เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังบทสัมภาษณ์สุดแสนพิเศษของเจ้าชายแฮร์รี่ และพระชายา เมแกน มาร์เคิล ได้ออกอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อคืนวันอาทิตย์ในสหรัฐอเมริกา เนื้อหาที่ทั้งสองพระองค์ได้เปิดเผยชีวิตหลังรั้ววังอย่างหมดเปลือกกับ โอปราห์ วินฟรีย์ เจ้าแม่ทอล์กโชว์ของสหรัฐฯ ก็ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวเนื้อหาและต่อตัว ‘ดยุคและดัชเชสแห่งซัสแซ็กส์’ อย่างเผ็ดร้อน ขนาดที่ว่าสื่อหลายสำนักต้องตามติดประเด็นนี้กันอย่างเหนียวแน่นเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้แตกออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนทั้งสองพระองค์และแสดงความเห็นอกเห็นใจเรื่องราวที่ทั้งสองพระองค์ได้ออกมาเปิดเผย โดยเฉพาะกับ ‘เมแกน’ ที่ได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนจากประชาชนและเหล่าเซเลบริตี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากความเห็นอกเห็นใจที่เธอต้องตกเป็นเหยื่อของสื่อแทบลอยด์อังกฤษมาอย่างยาวนาน รวมถึงต้องรับมือกับกระแสความเกลียดชังในเกาะอังกฤษที่เพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ Megxit เมื่อต้นปี ค.ศ. 2020 ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ได้ประทานสัมภาษณ์ ก็ได้ออกมาโจมตีและกล่าวหาว่าสิ่งที่ทั้งสองพระองค์พูดนั้น ‘เป็นการเอาดีเข้าตัว’ เพราะบทสัมภาษณ์นี้ เป็นการนำเสนอเรื่องราวเพียงด้านเดียวเท่านั้น ขณะที่หลายคนมองว่า บทสัมภาษณ์นี้เป็นเพียงการแสดงเพื่อเรียกเรตติ้งเท่านั้น เนื่องจากเมแกนก็เคยเป็นนักแสดงมาก่อน
หากใครได้ติดตามกระแสในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ก็จะพบว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือดโดยไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้ว่าฝั่งสำนักพระราชวังจะออกแถลงการณ์แล้วก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงถกเถียงกันไปมา มีการแบ่งทีมว่าใครทีมใคร มีการนำข้อเท็จจริงมาลบล้างข้อกล่าวหา แต่สาเหตุอะไรที่อยู่เบื้องหลังบทสัมภาษณ์สะเทือนโลกนี้ จนเกิดกระแส #AbolishTheMonarchy บนโลกออนไลน์ อะไรที่ทำให้คนเชื่อและไม่เชื่อในสิ่งที่ทั้งสองพระองค์พูด และความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นกับทั้งสองพระองค์ในอนาคต เมื่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษมีประสบการณ์การรับมือกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับกรณีนี้มาก่อนแล้ว จนได้ชื่อว่า เป็นสถาบันที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ ที่เป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของราชบัลลังก์ได้อย่างดีมาโดยตลอด จนกลายมาเป็นกฎเหล็กของสมาชิกทุกพระองค์ที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะแลกกับอะไรก็ตาม
จุดเริ่มต้นของมหากาพย์สะเทือนแอตแลนติก
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม ปี ค.ศ. 2020 เจ้าชายแฮร์รี่ และพระชายา เมแกน มาร์เคิลประกาศลดบทบาทในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูงผ่านทางอินสตาแกรมส่วนพระองค์ (@sussexroyal) และขอมีอิสระภาพทางการเงินของตนเอง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตัดสินใจของทั้งสองพระองค์อย่างดุเดือด ทั้งในโลกออนไลน์และตามสื่อกระแสหลักก็ได้ถกเถียงประเด็นนี้กันอย่างเปิดเผย และความคิดเห็นต่อกรณีนี้ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายเช่นเดียวกับกรณีบทสัมภาษณ์ ซึ่งในช่วงแรกนั้น ดูเหมือนว่าทั้งสองพระองค์จะได้แรงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากประชาชน เนื่องจาก ทั้งสองพระองค์เคยเปิดเผยถึงแรงกดดันและความเครียดอันมหาศาล ที่เกิดจากการโจมตีของสื่อแทบลอยด์อังกฤษและการใช้ชีวิตในฐานะพระราชวงศ์ เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2019 ขณะเสด็จเยือนแอฟริกาใต้
นอกจากนี้ ทั้งสองพระองค์ยังเคยแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า พระองค์ต้องการความเป็นส่วนตัวและจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของสื่อมวลชนในหลายโอกาส สะท้อนผ่านการขัดธรรมเนียมพระราชสำนักดั้งเดิม ด้วยการปฏิเสธให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีบัพติศมาของพระโอรส อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์ การฟ้องร้อง The Mail on Sunday หนึ่งในสื่อแท็บลอยด์อังกฤษ ในประเด็นเผยแพร่จดหมายส่วนตัวระหว่างพระองค์และพระบิดาโดยไม่ได้รับอนุญาต และการเดินทางไปพักผ่อนที่แคนาดาในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แทนที่จะใช้เวลาร่วมกับสมาชิกพระราชวงค์คนอื่นๆ ที่ตำหนักซานดริงแฮม อันเป็นประเพณีของราชวงศ์ที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน
หลังจากการประกาศยุติบทบาทของทั้งสองพระองค์ไม่นาน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงออกแถลงการณ์ ‘อนุญาต’ และ ‘สนับสนุน’ ความต้องการของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนอย่างเต็มที่ แม้ว่าพระองค์ยังต้องการให้ทั้งสองพระองค์ดำรงอยู่ในฐานะสมาชิกแห่งราชวงศ์ เพื่อปฏิบัติภารกิจให้กับราชวงศ์เต็มเวลาเช่นเดิมก็ตาม อีกทั้งพระองค์ได้ระบุอีกว่า เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน ไม่ต้องการที่จะรับเงินรายปีส่วนพระมหากษัตริย์อีกต่อไป ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่แคนาดา เพื่อเป็นการเติมเต็มความปราถนาที่ว่า ทั้งสองพระองค์จะขอ “มีอิสระภาพทางการเงินของตนเอง” ซึ่งต่อมา ทางสำนักพระราชวังก็ได้ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน เพื่อยืนยันว่าทั้งสองพระองค์ขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ และจะไม่ได้รับเงินรายปีจากรัฐบาลเพื่อปฏิบัติพระกรณียกิจอีกต่อไป ทั้งนี้ ทั้งคู่จะไม่สามารถใช้พระยศเจ้าฟ้าได้อีกด้วย
แต่ไม่นานหลักจากนั้น สื่ออังกฤษก็ได้รายงานถึงความเคลื่อนไหวของครอบครัวซักเซ็กส์ มีการเปิดเผยว่าทั้งสองพระองค์ได้ตัดสินใจย้ายออกจากแคนาดา ไปประทับที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกาแทน เนื่องจากเหตุผลส่วนตัวหลายประการ ไม่ว่าจะเพราะคณะทำงานบริหารแบรนด์ที่แฮร์รี่และเมแกนก่อตั้งขึ้นมีสำนักงานอยู่ที่นครลอสเองเจลิส หรือจะเป็นเพราะแม่และเพื่อนของเมแกนอาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักเชื่อว่า การที่รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยของครอบครัวซักเซ็กส์ เป็นสาเหตุสำคัญต่างหาก ที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องย้ายที่ประทับ เนื่องจากรัฐบาลแคนาดาทนกระแสคัดค้านและแรงต้านทานจากประชาชนและพรรคฝ่ายค้านไม่ไหว เมื่อถูกตั้งคำถามหนักถึงความเหมาะสมในการใช้จ่ายภาษีไปกับกรณีที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2020 ครอบครัวซักเซ็กส์จึงย้ายไปประทับที่นครลอสเองเจลิสเป็นการถาวร และเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขาเฉกเช่นคนธรรมดาสามัญอย่างเงียบๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่ง สื่อหลายสำนักเริ่มจับความเคลื่อนไหวของแฮร์รี่และเมแกนได้อีกครั้ง เมื่อพบว่า เมแกนไปให้เสียงบรรยายกับช่องดีสนีย์พลัสลงในหนังสารคดี Elephant และมีข้อมูลเกี่ยวกับการตกลงทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Spotify และ Netflix เพื่อเผยเรื่องราวชีวิตของทั้งคู่ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทั้งคู่แสดงความปราถนาอย่างแรงกล้าว่า ทั้งสองพระองค์ต้องการความเป็นส่วนตัวจากสื่อ แล้วเหตุใดถึงเดินไปหาสื่อเสียเอง
จนกระทั่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มหลังเหตุการณ์ Megxit สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน จะไม่ทรงกลับไปทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอีกต่อไป ทั้งนี้พระยศทางทหาร และหน่วยงานในพระอุปถัมภ์ของทั้งสองพระองค์จะถูกเพิกถอนและนำไปจัดสรรใหม่ให้แก่สมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ซึ่งต่อมาก็มีการเปิดเผยว่า เจ้าชายแฮร์รี่ทรงเสียพระทัยกับแถลงการณ์นี้เป็นอย่างมาก และ ‘อาจจะ’ เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ตัดสินใจประทานสัมภาษณ์เพื่อเผยเรื่องราวชีวิตภายในรั้ววังกับโอปราห์ วินฟรีย์ ในที่สุด
บทสัมภาษณ์เปิดใจในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของทั้งสองพระองค์อย่างหมดเปลือกเป็นครั้งแรก สื่อทั่วโลก รวมถึงประชาชนต่างก็เฝ้าติดตามบทสัมภาษณ์อย่างใกล้ชิด เพราะนี่จะเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างสองฝ่าย ความขมขื่นของชีวิตในฐานะพระราชวงศ์ และสาเหตุที่ทั้งสองพระองค์ต้องตัดสินใจยุติบทบาทลง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการปรับตัวเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ของสถาบันอังกฤษ
คำตอบสะเทือนโลก แต่ไม่สะท้านวัง
จริงอยู่ที่หลายคำตอบของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสื่อและประชาชนทั่วโลก ที่ยอมอดหลับอดนอนนั่งเฝ้าดูบทสัมภาษณ์อย่างใกล้ชิด แต่ข้อกล่าวหาบางข้อกลับถูกตรวจสอบและพบว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ อย่างที่กล่าวอ้าง กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกคนต่างพยายามถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป
ประเด็นสำคัญประเด็นแรก อันเป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาที่รุนแรงที่สุดระหว่างการสัมภาษณ์และกลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ในขณะนี้ คือ การเปิดเผยเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระโอรส อาร์ชี ไม่ได้รับสถานะเจ้าชายเฉกเช่นพระญาติคนอื่นๆ รวมถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งสถานะเจ้า ก่อนอาร์ชีจะประสูติ เนื่องจากเมแกนเป็นคนผิวสี
แน่นอนว่า ทันทีที่บทสัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป สื่อและประชาชนจำนวนมากก็เข้ามาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเมแกน และกล่าวหาว่าราชวงศ์นั้นเป็นพวก ‘เหยียดสีผิว’ โดยเฉพาะความเห็นทางฝั่งอเมริกา ที่ดูเหมือนจะมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อประเด็นนี้อย่างดุเดือด มีการเรียกร้องให้สำนักพระราชวังออกมาชี้แจงต่อประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน แต่ความเป็นจริงแล้ว ที่อาร์ชีไม่ได้ยศเป็นเจ้าชาย เกิดจากกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ในพระราชเอกสารสิทธิ (Letter Patent) ที่ออกโดย พระเจ้าจอร์จที่ 5 เมื่อปี ค.ศ. 1917 ต่างหาก
กฎเกณฑ์ว่าด้วยใครจะมียศเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชาย ซึ่งจะตามมาด้วยสิทธิในการใช้คำนำหน้านามว่า His Royal Highness (HRH) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พระราชปนัดดา (เหลน) ของกษัตริย์จะไม่ได้เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง ยกเว้นแต่ “เหลนที่เป็นโอรสองค์โตของพระโอรสองค์โตของเจ้าชายแห่งเวลส์เท่านั้น” ที่จะได้มียศเป็นเจ้าชาย นั้นหมายความว่า เจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตในเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ มีสิทธิเป็นเจ้าชายเพียงพระองค์เดียวในพระญาติรุ่นเดียวกัน อันเป็นสิทธิที่พระองค์ได้โดยอัตโนมัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว ขณะที่พระญาติพระองค์อื่นๆ จะได้คำนำหน้านามเพียง “ลอร์ดหรือเลดี้” เท่านั้น อันเป็นสิทธิโดยอัตโนมัติของพระราชปนัดดาของกษัตริย์ทุกพระองค์
หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าหากว่าตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว เหตุใดเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และเจ้าชายหลุยส์ พระขนิษฐาและพระอนุชาของเจ้าชายจอร์จถึงไม่ใช้คำนำหน้านามว่า ลอร์ดหรือเลดี้ กรณีนี้มีคำอธิบายแน่นอน กล่าวคือ สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงออกพระราชเอกสารสิทธิในปี ค.ศ. 2012 อนุญาตให้ทายาทของเจ้าชายวิลเลียมทุกพระองค์มียศเป็นเจ้าหญิงและเจ้าชาย และมีคำนำหน้านามว่า HRH ตั้งแต่ประสูติเป็นกรณีพิเศษ
อาร์ชี พระโอรสของเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุคแห่งซักเซ็กส์ ในฐานะพระโอรสองค์รองของเจ้าชายแห่งเวลส์ จึงไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว แม้จะเป็นพระราชปนัดดาของกษัตริย์ก็ตาม ดังนั้น ข้อกล่าวหานี้จึงไม่เป็นความจริงและเป็นการสร้างความเข้าใจผิดร้ายแรงให้แก่สาธารณชน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับบทสัมภาษณ์ของทั้งสองพระองค์จึงมองว่า ทั้งคู่กำลัง ‘ดึงดราม่า’ เอาประเด็นสีผิวที่กำลังเป็นประเด็นอ่อนไหวในปัจจุบันมาเป็นข้อสนับสนุนข้อกล่าวหาของตนเอง
อย่างไรก็ตาม อาร์ชีและทายาทของดยุคและดัชเชสแห่งซักเซ็กส์ ยังไม่หมดโอกาสจะได้รับยศเจ้าชายเฉกเช่นเดียวกับพระญาติ แต่จะต้องรอจนกว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เสียก่อน ทายาทของทั้งสองพระองค์จึงจะได้มียศเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายในฐานะพระราชนัดดาของกษัตริย์ ขณะที่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า ข้อกล่าวอ้างของเมแกนอาจหมายถึงแผนการของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ปราถนาจะจำกัดสิทธิพระราชวงศ์ที่ดำรงพระยศ HRH เนื่องจากพระองค์มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดขนาดของราชวงศ์ให้เล็กลง สืบเนื่องมาจากความกังวลเรื่องการใช้เงินภาษีของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งราชวงศ์สวีเดนก็ได้ตัดสินใจในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ด้วยการถอดพระราชนัดดา 5 พระองค์จากการเป็นพระบรมวงศ์ เมื่อปี ค.ศ. 2019
ทั้งนี้ ข้อกล่าวอ้างที่ว่า มีสมาชิกพระราชวงศ์บางพระองค์มีการพูดคุยและแสดงความกังวลเกี่ยวกับสีผิวของอาร์ชีนั้น ยังไม่อาจหาข้อเท็จจริงมาสนับสนุนได้ เนื่องจากทั้งสองพระองค์ปฏิเสธการเปิดเผยพระนามของสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์นั้น แต่ก็มีการโจมตีและเรียกร้องให้สถาบันออกมาชี้แจงต่อประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน เพราะการเหยียดสีผิวและการนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมเหยียดสีผิวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมปัจจุบัน
ประเด็นที่สองที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน คือ การเปิดเผยความคิดฆ่าตัวตายของเมแกน เธอได้เผยเรื่องราวชีวิตอันขมขื่นหลังเข้าเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ เมแกนได้กล่าวว่า เธอรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวอย่างมาก รวมถึงถูกสั่งให้ปิดปากและถูกจำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิต เธอไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อน รู้ตัวอีกที เธอก็ไม่ได้ออกจากวังนานหลายเดือน ส่งผลให้เธอเกิดความเครียดสะสมและแรงกดดันที่ไม่อาจสามารถปรับตัวเข้าสู่การเป็นสมาชิกราชวงศ์ได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งเธอเปิดเผยว่าเธอมีความคิดอยากฆ่าตัวตายกับเจ้าชายแฮร์รี่ ขณะตั้งครรภ์อาร์ชี่ได้ 4 เดือน
เมื่อสื่อและประชาชนรับรู้ถึงความคิดฆ่าตัวตายและปัญหาการปรับตัวของดัชเชสแห่งซักเซ็กส์ กำลังใจและแรงสนับสนุนมากมายก็หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ และชื่นชมความกล้าหาญของพระองค์ที่ออกมาเปิดเผยถึงสภาวะทางสุขภาพจิตและความคิดฆ่าตัวตายอย่างตรงไปตรงมา เพราะปัญหาเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สังคมในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญอย่างมาก มีการรณรงค์ให้สังคมเข้าใจกับปัญหาเหล่านี้มากขึ้น รวมไปถึงราชวงศ์อังกฤษเองที่ก็เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาสภาวะสุขภาพจิด หลังเจ้าชายวิลเลียมและแฮร์รี่ได้เปิดเผยถึงประสบการณ์การรักษาภาวะซึมเศร้า หลังการสิ้นพระชนม์ของพระมารดา ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์
เห็นได้จากการก่อตั้งโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพจิต Head Together ในปี ค.ศ. 2017 ภายใต้มูลนิธิ The Royal Foudation ที่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ก่อตั้งร่วมกันในปี ค.ศ. 2009 แต่ถึงกระนั้น เมแกนก็ได้เปิดเผยว่า เธอพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ และฝ่ายทรัพยากรบุคคลของสำนักพระราชวังบักกิงแฮม แต่ก็ถูกปฎิเสธว่าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ด้วยเหตุผลว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์
อย่างไรก็ตาม สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้มีแถลงการณ์ต่อบทสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีเนื้อหาแสดงความเสียใจต่อความยากลำบากที่เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนต้องเผชิญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และมีความกังวลต่อประเด็นปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในสมาชิกราชวงศ์ที่ถูกยกขึ้นมาพูดระหว่างการสัมภาษณ์ ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นสภาวะทางสุขภาพจิตของดัชเชสแห่งซักเซ็กส์มีแนวโน้มไปในทางเดียวกันทั้งหมด คือ เรียกร้องให้สำนักพระราชวังมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีสมาชิกพระราชวงศ์ได้ออกมาพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตและการรับมือกับแรงกดดันในวัง
ด้านพิธีกรฝีปากกล้า ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเมแกนมานาน อย่าง เพียร์ส มอร์แกน ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสุขภาพจิตของเมแกนว่า “เชื่อไม่ได้ซักคำ” แถมวิจารณ์บทสัมภาษณ์อย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัวเพียร์ส มีการเรียกร้องขอให้สถานีโทรทัศน์ ITV ปลดเพียร์สออกทันที เพราะประเด็นสุขภาพจิตนั้นถือเป็นเรื่องละเอียดละอ่อน คุณจะไม่เชื่อเรื่องอื่นก็ได้ แต่ขอให้มีความเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์กันบ้าง นอกจากนี้ คนดังมากมายไม่ว่าจะเป็น เซเลน่า วิลเลียมส์, ฮิลลารี่ คลินตัน และ อแมนด้า กอร์แมน ก็ออกมาสนับสนุนและปกป้องเมแกนในประเด็นนี้
ประเด็นร้อนสุดท้ายที่จะกล่าวในบทความนี้ คือ เรื่องเงินๆ ทองๆ ของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน เมื่อเจ้าชายแฮร์รี่กล่าวว่า ราชวงศ์ตัดความช่วยเหลือทางการเงินกับทั้งสองพระองค์ จนทั้งคู่ต้องตัดสินใจทำสัญญาธุรกิจร่วมกัน Spotify และ Netflix เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยของครอบครัว หลายฝ่ายมองว่า การกระทำของทั้งคู่มีความ ‘ย้อนแย้ง’ ในตัวเองสูง เพราะตอนที่ทั้งคู่ตัดสินใจลดบทบาทในฐานะสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูง ได้ให้เหตุผลไว้ว่า ทั้งสองปราถนาที่จะมี “อิสระภาพทางการเงินของตนเอง” อีกทั้งต้องการหลบหนีจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและหันไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
การที่ทั้งสองพระองค์ยืนยันว่าจะไม่กลับไปทรงงานในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์อีกต่อไป นั้นหมายความว่า ทั้งคู่จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนรายปีจากรัฐบาลอีกต่อไป เพราะเงินส่วนนี้ถูกสงวนไว้ให้แก่สมาชิกพระราชวงศ์ที่ปฏิบัติพระกรณียกิจเท่านั้น ทั้งนี้พระยศทางทหาร และตำแหน่งองค์อุปถัมภ์มูลนิธิต่างๆ ของทั้งสองพระองค์ก็ถูกเพิกถอนเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่สมาชิกพระองค์อื่นที่ยังทรงงานอยู่แทน หลายฝ่ายจึงต้องข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างกว้างขว้าง
ส่วนเรื่องงานรักษาความปลอดภัยที่เมแกนยกขึ้นมาพูดระหว่างให้การสัมภาษณ์ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทั้งสองต้องผิดใจกับทางราชวงศ์และต้องออกมา ‘รับงาน’ เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายตรงนี้เอง หลายฝ่ายมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว ใช่ว่าสมาชิกพระราชวงศ์ทุกคนจะได้รับการถวายงานรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา มีเพียงสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูงเท่านั้นที่จะได้รับการถวายงานนี้ อันได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2, เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ, เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์, คามิลล่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์, เจ้าชายวิลเลียม และ แคเธอรีน ดยุคและดัชเชสแห่งแคมบริดจ์
ขณะที่พระราชนัดดาของกษัตริย์อย่าง เจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าหญิงยูจีนี ต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยเองตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 หลังกรมตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนถูกกดดันอย่างหนักจากภาคประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีการใช้จ่ายเงินภาษีกว่าปีละ 100 ล้านปอนด์ หรือราว 4 พันล้านบาทไปกับการประเด็นนี้ เพราะฉะนั้น การที่เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนจะต้องจ่ายเงินค่ารักษาความปลอดภัยเองก็เป็นเรื่องที่ถูกแล้ว ส่วนเรื่องรับงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายตรงนี้ ถือเป็นเรื่อง ‘ส่วนตัวที่ไม่ส่วนตัว’ ในสายตาของประชาชนจำนวนมาก เพราะการนำเรื่องราวของทั้งสองพระองค์ไปเปิดเผยให้แก่สื่อมวลชน ย่อมจะต้องมีพูดถึงหรือกระทบกระทั้งสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่น แถมยังเป็นการกระทำที่ย้อนแย้ง เนื่องจากทั้งคู่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “ต้องการความเป็นส่วนตัว” และไม่อยากให้สื่อตามมาราวีชีวิตของทั้งสองพระองค์อีก
ทั้งนี้เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนได้เปิดเผยเพิ่มเติมผ่านการสัมภาษณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกว่า ก่อนพิธีเสกสมรสของทั้งสองพระองค์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 ทั้งคู่ได้มีการเข้าพิธีสมรสอย่างเรียบง่ายก่อนหน้านั้น 3 วัน โดยมีอาร์คบิชอบแห่งแคนเธอร์เบอรี่เป็นผู้ทำพิธีให้ ซึ่งนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด โดยเฉพาะกับประชาชนชาวอังกฤษ ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมกับการใช้จ่ายภาษีไปกับ ‘งานแต่งงานหลอกๆ’ ของทั้งสองพระองค์ ขนาดที่ว่ามีการเรียกร้องให้ทั้งคู่จ่ายค่างานพิธีเสกสมรสคืนประชาชนที่มีมูลค่าสูงถึง 32 ล้านปอนด์ หรือราว 1,400 ล้านบาท
สุดท้ายใครสะเทือน?
ถึงแม้สำนักพระราชวังบักกิงแฮมจะออกแถลงการณ์ถึงบทสัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ด้วยท่าทีแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อเรื่องราวที่ทั้งคู่ต้องเผชิญ หลายฝ่ายเชื่อว่า นี่อาจจะเป็นเพียงท่าทีเบื้องต้นของสำนักพระราชวังเท่านั้น เนื่องจากบทสัมภาษณ์ของทั้งสองพระองค์ ได้กระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามต่อความจำเป็นในการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษอีกครั้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าหากกระแสวิพากษ์วิจารณ์เริ่มทวีความรุนแรง จนเนื้อหาในการพูดคุยได้สั่นคลอนการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ ดั่งที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สำนักพระราชวังก็คงไม่อาจนิ่งเฉยได้ และอาจมีท่าทีต่อเนื่องตามมา
จริงอยู่ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แทบไม่เคยแสดงท่าทีหรือเปิดเผยความคิดเห็นของตนเองให้สาธารณชนได้รับรู้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ แต่เมื่อเกิดกรณีที่สถาบันต้องเผชิญกับภัยคุกคามหรือวิกฤตการณ์ที่อาจสั่นคลอนความอยู่รอดของราชบัลลังก์ พระองค์ก็มักจะมีวิธีในการรับมือให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเสมอ ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ที่จะครบ 70 ปีในปีหน้า
นอกจากนี้ นักวิชาการหลายคนชี้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจภายในราชสำนักมากขึ้น เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระชนมายุมากแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการถ่ายโอนอำนาจสู่รัชสมัยใหม่ ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นท่าทีหรือการตัดสินใจในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ แม้ว่าจะมีการเปรียบเทียบกับกรณีการให้สัมภาษณ์ของไดอาน่า ที่ตามมาด้วยการสูญเสียฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าฟ้า หรือ HRH
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนก็ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทุกภาคส่วน ไม่เว้นแต่ตัวของทั้งสองพระองค์เอง