ไม่นานหลังจากเจ้าชายแฮร์รี่ และพระชายา เมแกน มาร์เคิล ตัดสินใจประกาศลดบทบาทในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ชั้นสูงผ่านทางอินสตาแกรมส่วนพระองค์ (@sussexroyal) กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตัดสินใจนี้ และโดยเฉพาะต่อตัว ‘เจ้าชายแฮร์รี่’ และ ‘เมแกน มาร์เคิล’ ก็ลุกลามไปอย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน สื่อหลายสำนักและประชาชนชาวอังกฤษเอง ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้กันอย่างเผ็ดร้อน
หากใครติดตามกระแสในคืนที่ผ่านมา ก็จะพบว่า มีหลายฝ่ายที่สนับสนุนการประกาศในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งสองพระองค์ต่างก็ต้องต่อสู้กับกระแสวิจารณ์ด้านลบจากสื่อมวลชนและประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะ ‘เมแกน’ ที่กลายเป็นเป้าหมายโจมตีหลักของสื่อหลายสำนักและกลุ่มคนที่เกลียดชังเธอมาตั้งแต่ต้น กระแสความเห็นอกเห็นใจต่อเรื่องราวที่ทั้งสองพระองค์ได้เผชิญตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงแปรเปลี่ยนมาเป็นแรงสนับสนุนในวันนี้ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายที่คัดค้าน ต่างก็มองว่า การตัดสินใจของทั้งสองพระองค์นั้น เป็นเรื่อง ‘เห็นแก่ตัว’ อย่างมาก เพราะมันได้ทำลายภาพลักษณ์ของสถาบันและตอกย้ำรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมากขึ้น ดั่งที่เจ้าชายแฮร์รี่เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และเจ้าชายวิลเลี่ยม พระเชษฐาของพระองค์
บทความนี้ จะพาไปมองย้อนเรื่องราวสำคัญที่อาจจะเป็นเบื้องหลังการประกาศลดบทบาทในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ชั้นสูงของทั้งสองพระองค์ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็น หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ของสถาบันอันเก่าแก่นี้ และสำรวจความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมองต่อประกาศฉบับนี้กัน
ชีวิตท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์
หลังเสร็จสิ้นพิธีเสกสมรสในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2018 เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘ดยุค-ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์’ (Duke and Duchess of Sussex) ตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย รวมทั้งความนิยมในตัวของพระองค์ทั้งสอง ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ของพระราชสำนักอังกฤษ ก็ดูเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดี ด้วยแรงสนับสนุนจากสื่อมวลชนและประชาชนที่ต่างหลงเสน่ห์ดัชเชสคนใหม่นี้ และคาดหวังว่า ทั้งสองพระองค์จะช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ของสถาบันอันเก่าแก่คร่ำครึนี้ ให้ดูทันสมัยขึ้นมาได้บ้าง
แต่เรื่องราวดูเหมือนจะไม่เป็นไปอย่างที่ทุกคนคาดคิด เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2019 ทั้งสองพระองค์ตัดสินใจย้ายออกจากพระราชวังเคนซิงตัน (Kensington Palance) ที่ประทับเดิม ไปประทับที่พระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ (Frogmore Cottage) แทน ซึ่งการย้ายที่ประทับในครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบูรณะพระตำหนักเก่านี้ เป็นมูลค่ากว่า 2.4 ล้านปอนด์ หรือราว 94 ล้านบาท โดยสื่อหลายสำนักชี้ว่า เงินจำนวนนี้ คือ เงินภาษีของประชาชนชาวอังกฤษ ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันดุเดือดถึงความเหมาะสมในการใช้จ่ายเงินของทั้งสองพระองค์เป็นวงกว้าง จนทำให้สื่อมวลชนและประชาชนบางส่วนที่เคยรักและเห็นอกเห็นใจทั้งสองพระองค์ตลอดเวลาที่ผ่านมา รู้สึกผิดหวังและโกรธเคืองต่อพฤติกรรมของพระองค์ทั้งสองอย่างมาก
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สื่อแท็บลอยด์ในอังกฤษจึงเริ่มหันมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และโจมตีทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับดยุค-ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ แต่ทว่า ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ กลับเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของสื่อมวลชนมากกว่า เนื่องจากพระองค์ถูกมองว่าเป็นบุคคลภายนอก ผู้ซึ่งไม่มีความเข้าใจในธรรมเนียม จึงมักมีพฤติกรรม การวางตัวที่ไม่เหมาะสมในสายตาของคนอังกฤษบางส่วน พระองค์จึงมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ
แม้ว่าต่อมา ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2019 พระองค์ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสองค์แรก คือ อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์ (Archie Harrison Mountbatten-Windsor) กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในตัวพระองค์ก็ยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากพระองค์ได้ขัดธรรมเนียมพระราชสำนักเดิม ด้วยการปฏิเสธให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีบัพติศมาของอาร์ชี และการประกาศยุติร่วมงานการกุศล ที่เจ้าชายแฮร์รี่ก่อตั้งร่วมกันมากับเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ พระเชษฐาอีกด้วย
จนกระทั่ง เดือนกันยายน ปี ค.ศ.2019 ครอบครัวซัสเซ็กซ์ เสด็จเยือนแอฟริกาใต้และประทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตหลังพิธีเสกสมรส ทั้งสองพระองค์ได้เปิดเผยถึงแรงกดดันและความเครียดในการปรับตัวให้เข้ากับธรรมเนียมพระราชสำนัก และการรับมือกับการโจมตีจากสื่อแท็บลอยด์ นอกจากนี้เจ้าชายแฮร์รี่ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า พระองค์จะไม่ยอมเป็นเหยื่อของสื่อมวลชน เฉกเช่นเดียวกับ ไดอาน่า พระมารดาของเจ้าชายแฮร์รี่ ที่เคยตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อแท็บลอยด์มาก่อน และในเดือนต่อมา เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ก็ได้เริ่มต้นกระบวนการฟ้องร้อง The Mail on Sunday หนึ่งในสื่อแท็บลอยด์อังกฤษ ในประเด็นเผยแพร่จดหมายส่วนตัวระหว่างพระองค์และพระบิดาโดยไม่ได้รับอนุญาต
บทสัมภาษณ์และการฟ้องร้องสื่อแท็บลอยด์นี้ สะท้อนได้ชัดเจนว่า ทั้งสองพระองค์ไม่ต้องการใช้ชีวิตภายใต้เสียงคำวิพากษ์วิจารณ์และสายตาจากสื่อมวลชนอย่างมาก การเดินทางไปพักผ่อนที่แคนาดาเป็นการส่วนพระองค์ในช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา เป็นอีกสิ่งที่ช่วยสะท้อนความต้องการที่จะใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากสื่อมวลชนได้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนว่า ทั้งสองพระองค์ต้องการที่จะ ‘ถอยห่าง’ จากความเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ด้วย เนื่องจากตามธรรมเนียมเดิมแล้ว ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส สมาชิกพระราชวงศ์จะใช้เวลาด้วยกันที่ตำหนักซานดริงแฮม (Sandringham Estate) เป็นประจำทุกปี เพราะฉะนั้น การประกาศลดบทบาทในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูงของดยุค-ดัชเชสแห่งซักเซกส์ ในวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมานี้ จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายของใครหลายฝ่าย
แรงสนับสนุน และ แรงคัดค้าน
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประกาศฉบับนี้ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคมอังกฤษ ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านต่อการลดบทบาทของทั้งสองพระองค์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็มีมุมมองต่อประกาศฉบับนี้แตกต่างกันออกไป ฝ่ายสนับสนุนมองว่า การตัดสินใจนี้ จะช่วยปลดปล่อยครอบครัวซัสเซ็กซ์ให้หลุดพ้นจากกฎระเบียบอันเคร่งครัดของพระราชสำนัก ซึ่งทำให้ทั้งสองพระองค์ รวมทั้งพระโอรสน้อย ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้ทั้งสองพระองค์หลุดพ้นจากการโจมตีของสื่อแท็บลอยด์ ที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตที่เสื่อมโทรมลง ในช่วงปีที่ผ่านมา
หลายคนได้แสดงความเห็นอกเห็นใจและร่วมอวยพรให้ทั้งสองพระองค์ สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้สำเร็จ และได้แสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อสถาบันและสื่อแท็บลอยด์ ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องตัดสินใจลดบทบาทลง หลายคนมองว่า การที่สถาบันไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ทำให้พระองค์ต้องเผชิญกับความเครียดเพียงลำพัง และรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางกฎระเบียบมากมายที่พระองค์ต้องเผชิญ
นอกจากนี้ หลายคนยังโจมตีสื่อแท็บลอยด์ในประเด็นความเป็นส่วนตัว และมองว่าสื่อเหล่านี้ พยายามยัดเหยียดความเกลียดชังในตัวดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ มากเกินไป โดยเฉพาะ เมื่อสื่อชอบเปรียบเทียบพระองค์กับ แคเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ และชอบนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยของทั้งสองพระองค์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มันไม่ยุติธรรมต่อตัวพระองค์เลย ที่สื่อหลายสำนักทำให้พระองค์ดูเหมือน ‘ยัยตัวร้าย’ และไม่แปลกที่ทั้งสองพระองค์จะทรง ‘เบื่อหน่าย’ กับชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคัดค้านกลับมองว่า การตัดสินใจนี้ สะท้อนความเห็นแก่ตัวของทั้งสองพระองค์อย่างชัดเจน หนังสือพิมพ์ The Mail ชี้ว่า ทั้งสองพระองค์เป็น “พวกเอาแต่ได้” เพราะถึงแม้ว่า ทั้งสองพระองค์จะต้องการอิสระและความเป็นส่วนตัว แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ว่า ทั้งสองพระองค์ก็ยังคงเพลิดเพลินกับอภิสิทธิ์สมาชิกราชวงศ์ระดับสูงอยู่ และไม่ต้องการจะเสียสิทธินี้ไป จึงเป็นสาเหตุที่พวกเขาเลือกจะ ‘ลดบทบาท’ แทนที่ ‘ลาออก’ จากสมาชิกพระราชวงศ์ไปนั้นเอง
นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองว่า เจ้าชายแฮร์รี่ ได้ ‘ทำลาย’ ความเชื่อใจและสายสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และสมาชิกพระราชวงศ์ที่เหลือลง หลังจากที่พระราชวังบักกิงแฮม (Bunkingham Palace) ได้แถลงการณ์ตอบโต้ประกาศของดยุค-ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งนักข่าวสายพระราชสำนักจากบีบีซี จอนห์นนี่ ดีมอนด์ (Johny Dymond) วิเคราะห์ว่า “ประกาศฉบับนี้ สะท้อนรอยร้าวใหญ่ที่แยกเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน ออกจากสมาชิกที่เหลืออย่างชัดเจน” และเขาได้กล่าวอีกว่า ไม่มีสมาชิกราชวงศ์องค์ใด รับรู้เรื่องการตัดสินใจลดบทบาทของดยุค-ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์มาก่อน ซึ่งทำให้ทางพระราชสำนักรู้สึก ‘ผิดหวัง’ อย่างมาก
ประเด็นนี้ กลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เจ้าชายแฮร์รี่ได้ประทานบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และเจ้าชายวิลเลียมนั้น ‘ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว’ อีกทั้ง เป็นที่เชื่อกันว่า ราชวงศ์อังกฤษ ได้พยายามเปิดใจรับเมแกน ในฐานะสมาชิกราชวงศ์ชาวอเมริกันคนแรกมาโดยตลอด เนื่องจากในอดีตนั้น ราชวงศ์อังกฤษมี ‘อคติ’ กับชาวอเมริกันอย่างมาก จากเหตุการณ์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (Edward VIII) ประสงค์จะอภิเษกสมรสกับหญิงชาวอเมริกันนามว่า ‘วอลลิส ซิมป์สัน’ (Wallis Simpson) ท่ามกลางวิกฤตรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.1936 พระองค์จึงสละราชสมบัติในท้ายที่สุด การตัดสินใจลดบทบาทลงในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ชั้นสูงของดยุค-ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ จึงเป็นการ ‘หักหลัง’ ความไว้ใจที่สมาชิกพระราชวงศ์องค์อื่น ๆ มอบให้โดยปริยาย
ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันร้อนระอุ คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายต่างถกเกียงกันมากที่สุด คือ ประเด็นเงินสนับสนุนในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ หลายฝ่ายชี้ว่า เมื่อทั้งสองพระองค์ตัดสินใจลดบทบาทลงแล้ว เงินสนับสนุนก็จะถูกตัดทันที แต่บางฝ่ายก็ชี้ว่า ทั้งสองพระองค์จะยังคงได้รับเงินสนับสนุนอยู่ดี ภายใต้ประเด็นรักษาความปลอดภัยระหว่างที่สองประทับในอังกฤษและอเมริกาเหนือ และประเด็นการเงินทุนสนับสนุนการตั้งตัวในระยะแรก
นอกจากนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน เรียกร้องให้ดยุค-ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ‘คืน’ เงินภาษีของพวกเขาที่ใช้จ่ายไปในการบูรณะพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจเสียก่อน และบางส่วนก็เรียกร้องให้ทั้งสองพระองค์ตัดสินใจ ‘ลาออก’ ไปจากสมาชิกพระราชวงศ์เสียดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การประกาศลดบทบาทของทั้งสองพระองค์ ได้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ราชวงศ์อังกฤษให้ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะกรณีดังกล่าวได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ของความเย็นชา ความไร้ความเห็นอกเห็นใจ ความเคร่งครัดในกฎระเบียบและธรรมเนียมอันเก่าแก่ การปิดกั้นตนเองจากความเปลี่ยนแปลงภายนอก และการเมินเฉยต่อประเด็นอ่อนไหว เนื่องจากในปีก่อน สถาบันได้เผชิญกับการเปิดโปงกรณีความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค และ นายเจฟฟรี เอปสไตน์ ผู้ต้องหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิกฤติทางภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าชายแอนดรูว์ได้ตัดสินใจ ‘ยุติ’ บทบาทของตนเองลงในท้ายที่สุด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันดุเดือด เพื่อพยายามรักษาภาพลักษณ์และเสถียรภาพของราชวงศ์ไว้ให้อยู่รอดต่อไป
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังคงร้อนแรงไม่หยุด และการตอบโต้ของสำนักพระราชวัง จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อว่า กรณีของเจ้าชายแฮร์รี่ และเมเกน จะมีข้อยุติอย่างไร สายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพระองค์และสมาชิกที่เหลือจะกลับมาดีอย่างเดิมได้หรือไม่ หรือเจ้าชายแฮร์รี่จะเลือกตามรอยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในท้ายที่สุดนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก