระประยูรญาติในภาคพื้นทวีปยุโรปต่างก็เริ่มประสบกับจุดจบอันเลวร้ายที่พระองค์ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
‘ราชวงศ์วินด์เซอร์’ จึงถูกสถาปนาขึ้นเพื่อทำให้ราชวงศ์เชื้อสายเยอรมันของพระองค์กลายเป็นอังกฤษมากขึ้น (anglicise) และถือเป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่งที่เลือกเอาพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงและความผาสุกผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานของพระราชวังมาใช้ในการปรับภาพลักษณ์ (rebranding) เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและสามารถพึ่งพิงสถาบันให้รอดพ้นจากภัยสงครามได้
นอกจากนี้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็ได้ริเริ่มการเยี่ยมประชาชนตามโรงงานอุตสาหกรรมและเหมืองถ่าน มีการเผยแผร่สารคดีส่วนพระองค์ให้ประชาชนได้รับชม การถ่ายทอดเสียงอวยพรวันคริสต์มาสเป็นครั้งแรก ทำให้พระองค์กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่เข้มแข็งของชาวอังกฤษในช่วงเวลานั้น และที่สำคัญพระองค์ก็ได้วางรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ถูกหลอมรวมจากสงครามได้สำเร็จ
วิกฤติและการตัดสินใจ
หลังความสำเร็จในการวางรากฐานราชวงศ์วินด์เซอร์ของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ไม่นาน ราชบัลลังก์อังกฤษก็กลับมาสั่นคลอนอีกครั้งและเป็นการสั่นคลอนที่มาจากภายในตัวสถาบันเองด้วย เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (Edward VIII) พระราชโอรสองค์โตของพระองค์ ต้องการอภิเษกสมรสกับหญิงม่ายชาวอเมริกันนามว่า ‘วอลลิส ซิมป์สัน’ (Wallis Simpson) จนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากรัฐบาลและจากในราชวงศ์เองว่าพระองค์ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเองในฐานะกษัตริย์ ซึ่งในท้ายที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจสละราชสมบัติและเกิดประโยคอมตะอย่าง “ข้าพเจ้าไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้หากปราศจากการช่วยเหลือและการสนับสนุนจากสตรีที่ข้าพเจ้ารัก”
ราชบัลลังก์จึงตกมาสู่พระอนุชาของพระองค์อย่างพระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเลือกพระนาม ‘จอร์จ’ ของพระอนุชาก็แฝงไปด้วยนัยยะแห่งการรื้อฟื้นความมั่นคงของราชวงศ์วินด์เซอร์ให้กลับมาเหมือนรัชสมัยของพระราชบิดา ยิ่งไปกว่านั้นในรัชสมัยของพระองค์ยังต้องเผชิญกับภัยสงครามอีกครั้ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นและรุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้า พระองค์ก็เลือกที่จะอยู่ข้างประชาชนด้วยการปฏิเสธการอพยพออกจากกรุงลอนดอนในช่วงโจมตีสายฟ้าแลบ (The Blitz) ทำให้พระองค์ได้รับความนิยมอย่างสูงและกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านไปในที่สุด
แม้ว่าต่อมาสงครามจะยุติลงพร้อมกระแสสันติภาพที่แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ภัยในรูปแบบใหม่ได้เริ่มคืบคลานเข้ามาท้าทายความมั่นคงของราชบัลลังก์อีกครั้ง เมื่อต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ได้เผชิญกับความกดดันเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องราชสกุลของพระราชบุตรของพระองค์กับเจ้าชายฟิลิป (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ซึ่งในท้ายที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจเลือกรักษาความมั่นคงของราชวงศ์วินด์เซอร์ไว้ไม่ให้ถูกเปลี่ยนเป็นราชวงศ์เมาท์แบตเทน (Mountbatten) ตามความคาดหวังของพระราชสวามี นับเป็นสัญญาณแรกของพระองค์เพื่อยืนยันว่าความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์วินด์เซอร์จะไม่ถูกคุกคามจากสิ่งใดก็ตาม
ในรัชสมัยอันยาวนานของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1952 เป็นต้นมา พระองค์อาศัยแบบอย่างของพระราชบิดาและพระอัยกาเป็นแนวทางในการดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ตามกระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันกษัตริย์เริ่มรุนแรงและแพร่หลายมากขึ้น เมื่อประชาชนมองเห็นว่าสถาบันล้าหลังและไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้กระจายไปในวงกว้างและเล็ดลอดไปถึงพระกรรณของพระองค์ แม้ในตอนแรกท่าทีของราชวงศ์จะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น แต่ในปี 1957 เราก็ได้เห็นพระองค์กล่าวคำอวยพรเนื่องในวันคริสต์มาสผ่านโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งซีรีส์ The Crown ก็ได้นำเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาถ่ายทอดด้วย
อีกทศวรรษต่อมา เราก็ได้เห็นภาพของเจ้าชายฟิลิปมารับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการสารคดีวิทยาศาสตร์ทางช่อง BBC รวมถึงสารคดีถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกพระราชวงศ์เป็นครั้งแรกกับ ‘Royal Family’ การตัดสินใจครั้งนี้ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับราชวงศ์มากยิ่งขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าสมาชิกต่างก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเช่นเดียวกับคนเหล่าสามัญชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์มีความทันสมัยมากขึ้น (modernisation) และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
Diana Attack
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สำคัญที่สั่นสะเทือนราชวงศ์อังกฤษมากที่สุดกลับกลายเป็นการเข้าสู่ราชวงศ์ของไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales) พระองค์ก้าวเข้ามาในฐานะพระชายาของพระราชโอรสองค์โตอย่าง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Prince Charles, Prince of Wales) ผู้เป็นอนาคตของราชบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักร
งานเสกสมรสของพระองค์เมื่อปี 1981 ช่วยตอกย้ำความโรแมนติกแบบเทพนิยายได้อย่างดี ทั้งพระสิริโฉมและเสน่ห์ส่วนพระองค์ที่ใครเห็นก็ต่างตกหลุมรัก โดยเฉพาะการแต่งตัวของพระองค์ที่โดดเด่นและไม่ถือพระองค์ ทำให้ทั้งโลกหลงใหลในตัวเธออย่างไม่ยากเย็น เกิดเป็นกระแสไดอาน่าฟีเว่อร์ นอกจากนี้เธอยังรู้จักใช้ความหลงใหลนั้นเรียกร้องให้เกิดการรณรงค์ในกิจกรรมการกุศลมากมาย และกลายมาเป็นต้นแบบ (Iconic) ของผู้หญิงยุคนั้นไปโดยปริยาย
แต่สำหรับราชวงศ์อังกฤษ การแสดงออกของไดอาน่าได้บดบังความยิ่งใหญ่และเสน่ห์ของสถาบันลงอย่างหมดสิ้นช่องว่างระหว่างราชวงศ์และประชาชนที่เคยสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสถาบันนั้นถูกทำลาย แม้ว่าหลายทศวรรษก่อนหน้าราชวงศ์ก็เริ่มผ่อนคลายช่องว่างตรงนี้ลงไปบ้าง แต่การก้าวเข้ามาของเธอทำให้ราชวงศ์ถูกเปรียบเทียบอย่างเห็นได้ชัด
ราชวงศ์ถูกมองว่าเป็นสถาบันที่ล้าหลัง ไม่สนใจประชาชน และหัวอนุรักษ์นิยมมากกว่าเดิม เนื่องจากไดอาน่าได้แย่งความสนใจจากตัวสถาบันไปหมดแล้ว สร้างความอึดอัดใจให้กับราชวงศ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับพระสวามีของพระองค์ซึ่งต่างก็มีปัญหาส่วนตัวกันตั้งแต่เริ่มชีวิตคู่อยู่แล้ว จนกระทั่งหลังการแยกกันอยู่ในปี 1992 ไดอาน่าตัดสินใจถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคู่ที่ขมขื่นผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ และนั้นก็คือลูกระเบิดลูกใหญ่สำหรับราชวงศ์อังกฤษ
ความนิยมในตัวไดอาน่าได้ผลักดันให้เกิดกระแสความเห็นอกเห็นใจเธอ และความไม่พอใจต่อราชวงศ์อังกฤษไปทั่วโลก จนในที่สุดสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธได้มีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ให้ทรงหย่าขาดกัน
การหย่าร้างของทั้งสองพระองค์ดูเหมือนจะเป็นจุดจบที่สวยงามของความวุ่นวายนี้ แต่การสิ้นพระชนม์ของไดอาน่าในปี 1997 ทำให้กระแสความไม่พอใจต่อราชวงศ์รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ประชาชนต่างกล่าวโทษราชวงศ์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหญิงในดวงใจของพวกเขาต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร และเมื่อราชวงศ์ยิ่งแสดงท่าทีเพิกเฉยต่อการจากไปของไดอาน่า กระแสความเศร้าโศกเสียใจจึงแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธอย่างรวดเร็ว ทำให้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ได้ก้าวเข้ามาให้คำแนะนำกับราชวงศ์และรับมือกับกระแสความโกรธเกรี้ยวของประชาชนในครั้งนี้
ท้ายที่สุดเราจึงได้เห็นสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธมีพระราชดำรัสกล่าวชื่นชมไดอาน่าและความรู้สึกของพระองค์ในฐานะพระอัยยิกาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากไปกว่านั้นในวันเคลื่อนย้ายพระศพของอดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธได้ก้มพระเศียรลง สัญญาณเพียงเล็กน้อยนี้ได้รับความชื่นชมและช่วยให้กระแสความไม่พอใจคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้มอบบทเรียนสำคัญแก่ราชวงศ์วินด์เซอร์ว่าการยึดถือจารีตเดิมซึ่งเคยสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสถาบันนั้นไม่เพียงพอ สำหรับประกันความอยู่รอดท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปทุกวันได้
โฉมหน้าใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ
ใครจะไปคิดว่าในพิธีเสกสมรสของ ‘เจ้าชายแฮร์รี่’ และ ‘เมแกน มาร์เคิล’ เราจะได้พบกับการนำเอาวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกันเข้ามาผสมผสานในงานพิธี ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวที่แปลกใหม่และไม่เคยพบเห็นในงานระดับพิธีไหนมาก่อน การเลือกบทเพลง Stand By Me ของนักร้องชาวอเมริกัน Ben E. King มาขับร้องโดยกลุ่มนักร้องประสานเสียงผิวสี พร้อมทั้งการเชิญสาธุคุณ ไมเคิล เคอร์รี่ (Rev. Michael Curry) นักเทศน์ผิวสีจากนครชิคาโกขึ้นเทศน์ในหัวข้อความรัก โดยมีการกล่าวถึงนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนอันโด่งดังอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ก่อนขึ้นเทศน์อีกด้วย
นับได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณในการปรับตัวครั้งใหญ่ของราชวงศ์อังกฤษเลยก็ว่าได้ แม้ว่าใครหลายคนจะมองว่าการพระราชทานอนุญาตให้เสกสมรสในครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณถึงความเปิดกว้างแล้ว แต่การได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและยอมรับที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในงานพระราชพิธีก็อดที่จะตื่นเต้นไม่ได้
แม้พระราชพิธีจบลง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่องานก็ไม่ได้จบลงไปด้วย ซึ่งเสียงนั้นได้แตกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการปรับรูปแบบงานพระราชพิธีในครั้งนี้ ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่านี่คือศักราชใหม่ของราชวงศ์อังกฤษเลยด้วยซ้ำ เป็นการเปิดกว้างครั้งสำคัญที่ทำให้งานพระราชพิธีที่เคยเป็นงานของชนชั้นสูงกลายมาเป็นงานที่ทุกชนชั้นและทุกเชื้อชาติสามารถเข้าร่วมได้ ส่วนทางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่ารูปแบบของงานไม่เหมาะสมและไม่ให้เกียรติแก่สมาชิกราชวงศ์และแขกเท่าที่ควร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานพระราชพิธีครั้งนี้ได้สร้างอิทธิพลและการเป็นผู้นำที่ดีแก่สังคมในแง่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งภาพลักษณ์การเปิดกว้างทางชนชั้น การเข้าถึงประชาชน และการยอมรับความเปลี่ยนแปลง
เห็นได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาหนึ่งศตวรรษ ราชวงศ์จะต้องเผชิญกับวิกฤติและการปรับตัวอยู่เพื่อให้รอดเสมอ เหตุการณ์ในวันเสาร์ที่ผ่านมาก็เป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์วินด์เซอร์สามารถปรับตัวได้อย่างดี และนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นสถาบันเก่าแก่ที่ไม่ติดอยู่กับกาลเวลา น่าจับตาดูต่อไปว่า ราชวงศ์วินด์เซอร์จะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงอะไรให้โลกได้เห็นอีก
สำหรับใครก็ตามที่ต้องการศึกษาเรื่องราวการปรับตัวของราชวงศ์วินด์เซอร์อย่างละเอียด สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ โดยทางผู้เขียนแนะนำให้รับชมเรียงลำดับดังนี้ สารคดี The Royal House of Windsor ของ Netflix, ซีรีส์ The Crown ของ Netflix และภาพยนตร์ The Queen (2006)