“เพราะงานศิลปวัฒนธรรมเป็นพื้นที่แห่งการเปิดกว้างทางสังคม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจึงเป็นมากกว่าพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย”
คือส่วนหนึ่งของคำประกาศเป้าหมายในการทำงาน ในวาระการเข้ารับตำแหน่ง ของผู้อำนวยการคนใหม่แห่งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
เธอคือผู้หญิง อายุไม่มาก มีประสบการณ์ทำงานในวงการศิลปะอย่างหลากหลายในฐานะภัณฑารักษ์ ยังไม่รวมถึงการดูแลนิทรรศการหลายครั้งที่ได้ทำร่วมกับ BACC มาอยู่ก่อนแล้ว
ขณะเดียวกัน เพจของ BACC ระบุด้วยว่า เธอจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชีย จาก LA SALLE College of Arts ที่สิงคโปร์ (ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก Goldsmiths, University of London) ส่วนปัจจุบัน กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาศิลปะและภัณฑารักษ์ศึกษา ที่ Tokyo University of the Arts หรือ Geidai ประเทศญี่ปุ่น
ด้วยโปรไฟล์ที่บรรยายมา ทำให้หลายต่อหลายคนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกตื่นเต้นว่า ทิศทางของหอศิลปกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ และจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง – เราเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน
The MATTER จึงไปพูดคุยกับ คิม—อดุลญา ฮุนตระกูล ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ คนใหม่ ด้วยความใคร่รู้ว่า มุมมองในการทำงานของเธอจะนำมาสู่อะไรในอนาคตของหอศิลปฯ บ้าง พร้อมชวนคุยถึงแง่มุมต่างๆ ของการพัฒนาวงการศิลปะไทย รวมถึงประเด็นที่หอศิลปฯ ไม่อาจเลี่ยงได้ในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างประเด็นเรื่องการเมือง
ก่อนอื่น อยากให้อธิบายว่า หอศิลปกรุงเทพฯ คืออะไร
อย่างแรกเลยคือ BACC เป็นศูนย์ศิลปะ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์
เรามีบทบาทสำคัญในการรักษาและเสริมสร้างการปฎิบัติทางศิลปะและวัฒนธรรม เป็นสถานที่นัดพบและที่สำหรับการฝึกอบรมทางการศึกษาและเส้นทางอาชีพ เป็นศูนย์ชุมชน ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติทางศิลปะ จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น พื้นที่โรงละคร พื้นที่แกลเลอรี่ สถานที่สำหรับการแสดงดนตรี พื้นที่เวิร์คช็อป รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา อุปกรณ์ทางเทคนิคต่างๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะไม่ได้พูดถึงกันมากนัก คือบทบาทของ BACC ในทางเศรษฐกิจและสังคม
BACC มีบทบาทในการพัฒนาเมือง เป็นผู้ผลิตบุคคลากร และให้บริการทางวัฒนธรรม พวกเราในฐานะผู้ประกอบการในภาคสร้างสรรค์ ที่ทำงานร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักกิจกรรมทางสังคม นักสร้างสรรค์ ผู้ตีความด้านมรดกเอกลักษณ์และความทรงจำเกี่ยวกับเมือง ผู้ประดิษฐ์ ผู้สร้างปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม ผู้บุกเบิก ตลอดจนผู้ปฎิรูปพัฒนาและการวางแผนเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน BACC เองก็มีฐานะเป็นผู้อาศัยและยังทำหน้าที่เป็นผู้บริโภคของระบบนิเวศในสังคมที่เรียกว่าเมืองเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า BACC เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคนและชาติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรให้การสนับสนุน เนื่องจาก BACC มีส่วนเชื่อมโยงและเติมเต็มความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับระบบการศึกษา มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ สภาพเมืองสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นแรงผลักดันถาวรในการพัฒนาเมืองและสุนทรียศาสตร์ของผู้คนในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก
โครงสร้างการบริหารของหอศิลปฯ ขณะนี้ เป็นอย่างไร มีอิสระแค่ไหน
ณ ตอนนี้ BACC จัดการโดยมูลนิธิ ภายใต้ชื่อ ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร โดยจะมีคณะกรรมการมูลนิธิ และคณะกรรมการบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ ทำงานร่วมกัน ตัว ผอ.เองก็ต้องรายงานกับทั้งสองฝ่าย ปีนี้มีแต่งตั้งอีกคณะกรรมการขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลการพัฒนาพื้นที่ของตัวศูนย์ด้วย
ส่วนเรื่องความอิสระ จากที่ได้ดำรงตำแหน่งมาหนึ่งเดือน ยังไม่พบเห็นปัญหาใดๆ
ทราบกันดีว่า หอศิลปฯ มีปัญหาด้านงบประมาณ ที่ได้รับการอุดหนุนน้อยลง เรื่องนี้จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้สมดุลระหว่างการเป็นพื้นที่ทางศิลปะ กับพื้นที่เชิงพาณิชย์
ตอนนี้ BACC ได้รับงบประมาณบางส่วนกลับคืนมาจาก กทม. จากที่ 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้รับการสนับสนุนเลยอย่างที่ทราบ
การที่เรายังคงสามารถจัดงานนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างช่วงนั้น ล้วนมาจากโครงการระดมทุนแทน ซึ่งโครงการนี้พี่นา (ลักขณา คุณาวิชยานนท์ – อดีต ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ คนก่อน) ได้เป็นคนริเริ่ม รวมไปถึงเงินสนับสนุนจากพาร์ตเนอร์เอกชนของเราที่คอยให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ตั้งใจที่จะสานต่อและพัฒนาไปตามวาระทำงาน เพราะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาไม่มีความแน่นอน จึงมองว่าควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
เรื่องงบประมาณที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาครัฐ เวลาเศรษฐกิจไม่ดี มักจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรกๆ เช่น โดนตัดงบประมาณ ส่วนตัวมีความเห็นว่าเป็นปัญหาในหลายประเทศ ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ศิลปวัฒนธรรมอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ให้ แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง เราต้องการเครือข่ายที่เข้มแข็ง รวมไปถึงผู้เสพงานศิลป์ต่างๆ
หวังว่า BACC จะเป็นพื้นที่ที่รวมตัวกันได้เพื่อทำให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะกับวิถีชีวิต
ในวาระที่ได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.ครั้งนี้ มีเป้าหมายอะไรที่ตั้งใจจะทำ
เราอยากให้รูปแบบของหอศิลปกรุงเทพฯ สะท้อนถึงคนดู นักเขียนชื่อ อรุณา เดอ’ซูซา (Aruna d’Souza) ได้กล่าวว่า “สิ่งที่สถาบันแขวนบนผนัง หรือวางบนแท่น คือการแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าพวกเขาจินตนาการว่าคนดูของพวกเขาคือใคร” (“What institutions hang on their walls or put on their pedestals is a clear articulation of who they imagine their audience to be.”)
เป็นโควตที่เป็นได้ทั้งบทวิจารณ์และเป็นเหมือนสัตยาบันให้กับเป้าหมายของศูนย์ศิลปะอย่าง BACC
ภายในช่วงเวลาหกเดือนแรกนี้อยากจะใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่มาใช้บริการหอศิลปกรุงเทพฯ ว่าเขามองหาอะไร ต้องการอะไร อย่างเช่นไม่นานมานี้ เพิ่งได้คุยกับหัวหน้าฝ่ายการศึกษา แล้วเขาก็สังเกตว่า เหมือนคนดูอยากจะได้พื้นที่แสดงออกร่วมไปกับศิลปิน จึงคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและลองศึกษาต่อดูว่าเราจะจัดกิจกรรมให้ตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
ผอ.ได้คลุกคลีกับการทำงานด้านนิทรรศการจากหลากหลายประเทศ คิดว่ามีโมเดลการจัดการด้านศิลปะจากประเทศไหนบ้าง ที่น่าสนใจและอยากนำมาปรับใช้
ตอนนี้อยากทำให้ BACC เป็นศูนย์กลางความรู้ของศิลปะไทยร่วมสมัยและศิลปะร่วมสมัยของเอเชียอาคเนย์
10 กว่าปีที่ BACC ทำงานมานั้น มีงานวิจัยเยอะมาก ทั้งในเชิงปฏิบัติ งานเขียนที่เอาไปเสริมในนิทรรศการและงานการแสดง BACC เป็นศูนย์ที่มีลักษณะเฉพาะมาก ทั้งในการจัดการและรูปแบบ ถ้าเราจะไปเทียบกับศูนย์อื่นๆ ในยุโรปหรืออเมริกา กับประเทศที่ความสัมพันธ์กับ ‘Art’ มายาวนานเป็น 600 กว่าปี มีโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนจากรัฐบาลและเอกชนอย่างต่อเนื่อง คิมว่ามันเป็นการเทียบที่ผิด
เพราะประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเรื่องศิลปวัฒนธรรมนั้นไม่เหมือนกัน นิสัยคนดูก็ไม่เหมือนกัน เป็นหน้ากากที่จะเอาไปสวมให้ทุกคนไม่ได้ ไม่อยากให้คิดว่าเป็นปมด้อยแต่อยากให้คิดว่า
จริงๆ แล้วเรามีโอกาสที่จะสร้างความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ ให้เข้ากับวัฒนธรรมเราได้ใหม่ โดยที่ไม่มองหาการเห็นชอบจากฝั่งตะวันตกอีกแล้ว
มันจะออกมาเป็นแบบไหน อันนี้น่าสนุกนะ
ถาม ผอ.ในฐานะคนทำงานในวงการศิลปะ จะทำอย่างไรถึงจะผลักดันให้ศิลปินไทยเป็นที่สนใจของโลกได้มากขึ้น
ส่วนตัวเราเชื่อว่าอันนี้เป็นอะไรที่ต้องใช้เวลา วงการศิลปะร่วมสมัยไทยเรายังใหม่มากถ้าเทียบกับที่อื่น และได้แต่ใฝ่ฝันกับอะไรที่ไม่แน่นอนมาตลอด ตอนนี้เลยคิดว่าแทนที่จะมองออกไปแต่ข้างนอก ควรกลับมามองข้างในดีกว่า ไม่ไล่ตาม (play catch-up) แต่สร้างขึ้นมาใหม่ (build up)
ทุกอย่างเป็นระบบนิเวศ (eco-system) ที่เชื่อมโยงกันหมด เราสร้างฐานให้แข็งแกร่ง สร้างวงการศิลปะ (art scene) ที่มั่นคง เราต้องช่วยกันดูแลความเป็นอยู่ของศิลปิน มีตลาดศิลปะที่นักสะสมซื้อผลงานของศิลปินไทย เรื่องความสนใจระดับโลกในแบบที่ยั่งยืนก็จะเริ่มมาเอง
มีเสียงวิจารณ์ในช่วงหลังว่า หอศิลปฯ น่าเบื่อ จะทำอย่างไรให้หอศิลปฯ เข้าถึงชีวิตคนทั่วไปได้มากขึ้น
อันนี้เป็นคำวิจารณ์ที่น่าสนใจดี – ความน่าเบื่อ
แต่อย่างที่บอกไป เรายังต้องใช้เวลาอีกมากเพราะเพิ่งได้มาเริ่มทำงาน ที่นี่เป็นงานเฉพาะที่ (site-specific) ต้องทำความเข้าใจกับคนที่มาใช้บริการ อันนี้รวมไปถึงคนดูผู้ชมงานนิทรรศการ การแสดงและดนตรี แต่คิมเห็นด้วยที่ต้องปรับ
การมีพื้นที่ทางศิลปะไม่เพียงพอ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ชัดเจนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด หอศิลปฯ มีนโยบายที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้หรือไม่
ประเด็นนี้เป็นอะไรที่ได้พูดคุยกันมานานแล้วกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเรื่องหอศิลป์ในไทย สามารถนำโครงสร้างของหอศิลปกรุงเทพฯ ไปใช้หรือไปอ้างอิงในเรื่องการจัดการได้ ข้อมูลพวกนี้เราสามารถให้ได้เสมอ ในรูปแบบหนังสือแนะนำหรือคู่มือทัศนาจร
แต่ว่าเท่าที่ตามข่าว ก็มีหลายที่ ที่เริ่มเปิดและตื่นตัวในเรื่องศิลปะของภูมิภาคตัวเอง โดยมีศิลปินและอาจารย์ของภูมิภาคนั้นเป็นคนริเริ่ม ซึ่งแต่ละที่ก็เสนออะไรที่น่าสนใจมาก
หนึ่งในแผนงานที่อยากจะทำก็คือการทำงานร่วมกันกับหลายๆ กลุ่ม นอกเหนือจากศิลปิน คิวเรเตอร์ และนักวิชาการ อยากจะหาวิธีร่วมงานในแบบข้ามศาสตร์ เพื่อสามารถเสนอความคิดที่หลากหลายและสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงขึ้น
ทุกวันนี้ โลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากจะยกตัวอย่าง ตอนนี้แค่ไม่กี่คลิกก็เข้าถึงคลังศิลปะ (archive) ที่มีคุณภาพระดับโลกได้แล้ว หอศิลปฯ จะสู้กับเรื่องนี้ หรือจะเข้าร่วมกับกระแสธารนี้อย่างไร
ไม่ได้มองว่าเป็นอะไรที่ต้องสู้ แต่เป็นอะไรที่ BACC ควรมีแล้วก็ทำเป็นฐานข้อมูลแบบเปิด (open access) ให้ได้ ซึ่งก็อยู่ในแผนการทำงาน
เราว่าโลกดิจิทัลมันน่าตื่นเต้นในเชิงที่เทคโนโลยีนั้นพัฒนาได้เรื่อยๆ และเร็ว ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ ส่วนตัวคิดว่าควรมองพฤติกรรมการทำงานของศิลปินมากกว่าจะตามกระแสข่าว แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการสื่อสารการแชร์ข้อมูล อย่างเช่น ภาพงานหรือวิดีโอเบื้องหลังการทำงาน อันนี้หอศิลป์หรือศูนย์ศิลปะทุกที่ควรจะลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บและแชร์ข้อมูลอย่างแน่นอน
จุดยืนของหอศิลปฯ คืออะไร กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
จากเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นมาในหลายๆ ครั้ง ทาง BACC ไม่เคยปิดประตู
เราเป็นศูนย์องค์ความรู้ให้กับทุกคน ไม่สามารถที่จะมาแบ่งแยก แล้วก็ไม่ควร
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้เป็นไป ก็คือการใช้นโยบายการส่งเสริมศิลปะไปเป็นประเด็นการเมือง หมายถึง การส่งเสริมในการพัฒนาโลกศิลปะร่วมสมัยไปโยงกับความคิดของฝ่ายเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้นวงการศิลปะไทยก็จะอยู่กับความไม่ยั่งยืน ความไม่มีมาตรฐานไปเรื่อยๆ อยากให้ทำความเข้าใจกับศิลปะให้เหมือนกับการศึกษา เป็นการฝึกทักษะความรู้และความคิดโดยเฉพาะเรื่องจินตนาการที่สามารถมีได้อย่างไร้ขอบเขต
ระบบการเมืองหรือความเป็นไปของบ้านเมืองมีผลสำคัญต่อการบริหารหอศิลปฯ หรือไม่
แน่นอน มีผลอย่างยิ่งกับการบริหาร อย่างที่ได้เห็นมากับหลายๆ สมัย หลักๆ ก็คืองบประมาณสนับสนุนเพื่อให้เราทำงานได้อย่างเต็มที่ งบสนับสนุนจากภาครัฐก็มีสวนหนึ่ง แต่ก็ยังต้องหางบประมาณเพิ่มเอง เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับกิจกรรมต่างๆ ภายในหอศิลปฯ ด้วย
และก็ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณทำงาน มีเรื่องของบุคลากร คนทำงานในระบบนิเวศในโลกศิลปะด้วย ที่เงินค่าตอบแทนเมื่อเทียบกับการศึกษา และประสบการณ์ที่เขาต้องมี รวมถึงความรู้ที่ต้องมีในเชิงผู้เชี่ยวชาญ อาจดูว่ายังน้อย อันนี้เป็นปัญหาทั่วโลกนะ แต่อาจน่าเจ็บใจกว่า ถ้าทำงานในประเทศที่เปอร์เซ็นต์ GDP ที่มาจากศิลปวัฒนธรรมสูง แต่ค่าตอบแทนในการทำงานน้อย ก็ยังไม่พออยู่
ผอ.เห็นอย่างไรต่อประเด็นที่ว่า ศิลปะกับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้
ขอใช้โควตของรูพอล (RuPaul) ได้มั้ย (หัวเราะ) “ทุกครั้งที่ฉันกระพริบขนตาปลอม ก็เท่ากับฉันกำลังแสดงจุดยืนทางการเมือง” (“Every time I bat my false eyelashes, I’m making a political statement.”)
เราว่าอันนี้น่าจะอยู่ที่ศิลปินนะ ว่างานของเขากำลังพูดถึงอะไรบ้าง แต่สำหรับคนดูก็อยู่ที่ทัศนคติของแต่ละคน เหมือนงานภาพนู้ด คุณว่าร่างกายของเพศผู้หญิงเป็นเรื่องการเมืองไหม
เส้นหรือข้อจำกัดของหอศิลปฯ อยู่ตรงไหน ในการจัดแสดงงานที่เชื่อมโยงการเมือง
ถ้าดูจากงานที่เราได้จัดมา ก็เหมือนจะไม่น่ามีข้อจำกัดนะ